มติ ครม. เห็นชอบความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น พัฒนารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบบันทึกความร่วมมือระบบรางไทย-ญี่ปุ่น พัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-ระยอง - พัฒนาเส้นทางรางแนวเศรษฐกิจด้านใต้ - เส้นทางรถไฟแม่สอด-มุกดาหาร รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดง และรับความช่วยเหลือด้านวิชาการ

แฟ้มภาพขบวนรถไฟความเร็วสูง "ชินคันเซ็น" สาย JR East ของประเทศญี่ปุ่น ที่อู่จอดรถไฟนิงาตะ ภาพถ่ายในปี ค.ศ. 2010 (ที่มา: วิกิพีเดีย)

27 พ.ค. 2558 - ตามที่เมื่อวันที่ 26 พ.ค. มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนั้น หนึ่งในเรื่องที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอคือ "ร่างบันทึกความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น" โดยมีรายละเอียดังนี้

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญก่อนการลงนามและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้ คค. สามารถดำเนินการได้ โดยประสานกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยสำหรับการลงนามดังกล่าว

ร่างบันทึกความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมของไทยและกระทรวงที่ดินฯ ของญี่ปุ่น มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. ความร่วมมือในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงในเส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่

ทั้งสองฝ่ายยืนยันความร่วมมือโดยใช้เทคโนโลยีและประสบการณ์รถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นที่ได้รับการรับรองด้านมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลก และจะร่วมกันพิจารณารูปแบบการลงทุนและความช่วยเหลือด้านการเงินที่เหมาะสม เพื่อให้ความร่วมมือระยะแรกของการลงทุนบรรลุผล รวมทั้งจะร่วมกันดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ การออกแบบรายละเอียดและการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นจะให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการในรูปแบบของการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

2. การพัฒนาระบบรางเส้นทางแนวเศรษฐกิจด้านใต้

ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาและ/หรือปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟในเส้นทางแนวเศรษฐกิจด้านใต้ ตามที่ได้ระบุไว้ในบันทึกแสดงเจตจำนงฯ ที่ได้ลงนาม เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 และให้ความสำคัญในการเร่งดำเนินการเพิ่มขีดความสามารถและการปรับปรุงการให้บริการทางรางในเรื่องต่าง ๆ เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า การปรับปรุงรางและโครงสร้างราง การยกระดับขบวนรถไฟและระบบอาณัติสัญญาณ ทั้งนี้ กระทรวงที่ดินฯ ร่วมกับ Japan International Cooperation Agency (JICA) จะเริ่มทำการศึกษาความเป็นไปได้และการออกแบบรายละเอียดโดยเร็ว เพื่อหารูปแบบความร่วมมือที่เหมาะสมที่สุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยทั้งสองฝ่ายยินดีให้การสนับสนุนโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่สามารถดำเนินการได้ในระยะสั้น การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในการพัฒนาบุคลากร การสนับสนุนการพัฒนาด้านนิติบุคคลเฉพาะกิจสำหรับความร่วมมือระบบราง ไทย – ญี่ปุ่น และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเมื่อได้รับทราบวงเงินโครงการแล้ว นอกจากนี้กระทรวงที่ดินฯ จะพิจารณาทบทวนและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแผนโครงข่ายเส้นทางรถไฟในภาคตะวันออกที่มีความเหมาะสมด้วย

3. เส้นทางแม่สอด – มุกดาหาร

ทั้งสองฝ่ายจะหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องสำหรับความเป็นไปได้ในเส้นทางดังกล่าว ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาแนวเศรษฐกิจด้านตะวันออก – ตะวันตก โดยฝ่ายญี่ปุ่นจะให้ความช่วยเหลือฝ่ายไทยในการศึกษาความเป็นไปได้ และการศึกษารูปแบบการลงทุนในอนาคต

4. การให้บริการขนส่งสินค้าทางราง

ทั้งสองฝ่ายจะศึกษาความเป็นไปได้ในการให้บริการขนส่งสินค้าทางรางนี้ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 และจะเริ่มดำเนินการโครงการนำร่องในต้นปี 2559 เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งสินค้าทางรางในประเทศไทย

5. ระบบการขนส่งมวลชนทางราง

ทั้งสองฝ่ายรับทราบความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งจะได้นำระบบเทคโนโลยีของญี่ปุ่นมาใช้ โดยจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีระบบรางของญี่ปุ่นมาใช้ในโครงการขนส่งมวลชนทางรางอื่น ๆ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

6. โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ – ระยอง

คค. รับทราบข้อเสนอของกระทรวงที่ดินฯ ที่จะพิจารณาให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่าง คค. จัดทำแผนงาน

7. ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ

กระทรวงที่ดินฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของญี่ปุ่นจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ อาทิ การฝึกอบรม และการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญในสาขางานโยธา วิศวกรรมเครื่องกล/ไฟฟ้า การสื่อสารโทรคมนาคม ระบบอาณัติสัญญาณ และการควบคุมการดำเนินงาน และให้คำแนะนำเกี่ยวกับระบบรางที่เหมาะสมเพื่อยกระดับโครงข่ายรางในประเทศไทยและอำนวยความสะดวกในการดำเนินการโครงสร้างดังกล่าว ในการให้ความสำคัญสูงสุดต่อความปลอดภัยและความทนทาน ของระบบรางซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของวัฏจักรระบบราง

8. คณะกรรมการบริหารร่วมระดับรัฐมนตรี

การจัดตั้งคณะกรรมการบริหารร่วมระดับรัฐมนตรีขึ้น เพื่อควบคุมการดำเนินงานตามบันทึกความร่วมมือฉบับนี้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นจะเป็นประธานร่วม คณะทำงานระบบรางระดับปลัดกระทรวงจะรับผิดชอบการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ที่คณะกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบแล้ว และจะมีการจัดตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อให้การดำเนินงานในแต่ละโครงการมีประสิทธิภาพ โครงสร้างคณะกรรมการพัฒนาระบบรางระหว่างไทย – ญี่ปุ่น

9. กรอบระยะเวลาการดำเนินการ

ทั้งสองฝ่ายจะหารือร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปเรื่องกรอบระยะเวลาการดำเนินการความร่วมมือข้างต้น ภายในหนึ่งเดือนหลังการลงนามร่างบันทึกความร่วมมือฉบับนี้

10. การดำเนินงานตามบันทึกความร่วมมือฉบับนี้จะเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของทั้งสองประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท