แอมเนสตี้ส่งจดหมายเปิดผนึกกรณีวิกฤตผู้ลี้ภัยในตะวันออกเฉียงใต้

แอมเนสตี้วอนนานาชาติเพิ่มปริมาณการรับผู้ลี้ภัยเพื่อมนุษยธรรม และให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและการเงินกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือชีวิต รวมทั้งการตอบสนองความต้องการทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
 
 
 
 
29 พ.ค. 2558 สมาชิกแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในประเทศไทย ยื่นจดหมายเปิดผนึกของเลขาธิการจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษถึงผู้นำประเทศต่างๆ โดยผ่านนายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ตัวแทนรัฐบาลไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดภูมิภาคว่าด้วยการอพยพที่ไม่ปรกติ เพื่อสนับสนุนและยื่นข้อเสนอแนะในการร่วมมือกันหามาตรการระดับประเทศและภูมิภาคเพื่อการแก้ไขวิกฤตผู้ลี้ภัยในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมทั้งนำเสนอตัวเลขผู้สนับสนุนทั่วโลกในการรณรงค์ “ปฏิบัติการณ์ด่วน” เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่เผชิญความเสี่ยงอยู่กลางทะเลกว่า 6,000 คน โดยมีผู้สนับสนุนร่วมลงชื่อกว่า 27,000 คน ซึ่งรายชื่อดังกล่าวจะรวบรวมส่งถึงรัฐบาลที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
จดหมายเปิดผนึก: วิกฤตผู้ลี้ภัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลออสเตรเลีย บังคลาเทศ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า สวิตเซอร์แลนด์ ไทย สหรัฐฯ และเวียดนาม เรื่องวิกฤตผู้ลี้ภัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยระบุว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สนับสนุนและ เรียกร้องให้รัฐบาลที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว หาแนวทางความร่วมมือและดำเนินการโดยทันที เพื่อคุ้มครองชีวิตของผู้ที่เสี่ยงภัยในน่านน้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมาตรการระดับประเทศและภูมิภาคต้องสอดคล้องกับความรับผิดชอบของรัฐบาลที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้อพยพเข้าเมืองและผู้แสวงหาที่พักพิง รัฐบาลต้องประกาศมาตรการแก้ปัญหาที่รากเหง้าของวิกฤตครั้งนี้
 
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามความรับผิดชอบตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รัฐภาคีอาเซียนต้องปฏิบัติตามกฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กฎบัตรอาเซียน) โดยเฉพาะข้อ 7 ที่ระบุ “ความมุ่งประสงค์และหลักการ” ของอาเซียน ซึ่งมีหน้าที่ “ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน” (ข้อ 1(7))”
 
ที่ผ่านมาในเดือนพฤษภาคม 2558 มีผู้เข้าฝั่งทางเรือกว่า 2,000 คนทั้งในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียโดยจากข้อมูลขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นรายงานว่า ยังมีผู้ถูกทอดทิ้งอยู่กลางทะเลอีกหลายพันคน
 
สำหรับข้อเสนอแนะมีดังต่อไปนี้
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย
 
- ประสานงานในปฏิบัติการค้นหาและช่วยชีวิต เพื่อค้นหาและช่วยเหลือเรือที่อยู่ตกในความยากลำบาก
- อนุญาตให้เรือซึ่งบรรทุกผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าเมืองเข้าฝั่งในประเทศที่ใกล้สุดได้อย่างปลอดภัย และไม่ผลักดันเรือ ไม่ข่มขู่หรือคุกคามในทางใดทางหนึ่งต่อพวกเขา
- จัดให้มีหรือประกันให้มีการตอบสนองความต้องการด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนแก่ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าเมือง ทั้งที่เป็นอาหาร น้ำ ที่พักพิง และการดูแลสุขภาพ 
- ให้การประกันว่าผู้ร้องขอที่พักพิงสามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สถานภาพผู้ลี้ภัยได้อย่างเป็นธรรม
- เคารพหลักการไม่ส่งกลับ โดยประกันว่าจะไม่ส่งตัวบุคคลไปยังสถานที่ใด รวมทั้งในประเทศต้นทาง กรณีที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตและการคุกคามต่อเสรีภาพและอาจเกิดการทรมานขึ้น
- ประกันไม่ให้มีการเอาผิดทางอาญาต่อบุคคล ไม่ให้กักตัว หรือไม่ให้ลงโทษเพียงเพราะวิธีการเดินทางมาถึงของพวกเขา
- ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสาร พ.ศ. 2510 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสถานะของผู้ไร้รัฐ (UN Convention relating to the Status of Stateless Persons) และให้นำเนื้อหากฎหมายเหล่านี้ไปบังคับใช้ในกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติ
- ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ UNHCR ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่คุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้ไร้รัฐ และสามารถให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคในการจำแนกสถานภาพของผู้ลี้ภัย
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีข้อเสนอแนะต่อประเทศกลุ่มเฉพาะ ดังนี้
 
- ประเทศมาเลเซียในฐานะเป็นประธานอาเซียน ควรจัดประชุมสุดยอดอาเซียนกรณีฉุกเฉินเพื่อแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งเป็นไปตามกฎบัตรอาเซียน (ซึ่งระบุว่า “ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนจะ... สนองตอบสถานการณ์ฉุกเฉินที่กระทบต่ออาเซียนโดยดำเนินมาตรการที่เหมาะสม”)
- ประเทศพม่าต้องยุติการเลือกปฏิบัติและการใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบต่อชาวโรฮิงญา
- ประเทศพม่าต้องประกันให้มีการเข้าถึงรัฐยะไข่อย่างเสรี และไม่มีการสกัดกั้น รวมทั้งการเดินทางเข้าไปของหน่วยงานด้านมนุษยธรรม องค์การสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและผู้สื่อข่าว รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ 
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีข้อเสนอแนะต่อทุกประเทศดังนี้
 
- เพิ่มปริมาณการรับผู้ลี้ภัยเพื่อมนุษยธรรม โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตครั้งนี้
- ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและการเงินกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือชีวิต รวมทั้งการตอบสนองความต้องการทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้
 
ในกรณีที่ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวผ่านสื่อหลายแขนงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงองค์กรต่างๆ ที่ทำงานด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ร่วมทั้งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลให้เข้าร่วมการประชุมในวันที่ 29 พ.ค. ด้วยนั้น [i]
 
ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียนชี้แจงว่าทางองค์การฯ ไม่ได้รับหนังสือเชิญให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวแต่อย่างใด
 
 
 
[i] “.....ไม่ว่าจะเป็นยูเอ็น หรือสำนักงานข้าหลวงใหญ่ เพื่อผู้อพยพแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) หรือองค์การนิรโทษกรรมสากล (แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล) ต้องมาคุยกัน โดยวันที่ 29 พ.ค.จะมีตัวแทนมา ต้องคุยกันว่าจะเข้าไปดูแลคนพวกนี้ได้หรือไม่....” (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 18 พ.ค. 58)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท