Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

วิชาศีลธรรมในสมัยก่อนที่เริ่มขึ้นและมีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัย ร.5 เปลี่ยนมาเป็น “วิชาพระพุทธศาสนา” ในปัจจุบันที่เรียนกันตั้งแต่ระดับประถมจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย บทความนี้ต้องการเสนอให้ยกเลิกการเรียนวิชาพระพุทธศาสนาระดับมัธยมปลายและให้เรียนวิชาจริยศาสตร์ (Ethics) แทน มีข้อโต้แย้งและเหตุผลสนับสนุนที่ผมอยากชวนให้ช่วยกันคิด ต่อไปนี้

1. ในปี 2533 ได้เกิดกระแสรณรงค์คัดค้านกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการจะตัดทอนเนื้อหาและเวลาเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในระดับประถมและมัธยมศึกษา เป็นเหตุให้พระเทพเวที (ปัจจุบันคือพระพรหมคุณาภรณ์) หรือท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ได้เขียนหนังสือชื่อ “ทำไมคนไทยจึงเรียนพระพุทธศาสนา? ข้อพิจารณาเกี่ยวกับวิชาพระพุทธศาสนาและจริยศึกษาในหลักสูตรการศึกษาของชาติ” (ดูได้ที่ ทำไมคนไทยจึงเรียนพระพุทธศาสนา)  

หนังสือดังกล่าวได้ให้ข้อมูล ความรู้ และข้อโต้แย้งต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนจริยธรรมสากลตามแบบตะวันตก (ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ผมจะไม่กล่าวถึงในที่นี้) และมีข้อเสนอที่ท่านสรุปให้เห็นว่าทำไมคนไทยจึงควรศึกษาพุทธศาสนา ในแง่ต่างๆ ดังนี้

ในฐานะเป็นสถาบันของสังคมที่ใหญ่ และสำคัญมากของประเทศไทย

ในฐานะที่เป็นสภาพแวดล้อมทางสังคม ที่แผ่กว้างครอบคลุมสังคมไทย

ในฐานะที่เป็นเนื้อหาสาระส่วนสำคัญ และเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย

ในฐานะที่เป็นเอกลักษณ์ และเป็นมรดกของชนชาติไทย

ในฐานะที่เป็นศาสนาซึ่งคนส่วนใหญ่นับถือ และเป็นศาสนาประจำชาติไทย

ในฐานะที่เป็นหลักคำสอน และระบบจริยธรรมสำหรับพัฒนาชีวิตและสังคม

ในฐานะที่เป็นวิชาการ ซึ่งเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าทางปัญญาให้แก่สังคมมนุษย์

ในฐานะที่เป็นแหล่งหนึ่ง แห่งอารยธรรมของมวลมนุษยชาติ

2. ในช่วงของการรณรงค์ดังกล่าว มีข่าวว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการบางคนเสนอให้สอน “จริยธรรมสากล” แทนวิชาพระพุทธศาสนา ปรากฏว่าถูกโจมตีอย่างหนักจากฝ่ายที่รณรงค์ตามข้อ 1 ทำให้ผู้เสนอความคิดดังกล่าว “เงียบ” ไป เราจึงไม่ทราบเหตุผลชัดเจน

แต่ปัญหาที่เห็นพูดกันมากคือ วิชาพระพุทธศาสนาทั้งระดับประถมและมัธยมมีเนื้อหาซ้ำๆ เรียนแบบท่องจำ ขาดครูที่มีความรู้ด้านนี้โดยเฉพาะมาสอน ครูเองก็ไม่อยากสอนวิชานี้ ผู้บริหารมักเอาครูที่สอนวิชาอื่นไม่ได้มาสอนวิชานี้ ฯลฯ ทำให้วิชานี้ที่เนื้อหาน่าเบื่อสำหรับเด็กๆ อยู่แล้วยิ่งน่าเบื่อมากขึ้น ฉะนั้น ควรลดเนื้อหาและเวลาเรียนวิชาพระพุทธศาสนาลง หรือควรยกเลิกแล้วสอนจริยธรรมสากลแทน

3. ข้อเสนอของผมคือ “ควรยกเลิกวิชาพระพุทธศาสนาระดับมัธยมปลายและให้สอนวิชาจริยศาสตร์ (Ethics) แทน” (ทำไมเฉพาะ “มัธยมปลาย” ขอทิ้งเป็นปลายเปิดให้ถกเถียงกันต่อไป) แต่เหตุผลของผมไม่ใช่เรื่องปัญหาของเนื้อหาหลักสูตรและประสิทธิภาพการสอนวิชาพระพุทธศาสนาแบบที่พูดกันในข้อ 2 เพราะฝ่ายยืนยันให้มีวิชาพระพุทธศาสนาก็แย้งได้ว่า “ถ้าเนื้อหาหลักสูตรไม่ดี หรือการสอนไม่มีประสิทธิภาพ ก็ต้องไปแก้ให้มันดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่ไปตัดทอนหรือยกเลิก” (ดังข้อโต้แย้งในหนังสือของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต เป็นต้น) ข้อโต้แย้งและเหตุผลที่ผมอยากเสนอให้ช่วยกันคิด คือ

ประการแรก ข้อเสนอของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต (ตามข้อ 1 เป็นอย่างน้อย) สามารถสรุปได้ว่าเป็นข้อเสนอที่อยู่บนจุดยืนสำคัญ 2 ประการ คือ (1) พุทธศาสนาเป็นแกนหลักของวัฒนธรรมไทย/ความเป็นไทย และ (2) พุทธศาสนามีคุณค่าต่อชีวิตปัจเจกบุคคล สังคมไทย และมนุษยชาติ

ข้อโต้แย้งคือ ข้อ (1) ที่ว่า “พุทธศาสนาเป็นแกนหลักของวัฒนธรรมไทย/ความเป็นไทย” มองจากทัศนะของมิเชล ฟูโกต์ มันคือ “ความจริงที่ถูกสร้างขึ้น” ผ่านคำอธิบายหรือวาทกรรมของอำนาจรัฐสมัยใหม่ อย่างน้อยตั้งแต่สมัย ร.5 เป็นต้นมา แน่นอนว่าวาทกรรมดังกล่าวสร้างขึ้นจากการอ้างอิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของรัฐสมัยเก่า เช่นสถาปัตยกรรมของวัง วัด ความคิดทางการเมือง ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมและอื่นๆ ที่ตกทอดมา แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชุดเดียวกันนั้นก็สามารถอธิบายได้ด้วยชุดคำอธิบายหรือวาทกรรมแบบอื่นๆ เช่น สภาพความเป็นจริงของวัง วัด และสังคมสยามไทยโดยรวมจากอดีตจนปัจจุบัน คือพื้นที่ต่อรองระหว่างความเชื่อที่หลากหลายภายใต้ชื่อพุทธ ผี พราหมณ์ และอื่นๆ ไม่มีความเชื่อใดที่เป็นความเชื่อเดียวโดดๆ มีสถานะเป็น “แกนหลัก” ของวัฒนธรรมไทย/ความเป็นไทยอยู่จริง แต่ละความเชื่อล้วนมีส่วนผสมของความเชื่ออื่นๆ ในวัง วัด ชุมชน บ้านเรือน ไปจนถึงทุ่งท่าป่าเขาก็มีทั้งสัญลักษณ์ของพุทธ ผี พราหมณ์ และอื่นๆ เช่นพระพุทธรูป พระพรหม เทพต่างๆ ศิวลึงค์ และ ฯลฯ

ในทัศนะของฟูโกต์ ระหว่างคำอธิบายที่ว่า “พุทธศาสนาเป็นแกนหลักของวัฒนธรรมไทย/ความเป็นไทย” กับ “วัฒนธรรมไทยหลากหลาย/ความเป็นไทยประกอบด้วยวัฒนธรรมหลากหลายไม่มีอะไรเป็นแกนหลัก” ไม่มีอันไหนมีความเป็นจริงในตัวมันเองเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ทุกคำอธิบายมีค่าเท่ากัน เป็น “วาทกรรม” อย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่มันมีบางวาทกรรมที่ถูกทำให้เป็น “ความจริง” ที่คนส่วนใหญ่ยอมรับมากกว่า เพราะมันเป็นวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นโดยอำนาจที่เหนือกว่า เช่นอำนาจรัฐ อำนาจของผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีอิทธิพลทางความคิด เป็นต้น

ส่วนข้อ (2) แม้จะจริงว่า “พุทธศาสนามีคุณค่าต่อชีวิตปัจเจกบุคคล สังคมไทย และมนุษยชาติ” แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลสนับสนุนอย่างจำเป็นว่า ต้องบังคับให้เรียนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียน โดยปิดกั้นโอกาสที่เด็กไทยจะได้เรียนรู้ความคิดทางศีลธรรมอื่นๆ ที่มีคุณค่าเช่นกัน ยิ่งถ้าเป็นจริงว่า “พระพุทธศาสนาเป็นสภาพแวดล้อมใหญ่ของสังคม ที่แผ่กว้างครอบคลุมสังคมไทย” อยู่แล้ว ก็แปลว่าความเชื่อทางศีลธรรมของพุทธศาสนาเป็นความเชื่อหลักของสังคมไทยอยู่แล้ว การบังคับเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนก็เท่ากับเป็นการยัดเยียดให้คนไทยมีความรู้ ความเข้าใจ “ศีลธรรมเพียงความหมายเดียว” คือศีลธรรมในความหมายของพุทธศาสนาเท่านั้น

ผลของการถูกปลูกฝังกล่อมเกลาให้เรียนรู้ซึมซับศีลธรรมในความหมายเดียว ก็คือเกิดการยึดความจริง ความดีหนึ่งเดียวสูงสุด ไม่เข้าใจ ไม่เคารพความจริง ความดี และคุณค่าที่แตกต่างหลากหลาย ดังปรากฏการณ์ของการอ้างศีลธรรม คนดีในทางการเมืองที่เป็นการลดทอนคุณค่าของศีลธรรม ความดีในความหมายอื่นๆ เช่นศีลธรรมในความหมายของสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม ศักดิ์ศรีของมนุษย์ตามหลักสากล เป็นต้น

ประการที่สอง นอกจากสังคมไทยจะรู้จัก “ศีลธรรม” ในความหมายแบบพุทธเป็นหลักเท่านั้น ศีลธรรมแบบพุทธสยามไทยยังวางอยู่บนพื้นฐานความเชื่อ “คนไม่เท่ากัน” ที่ถูกอ้างอิงยกสถานะ “ชนชั้นปกครอง” ให้สูงกว่าและมี “บุญคุณ” ต่อผู้ใต้ปกครองเสมอ เพราะเป็นคนดีมีคุณธรรมและได้บำเพ็ญบุญบารมีมามากแต่ชาติปางก่อน สำหรับ “ชนชั้นผู้ถูกปกครอง”  ต้องมีหน้าที่กตัญญูรู้คุณและจงรักภักดีเชื่อฟังชนชั้นปกครอง

แม้คำสอนพุทธศาสนาอาจมีมากมาย แต่กระบวนการเรียนรู้ปลูกฝังกล่อมเกลาก็อยู่ภายใต้ “กรอบศีลธรรมหลักของชาติ” คือกรอบศีลธรรมบนฐานความเชื่อ “คนไม่เท่ากัน” จึงทำให้ทรรศนะทางศีลธรรมและจิตสำนึกในเรื่องถูก ผิดของคนไทยถูกชี้นำกำกับด้วยกรอบศีลธรรมในความหมายเดียวเท่านั้น

แต่ความจริงคือ ก่อนที่จะเป็นคนไทย เป็นชาวพุทธ คริสต์ อิสลาม ฯลฯ เราทุกคนเป็น “มนุษย์เท่าเทียม” อยู่ก่อน ความเป็น “มนุษย์เท่าเทียม” จึงสำคัญกว่าทุกสิ่ง และเป็น “จุดอ้างอิงพื้นฐานที่สุด” ว่าในฐานะที่เป็นมนุษย์ เราทุกคนควรมีเสรีภาพจะเรียนรู้คุณค่า ความจริง ความดีที่หลากหลาย มีทางเลือกที่หลากหลายมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ในการเรียนรู้เพื่อค้นพบตัวเอง และใช้ศักยภาพของตัวเองให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชีวิตและสังคม การกำหนดให้เยาวชนเรียนรู้ความจริง ความดีในความหมายเดียวบนพื้นฐานความเชื่อ “คนไม่เท่ากัน” คือการปิดกั้นความงอกงามทางสติปัญญา ความสามารถของมนุษย์ ซึ่งเท่ากับเป็นการครอบงำ ลดทอนความเป็นมนุษย์โดยตรง

ดังนั้น ควรยกเลิกการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในระดับมัธยมปลาย ให้สอนวิชา “จริยศาสตร์” แทน เพราะการสอนจริยศาสตร์ ไม่ใช่การสอนศีลธรรมแบบท่องจำ แต่คือการจัดกระบวนการเรียนรู้ “แนวคิด” เกี่ยวกับศีลธรรม ความดีที่มีความหมายหลากหลาย ด้วยวิธีการวิเคราะห์วิจารณ์ปัญหา ข้อโต้แย้งต่างๆ ซึ่งไม่ใช่การปลูกฝังให้เชื่อ แต่เป็นการฝึกให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์วิจารณ์ได้ด้วยตนเอง เปิดมุมมองให้เห็นทรรศนะ เหตุผล ข้อถกเถียงที่หลากหลายในเรื่องศีลธรรม ความดี คุณค่าของมนุษย์ เป้าหมายชีวิตและความยุติธรรมทางสังคม สุดท้ายผู้เรียนจะสามารถมีศีลธรรมได้ด้วยวิจารณญาณของตัวเอง

การเรียนจริยศาสตร์ในระดับมัธยมปลาย จะเปลี่ยนวิธีคิดทางศีลธรรมและเอื้อต่อการสร้างสังคมที่ยุติธรรมและเสมอภาคมากขึ้นได้ เพราะว่าแนวคิดทางจริยศาสตร์ตะวันตกทุกแนวคิด แม้จะมีรายละเอียดต่างกัน และ/หรือขัดแย้งกันในบางประเด็น แต่ทุกแนวคิดเชื่อตรงกันว่า “ศีลธรรมวางอยู่บนรากฐานของการมีเสรีภาพและการยอมรับความเป็นคนเท่ากัน”

เช่น ค้านท์ (Immanuel Kant) ถือว่า ศีลธรรมไม่ใช่การทำตามอิทธิพลความเชื่อทางศาสนา อำนาจรัฐ ประเพณี หรือครอบครัว เพราะถ้าเราเป็นเพียงผู้ทำตามความเชื่อหรือกฎต่างๆ ที่ถูกกำหนดให้ต้องทำตาม เราก็ไม่เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ไม่ต่างจากวัตถุ เราจะสามารถเป็นคนมีศีลธรรมได้ ก็ต่อเมื่อเรามีเสรีภาพในการใช้เหตุผลตัดสินถูก ผิดได้ด้วยตนเอง สร้างกฎศีลธรรมสำหรับตัวเองได้ และกำหนดตัวเองให้ทำตามกฎศีลธรรมที่สร้างขึ้นนั้นได้ โดยกฎศีลธรรมใดๆที่เราสร้างขึ้นต้องอยู่บนพื้นฐานการเคารพความเสมอภาคของมนุษย์

ขณะที่มิลล์ (John Stuart Mill) มองว่าศีลธรรมคือการทำเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ แต่การคำนึงถึงประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ต้องอยู่บนฐานของการยอมรับความเสมอภาคของมนุษย์ และเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออก เสรีภาพในการกระทำหรือรสนิยมในการใช้ชีวิตตามความแตกต่างของบุคคลเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ของสังคมที่มีความสุข นอกจากนี้ยังมีแนวคิดจริยศาสตร์อื่นๆ ที่นิยามความดีและเหตุผลสนับสนุนหลากหลาย แปลว่าเนื้อหาและข้อถกเถียงเกี่ยวกับความหมายของความดีที่หลากหลายมันกระตุ้นให้เกิดการคิด การอภิปรายถกเถียง ไม่จำเป็นต้องเชื่อ ชวนให้ผู้เรียนเถียงและคิดอย่างเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเองมากกว่า

คนที่เรียนจริยศาสตร์ย่อมจะถูกฝึกฝนให้คิดได้ด้วยตนเองว่า เราแต่ละคนจะมีศีลธรรมได้เราต้องต้องมีเสรีภาพ เป็นตัวของตัวเอง และยอมรับความเป็นคนเท่ากันก่อน การเป็นคนดีมีศีลธรรมของเราก็คือการกระทำสิ่งต่างๆ ที่ส่งเสริมค่านิยม วัฒนธรรม หลักการ กติกาในการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพความเท่าเทียมและเสรีภาพด้านต่างๆ

ปัญหาของสังคมเราคือ ขณะที่เราต่างอ้างว่าเรียกร้องประชาธิปไตยกันทุกฝ่าย หรืออ้างว่ากำลังปฏิรูปประชาธิปไตย แต่เรากลับรณรงค์ปลูกฝังศีลธรรมที่กล่อมเกลาจิตสำนึกประชาชนให้เชื่อในมายาคติ “คนไม่เท่ากัน” จึงยากที่เราจะสื่อสารความหมายของ “ประชาธิปไตย” ให้เข้าใจตรงกันได้ เพราะระบบการศึกษาบ้านเราให้ความเข้าใจกระท่อนกระแท่นในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม เนื่องจากเราเน้นการปลูกฝังศีลธรรมแบบจงรักภักดีและกตัญญูต่อชนชั้นปกครองเป็นด้านหลัก

และเรามักพูดกันเสมอว่า การศึกษาต้องสอนให้คน “คิดเป็น” แต่การคิดเป็นจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าคนไม่มีเสรีภาพที่จะคิดต่าง ในสังคมที่คนคิดเรื่องถูก ผิด ดี ชั่วภายใต้กรอบศีลธรรมมิติเดียว เขาย่อมมองคนคิดต่างเป็นเพียง “ขยะมนุษย์”

แต่หากเด็กมัธยมปลายได้เรียนวิชาจริยศาสตร์ที่เปิดมุมมองให้เห็นความหมายของศีลธรรม ความดีที่หลากหลาย เขาย่อมมีจิตใจที่เปิดกว้าง เคารพสิทธิที่จะคิดต่างเห็นต่างของคนอื่นๆ ในโลกสมัยใหม่ ซึ่งให้ความสำคัญกับพหุวัฒนธรรม

 

หมายเหตุ: ปรับปรุงโดยตัดทอน เพิ่มเติมเนื้อหาจากบทความชื่อ “เรียนจริยศาสตร์ระดับมัธยมปลาย” เผยแพร่ใน “โลกวันนี้วันสุข” (23-29 พฤษภาคม 2558)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net