รายการ Soundtrack of Life : ตอนแรก ‘เพลงที่ดิน’

รายการ ‘Soundtrack of Life’ ตอนแรก ‘เพลงที่ดิน’ เป็นตอนที่นำเสนอเพลงที่พูดถึงแผ่นดินหรือที่ดินในมุมมองต่างๆ โดยยกเอา 3 บทเพลงมานำเสนอ ประกอบด้วย เพลงแผ่นดิน ของวงคาราบาว ในอัลบั้ม อเมริโกย วางจำหน่อยในปี 2528 ภายหลังเพลงนี้ถูกนำใช้ในสปอตโฆษณา โครงการคุณธรรมนำไทย โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) หรือคณะรัฐประหารปี 2549

เพลงที่ 2 ที่นำเสนอเป็นเพลงเป็นเพลง ‘เปลี่ยนแปลงดีไหม’ แต่งคำร้องและทำนอง โดย เอ้ นิติ'กุล เป็นบทเพลงเพื่อร่วมรณรงค์กฎหมาย 4 ฉบับเพื่อคนไทยเท่ากัน ‘พลิกฟื้นผืนดินไทย’ ประกอบด้วย ร่างพ.ร.บ. กองทุนยุติธรรม ร่างพ.ร.บ. ธนาคารที่ดิน ร่างพ.ร.บ. ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า และ ร่างพ.ร.บ. สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบโฉนดชุมชน (ดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ 4laws.info)  

ส่วนเพลงสุดท้ายคือเพลง ‘กฎหมายไม่เคยถามถึงความจน’ ของวง ลำนำ จากการลงพื้นที่ทับซ้อนที่อยู่อาศัยกับพื้นที่ป่าสงวน ดงมูล อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ในโครงการ 'triple H music' หรือโครงการดนตรีเพื่อการเรียนรู้

ดีเจเดน และ ปลา

สำหรับรายการ ‘Soundtrack of Life’ เป็นรายการแนะนำเพลงต่างๆ ที่มีเนื้อหาสามารถเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน พร้อมเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดย ‘ดีเจเดน’ รัชพงศ์ โอชาพงศ์ หัวหน้าโครงการ Triple H Music และนักแต่งเพลงที่มีประสบการณ์มากว่า 10 ปี และ ‘ปลา’ มุทิตา เชื้อชั่ง ผู้สื่อข่าวประชาไท ผู้มีประสบการณ์ทำข่าวภาคประชาชน การเมืองและกระบวนการยุติธรรมมากว่า 10 ปี เช่นกัน

โดยในตอน ‘เพลงที่ดิน’ นี้ ดีเจเดน กล่าวถึงเพลง ‘แผ่นดิน’ ด้วยว่า เพลงนี้เมื่อถูกนำมาเปิดในปี 2550 ทำให้คนซาบซึ้ง ดูแล้วทำให้รู้สึกว่าคนไทยต้องรักกัน สามัคคีกัน เพื่อที่จะได้ทำเพื่อแผ่นดินเกิดขอบเรา

ดีเจเดน กล่าวถึงนิยามที่ดิน อีกแบบที่หมายถึงความมั่นคงของชีวิต และมีการรณรงค์เรื่องกฎหมาย 4 ฉบับ และทำเพลงขึ้นมาเพื่อใช้ในการรณรงค์ ซึ่งใช้นิยามที่ดินที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ชื่อเพลง ‘เปลี่ยนแปลงดีไหม’ รวมทั้งแสดงข้อมูลความเหลื่อมล้ำในการครอบครองที่ดินในประเทศไทย ที่คนไทยทั้งประเทศมีผู้ถือครองโฉนดที่ดิน 15 ล้านราย โดยใน 15 ล้านราย มีคนเพียง 20% ที่ถือครองพื้นที่ที่ดินถึง 80%

ดีเจเดน เสริมด้วยว่า เพลง ‘เปลี่ยนแปลงดีไหม’ นั้น แต่งโดย เอ้ นิติ'กุล หรือ นิติธร ทองธีรกุล เป็นคนที่ที่แต่งเพลงรณรงค์ของภาคประชาชนหลายเพลง

ปลา แสดงความเห็นด้วยว่า มิวสิควีดีโอนี้เป็นการรณรงค์ที่น่าสนใจ เพราะก่อนหน้าที่ภาคประชาชนมักไม่ใช้การรณรงค์ผ่านมิวสิควีดีโอที่เป็นเรื่องเป็นราวมาก่อน การรณรงค์เรื่องกฎหมาย 4 ฉบับนั้น เป็นผลมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยทางแก้ผ่านการนำเสนอกฎหมาย ที่วางอยู่บนพื้นฐานของการกระจายการถือครองที่ดิน

โดยที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายของรัฐ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนที่ใช้พื้นที่ทำกิน เช่น จากปัญหาการประกาศพื้นที่อุทยานทับพื้นที่ทำกิจของประชาชน ดีเจเดน ได้แนะนำเพลงของวงลำนำ ซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม มาจากโครงการ Triple H Music ได้ลงไปในพื้นที่ที่มีปัญหาที่ดินทับซ้อนเขตอุทยาน แล้วนำปัญหาเหล่านั้นมาแต่เป็นเพลงชื่อ ‘กฎหมายไม่เคยถามถึงความจน’

“เขาให้ย้ายที่ไป ไม่ได้ปลูกข้าวก็ไปปลูกอย่างอื่นสิ คือมันไม่ง่าย โดยเฉพาะอาชีพเกษตรกรรม ความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับที่ดินเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กันมาก บางพื้นที่เขาปลูกข้าวได้ เขาอยู่แล้วเขาก็มีองค์ความรู้ด้านการปลูกข้าว กว่าจะให้เขาปรับตัวไปปลูกยางพาราได้มันใช้ระยะเวลา และไอ้ระยะเวลาที่เสียไปนี่ มันหมายถึงเงินและค่าใช้จ่ายในชีวิตเขาที่ต้องเสียไปด้วย” ดีเจเดน กล่าว

ปลา กล่าวเสริมด้วยว่า รวมไปถึงความชอบธรรมด้วยว่าชาวบ้านเขาอยู่ก่อนหรือการประกาศพื้นที่อนุรักษ์สีเขียวมาก่อน อะไรมาก่อนมาหลังก็เป็นอีกประเด็นที่มีการถกเถียงขัดแย้งกันในหลายพื้นที่

ปลา กล่าวด้วยว่าแม้ประเด็นความขัดแย้งเรื่องที่ดินจะเป็นปัญหามานานแล้ว แต่ในยักหลังรัฐประหาร ปัญหาเหล่านี้ยิ่งร้อนแรงขึ้นมา โดยการใช้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปกดดันชาวบ้านที่อยู่ตามพื้นที่ๆมีปัญหาเหล่านี้ โดย ปลา ได้ยกข้อมูลอินโฟกราฟฟิคที่รวบรวมหลังรัฐประหารถึงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม รวบรวมสถานการณ์ : เมื่อทหารคืน ‘ความสุข’ ให้ชุมชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท