Skip to main content
sharethis

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้การรับรองข้อมติดังกล่าวอย่างเป็นเอกฉันท์ หลังจากที่มีเหตุการณ์สังหารและละเมิดสิทธิผู้สื่อข่าวเพิ่มขึ้นมากทั่วโลก รวมถึงร้อยละ 90 ผู้ที่กระทำความผิดลอยนวลไม่ต้องรับผิด ทำให้ต้องมีการเรียกร้องประเทศสมาชิกประณามการกระทำผิดต่อผู้สื่อข่าวซึ่งถือเป็นการคุ้มครองพลเรือนอย่างหนึ่ง

30 พ.ค. 2558 สำนักข่าวไอพีเอสนิวส์รายงานว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้การรับรองข้อมติใหม่อย่างเป็นเอกฉันท์ซึ่งเป็นข้อมติเกี่ยวกับการประณามการละเมิดและกระทำผิดต่อผู้สื่อข่าวทุกรูปแบบ รวมถึงตำหนิการปล่อยให้ผู้กระทำผิดต่อผู้สื่อข่าวลอยนวลไม่ต้องรับผิด ซึ่งถือเป็นการยอมรับว่าสื่อเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสันติภาพและความมั่นคง

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติรองรับข้อมติที่ยืนยันว่าการทำงานของนักข่าวอย่างเป็นอิสระและไม่มีความลำเอียงเป็นรากฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตย และเรียกร้องให้มีการนำผู้ก่ออาชญากรรมต่อผู้สื่อข่าวมาลงโทษ สมาชิกคณะมนตรีฯ ยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่ทำการสู้รบเคารพต่อกฎหมายนานาชาติในเรื่องการคุ้มครองพลเรือนรวมถึงนักข่าว ทั้งนี้ยังเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักข่าวที่ถูกลักพาตัวหรือถูกจับเป็นตัวประกันโดยกลุ่มติดอาวุธ

คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ) ระบุว่านับตั้งแต่ปี 2535 มีผู้สื่อข่าวถูกสังหารแล้ว 1,129 ราย ร้อยละ 38 เป็นผู้ถูกสังหารในเขตที่มีสงคราม และนักข่าวก็ยังคงเป็นอาชีพที่มักจะตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรง อย่างไรก็ตาม คริสตอฟ เดอลัวร์ ผู้อำนวยการใหญ่องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนกล่าวว่าถึงแม้ข้อมติใหม่จากยูเอ็นจะเป็นสิ่งที่ดีแต่ก็ไม่แน่ว่าจะมากพอที่จะช่วยแก้ปัญหาได้

ญอน อิลิยาสสัน รองเลขาธิการยูเอ็นกล่าวว่าเหตุการสังหารนักข่าวในช่วงไม่นานมานี้ทำให้ทั่วโลกเริ่มสนใจรวมถึงเรื่องการสังหารตัวแทนสื่อตะวันตกในซีเรีย อิลิยาสสันกล่าวอีกว่านอกจากนี้ต้องไม่ลืมการสังหารนักข่าวในท้องถิ่นที่มีการสู้รบที่ถูกสังหารซึ่งได้รับการเผยแพร่ในสื่อน้อยกว่า รองเลขาธิการยูเอ็นกล่าวอีกว่านับตั้งแต่ปี 2549 มีอัตราการสังหารนักข่าวและการข่มขู่คุกคามหรือตั้งเป้าหมายกับนักข่าวเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง

อิลิยาสสัน ยังได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกยูเอ็นนำ "แผนปฏิบัติการของสหประชาชาติในเรื่องความปลอดภัยของผู้สื่อข่าวและประเด็นเรื่องการไม่ต้องรับผิด" ( U.N. Plan of Action on the Safety of Journalists and the Issue of Impunity) ที่ออกมาในปี 2555 ไปปฏิบัติใช้ โดยประเทศสมาชิกควรกล่าวประณามการสังหารผู้สื่อข่าวในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งและส่งเสริมภารกิจที่มาจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในเรื่องความปลอดภัยของผู้สื่อข่าวในฐานะส่วนหนึ่งของคำสั่งคุ้มครองพลเรือนและยังถือเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนในแง่ของเสรีภาพสื่อ

รองเลขาธิการยูเอ็นกล่าวว่าการสู้รบไม่เพียงทำให้ชีวิตนักข่าวอยู่ในอันตรายเท่านั้น มันยังเป็นการจำกัดการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งถือเป็นการทำลายหลักนิติธรรมและประชาธิปไตย

ทางด้าน เดอลัวร์ ยังได้พูดถึงประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือร้อยละ 90 ของอาชญากรรมที่กระทำต่อผู้สื่อข่าว ผู้กระทำความผิดยังคงลอยนวลไม่ถูกลงโทษ ซึ่งทำให้กลายเป็นการส่งเสริมการลิดรอนเสรีภาพสื่อในอีกทางหนึ่ง

มาเรียน เพิร์ล ผู้ที่สามีของเธอถูกลักพาตัวและสังหารในปากีสถานเมื่อปี 2545 กล่าวว่าช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เป็นปัญหาสำหรับผู้สื่อข่าวทั่วโลกทั้งเรื่องจำนวนผู้สื่อข่าวที่ถูกสังหารรวม 25 รายตลอด 5 เดือนของปี 2558 นอกจากนี้ยังวิจารณ์ว่าการที่ประเทศสมาชิกยูเอ็นบางประเทศทำการสอดแนมประชาชนทำให้นักข่าวและแหล่งข่าวมีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งเป็นการทำลายความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือในคุณภาพข่าว อีกทั้งบางประเทศยังมีการออกกฎหมายที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพสื่อมากยิ่งขึ้น


เรียบเรียงจาก

U.N. Security Council Takes “Historic” Stand on Killings of Journalists, IPS News, 29-05-2015
http://www.ipsnews.net/2015/05/u-n-security-council-takes-historic-stand-on-killings-of-journalists/

Adopting resolution, Security Council condemns violence against journalists, urges end to impunity, UN, 27-05-2015
http://www.un.org/apps/news/story.asp?NewsID=50980#.VWjKG9Kqqko

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net