Skip to main content
sharethis

 

ไม่ พ.ศ.นี้ก็ พ.ศ.หน้า คนไทยคงจะได้เห็นพระยืนสูบบุหรี่หน้าวัด เห็นอิหม่ามสูบบุหรี่หน้ามัสยิด เพราะสูบบุหรี่ในวัดในมัสยิดโดนปรับ 5,000 บาท

อ้าว แล้วพระควรสูบบุหรี่ไหม ก็ไม่ควร เป็นอะไรที่ “ไม่เหมาะไม่ควร” สามารถเรียกร้องแบบโต่งๆ ได้ว่าอุตส่าห์ละกิเลสแล้วทำไมเลิกบุหรี่ไม่ได้ แต่ถามว่าศีลขาดไหม น่าจะไม่นะ แต่ผิดกฎหมาย ก็ประหลาดดี เป็นกฎหมายที่เพิ่มศีลข้อ 228 ให้พระ ไม่อาบัติแต่ปรับอาน

ถูกละ พระไม่ควรพ่นควันเวลาอยู่ในโบสถ์ในศาลา ระหว่างประกอบพิธีทางศาสนาให้ญาติโยม แต่บ่ายๆ เย็นๆ ไม่ค่อยมีคน พระนั่งสูบบุหรี่อยู่ข้างกุฎี ถามว่ามันหนักกบาล เอ๊ย มันทำให้ญาติโยมเสื่อมศรัทธาไหม

ยกตัวอย่างใหม่ ถ้าครูต้องมายืนสูบบุหรี่นอกโรงเรียนล่ะ อันนี้เห็นด้วย แม้ดูเหมือน “ลิดรอนเสรีภาพ” ในการสูบบุหรี่ของครู ก็โรงเรียนนี่ครับ เด็กเต็มไปหมด ไม่ใช่ที่ควรสูบบุหรี่ เว้นแต่โรงเรียนใหญ่มาก มีโซนอาคารบ้านพักครู ก็ไปอีกอย่าง

แต่ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยล่ะ ถ้ามหาวิทยาลัยห้ามสูบบุหรี่ ก็ทุเรศละครับ แม้กฎหมายใหม่ห้ามขายบุหรี่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 แต่เด็กมหาลัยเกินครึ่งก็อายุเกิน 20 แล้วอาจารย์อีกล่ะ ที่สำคัญคือเด็กมหาลัยมีวุฒิภาวะพอควร มันจะเป็นไรนักหนาถ้าให้มีที่สูบบุหรี่

การห้ามสูบบุหรี่ในแต่ละที่จึงต้องดูเหตุผล เช่นห้ามสูบในปั๊มน้ำมัน ทำไมต้องห้าม อ้าวก็มันอันตราย แต่ถามว่าปั๊มจัดที่ให้สูบหลังห้องน้ำชาย จะเป็นไรไหม (เป็น เพราะไม่เท่าเทียมทางเพศ ผู้หญิงสูบไม่ได้) ปั๊มน้ำมันต่างจังหวัดมักอนุโลมเพื่อเอาใจลูกค้า ทำให้พวกต้านบุหรี่ไม่พอใจ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่จึงให้มีคณะกรรมการประจำจังหวัด จะได้ไปไล่จับปั๊มและสถานที่ต้องห้ามทั้งหลาย ที่ยังอนุโลมให้กัน (เพราะไม่มีใครเดือดร้อน)

ที่พูดนี่คือผมเห็นด้วย-เต็มที่ กับการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะที่กระทบสิทธิผู้ไม่สูบบุหรี่ ตั้งแต่ห้ามสูบในอาคารติดแอร์ ห้ามสูบในโรงเรียน โรงพยาบาล สวนสาธารณะ ตลาด ป้ายรถเมล์ ฯลฯ หรือจุดไหนๆที่คนพลุกพล่าน ซึ่งไม่ต้องมีป้ายห้าม เช่นป้ายรถเมล์คนยืนเพียบ ก่อนมีกฎหมายห้าม ผมก็ไม่สูบ ถ้าจะสูบก็ถอยมาห่างๆ ไม่รบกวนใคร

แต่ปัญหาคือการรณรงค์งดสูบบุหรี่-ห้ามสูบบุหรี่ ในระยะหลังๆ เริ่มแปรเจตนาจาก “ปกป้องสิทธิผู้ไม่สูบบุหรี่” มารุกล้ำ “จำกัดเสรีภาพของคนสูบบุหรี่” ด้วยความห่วงใยสุขภาพคนไทย ไม่ต้องการให้บ่อนทำลายสุขภาพตัวเอง ถ้าเป็นคนจนก็ไม่ต้องการให้สิ้นเปลืองเงินกับการสูบบุหรี่ แถมยังเอานโยบาย 30 บาทมาพ่วงว่า เจ็บป่วยแล้วเป็นภาระสังคม

อ้าว ยังงี้ก็เป็นภาระหมดสิครับ คนกินเหล้า คนกินน้ำตาล เป็นเบาหวาน ไม่ขี่จักรยานออกกำลังกาย คนติดยา คนติดเอดส์ ฯลฯ

ผมยัวะมากเมื่อดูรายการ Daily Dose ที่หมอรายหนึ่งมาให้สัมภาษณ์คุณปลื้ม เชียร์ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ หมอพูดชัดๆ เลยว่าเจตนาของกฎหมายต้องการให้คนสูบบุหรี่หาที่สูบได้ยากที่สุด เพื่อไม่ให้บ่อนทำลายสุขภาพตัวเองและเป็นภาระสังคม รัฐจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามา

เชื่อได้เลยว่าอีกไม่กี่ปี นักรณรงค์ต้านบุหรี่จะรุกจนห้ามสูบบุหรี่บนถนน บนพื้นที่สาธารณะทุกประเภท เหลือที่ให้สูบแค่ในรั้วบ้านตัวเอง

 

กฎหมายใหม่ ตีปี๊บข้างเดียว

ถ้าลองเอาคำว่า “ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ” search อาจารย์กู คุณจะเห็นอะไร เห็นแต่ข่าวสนับสนุน ข่าวด้านดีของกฎหมาย ข่าวให้ร้ายคนคัดค้าน และกดดันรัฐบาล ในช่วงก่อน ครม.มีมติรับร่าง

“เจาะแผนล้ม พ.ร.บ.ยาสูบฉบับใหม่ บุหรี่นอกชักใย ป้องกำไรพันล้าน” “แกะรอยบริษัทข้ามชาติทุ่มล้มกฎหมายควบคุมยาสูบไทย” “ร่างพ.ร.บ.ควบคุมยาสูบใหม่ หวังเลิกทาสสิงห์รมควัน” “คนไทยรวมพลัง ร่วมผลักดัน พรบ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ (ฉบับใหม่) เพื่อช่วยสกัดเด็กและเยาวชนไทยจากการเสพติดบุหรี่” “หมอหลวงหนุน ก.ม.บุหรี่ ส่งจดหมายด่วนถึงนายกฯ” “หมอประเวศเตือนประยุทธ์คิดถึงเด็กมากกว่าธุรกิจบุหรี่”

ฯลฯ แต่หาแทบตายกว่าจะเจอร่าง พ.ร.บ.ฉบับเต็ม นอกนั้นมีแต่โฆษณาข้อดี เช่นห้ามขายบุหรี่เด็กอายุต่ำกว่า 20 (จากเดิม 18 มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ไม่ว่ากัน ประเด็นนี้ผมเห็นด้วย)  ห้ามบริษัทบุหรี่ทำ CSR ห้ามแบ่งซองขายเป็นมวน (อ้างว่าเด็กเยาวชนซื้อสูบง่าย อ้าว ก็มีกฎหมายห้ามเด็กซื้ออยู่แล้ว เจตนาจริงๆ คือห้ามคนจนซื้อบุหรี่ จนแล้วยังไม่เจียม)

สาระสำคัญของกฎหมายไม่ค่อยมีใครพูดถึง เช่น การตั้งคณะกรรมการระดับชาติ คณะกรรมการระดับกระทรวง คณะกรรมการระดับจังหวัด เอาพวกนักรณรงค์บุหรี่เข้าไปมีอำนาจ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น

จะตั้งสำนักงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบขึ้นในกรมควบคุมโรค มีความจำเป็นแค่ไหน ไม่เคยมีข้อถกเถียงกัน (มีแต่ว่ากฎหมายนี้ดีไปหมด) ทั้งยังจะมี “ตำรวจบุหรี่” ซึ่งมีอำนาจค้นรถ มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ทำงานยามกลางวันโดยไม่ต้องมีหมายค้น มีอำนาจออก “ใบสั่ง” (ใครไม่จ่ายค่าปรับคงห้ามต่ออายุบัตรประชาชน) โดยใช้ภาพถ่ายวีดิโอเป็นหลักฐาน ฯลฯ

ตามกฎหมายนี้ รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้สถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน เป็นเขตปลอดบุหรี่ โดย “อาจ” กำหนดให้มีเขตสูบบุหรี่ก็ได้ (ไม่กำหนดก็ได้) ผู้ดำเนินการสถานที่ถ้ากำหนดให้มีเขตสูบบุหรี่ ต้องติดสติกเกอร์รณรงค์งดสูบบุหรี่ (สงสัยต้องเสียค่าซื้อสติกเกอร์ด้วย) แบบเดียวกับร้านขายบุหรี่ก็ต้องติดสติกเกอร์รณรงค์ ถ้า “ตำรวจบุหรี่” ไปตรวจเจอว่าไม่ทำตามกำหนดมีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท (โห งั้นไม่มีเขตสูบบุหรี่ดีกว่า)

กฎหมายนี้ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ควบบารากู่ ผมอ่านเจอหมอบอกว่าบารากู่มีพิษภัย แต่ไม่ยักบอกว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตราย(กว่าบุหรี่)ตรงไหน ทั้งที่บุหรี่ไฟฟ้าน่าจะเป็นเครื่องมือลดเลิกบุหรี่ด้วยซ้ำเพราะมีแค่นิโคติน ไม่มีสารพิษอื่นๆ เช่น tar บางคนอ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าล่อใจเยาวชน (อ้าวก็ห้ามขายอายุต่ำกว่า 20 เหมือนกันสิครับ) ตอนแบ่งซองขายก็อ้างว่าราคาถูกทำให้เยาวชนซื้อง่าย บุหรี่ไฟฟ้าราคาตั้งหลายพันบาท ก็ว่าล่อใจเยาวชนอีก

เรื่องห้ามโฆษณา ห้ามใช้พริตตี้ นี่ไม่มีปัญหาหรอก ผมสงสัยอย่างเดียว บุหรี่มีพริตตี้ด้วยเรอะ ไม่เคยเห็น ถามรุ่นน้องๆ ถึงรู้ว่าในผับมีสาวขายบุหรี่ (พวกหมอ สสส.คงไปเที่ยวผับแล้วเห็นเข้า) โห คนเที่ยวผับนะครับอายุเกิน 20 แล้ว ไปยุ่งอะไรกับเขา

ห้ามทำ CSR อันนี้โหดมาก บริษัทบุหรี่ห้ามดัดจริตทำความดี (ทั้งที่ CSR มันก็คือความดัดจริตของทุนสามานย์ทั้งสิ้น) ถ้าเกิดแผ่นดินไหวสึนามิ จะช่วยก็ได้แต่ห้ามโปรโมทโฆษณา โอเคละ ถ้าหมายถึงฟิลิปป์มอริสก็ไม่ว่ากันแต่รวมโรงงานยาสูบด้วยหรือเปล่า เพราะมันแปลว่าโรงงานยาสูบห้ามทำความดี ต้องเป็นคนชั่วสถานเดียว ตั้งแต่ ผอ.ยันภารโรง ทั้งที่เป็นรัฐวิสาหกิจหารายได้เข้ารัฐ ต้องเอาเงินมาให้ สสส.กับหมอประกิตทำความดีเท่านั้น

เรื่องซองบุหรี่ กฎหมายใหม่ให้รัฐมนตรีกำหนดสี ฉลาก รูปภาพ ข้อความ โดยเปลี่ยนอย่างน้อยทุกสองปี โดยมีแนวโน้มจะไปสู่ “บุหรี่ซองเรียบ” ไม่มีปัญหาหรอก เพราะยังไงผมก็สูบ (ฮา) รำคาญอย่างเดียวพวกนักรณรงค์ชอบอ้างว่าเปลี่ยนซองแล้วได้ผล เช่นอ้างโพลล์ว่าคำเตือนทำให้สูบน้อยลง ทำโพลล์ถามคนสูบบุหรี่บ้างหรือเปล่า หรือถามแต่คนไม่สูบ บุหรี่ซองเรียบผมก็สูบอยู่ดี แต่ปัญหาคือมันยุ่งยากกับร้านค้า ยุ่งยากสับสนในการจัดสต๊อกจัดตู้ขาย

พวกนักรณรงค์ชอบอ้างว่าทำงานได้ผล แต่พอจะรณรงค์กฎหมายใหม่ก็ยอมรับว่าที่ทำมาไม่ได้ผล จากคนสูบบุหรี่ 12 ล้านคนเมื่อปี 2534 ผ่านไป 20 ปีเมื่อปี 2554 ยังมีคนสูบ 13 ล้านคน แล้วโทษว่ากฎหมายไม่ได้ผลต้องแก้ไขให้เข้มงวดขึ้นอีก

ที่จริงผมว่าได้ผลนะครับ ในแง่ของการปกป้องคนไม่สูบบุหรี่ 20 ปีเปลี่ยนไปเยอะ ทั้งโดยกฎหมายและมารยาทสังคม คนสูบบุหรี่ส่วนใหญ่ก็ตระหนักว่าต้องไม่รบกวนผู้อื่น แต่เราถือเป็นสิทธิว่าถ้าสูบโดยไม่รบกวนใครแล้วจะตามมาตอแยอะไรกันนักหนา ไม่ใช่ลูกไม่ใช่เมียไม่ใช่หมอประจำตัว ผมไม่ได้สูบบุหรี่โลก ผมซื้อบุหรี่สูบเอง

 

ความดีซื้อสื่อ

ปัญหาของกฎหมายบุหรี่ฉบับใหม่ ข้อแรกที่กล่าวไปคือประโคมเฉพาะด้านดี ไม่พูดทั้งฉบับ ไม่มีดีเบตถกเถียงตัวบทกฎหมายอย่างเป็นเหตุผล ผู้ร่างอาจบอกว่าทำประชาพิจารณ์แล้ว ทำโพลล์แล้ว ถามว่าทำกับใคร เคยถามคนสูบบุหรี่ไหม ถามคนขายบุหรี่ไหม

ข้อสองที่มาคู่กันคือ การรณรงค์ข้างเดียว ใช้สื่อข้างเดียว แถมอะไรๆ ก็โยนให้ความชั่วร้ายของบริษัทบุหรี่

ด้านหนึ่งมาจากทัศนะแบบไทย แบบตะวันออก อยากเป็นคนดี หรืออยากให้ใครๆ มองเราเป็นคนดี ใครเสนออะไรดีๆ  ก็ต้องชูมือสนับสนุน ไม่ว่าจะเว่อร์หรือสุดโต่งอย่างไร (ไม่ต่างจากประเด็นการเมืองวัฒนธรรมเรื่องอื่นๆ)

การล่า 10 ล้านชื่อตามสถานีอนามัยจึงไม่แปลกเลย น่าจะได้ 20 ล้านด้วยซ้ำ คนสูบบุหรี่ก็ไม่กล้ามีปากเสียงเพราะจิตสำนึกแบบไทยทำให้รู้สึกเป็นคนผิด ทั้งที่ความจริงเป็นเรื่อง “พื้นที่ส่วนตัว” ซึ่งมีได้ในชีวิตคน ไม่ว่ากินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวกลางคืน ฯลฯ ตราบใดที่ไม่กระทบสิทธิผู้อื่น พื้นที่ส่วนตัวในสังคมประชาธิปไตยคุณจะหัวหกก้นขวิดอย่างไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น “คนดี” ตามเส้นศีลธรรมที่ขึงไว้ (ซึ่งเอาเข้าจริงมีไม่กี่คนทำได้แต่ปากถือศีล)

แต่อีกด้านหนึ่งที่มาพร้อมกันคือ ในขณะที่บริษัทบุหรี่ถูกห้ามโฆษณา ในขณะที่คนสูบบุหรี่ไม่มีปากเสียง กระทรวงสาธารณสุขกับ สสส. กลับใช้งบประมาณเต็มที่ อัดฉีดการรณรงค์ ซื้อพื้นที่สื่อ หรือสนับสนุนองค์กรร้อยแปดพันเก้าที่ชักแถวกันออกมา “ทำความดี”

ไม่มีให้เห็นนะครับ กฎหมายฉบับไหนของกระทรวงใด ที่ใช้งบรณรงค์กันโจ๋งครึ่ม จัดเสวนาประชาสัมพันธ์ จัดคอนเสิร์ต ดึงดารานักร้องมาคับคั่ง แม้การใช้งบส่วนหนึ่งผ่านไปทางมูลนิธิ แต่มูลนิธิใช้เงินใคร ถ้าไม่ใช่ สสส. องค์กรจัดตั้งทั้งหลายใช้เงินใคร ถ้าไม่ใช่ สสส.

ยิ่งถ้าพูดถึงวงการสื่อ สสส.นี่แหละคือผู้ครอบงำสื่อตัวจริง ทั้งด้วยทัศนะและงบโฆษณา สสส.จ่ายโฆษณาสื่อตั้งแต่ยักษ์ใหญ่อย่างไทยรัฐ ลงไปถึง Voice TV (ฮา) สสส.โฆษณากระทั่งสตาร์ซอคเกอร์ (กิจกรรมค่ายกีฬาเยาวชน) ทั้งๆ ที่แฟนซอคเกอร์ส่วนใหญ่จะอ่านอัตราต่อรอง แน่ละ มันไม่ใช่การเอาเงินฟาดหัวเหมือนบรรษัทยักษ์ใหญ่ เพราะสื่อก็เต็มใจร่วมมือรณรงค์ (โดยได้ตังค์) แต่ท้ายที่สุดก็ปิดพื้นที่คนเห็นต่างเกือบหมด ยกตัวอย่าง ข่าวร้านค้าปลีกคัดค้านร่าง พ.ร.บ.แทบไม่มีสื่อไหนลง

ร้านค้าปลีกไม่ได้คัดค้านอย่างไร้เหตุผล แต่เขาไม่เชื่อว่ามาตรการเข้มงวดมีผลให้สูบบุหรี่ลดลง ร้านค้าปลีกขายกับมือทุกวัน บอกว่าเปลี่ยนซองไปเหอะ ยอดขายไม่ลด ทำให้ยุ่งยากมากกว่า (โรงงานยาสูบก็บอกตรงกัน แต่นักต่อต้านบุหรี่ไม่ยอมรับ เดี๋ยวจะว่าไม่มีผลงาน) มาตรการเข้มงวดมากๆ มีแต่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ทุจริต ไล่คนไปซื้อบุหรี่เถื่อน หรือไปมวนยาเส้นสูบเอง (คนจนมวนยาเส้นเยอะนะครับ นับตั้งแต่บุหรี่แพง แต่นักต่อต้านบุหรี่ไม่ยอมรับ)

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1414137322

http://www.ryt9.com/s/bmnd/2146844

ทัศนะอะไร

กฎหมายฉบับนี้แม้เตรียมการมาก่อน แต่เร่งทำร่างและรณรงค์อย่างจริงจังหลังรัฐประหาร ซึ่งก็เป็นไปตามทฤษฎีที่พวกหมอๆ เชื่อว่า รัฐประหารดีกว่าประชาธิปไตย

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หมอเป่านกหวีดแล้วคิดเรื่องการบังคับคนไทยให้มีสุขภาพดีพร้อมไปด้วย พวกหมอมักตั้งตัวเป็นเจ้าชีวิตคนไข้ แล้วก็ขยายไปถึงคนทั้งประเทศ ขยายไปถึงเรื่องการเมือง เรื่องวิถีชีวิต วัฒนธรรม เจ้ากี้เจ้าการไปทุกอย่าง โดยเฉพาะในยุคสมัยที่คนห่วงใยสุขภาพ คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม ซึ่งอันที่จริงเป็นเรื่องที่ต้องตกลงกันในสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่บังคับด้วยอำนาจเผด็จการ

เผด็จการตั้งอยู่บนฐานความเชื่อว่า ต้องใช้อำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพเพื่อให้ได้สังคมที่ดีมีศีลธรรมมีความเป็นระเบียบ ต้องใช้ยาแรงปราบปรามคนทำผิด ทั้งที่ตัวอำนาจเผด็จการเอง เป็นอำนาจที่ไม่โปร่งใสตรวจสอบไม่ได้ เอื้อให้เกิดเส้นสายความอยุติธรรมระบอบอุปถัมภ์

วิธีคิดเผด็จการสะท้อนออกมาหลายเรื่องพร้อมกันในเรื่องคุณภาพชีวิต วัฒนธรรม ไม่ใช่แค่กฎหมายบุหรี่ แต่ยังมีกฎหมายศาสนา กฎหมายคอมพิวเตอร์ ปราบปรามสิ่งยั่วยุทางเพศ ความรุนแรง หรือข้อเสนอห้ามขายเหล้าปีใหม่สงกรานต์ ซึ่งรุกเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวของชีวิตคน

ที่พูดมาไม่ใช่ผมไม่เอาการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่เลย แต่ต้องขีดเส้นให้ชัด หนึ่ง กฎหมายมีไว้เพื่อปกป้องคนไม่สูบบุหรี่ อะไรที่ล่วงล้ำสิทธิของคนไม่สูบบุหรี่ รัฐมีอำนาจเต็มที่จะลิดรอนเสรีภาพคนสูบบุหรี่ รวมทั้งมีอำนาจเต็มในการปกป้องเยาวชน (เช่นกำหนดอายุ)

สอง การรณรงค์ให้เห็นพิษภัยจากบุหรี่ รัฐต้องสนับสนุนเต็มที่ เพื่อให้คนลดเลิก เพื่อให้คนใหม่ๆ ไม่สูบบุหรี่ แต่ต้องไม่รุกล้ำเสรีภาพของคนสูบบุหรี่ ที่สูบได้เมื่อไม่ละเมิดสิทธิใคร (แต่ถ้าจะอ้างว่าอากาศเป็นของสาธารณะ ห้ามสูบบุหรี่ทุกถนนหนทาง ก็ควรประกาศให้บุหรี่เป็นยาเสพย์ติดผิดกฎหมาย ยุบโรงงานยาสูบ ห้ามนำเข้าบุหรี่ จะได้ยุบมูลนิธิหมอประกิต เลิกส่งเงินเข้า สสส.เข้ากองทุนกีฬา เอาภาษีบาปไป “ซื้อเหรียญทอง” สร้างความภูมิใจในชาติ)

สาม กฎหมายต้องมีไว้คุ้มครองผู้สูบบุหรี่ในฐานะผู้บริโภคด้วย ข้อห้ามบางเรื่อง เช่น ห้ามโชว์บุหรี่ที่จุดขาย มีผลด้านกลับตัดทางเลือกของผู้สูบบุหรี่ ฟิลิปป์มอริสชอบมากนะครับ เพราะกำจัดคู่แข่ง บุหรี่ยี่ห้ออื่นหมดทางสู้

กฎหมายต้องไม่ตัดสิทธิผู้สูบบุหรี่ให้ได้รับความคุ้มครองตามกติกาเสรีภาพทั่วไป เช่น ถ้าบริษัท โรงงาน ฉวยโอกาสไม่กำหนดที่สูบบุหรี่ ห้ามสูบกระทั่งเวลาพัก บังคับพนักงานเลิกสูบบุหรี่ พวกหมอๆ คงดีใจ แต่ถามว่าถ้าพนักงานต้องลาออก หรือแอบสูบแล้วถูกไล่ออก นี่เอื้อให้ละเมิดสิทธิเสรีภาพไหม

ผมไม่ได้คัดค้านกฎหมายทั้งฉบับ แต่ภายใต้การให้ข้อมูลด้านเดียว ประโคมข้างเดียว กฎหมายจะผ่านโดยไม่มีใครกล้าซักค้าน ไม่มีใครถามประเด็นอื่นๆ ไม่พูดทั้งฉบับที่มี 87 มาตรา เพราะใครค้านก็จะเข้าข้างบริษัทบุหรี่ ใครค้านก็ไม่เห็นแก่อนาคตของชาติ ไม่ปกป้องเยาวชน ปล่อยผ่านๆ ไปดีกว่า

 

 

                                                                                                ใบตองแห้ง

                                                                                                วันงดสูบบุหรี่โลกแต่ซื้อบุหรี่สูบเอง

.............................................

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net