Skip to main content
sharethis

มาดูต้นทุนผลิตไฟฟ้าจากเทคโนโลยีต่าง ๆ หลัง 'ประยุทธ์' ระบุหากไม่ใช้ถ่านหินคนไทยต้องใช้ไฟฟ้าแพงขึ้น ฝ่ายคัดค้านตั้งคำถาม ‘ถ่านหิน’ สะอาดจริงหรือ? พบแม้ ‘นิวเคลียร์' ต้นทุนถูกจริง แต่ฝ่ายต้านยังห่วงเรื่องความปลอดภัย-ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และท้ายสุดคนไทยพร้อมไหมใช้พลังงานทางเลือกแต่ค่าไฟแพงขึ้น

ภาพจาก wikipedia.org

31 พ.ค. 2558 ประเด็นพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างกว้างขวางในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินว่า ต้องใช้ถ่านหินเพราะเป็นต้นทุนที่ถูกที่สุด และเป็นพลังงานต่อเนื่องมีใช้อีกเป็นล้านปี แต่เราต้องหาเทคโนโลยีมาให้ได้ ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งดูการผลิตพลังงานไฟฟ้าถ่านหินที่ประเทศลาวที่เพิ่งเปิด และไทยต้องรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากลาว ซึ่งเป็นข้อเสียถ้าไม่ส่งไฟฟ้าก็ไม่รู้จะเอาที่ไหนมาใช้ ส่วนพลังงานลมบ้านเราไม่มีมากเพียงพอที่จะผลิตกระแสไฟฟ้า ขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์ก็ไม่มีแดดทั้งปี รวมถึงแบตเตอรี่ก็ไม่เพียงพอ ไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ เพราะมีต้นทุนสูง คนจนไม่สามารถทำได้ หากจะนำเข้าระบบก็จะต้องทำสายส่งเพิ่มขึ้นก็ไม่สามารถทำได้

"วันนี้ก็ทำอะไรไม่ได้ วันหน้าไม่มีไฟฟ้าใช้ก็อย่าบ่น และถ้าค่าไฟขึ้นราคาก็อย่าบ่น ผมขอประกาศไว้วันนี้เลย ถ้าทำอะไรไม่ได้ก็อย่าบ่น ถ้าน้ำมันขึ้นไปอีกทีแค่นี้ก็ตายแล้ว ค่าไฟฟ้าก็ต้องขึ้นอีก โดนทุกเรื่อง จึงต้องมีมาตรการลดความเสี่ยง ถ้าวันนี้ทะเลาะกัน วันหน้าจะมีใครส่งมาให้เราไหม วันนี้ถ้าเขาปิดท่อก็เดือดร้อนกันหมด และปีหน้าก็จะยิ่งกว่าเดิมเพราะเขาจะลดการส่งแก็ส เข้ามาเพราะเขาก็จะไปพัฒนาประเทศของเขาจากที่ส่ง 50 ก็เหลือ 20" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

 

‘ถ่านหิน’ ถูกจริงแต่สะอาดจริงหรือ? ส่วน 'นิวเคลียร์' เรื่องใหญ่กว่าต้นทุนถูก

จากข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ณ เมษายน 2558 ระบุถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าตามเทคโนโลยี (ต่อหน่วย) ดังนี้

- พลังน้ำ (รับซื้อจากต่างประเทศ) 2.41 บาท
- นิวเคลียร์ 2.54 บาท
- ถ่านหิน 2.67 บาท
- ความร้อนร่วม 3.09 บาท
- ความร้อน 5.57 บาท
- กังหันก๊าซ 10.2 บาท

ส่วนข้อมูลจากสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ณ เมษายน 2558 พบว่าราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ต่อหน่วย) มีดังนี้

- พลังลมทุกขนาด 6.06 บาท
- พลังงานแสงอาทิตย์ 5.66 - 6.85 บาท

เมื่อพิจารณาแล้ว แม้จะเป็นพลังงานที่มีราคาถูกแต่สำหรับประเด็นถ่านหินนั้นฝ่ายภาคประชาชนที่คัดค้านการใช้พลังงานชนิดนี้ก็ระบุว่า กฟผ.  มีการโฆษณาว่าถ่านหินสะอาด เป็นการกล่าวอ้างเกินจริง เนื่องจากจงใจใช้คำที่มีความกำกวมชี้นำให้คนเข้าใจผิด ว่าสามารถผลิตพลังงานจากถ่านหินได้สะอาดปราศจากมลพิษแล้ว ด้วยเหตุผลสำคัญ 3 ข้อคือ 1. การลดมลสารซึ่งปล่อยออกมาทางอากาศกับปล่องโรงไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้ เป็นเพียงการย้ายปัญหาจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เพราะสสารไม่สูญหายไปจากโลก แต่เพียงเปลี่ยนรูปร่าง มลสารบางอย่างจะไปสะสมในขี้เถ้าในปริมาณที่เข้มข้นและมากขึ้น นั่นรวมถึงโลหะหนักอย่างเช่นปรอท

2. โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดตามนิยามของ กฟผ. ยังคงเป็นตัวการที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การโฆษณา ถ่านหินสะอาด ของ กฟผ. ไม่มีการพูดถึงบริบทของภาวะโลกร้อน ไม่มีการพูดถึงการดักจับ และเก็บกักคาร์บอน หรือ CCS เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ และ 3. แม้จะมีเทคโนโลยีที่เผาไหม้ถ่านหินได้สะอาดขึ้น แต่ที่มาของถ่านหินก็ไม่มีวันสะอาด เพราะมลพิษที่กล่าวมาทั้งหมด ยังไม่รวมถึงการทำเหมืองถ่านหิน อันเป็นกระบวนการที่สกปรกต่อคนและระบบนิเวศเป็นอย่างยิ่ง (ดูประเด็นนี้เพิ่มเติม: หยุด ! โฆษณาชวนเชื่อ 'ถ่านหินสะอาด')

ส่วนประเด็นโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์นั้น ฝ่ายภาคประชาชนที่ติดตามเรื่องประเด็นพลังงาน ก็ยังมีความกังวลใจว่าข้อมูลของ กฟผ. ที่เผยแพร่ออกมานั้น โดยเฉพาะต้นทุนของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ อาจจะยังไม่ได้ใส่ค่ารักษาความปลอดภัยกับค่าผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมลงไปในการหาต้นทุนตามมาตรฐานสากลเข้าไป เพราะหากเกิดอุบัติเหตุกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ย่อมจะเป็นเรื่องที่ใหญ่มากกว่าราคาของไฟฟ้า โดยการจำแนกต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังนิวเคลียร์นั้นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบ 4 ส่วนคือ (1) เงินทุนที่ใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า (capital cost) (2) การดำเนินงานผลิตไฟฟ้า (operating cost) (3) การขจัดกากกัมมันตรังสี (radioactive waste disposal cost) และ (4) การปลดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากการใช้งาน (decommissioning cost) อีกทั้งต้นทุนอื่น ๆ เช่น ค่าการศึกษาและจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมในการก่อสร้าง การจัดตั้งหน่วยงานควบคุมทางนิวเคลียร์ของรัฐ (nuclear regulatory body) ที่มีบุคลากรชำนาญการ ที่สามารถควบคุมการบริหารและดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ให้มีความปลอดภัยและมั่นคงตามมาตรฐานสากล (อ่านเพิ่มเติม: ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ ของการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังนิวเคลียร์)

 

พลังงานทางเลือกยังราคาแพงอยู่ 

ปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ยังคงมีราคาสูงอยู่เนื่องด้วยเรากำลังอยู่ในยุคของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ในเชิงพานิชย์ โดยเฉพาะเทคโนโลยีแบตเตอร์รี่ที่ยังไม่สามารถกักเก็บพลังงานในปริมาณมหาศาลได้ ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมจึงเป็นการปล่อยไฟฟ้าที่ผลิตได้ขนานเข้าระบบกับร่วมกับพลังงานหลัก (ถ่านหิน, นิวเคลียร์ และก๊าซ เป็นต้น) ที่สามารถรันได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน

หลายประเทศที่ใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นพลังงานสะอาดนั้นก็พบว่ามีราคาค่าไฟฟ้าที่สูงพอสมควร จากข้อมูลในปี ค.ศ. 2013 พบว่าประเทศที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือกในประเทศสูงนั้น ก็มีค่าไฟสูงขึ้นตามไปด้วย เช่น สเปนมีราคาไฟฟ้าอยู่ที่ 22.73 US cent ต่อ kWh, โปรตุเกส 25.25 US cent ต่อ kWh และเยอรมันนี 36.25 US cent ต่อ kWh (เมื่อเปรียบเทียบกับไทยที่ราคาอยู่ที่ 6-13 US cent ต่อ kWh) [1]

สำหรับเยอรมันนี ประเทศที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมสูงอันดับต้น ๆ ของโลก จากข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2014 พบว่ากำลังการติดตั้งของระบบทั้งหมดของประเทศเยอรมันนีอยู่ที่ 175,022 MW ทั้ง ๆ ที่ประเทศเยอรมันนีมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่เพียง 89,792 MW เท่านั้น ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าเยอรมันนีต้องรันโรงไฟฟ้าพลังงานหลัก (นิวเคลียร์ 12,068 MW, ถ่านหินลิกไนต์ 21,206 MW, ถ่านหินบิทูมินัส/ซับบิทูมินัส 28,115 MW และก๊าซ 28,403 MW) ขนานไปกับการรันโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก (พลังงานลม 34,638 MW พลังงานแสงอาทิตย์ 37,448 MW ส่วนพลังงานอื่น ๆ ก็มีอีกเล็กน้อย ไบโอแมส 7,537 MW และพลังน้ำ 5,607 MW) เนื่องด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงด้านพลังงาน ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมไม่มีความเสถียรภาพที่จะสามารถป้อนไฟฟ้าให้ระบบตลอดทั้งวันได้ ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของเยอรมันนีมีราคาสูงเป็นประเทศลำดับต้น ๆ ของโลกด้วยเช่นกัน โดยราคาค่าไฟฟ้าของเยอรมันนีมีสองระบบ ราคาของภาคครัวเรือนจะสูงกว่าภาคอุตสาหกรรม ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2013 (ที่อัตราแลกเปลี่ยน 1 ยูโร = 44.7210 บาท) พบว่าภาคครัวเรือนของเยอรมันต้องซื้อไฟฟ้าที่ 13.059 บาทต่อหน่วย ส่วนภาคอุตสาหกรรมซื้อไฟฟ้าที่ 6.395 บาทต่อหน่วย [2]

ท้ายสุดสำหรับคนไทยไม่ว่าจะเป็นชนชั้นกลาง (ที่อยากจะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม) และชาวบ้านรากหญ้า (ที่จัดลำดับเรื่องปากท้องไว้ก่อนเรื่องสิ่งแวดล้อม) ประชาชนสองกลุ่มใหญ่ของประเทศไทย ก็ต้องตอบคำถามว่าเราพร้อมหรือไม่ที่จะจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นเพื่อแลกกับการเลี่ยงถ่านหินและนิวเคลียร์ในอนาคต.

 

_____

[1] Electricity pricing, en.wikipedia.org

[2] Federal Ministry for Economic Affairs and Energy www.bmwi.de, European Energy Exchange, Fraunhofer ISE  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net