Skip to main content
sharethis

ผู้ว่าฯ สกลนคร เปิดยุทธการขอคืนผืนป่าอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก ย้ำไม่เล่นงานคนจน ด้านสมัชชาคนจนหวั่น ‘คนจน’ ถูกเห็นเป็นนายทุน พร้อมขอให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อเท็จจริง<--break- />

2 มิ.ย. 2558 เวลา 10.00 น. บุญส่ง เตชะมณีสถิต ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เป็นประธานในพิธีเปิดยุทธการขอคืนผืนป่าอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก ณ ที่ว่าการอำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ภายหลังพิธีเปิดมีการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครรักษาดินแดน กว่าประมาณ 400 นาย เข้าปฏิบัติการตัดโค่นยางพารา เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ ในพื้นที่ ต.วาริชภูมิ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ซึ่งปฏิบัติการดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากการประชุมเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2558

โดยผู้ว่าฯ จ.สกลนคร ประชุมร่วมกับ พล.ต.กนก ภูม่วง ผบ.จทบ.สกลนคร พ.ต.อ.ธวัชชัย หาญนที รอง ผบก.ภ.จว.สกลนคร และนายอำนาจ เจิมแหล่ ผอ. สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสกลนคร เพื่อกำหนดมาตรการทวงคืนผืนป่า ในเขตอุทยานแห่งชาติภูพาน เขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก เขตอุทยานแห่งชาติภูผายล และเขตป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่จังหวัดสกลนคร เนื้อที่ประมาณ 15,700 ไร่ ซึ่งการเปิดยุทธการในครั้งนี้จะไม่เน้นการทวงคืนผืนป่าจากผู้ยากจน แต่จะเน้นการทวงคืนผืนป่าจากนายทุน โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. เป็นต้นไป

ด้านบารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน ได้เห็นความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า การปฏิบัติการครั้งนี้ ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับสมาชิกสมัชชาคนจนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเกรงว่า พื้นที่ของตนซึ่งมีปัญหาข้อพิพาทเรื่องแนวเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กไม่ชัดเจน และอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานราชการ จะถูกรื้อถอน ทำลายทรัพย์สินไปด้วย ประกอบกับปฏิบัติการดังกล่าว หน่วยงานที่รับผิดชอบ อ้างว่า จะเน้นการทวงคืนผืนป่าจากนายทุน แต่ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลกับสาธารณะว่า ในพื้นที่เป้าหมายที่จะทวงคืนผืนป่าหรือตัดโค่นยางพาราอยู่ที่ไหน บริเวณใด มีใครเป็นเจ้าของ เป็นนายทุนจริงหรือไม่ หรือคำว่า “นายทุน” ที่หน่วยงานราชการกำหนดหรือให้คำนิยามนั้นมีลักษณะอย่างไร เพราะนับตั้งแต่รัฐบาลส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็มีชาวบ้านเป็นจำนวนมากที่ต้องกู้หนี้ยืมสินมาลงทุนปลูกยางพารา เนื่องจากคิดว่าจะมีรายได้ที่สร้างอนาคตของพวกเขาให้อยู่ดีกินดีได้ แต่กลับมาถูกกล่าวหาว่า เป็นนายทุน

บารมี กล่าวต่ออีกว่า ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว ออกมาเปิดเผยข้อมูลกับสาธารณะ จัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า พื้นที่ดังกล่าวนั้น เป็นพื้นที่ที่มีการบุกรุกใหม่หรือไม่ หรือเป็นพื้นที่ที่ปัญหาข้อพิพาทอยู่เดิม อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา หรือบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นนายทุนนั้น เป็นนายทุนจริงหรือไม่ และหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่ถูกกล่าวหา ได้มีโอกาสในการชี้แจงข้อเท็จจริง ตลอดจนมีขั้นตอนในการอุทธรณ์คำสั่งที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับคนจน และยุติการใช้คนจนเป็นแพะแทนนายทุน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net