Skip to main content
sharethis

3 มิ.ย.2558 เมื่อเวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีวาระเชิญตัวแทนผู้ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญเข้าชี้แจงหลักการและเหตุผลในการเสนอปรับแก้ไข โดยช่วงเช้าเป็นการเชิญตัวแทนกลุ่มพลังงาน นำโดย มนูญ ศิริวรรณ เกษมสันต์ จิณณวาโส ดุสิต เครืองาม วรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา และภัทรียา สุมะโน เข้าชี้แจงเป็นกลุ่มที่ 3 ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม บวรศักดิ์ ได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบว่า เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระอย่างแท้จริงในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ทางกมธ.ยกร่างฯจึงมีมติขอร้องผู้สื่อข่าวด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการเปิดโอกาสให้เข้ามาในห้องประชุมเป็นเวลา 4 เดือนเศษก่อนหน้านี้ โดยหลังจากนี้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญอยากจะพูดเต็มที่ ขอให้ในห้องประชุมมีเฉพาะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญและเจ้าหน้าที่เท่านั้น จากนั้นได้กล่าวเชิญผู้สื่อข่าว และช่างภาพออกจากห้องประชุม

รายงานข่าวจากกมธ.ยกร่างฯแจ้งว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้ใช้เวลาช่วงหนึ่งก่อนเข้าวาระรับฟังคำชี้แจง หารือในกรอบการทำงานและได้หารือถึงกติกาที่จะให้ผู้สื่อข่าวยกเว้นช่างภาพนิ่งและช่างภาพสถานีโทรทัศน์เข้าติดตามการพิจารณาการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของสปช.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดย บวรศักดิ์ เป็นผู้ยกประเด็นให้ที่ประชุมหารือ และมีกมธ.ยกร่างฯได้หารือและพิจารณาถึงผลดีและผลเสียต่อกรณีที่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าติดตามการประชุมในห้องประชุมโดยเสียงของกมธ.ยกร่างฯส่วนใหญ่เห็นไปทางที่ไม่ควรให้ผู้สื่อข่าวเข้าติดตามการพิจารณาในห้องประชุมเหมือนช่วงที่ผ่านมาพร้อมยกเหตุผลประกอบคือ

1.เพื่อความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของกมธ.ยกร่างฯและลดความกดดัน 

2.บางประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุปหรือตกผลึกร่วมกันอาจทำให้เกิดการพาดพิงถึงบุคคลภายนอกได้ และ

3.การประชุมที่ได้ข้อสรุปแล้วจะให้สิทธิโฆษกกมธ.ยกร่างฯที่ได้รับมอบหมายแถลงข่าวกับสื่อมวลชน 

ทำให้ บวรศักดิ์ กล่าวสรุปว่าจะงดให้ผู้สื่อข่าวเข้าติดตามการประชุมหลังจากนี้ไป 

จากนั้น บวรศักดิ์ กล่าวชี้แจงถึงกรณีที่ขอความร่วมมือสื่อมวลชนงดการติดตามการพิจารณาการยกร่างรัฐธรรมนูญภายในห้องประชุม ว่า เป็นการขอความร่วมมือจริง เพราะในช่วงโค้งสุดท้ายของการปรับร่างรัฐธรรมนูญก่อนส่งให้สปช. ลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบย่อมมีความเห็นที่แตกต่างและมีแนวโน้มของแรงกดดันที่จะมาสู่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้บรรณาธิการข่าวยกประเด็นพาดหัวซึ่งเป็นคนละแบบกับเนื้อหาข่าวและเพื่อความเป็นอิสระของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงขอความร่วมมือผู้สื่อข่าว ทั้งนี้ในการพิจารณาประเด็นการกำหนดกติกาเข้าทำข่าวนั้น ยอมรับว่าเสียงส่วนใหญ่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นด้วย และมีเพียง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพียง 1 คนเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย

 

ที่มา : มติชนออนไลน์, ASTVผู้จัดการออนไลน์ และ คมชัดลึกออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net