Skip to main content
sharethis

เสวนาทบทวนหนังสือ “รัฐฉาน: พิชัยยุทธ์ทางการเมืองการทหาร” เสมอชัย พูลสุวรรณ นำเสนอภูมิสังคม วัฒนธรรมรัฐฉาน - ดุลยภาค ปรีชารัชช เล่าเรื่องการจัดระเบียบอำนาจในรัฐฉานสมัยปัจจุบัน ช่วงชั้นทางอำนาจของกองกำลังต่างๆ ในรัฐฉาน ขณะที่ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองชาวไทใหญ่ ไม่แน่ใจว่าหากการเมืองพม่าเปลี่ยนแปลง จะส่งผลต่อการเจรจาสันติภาพหรือไม่

3 มิ.ย. 2558 – ที่ห้องประชุมชั้น 1 อาคาร มอส. มีการเสวนาทบทวนหนังสือ "รัฐฉาน: พิชัยยุทธ์ทางการเมืองการทหาร" (Shan State: A Strategic Handbook on Politics and Military) ร่วมเสวนาโดยดุลยภาค ปรีชารัชช โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ เสมอชัย พูลสุวรรณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการด้านชาติพันธุ์และไต/ไทศึกษา และ ประจักษ์ กุนนะ ชาวไทใหญ่ ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองในรัฐฉาน

โดยในการเสวนาแบ่งเนื้อหาเป็นการทบทวนภูมิสังคม วัฒนธรรมรัฐฉาน ประวัติศาสตร์รัฐฉานในยุคจารีต สมัยอังกฤษปกครอง สถานการณ์ด้านการเมืองและความมั่นคงนับตั้งแต่ยุคพม่าได้รับเอกราชจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งอนาคตของรัฐฉานหลังรัฐบาลพม่าเริ่มเจรจาสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์

(จากซ้ายไปขวา) เสมอชัย พูลสุวรรณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดุลยภาค ปรีชารัชช โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประจักษ์ กุนนะ ชาวไทใหญ่ ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองในรัฐฉาน

 

ทำความรู้จักรัฐฉาน

เสมอชัย พูลสุวรรณ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงรัฐฉานก็ไม่ใช่ว่าคนไทยไม่รู้จัก แต่ถามว่ารู้จักดีไหม รู้จักอย่างไร คนไทยอาจจะรู้แค่ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทะเลสาบอินเล เมืองเชียงตุง ท่าขี้เหล็ก เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่พวกเรารู้จัก

รัฐฉานมีพลเมืองที่เรียกตัวเองว่าไตโหลง หรือไทใหญ่ แต่เรารู้จักพวกเขาอย่างไร อาจจะรู้จักว่าเขานับถือพุทธศาสนา เป็นแรงงานจำนวนมากในไทย เป็นกลุ่มหนึ่งในบรรดาแรงงานรับค่าแรงถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน เฉกเช่นเดียวกับ ลาว กัมพูชา อีกเรื่องคือเครือข่ายยาเสพติด ที่สร้างปัญหาให้กับประเทศไทย

การนึกถึงในแง่มุมเหล่านี้ก็เหมือนจะทำให้เรารู้จักเพื่อนบ้านในมุมที่กระพร่องกระแพร่ง เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่ได้เห็นความเป็นมาเป็นไป เวลาที่มีปัญหาเกี่ยวข้องที่เกิดขึ้น เช่นยาเสพติด แต่เราไม่รู้ว่ามันเป็นมาอย่างไร เป็นท่าทีที่ยังไม่เหมาะสมเท่าไหร่ในการทำความเข้าใจและรู้จักเพื่อนบ้าน และจะประเมินท่าทีเข้าไปเกี่ยวข้องกับเพื่อนบ้านโดยมีพื้นฐานความรู้ที่ลุ่มลึกและซับซ้อนพอสมควรจะทำให้เรากำหนดท่าทีในการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านได้เหมาะสมกว่าการรู้จักกันอย่างผิวเผินและคอยตั้งป้อม สำหรับผลงานวิชาการของอาจารย์ดุลยภาคนั้นเป็นส่วนหนึ่งในการพยายามทำความเข้าใจเพื่อนบ้าน เป็นอุปการคุณทางวิชาการ และสามารถมีท่าทีต่อการปฏิบัติที่เหมาะสมขึ้น

 

ฉานในฐานะผู้คน และในฐานะหน่วยทางการเมือง

เสมอชัยนำเสนอต่อไปว่า รัฐฉานตั้งอยู่ทางทิศอีสานของพม่า เป็นหนึ่งในรัฐชาติพันธุ์ เช่นเดียวกับมอญ ชิน คะฉิ่น ยะไข่ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์มากพอสมควรแต่พลเมืองส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าไตใหญ่ มีพรมแดนติดต่อหลายประเทศ จีนทางเหนือ ตะวันออกติดลาว ทางใต้ติดกับไทย มีแม่น้ำสาละวินไหลผ่านกลางแบ่งรัฐฉานเป็นสองฟาก เป็นรัฐฉานฟากตะวันออกกับตะวันตก และมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์พอสมควร ไทใหญ่อยู่ทางตะวันตก ฟากตะวันออกเป็นอักเขตวัฒนธรรมคือ เขิน ลื้อ

คำว่าฉานเป็นคำในภาษาพม่า ที่พม่าใช้เรียกผู้คนในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพม่าตอนกลาง ซึ่งเคยยอมรับว่าครั้งหนึ่งฉานเคยรุ่งเรืองอยู่ในภาคกลางของพม่า ในทัศนะความรับรู้ของพม่า คือเป็นผู้ที่นับถือพุทธศาสนามาก่อนฉาน แล้วเอาศาสนาไปเผยแพร่ เป็นทัศนคติที่พม่าประเมินตัวเองในฐานะเป็นสัมมมาทิฐิมาก่อนฉาน

คนที่ถูกพม่าเรียกว่าฉาน คือกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท แต่คนไทยที่พูดไทย คนพม่าเรียก โยเดีย ส่วนคนภาคเหนือของไทย คนพม่าเรียก โยน ซึ่งมาจากคำว่าแคว้นโยนก

กลุ่มคนฉานเองก็มีหลายกลุ่ม ได้แก่ ไตโหลง ไตแหลง ไตคำตี่ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐคะฉิ่น ไตเหนอ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ทางใต้ของจีน ลื้อ ยอง เขิน และคำว่า “ไต” หรือที่เรียกว่าไต 32 เผ่า เป็นการพยายามสร้างสำนึกร่วม และมีกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่ไม่ได้พูดแค่ภาษาตระกูลไต

ฉานมีความซับซ้อนในตัวเอง และผู้มีส่วนสำคัญในการนิยามอีกกลุ่มก็คือนักวิชาการตะวันตก

การบันทึกเกี่ยวกับฉานในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา เริ่มมีการพูดถึงฉานในฐานะหัวเมือง ไม่ใช่รัฐ ต่อมาในสมัยอาณานิคม นักวิชาการตะวันตกก็เข้ามาศึกษาผู้คนและผลิตงานวิชาการออกมาจำนวนมาก และสิ่งที่น่าสนใจสำหรับงานของนักวิชาการตะวันตกคือการมองความเป็นฉาน และกำหนดขอบเขตของหน่วยชาติพันธุ์นั้นดูจากภาษาเป็นหลัก และการจัดโครงสร้างความสัมพันธ์โดยนักวิชาการตะวันตกเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจฉานต่อมาในภายหลัง

 

ฉานกับเครือข่ายทางวัฒนธรรม

เนื่องจากไม่ได้เป็นหน่วยทางชาติพันธุ์ตามธรรมชาติ มีหน่วยย่อย และมีชาติพันธุ์แยกย่อยไปอีก นอกเหนือจากภาษาแล้ว ยังเชื่อมโยงด้วยพุทธศาสนา แม้ว่าทางตะวันออกซึ่งถือพุทธศาสนานิกายแบบเดียวกับล้านนา กับทางตะวันตก ซึ่งนับถือพุทธศาสนานิกายเดียวกับพม่า ทำให้ในรัฐฉานมีผู้นับถือพุทธศาสนาคนละนิกาย ทำให้เขารู้สึกไม่เป็นพวกเดียวกัน

ตำนานความรับรู้เกี่ยวกับรากเหง้าของตัวเองก็มีความแตกต่างกัน เช่น ลื้อกับยองรู้สึกตัวเองเป็นพวกเดียวกัน เชื่อว่าพวกเขามาจากสิบสองปันนา แต่ไม่ได้เป็นกลุ่มเดียวกับ ไตโหลง หรือที่พวกลื้อกับยองเรียกพวกเขาว่าเงี้ยว

 

ประวัติศาสตร์ทางการเมืองยุคโบราณ

มีการพูดถึงรัฐฉานในเอกสารจีนในราวคริสต์ศตวรรษที่ 13-15 กล่าวถึงการที่จีนปราบอาณาจักรหมอกขาวมาวหลวงที่อยู่ในรัฐฉานด้านตะวันตก ซึ่งต้องใช้เวลาปราบอย่างยาวนาน ขณะที่เชียงตุงซึ่งเป็นส่วนอิทธิพลของอาณาจักรล้านนาก็มีพัฒนาการของบ้านเมืองขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ขณะที่คริสต์ศตวรรษที่ 16-19 มีบันทึกเกี่ยวกับการแผ่อิทธิพลไปในพื้นที่ของพม่า

 

ปกหนังสือ "รัฐฉาน: พิชัยยุทธ์ทางการเมืองการทหาร" (Shan State: A Strategic Handbook on Politics and Military)

 

การจัดศูนย์อำนาจรัฐฉาน: จากยุคอาณานิคมอังกฤษถึงแนวคิดกระชับอำนาจของรัฐพม่า

จากนั้น ดุลยภาค ปรีชารัชช เป็นผู้นำเสนอต่อ โดยกล่าวว่าหนังสือเล่มนี้ มาจากงานวิจัยของเรื่อง “พลวัตความขัดแย้งทางการเมืองและการทหารในรัฐฉาน: ศึกษาเชิงแนวคิดทฤษฎีและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์” โดยหน้าปกหนังสือนั้น ใช้ภาพของเจ้าเสือขานฟ้า แต่เนื้อหาหนังสือไม่ได้ย้อนไปไกลถึงยุคเจ้าเสือขานฟ้า อย่างไรก็ตาม ตัวเขาเห็นว่าเจ้าเสือขานฟ้านั้นมีอิทธิพลต่อความคิดจิตใจของกองกำลังกู้ชาติรัฐฉานอยู่จนถึงปัจจุบัน การเคลื่อนกำลัง การต่อรองทางการเมืองการทหารนั้นดำเนินมาอย่างยาวนาน มีการชิงไหวชิงพริบมาตั้งแต่ยุคจารีต ยุคเจ้าฟ้าไทใหญ่ ช่วงอาณานิคม ยุคหลังประกาศเอกราช จนกระทั่งปัจจุบัน

ในยุคอาณานิคมที่อังกฤษเข้ามาปกครอง อังกฤษได้พยายามแบ่งการเมืองการปกครอง แบ่งศูนย์การบริหารที่ล่าเสี้ยว กับตองจี ในภาพรวมอังกฤษจัดให้บางพื้นที่ให้อยู่ในเขตอำนาจของอาณานิคมโดยแท้ และอีกเขตคืออังกฤษให้เป็นอิสระโดยสิ้นเชิง เช่น พื้นที่ของชนชาติพันธุ์ต่างๆ ยุทธศาสตร์การปกครองของอังกฤษเช่นนี้ทำให้เห็นว่ารัฐฉานมีความซับซ้อนบางอย่างทำให้อังกฤษไม่พร้อมที่จะลงทุนมหาศาลไปจัดระเบียบอำนาจในพื้นที่นี้ ผลที่ตามต่อมาคือโครงสร้างของรัฐฉาน ที่ไม่ลงรอยกับรัฐพม่าแท้

มาถึงสมัยปัจจุบัน รัฐบาลพม่าและกองทัพพม่าก็จัดระเบียบรัฐฉานในลักษณะที่ซับซ้อน ไม่ต่างจากอังกฤษมากนัก ปัจจุบัน จะเห็นว่ารัฐฉานมีการปกครองสามส่วน ส่วนแรกทางเหนือ ศูนย์กลางอยู่ที่ล่าเสี้ยว ทางตอนกลางจุดหลักที่ตองจี และอีกส่วนด้านตะวันออกคือเชียงตุง ขณะที่กองทัพพม่าจัดกองทัพภาคไว้ในรัฐฉานถึง 4 กองทัพภาค คือที่ตองจี ล่าเสี้ยว เชียงตุง และกองทัพภาคแห่งใหม่ที่โขหลำ ซึ่งคั่นกลางระหว่างเขตปกครองพิเศษของกองทัพสหรัฐว้าตอนเหนือและตอนใต้ ซึ่งส่งผลต่อการถ่ายกำลังของกองทัพสหรัฐว้า

คำอธิบายทางวิชาการ บอกได้ว่ารัฐฉานเป็นรัฐเผ่าชน ความอยู่รอดขึ้นกับหัวหน้าเผ่า ทักษะการรบและเจรจาของหัวหน้าเผ่า แต่ขณะเดียวกันเราก็อาจจะมองรัฐฉานในอีกแง่มุมว่ามันเป็นรัฐขุนศึก แบบเสนาธิปัตย์ แบบองครักษ์ ซึ่งนี่ก็ทำให้อธิบายต่อไปได้ว่าทำไมรัฐฉานมีลักษณะไร้ระเบียบเปิดโอกาสให้รัฐพม่าเข้ามาแทรกแซงได้ โดยผ่านการให้เหตุผลว่าเพื่อไม่ให้สหภาพต้องแตกแยก และสมรภูมิที่รัฐฉานนี่เองที่เป็นพื้นที่ทำให้กองทัพพม่าได้พัฒนาทักษะการรบ ทั้งส่วนของการป้องกันปัญหาการแตกกระจายของสหภาพ และอีกด้านก็เห็นว่ารัฐฉานมีขุนศึกเยอะมาก

โครงสร้างอำนาจทางทหารในรัฐฉาน แบ่งตามการประเมินกำลังศักยภาพ

ในงานวิจัยชิ้นนี้ที่พัฒนาต่อมาเป็นหนังสือเล่มนี้ ได้พยายามผลิตโมเดลเพื่ออธิบายโครงสร้างอำนาจของรัฐฉาน โดยแบ่งกลุ่มต่างๆ ไม่อิงตามชาติพันธุ์ แต่ดูจากการปรากฏตัวขององค์กรทางการทหาร แล้วขยับมาสู่การจัด Ranking ให้คะแนนคร่าวๆ จากศักยภาพในการรบ อาวุธยุทโธปกรณ์ จำนวนกองกำลัง ดุลยภาคจัดให้กองทัพพม่าเป็นเบอร์หนึ่ง กำลังเหยียบแสน อาวุธยุทโธปกรณ์มากมาย แต่ระดับรองลงมาคือ กองทัพสหรัฐว้า และกองทัพรัฐฉานใต้

ช่วงชั้นที่สาม เป็นกลุ่มอำนาจระดับกลาง เช่น กองกำลังเมืองลา กองทัพรัฐฉานภาคเหนือเป็นต้น

ช่วงชั้นที่ต่ำที่สุด เช่น ปะโอ ดะนุ ปะหล่อง โกก้าง

ที่จัดโกก้างไว้ในอันดับล่าง แต่อยู่ใกล้ช่วงชั้นที่สาม เนื่องจากพบว่าสถานการณ์ที่ผ่านมาเคยถูกกองทัพพม่าปราบในปี 2552 อย่างไรก็ตามต้องดูศักยภาพระยะยาวต่อไปด้วยหลังจากกองกำลังโกก้างฟื้นฟูขึ้นมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา

เครือข่ายความสัมพันธ์ทางอำนาจ ทางการทหารในรัฐฉาน

นอกจากนี้ดุลยภาคพยายามจัดเครือข่ายความสัมพันธ์อำนาจในรัฐฉาน ซึ่งจะเห็นว่าบางกลุ่มมีความสัมพันธ์แนบแน่นขึ้นกับรัฐบาลพม่า เช่นพรรคการเมืองของไทใหญ่ ทั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติรัฐฉานเพื่อประชาธิปไตย (SNLD) และพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติรัฐฉาน (SNDP) ในทางการเมืองอาจจะมีการเจรจาต่อรอง แต่ในกลุ่มติดกำลังอาวุธในรัฐฉานก็มีการตระเตรียมสำหรับการสู้รบ


 

ประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกต

ประการแรก รัฐฉานอาจจะเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องรูปแบบรัฐที่เรียกว่านครรัฐ ที่ยังกึ่งๆ ดำรงสถานะอยู่ในรัฐฉาน

ประการที่สอง การประกอบสร้างขึ้นมาเป็นสหภาพพม่า สิ่งที่สำคัญก็คือสนธิสัญญาปางโหลง ค.ศ. 1947เป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมทางการเมืองภายใต้แนวคิดสหพันธรัฐนิยม แต่รัฐบาลพม่าในเวลาต่อมาไม่ได้มีความคิดแบบสหพันธรัฐนิยม หรือให้ความสำคัญกับพหุนิยม แต่กลับให้ความสำคัญกับแนวทางเอกนิยม เน้นความเป็นใหญ่ของรัฐพม่า


 

การเจรจาสันติภาพ ความจริงกับความหวัง

ประจักษ์ กุนนะ ชาวไทใหญ่ ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองในรัฐฉาน กล่าวว่า ในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้รัฐบาลพม่าจะขอเจรจาสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์ ในรัฐฉาน กองทัพรัฐฉาน (SSA) ก็เจรจากับรัฐบาลพม่าแล้ว แต่ในรัฐฉานก็ยังมีการสู้รบกัน มีการปะทะกันกว่าสองร้อยครั้ง รัฐบาลพม่าไม่ทำตามสัญญา ปัญหาหลักๆ คือ ข้อตกลงในการหยุดยิงให้ทหารไทใหญ่อยู่ในป่า ทหารพม่าอยู่ในเมือง การข้ามเขตพื้นที่จะไม่พกอาวุธ แต่ฝ่ายรัฐบาลเวลาจะไปไหนมาไหนมักถืออภิสิทธิ์เอาอาวุธไปด้วย ทำให้มีการปะทะกัน การเจรจาไม่ว่าครั้งไหน ถ้าอยู่บนโต๊ะเจรจาอะไรก็เอามาเจรจาได้ แต่พอออกมาจากโต๊ะเจรจาก็ทำอะไรไม่ได้ ทหารพม่าบอกว่าต้องรอคำสั่งจากเนปิดอว์

การเจรจาที่มีเงื่อนไขให้ปฏิบัติกว่า 30 ข้อ ทำได้จริงเพียงไม่ถึง 5 ข้อ เช่น ให้กองทัพรัฐฉานเปิดสำนักงานประสานงานในเมืองได้ ให้ไปมาหาสู่กันได้ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่สะดวกจริง

การที่ไม่สามารถบรรลุสันติภาพได้จริง คนที่รับผลเสียก็คือประชาชน เขามองว่าการเจรจาสันติภาพและการทำให้กระบวนการสันติภาพเกิดขึ้นจริงนั้นต้องใช้เวลาอีกนานไม่สามารถจบลงที่การเปิดห้องเจรจาเท่านั้น

สำหรับคำถามว่า สถานการณ์ในเขตรัฐฉานจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนเมื่อมีการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ประจักษ์กล่าวว่า ก่อนทีจะถึงการเลือกตั้ง ไม่สามารถตอบได้ว่ากลุ่มไหนจะได้เป็นรัฐบาล และฝ่ายทหารพม่าจะมีแนวคิดอย่างไร แต่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงว่าหลังการเลือกตั้ง สิ่งที่เคยเจรจาได้จะกลายเป็นโมฆะ และต้องเริ่มต้นเจรจากับรัฐบาลพม่ากันใหม่

เขาคิดว่า ประชาชนทั่วไปก็อาจจะหวังว่าถ้าออง ซาน ซูจีและพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ชนะเลือกตั้งก็จะสานต่อสนธิสัญญาปางโหลง ที่บิดาคือนายพลออง ซาน ริเริ่มไว้ แต่มันเป็นไปได้ยาก เชื่อว่าต้องมีอะไรสักอย่างที่โค่นผลการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเป็น 

 

000

การอภิปรายแลกเปลี่ยนจากผู้เข้าร่วมการเสวนา

ในช่วงท้ายการเสวนา มีผู้ถามเรื่องกระบวนการสันติภาพและการรบระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังโกก้างในรัฐฉานตอนเหนือนั้น ดุลยภาค เสริมว่า กรณีนี้ละเลยบทบาทของจีนไม่ได้ และมีการคาดการณ์ว่าผู้นำโกก้างเล่นเกมกับมหาอำนาจเช่นกัน และพยายามดึงจีนเข้ามาอยู่ในฝ่ายตน เขาคิดว่าตัวแปรจากจีนเป็นเรื่องสำคัญ

ส่วนการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจะมีผลกับกระบวนการเจรจาสันติภาพหรือไม่ ดุลยภาคกล่าวว่า ถ้ารัฐบาลเปลี่ยน การเจรจาสันติภาพก็เปลี่ยน ผลกระทบก็คงไม่ต่างกับภาคใต้ของไทย เขาคิดว่าเมื่อมีการเลือกตั้ง ก็ต้องดูด้วยว่าใครจะขึ้นชิงตำแหน่งประธานาธิบดี กรณีของเต็ง เส่ง นั้นเป็นผู้นำที่รู้จักพื้นที่รัฐฉาน เพราะเคยเป็นผู้บัญชาการกองทัพภาคที่เชียงตุง และเข้าใจดีว่าสามเหลี่ยมทองคำคืออะไร แต่ยังไม่แน่ว่าจะลงชิงตำแหน่งครั้งนี้ เพราะมีปัญหาสุขภาพ

ขณะที่ตุระ ฉ่วย มาน ที่ปัจจุบันเป็นประธานสภาพม่า นั้นถือเป็นทหารสายเหยี่ยว เคยเป็นผู้บัญชาการรบปราบกองทัพกะเหรี่ยง แต่พอมีบทบาททางการเมืองก็เล่นเรื่องการเมืองสหพันธรัฐนิยม เคยบอกว่าพม่ายอมรับว่าประเทศจะมีสันติภาพและมีความยั่งยืนนั้น ปฏิเสธการเมืองสหพันธรัฐนิยมไม่ได้ แต่เขาก็มีบุคลิกสองด้าน เช่นท่าทีต่อโรฮิงญา และพุทธนิยม และการปราบปรามชนกลุ่มน้อยในอดีตก็เป็นประวัติที่ติดตัว และคิดว่าถ้าขึ้นมาชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ก็น่าจะทำให้สถานการณ์เจรจาสันติภาพอยู่ในภาวะลำบาก ขณะที่ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพพม่า ก็กำลังเนื้อหอมเช่นกัน ทำให้ต้องจับตาว่าพรรครัฐบาลจะส่งผู้ใดลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

สำหรับออง ซาน ซูจี ถ้ารัฐธรรมนูญพม่า เปิดช่องให้สามารถขึ้นชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ก็จะทำให้ชนชั้นนำพม่า และชนชั้นนำทหารพม่ากังวล โดยพวกเขาเชื่อว่า ออง ซาน ซูจี ถึงจะมีทักษะทำให้เกิดความหลากหลายในพม่า แต่การจะทำให้พม่าดำรงอยู่ได้นั้นก็น่ากังขาว่าออง ซาน ซูจีจะทำได้หรือไม่ ซึ่งถ้าจะให้คำตอบแบบที่ทำให้นักสิทธิมนุษยชนอาจจะไม่พอใจนักก็คือ ยากที่จะเป็นไปได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net