ทำไมต้อง‘ระหว่างประเทศ’ เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบันมิได้หยุดอยู่แค่ ‘ระหว่างประเทศ’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่มุ่งศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือ IR แต่ก็มิใช่ผู้เชี่ยวชาญ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อยๆ วันหนึ่งใน 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรุ่นพี่ที่รู้จักกันท่านหนึ่งมาถามผู้เขียนว่า “เฮ้ย สาขา IR มึงทำไมต้องเรียกว่า IR วะ เดี๋ยวนี้ IR มันไม่ได้ศึกษาแต่สิ่งที่เป็น IR แล้วนะ” ซึ่งสื่งที่รุ่นพี่ของผู้เขียนถามถึงนั้นหมายถึง ศาสตร์หรือวิชาที่เรียกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR: International Relations) ในปัจจุบันทำไมเขาถึงต้องเรียกและใช้คำว่า ‘ระหว่างประเทศ’ (International) เพราะคำว่าระหว่างประเทศหมายถึงการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างรัฐหรือระหว่างประเทศ (จากคำ Prefix ว่า ‘Inter-’ ซึ่งแปลว่า ระหว่างสิ่งใดกับสิ่งหนึ่ง) ซึ่งดูจะเป็นการเรียกที่ยึดรัฐเป็นศูนย์กลางมากเกินไป (Statecentrism) ในเมื่อมีตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (Non-State Actor) ปรากฏออกมามีบทบาทในเวทีโลกมากมาย อาทิ กลุ่มก่อการร้าย องค์การระหว่างประเทศ บรรษัทข้ามชาติ องค์กรไม่แสวงผลกำไรต่างๆ (ภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ) กลุ่มศาสนา กลุ่มผู้ลี้ภัย กลุ่มผลประโยชน์ฝ่ายต่างๆ  เป็นต้น และบางตัวแสดงก็มีอิทธิพลมากกว่ารัฐ พร้อมกับไม่ได้นำผลประโยชน์มาสู่รัฐตามแนวคิดผลประโยชน์แห่งชาติ (National Interest) เสียด้วย หากเป็นเช่นนี้มันก็ไม่ควรจะเรียกว่า ‘ระหว่างประเทศ’ เพราะมันไม่ใช่สนามของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ ประเทศกับประเทศเหมือนอย่างที่เคยเป็นในอดีต ที่รัฐออกมาปฏิสัมพันธ์กันโดยไม่ได้ผ่านสื่อกลางหรือตัวกลางเป็นหลักก่อนจะเริ่มมีองค์การระหว่างประเทศ เช่น CCNR (Central Commission for Navigation on the Rhine), LoN (League of Nations), UN (United Nations) หากแต่เป็นการเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างตัวแสดงและตัวละครที่มีมากหน้าหลายตา ทั้งที่เป็นรัฐและไม่ใช่รัฐ การยืนยันที่จะใช้คำว่า ‘ระหว่างประเทศ’ ต่อไปในการเรียกศาสตร์ IR นั้นจะเป็นการยึดมุมมองและตรรกะเกี่ยวกับรัฐชาติสมัยเวสต์ฟาเลีย (Westphalian State) และเบียดขับการแสดงออกถึงบทบาทของตัวแสดงที่ ‘ไม่ใช่รัฐ’ มากเกินไปหรือเปล่า

ด้วยคำถามของรุ่นพี่ท่านนั้นก็ทำให้ผู้เขียนเกิดความฉงนไปด้วย ว่ามันยังสมควรที่จะเรียกและใช้คำว่า International ในตัวศาสตร์หรือกระบวนวิชานี้อยู่หรือไม่ เพราะหากยังคงยืนยันที่จะใช้ต่อไป มันก็อาจจะไม่เป็นธรรมกับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐที่เราให้ความสำคัญกับตัวแสดงที่เป็นรัฐ/ประเทศมากกว่าตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ที่มีบทบาทไม่น้อยไปกว่ารัฐเลยในปัจจุบันนี้ แน่นอนว่ามันจริงที่สุดในเรื่องของการที่เวทีการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคร่วมสมัยนี้เป็นยุคที่มิได้มี ‘รัฐ’ อยู่บนเวทีในฐานะตัวแสดงหลัก (Statecentrism) อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากความพยายามในการที่จะลดทอนความสำคัญเส้นพรมแดนความเป็นรัฐลงให้เบาบางลงในหลายๆฝ่ายเพื่อที่จะสร้างสังคมระหว่างประเทศ และสังคมโลกขึ้น ดังจะเห็นได้จากการพยายามสถาปนาองค์กร(ระหว่างประเทศที่มีอำนาจ)เหนือรัฐขึ้นในกลุ่มรัฐในทวีปยุโรปให้เป็นสหภาพยุโรป (European Union) ในฐานะการบูรณาการกันระหว่างรัฐจนกลายเป็นสหภาพทางเศรษฐกิจเพียงแห่งเดียวในโลก

หรือว่ามันถึงเวลาอันสมควรแล้วที่จะหันมาปรับเปลี่ยนชื่อกระบวนวิชาและศาสตร์ดังกล่าวนี้จากเดิมคือ IR (International Relations) ให้เป็นคำที่ไม่จำกัดขอบเขตของศาสตร์จนแคบแบบคำเดิม และมีความหมายกว้างขวางมากขึ้น เช่น Global Politics, Global Relations, Global Affairs หรือเพื่อให้ชัดเจนและครอบคลุมถึงทุกๆหน่วยวัตถุของการศึกษาในตัวสาขาวิชามากขึ้น ควรจะตั้งว่า ‘(Inter)actor Politics/Relations/Affairs’ หรือ ‘(Multi)actor Politics//Relations/Affairs’  (ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดง/ตัวละคร หรือ การเมืองที่อยู่บนฐานของความสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดง) ทั้งหมดที่ยกมานี้(ล้วน)มีความเป็นไปได้และน่าสนใจทั้งสิ้นสำหรับการจะมาเป็นชื่อใหม่ของวงวิชา IR

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนขออนุญาตหลีกเลี่ยงที่จะตั้งข้อสรุปสำเร็จรูปให้แก่คำถามดังกล่าวนี้ แต่จะให้เหตุผลปิดท้ายไว้ว่า แม้ปัจจุบันจะเป็นช่วงเวลาที่มีตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐปรากฏออกมามากมายบนสนามการเมืองและการติดต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน อีกทั้งยังอาจมีขีดความสามารถและอิทธิพลที่เหนือกว่ารัฐได้ (เช่น องค์การระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ ธนาคารโลก รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ผู้เขียนเห็นว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับฝ่ายใดๆที่กำลังจะเสนอถึงตัวแบบ (Model) ทางความสัมพันธ์ระหว่างประทศ (ซึ่งมันไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ ‘ระหว่างประเทศ/รัฐ’ อีกต่อไป…) ที่เป็นการหนีห่างออกจากตัวแบบดั้งเดิมที่ยึดรัฐเป็นศูนย์กลาง (Statecentrism) อันมีตรรกะแบบรัฐชาติและการผูกขาดเงื่อนไขต่างๆไว้กับตัว ‘รัฐชาติ’ อย่างเข้มงวดเคร่งครัด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้ว่าสภาพการณ์ลักษณะนี้จะเอื้อต่อการสร้างคำอธิบายที่เป็นไปในแนวทางของการหนีห่างออกจากตัวแบบดั้งเดิมที่ยึดรัฐเป็นศูนย์กลางก็ตาม ก็มิได้หมายความว่าตัวแสดงที่เป็นรัฐจะหมดความสำคัญหรือหายไปจากเวทีการเมืองโลกแต่อย่างใด ตัวแสดงที่เป็นรัฐยังคงมีบทบาทที่สำคัญอยู่เช่นเดิม การปรากฏตัวของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐนั้นเป็นเพียงการมีตัวแสดง/ตัวละครเข้ามาร่วมเล่นและต่อรองปฏิสัมพันธ์กันบนเวทีโลกอย่างเข้มข้นมากขึ้นเพียงเท่านั้น ไม่ใช่การเข้ามาแย่งชิงพื้นที่หรือเบียดขับตัวแสดงที่เป็นรัฐออกไปสู่พื้นที่ชายขอบของระบบความสัมพันธ์ เพราะสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนขณะนี้คือ ความคงอยู่ ดำรงอยู่ ของรัฐชาติ โดยไม่ได้สลายหายไปตามคำอธิบายของแนวคิดโลกาภิวัตน์ที่ปรากฏออกมาก่อนหน้านี้ เช่น แนวคิดเรื่องการสลายลงของเส้นพรมแดนของรัฐชาติและการลากเส้นใหม่อย่างเชื่อมโยงกันภายในอาณาบริเวณโลกาภิวัตน์และทุนนิยม ซึ่งมันเป็นเพียงการสลายลงของข้อจำกัดบางประการของตัวแสดงที่เป็นรัฐ แต่มิใช่การทำลายคอนเซ็ปต์หรือฐานเดิมทั้งหมดของตัวรัฐ ดังนั้นแนวคิดเรื่อง รัฐและประเทศ ยังคงดำรงอยู่ต่อไป การปฏิสัมพันธ์กันบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศทั้งในส่วนของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ต่างก็ยังคงมีการเชื่อมต่อระหว่างกันของตัวแสดงที่เป็นรัฐและไม่ใช่รัฐอยู่เสมอๆ กล่าวคือ ไม่ว่าจะมีการปฏิสัมพันธ์แบบใดของตัวแสดงภายใน IR (ทั้งรัฐและไม่ใช่รัฐ อาทิ บรรษัทข้ามชาติกับองค์การระหว่างประเทศ บรรษัทข้ามชาติกับกลุ่มก่อการร้าย องค์การระหว่างประเทศกับกลุ่มก่อการร้าย หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผลประโยชน์กับกลุ่มก่อการร้าย) เกิดขึ้นก็ตาม แต่ทุกๆระบบความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ท้ายที่สุดก็จะต้องย้อนกลับไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์ต่อตัวแสดงที่เป็นรัฐอีกไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่ดี  จากเหตุผลที่หยิบยกขึ้นมานี้จะเห็นว่า แม้ความสัมพันธ์ในเวทีการเมืองโลกจะเปลี่ยนไป ในรูปแบบที่ไม่ใช่การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐหรือประเทศกับประเทศเป็นหลักอีก แต่รูปการณ์ของการเมืองโลกที่จะยังปรากฏออกมาแน่ชัดคือ ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘รัฐ/ประเทศ’ กับ … (ตัวแสดงอื่นๆ ที่ไม่ใช่รัฐ)

การจะเปิดพื้นที่ใหม่ให้แก่ตัวแบบ (Model) ในทาง IR ที่พยายามจะหนีออกจากตัวแบบเดิมเรื่องรัฐเป็นศูนย์กลางนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องตระหนักในเรื่องการพิจารณาบทบาทของรัฐ/ประเทศ ภายใน IR ให้ถี่ถ้วน เพราะถึงเวลานี้จะไม่ใช่ตัวแบบที่เน้นรัฐเป็นศูนย์กลางแล้ว แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าตัวแสดงที่เป็นรัฐจะหมดความสำคัญลงไปเสียทีเดียว แต่ยังคงโลดแล่นและมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันกับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าเราจะเรียกมันว่า IR หรือ GR (Global Relations) รัฐในฐานะตัวแสดงรูปแบบหนึ่งก็ยังคงจะอยู่ในวงโคจรของเวทีการเมืองโลกต่อไป จนกว่าตรรกะแบบรัฐชาติจะถูกทลายลงไปจริงๆ โดยที่ไม่มีใครหรือวัตถุใดๆดำรงอยู่ได้โดยไม่ได้อิงติดอยู่กับความเป็นรัฐชาติ ผู้เขียนเชื่อว่าเมื่อนั้นเองที่ตัวแบบในทาง IR จึงจะถือว่าหนีห่างออกจาตัวแสดงที่เป็นรัฐได้อย่างเด็ดขาดจริงๆ…
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท