Skip to main content
sharethis

ประชุมทบทวนรายงานของคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ แนะให้ไทยหยุดตัดไม้ยางและแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินของประชาชนอย่างเป็นมีประสิทธิผล และคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองทั้งด้านสิทธิในที่ดิน การศึกษา และวัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 4-5 มิถุนายน  2558  เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เข้าร่วมรับฟังการประชุมทบทวนรายงานคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

เวทีการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยมีตัวแทนหน่วยงานราชการไทยจำนวนกว่า 20 คนที่เดินทางมาร่วมเวทีในวันที่ 4 มิถุนายนมีเวลา 3 ชั่วโมงและในวันที่ 5 มิถุนายนมีเวลาทั้งหมด 6 ชั่วโมง ทั้งนี้เป็นเวทีถามตอบกับคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจำนวน 18 คน ได้สรุปใจความสำคัญของสถานการณ์สิทธิเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมว่าประเทศไทยส่งรายงานต่อยูเอ็นช้ามากคือ 16 ปีหลังจากการเข้าเป็นรัฐภาคีและรายงานก็ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันจริงๆในประเทศไทย  ประเด็นสำคัญหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาตั้งคำถามมากที่สุด คือประเด็นสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง โดยเฉพาะเรื่องที่ดินทำกินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิทางการศึกษาและวัฒนธรรม อีกทั้งเมื่อถูกละเมิดก็ไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมและการรับรองสิทธิภายใต้กฎหมายภายในประเทศ   จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการบังคับไล่รื้อตัดฟันพืชผล โดยคณะกรรมการฯเสนอให้ยุติการตัดฟันและยกเลิกคำสั่งคสช. รวมทั้งยกเลิกคำสั่งต่างๆที่ส่งผลต่อสิทธิในที่ดินและทรัพยากรของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสั่งให้ตัดต้นไม้ยางพาราจำนวนมากในช่วงเวลานี้ในนามแผนแม่บทป่าไม้แห่งชาติและการลดภาวะโลกร้อน

ทางคณะกรรมการฯ เสนอให้ประเทศไทยนำหลักการสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีทุกฉบับที่ประเทศไทยลงนามและให้สัตยาบันบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่เวลานี้ เพื่อให้สามารถนำหลักการสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ไปใช้เป็นกฎหมายภายในประเทศและสามารถทำให้เกิดการคุ้มครองสิทธิด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม อย่างเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะกับชนเผ่าพื้นเมือง ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีเฉพาะ ที่ต้องการการยอมรับความเสมอภาคและเท่าเทียมภายในหลักการสิทธิมนุษยชน  ในที่นี้รวมถึงการคุ้มครองผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย แรงงานอพยพนอกระบบ การไม่ให้การคุ้มครองกลุ่มประชากรกลุ่มนี้เป็นปัญหาในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติโดยรวมที่รัฐบาลไทยต้องแก้ไขโดยเร่งด่วนเพื่อยุติกระบวนการค้ามนุษย์  อีกทั้งได้ระบุว่าหน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองสิทธิด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ทั้งจากการกระทำของบริษัทในประเทศไทยและบริษัทไทยในต่างประเทศด้วย

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะทำข้อเสนอแนะเชิงสรุปอย่างเป็นทางการและเผยแพร่ในวันที่ 22 มิถุนายน 2558 นี้ และจะมีการส่งถึงรัฐบาลไทยผ่านคณะทูตไทยประจำนครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ รวมทั้งเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซด์ของสหประชาชาติต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net