Skip to main content
sharethis

องค์กรชุมชนรัฐฉาน 16 กลุ่ม เผยแพร่แถลงการณ์ที่ FCCT กรุงเทพฯ เรียกร้องรัฐบาลพม่ายุติแผนสร้างเขื่อนเมืองโต๋นในแม่น้ำสาละวิน - เกรงอีไอเอไม่โปร่งใสจริง เสนอให้รอกระบวนการสันติภาพเรียบร้อยเสียก่อน เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์ตัดสินใจด้วยตนเอง ขณะที่ 'เพียรพร ดีเทศน์' เตือนว่าไฟฟ้าจากพื้นที่บอบช้ำสงคราม ไม่ใช่พลังงานไฟฟ้าราคาถูกอย่างที่โฆษณาชวนเชื่อ

9 มิ.ย. 2558 - วันนี้ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ FCCT กลุ่มประชาสังคมได้ร่วมกันแถลงข่าวแสดงความกังวลต่อแผนการสร้างเขื่อนสาละวินตอนบน หรือเขื่อนเมืองโต๋น ในภาคใต้ของรัฐฉาน ประเทศพม่า พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายกเลิกแผนการสร้างเขื่อนดังกล่าว

 

องค์กรสภาวะจากรัฐฉานหวั่นเขื่อนเมืองโต๋นจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม-ชุมชนลุ่มแม่น้ำสาละวิน

โดย จายเครือแสน จากองค์กรสภาวะ ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในรัฐฉาน กล่าวว่า ปัจจุบันในพม่ามีแผนสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนกุนโหลง เขื่อนหนองผา เขื่อนเมืองโต๋น ในรัฐฉาน เขื่อนยวาติ๊ด ในรัฐคะเรนนี และเขื่อนฮัตจีในรัฐกะเหรี่ยง

อย่างไรก็ตามพื้นที่ในรัฐฉาน ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งแม่น้ำสาละวินไหลผ่านยังมีกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มในพื้นที่ และยังคงมีการสู้รบ จึงเกรงว่าการสร้างเขื่อนในพื้นที่ขัดแย้งจะเป็นสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐฉานมากขึ้น ทั้งนี้ในพื้นที่รัฐฉานตอนเหนือ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการก่อสร้างเขื่อนกุนโหลง มีการสู้รบกับรัฐบาลพม่าในปี 2552 และล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2558 กองกำลังโกก้างก็ต่อสู้กับทหารพม่าอีก เพื่อต้องการชิงพื้นที่กลับคืนมา

ส่วนกรณีเขื่อนเมืองโต๋น เป็นโครงการก่อสร้างเขื่อนที่ใหญ่สุดในแม่น้ำสาละวิน โดยรัฐบาลพม่าวางแผนที่จะสร้างเขื่อนในพื้นที่เมืองโต๋น ทางตะวันออกของรัฐฉาน ตัวเขื่อนสูง 241 เมตร กำลังผลิตไฟฟ้า 7,000 วัตต์ โดยไฟฟ้า 90% ที่ผลิตได้วางแผนจำหน่ายให้กับไทยและจีน

โดยการก่อสร้างเขื่อนเมืองโต๋นดังกล่าว เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทจากจีน Three Gorges Corporation (CTG), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท IGOEC และกระทรวงพลังงานไฟฟ้าของพม่า ขณะที่บริษัท SMEC ของออสเตรเลียเป็นผู้จัดประชุมหารือสาธารณะในพื้นที่รัฐฉาน และทำวิจัยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (EIA/SIA)

ขณะที่รอบพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนเมืองโต๋น ในปี 2539 ภายหลังการมอบตัวของขุนส่าและกองทัพเมืองไต (MTA) ในปี 2539 ทำให้มีกองกำลังของรัฐบาลพม่าเพิ่มขึ้นจากเดิม 10 กองพัน ปัจจุบันมีทหารพม่าประจำการ 39 กองพัน ขณะที่ในช่วงเดียวกันในพื้นที่รัฐฉานตอนกลาง มีผู้อพยพเนื่องจากสถานการณ์ขัดแย้งในพื้นที่กว่า 300,000 คน

จายเครือแสน กล่าวว่า หากมีการสร้างเขื่อนเมืองโต๋นเกิดขึ้น ตัวเขื่อนซึ่งสูง 241 เมตรจะทำให้เกิดน้ำท่วมเหนือเขื่อนกินพื้นที่ถึง 640 ตารางกิโลเมตร ทำให้ชาวบ้านไม่ต่ำกว่า 10,000 คนต้องอพยพเพราะหมู่บ้านจะถูกน้ำท่วม ชุมชนที่สำคัญอย่างเกงคำ เมืองกุ๋นฮิง ซึ่งเป็นที่ตั้งของเกาะนับพันแห่งกลางแม่น้ำ มีความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศวิทยา จะต้องจมใต้น้ำหากมีการสร้างเขื่อน ซึ่งเรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้ชาวบ้านอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันหยุดเขื่อนโลก ชาวบ้านที่เกงคำได้เรียกร้องให้ยุติการสร้างเขื่อนเมืองโต๋นดังกล่าว อย่างไรก็ตามตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัท SMEC ได้เริ่มจัดประชุมหารือสาธารณะ โดยเมื่อวันที่ 10 มีนาคม มีการจัดประชุมครั้งแรกที่เมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน ซึ่งมีประชาสังคมในรัฐฉาน และรัฐกะเหรี่ยง ไปยื่นหนังสือประท้วงด้วย

อย่างไรก็ตาม จายเครือแสน วิจารณ์กระบวนการประชาพิจารณ์ด้วยว่า อนหน้านี้รัฐบาลระบุว่าจะดำเนินโครงการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน คือต้องจัดทำการหารือสาธารณะ และทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม (EIA/SIA) ให้เสร็จก่อน จึงจะเริ่มขั้นตอนสำรวจและก่อสร้าง แต่ในทางปฏิบัติการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นปี 2558 ก็มีเจ้าหน้าที่จีน เข้าไปทดสอบทางอุทกวิทยาและธรณีวิทยา และมีการขุดอุโมงค์ลึกตามริมฝั่งน้ำสาละวิน ขณะที่ก่

 

16 องค์กรชุมชนรัฐฉานเรียกร้องรัฐบาลพม่ายุติแผนสร้างเขื่อนเมืองโต๋น

โดยในวันเดียวกับที่มีการแถลงข่าว มีการเผยแพร่แถลงการณ์ "รัฐบาลพม่าต้องยกเลิกแผนล่าสุดในการสร้างเขื่อนสาละวินตอนบน (เมืองโต๋น) ในรัฐฉาน" โดยแถลงการณ์ดังกล่าวมีองค์กรชุมชนรัฐฉาน 16 กลุ่มลงนามสนับสนุน อาทิ องค์กรสภาวะ มูลนิธิสิ่งแวดล้อมรัฐฉาน (SHRF) กลุ่มพลังเยาวชนรัฐฉาน (Shan Youth Power) เครือข่ายชาวนาจากรัฐฉาน เครือข่ายนักศึกษารัฐฉานในประเทศไทย เครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ (SWAN) มูลนิธิพัฒนารัฐฉาน กลุ่มปกป้องแม่น้ำเมืองปั่น กลุ่มปกป้องแม่น้ำเมืองโต๋น-นากองมู-ปุ่งปาแขม กลุ่มแรงงานสามัคคี (WSA) ฯลฯ โดยแสดงความกังวลว่า "หากรัฐบาลพม่าเดินหน้าสร้างเขื่อนเมืองโต๋นต่อไปในสภาพที่เป็นอยู่ ย่อมส่งผลให้มีการเพิ่มกำลังทหารและการสร้างค่ายทหารมากขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองพื้นที่ และย่อมส่งผลให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้น ทำให้ชุมชนในพื้นที่ต้องได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติมิชอบมากขึ้น"

"ความขัดแย้งจะยิ่งรุนแรงขึ้นเนื่องจากรัฐบาลพม่าเดินหน้าขายแม่น้ำสาละวินให้กับประเทศเพื่อนบ้าน แทนที่จะรอกระบวนการเจรจาสันติภาพในระดับประเทศที่กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่มีอำนาจตัดสินใจคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งแหล่งน้ำในพื้นที่ตนเอง" แถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุ

แถลงการณ์ขององค์กรชุมชนในรัฐฉานยังแสดงความไม่ไว้วางใจกระบวนการสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (EIA/SIA) ขอบริษัท SMEC เนื่องจากแทนที่จะรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ "อย่างรอบด้าน" แต่ล่าสุดเมื่อเดือนก่อนบริษัท SMEC "ได้ยกเลิกแผนการทำประชาคมหมู่บ้าน ที่ผ่านมาพวกเขาทำได้แค่จัดทำประชุมแบบปิดลับกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น อย่างเช่น การประชุมที่เกิดขึ้นที่หลอยแหลมและท่าขี้เหล็ก ดูเหมือนจะเป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งหลีกเลี่ยงการประท้วงต่อต้านเขื่อนของชุมชน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2558 ชาวบ้านจำนวนมากรวมตัวประท้วงการทำประชาคมของ SMEC ในเมืองโต๋น และก่อนที่ SMEC จะทำประชาคมชาวบ้านในเมืองกุ๋นฮิง เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2558"

นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ยังตั้งข้อสังเกตว่า การสำรวจภาคสนามที่เมืองโต๋นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทต้องยุติการทำงานกลางคันเนื่องจาก "ทีมสำรวจของบริษัท SMEC ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่พอใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเอาแต่อธิบายถึงผลในด้านบวกของโครงการเขื่อน มีการแจก "ของกำนัล" ซึ่งชาวบ้านมองว่าเป็นการติดสินบน ทั้งยังชักชวนให้ชาวบ้านลงชื่อในเอกสารที่พวกเขาไม่เข้าใจว่าเป็นเอกสารเกี่ยวกับอะไร" แถลงการณ์ระบุ

ในแถลงการณ์ระบุข้อเรียกร้องว่า "ให้รัฐบาลพม่ายุติแผนการสร้างเขื่อนเมืองโต๋นโดยทันที รวมทั้งแผนการสร้างเขื่อนแห่งอื่นๆ ในแม่น้ำสาละวิน บริษัท SMEC ควรยุติกระบวนการ EIA/SIA โดยทันที และให้ขนย้ายพนักงานและอุปกรณ์ออกไปจากพื้นที่เขื่อนในเมืองโต๋น"

 

เพียรพร ดีเทศน์: ไฟฟ้าจากพื้นที่บอบช้ำสงครามไม่ใช่ไฟฟ้าราคาถูกอย่างที่โฆษณาชวนเชื่อ

เพียรพร ดีเทศน์ จากองค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าวว่า โครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน เริ่มตั้งแต่ปี 2545 ที่รัฐบาลไทยกับรัฐบาลทหารพม่าในขณะนั้น ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อพัฒนาเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน 5 แห่ง และเขื่อนในแม่น้ำตะนาวศรี ทางภาคใต้ของพม่า 1 แห่ง โดยมีโครงการเขื่อน 2 แห่ง บริเวณแม่น้ำสาละวินที่เป็นชายแดนไทย-พม่า ที่ได้รับการผลักดันโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คือเขื่อนเว่ยจี และเขื่อนดา-กวิน แต่เนื่องจากการต่อต้านอย่างแข็งขันของประชาคมในพื้นที่ก่อสร้างคือ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเรียกร้องให้มีการทำประชาพิจารณ์ และสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสังคม

ดังนั้น กฟผ. จึงมุ่งไปที่การสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวินตอนล่างที่อยู่นอกเขตไทย โดยมีการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOA) ในปี 2553 แต่ประชาคมท้องถิ่น โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงใน จ.แม่ฮ่องสอน ยังคงเรียกร้องให้ กฟผ. ปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมไทย เพราะที่ตั้งเขื่อนห่างจากชายแดนไทยขึ้นไปเพียง 40 กม. เท่านั้น และเกรงว่าผลกระทบจากการสร้างเขื่อนจะมาถึงฝั่งไทยด้วย หลังจากนั้น กฟผ. ก็ไม่ค่อยมีการพูดถึงเขื่อนดังกล่าวอีก จนกระทั่งมีข่าวล่าสุดว่า กฟผ. เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างเขื่อนเมืองโต๋น ที่แม่น้ำสาละวินในพื้นที่รัฐฉาน

จะเห็นว่า กฟผ. ย้ายเข้าไปทำโครงการภายในพม่าในพื้นที่ตอนในมากขึ้น ซึ่งสะท้อนว่า กฟผ. ต้องการเลี่ยงกลไกปกป้องสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วยเครื่องมือทางกฎหมายในประเทศไทย ไปสู่ประเทศที่เข้มงวดด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า

อีกประเด็นที่ต้องตั้งคำถามคือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2015) ซึ่งเป็นแผน 20 ปี ซึ่งคณะรัฐมนตรีเพิ่งอนุมัติแผนดังกล่าว โดยตามแผนนี้ กฟผ. จะนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน จากเดิมในสัดส่วน 7% จะเพิ่มเป็น 20% ภายใน 20 ปีนี้ จึงมีแนวโน้มว่า กฟผ. จะลงนามความร่วมมือเพื่อนำเข้าไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะลาว และพม่า  ซึ่งจะทำให้เขื่อนเมืองโต๋น หรือเขื่อนอื่นๆ ในแม่น้ำสาละวิน ก็อยู่ในข่ายที่จะถูกรวมเข้าไปด้วย

ทั้งนี้แผน PDP2015 ถูกตั้งคำถามโดยภาคประชาสังคม เพราะในบางปีกระแสไฟฟ้าที่ผลิตออกมา มีกำลังผลิตสำรองถึง 40% หรือเกือบครึ่งของกำลังไฟฟ้าที่ผลิตเข้าสู่ระบบ

"ที่สำคัญก็คือ การนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะจากแม่น้ำสาละวินซึ่งเป็นพื้นที่บอบช้ำจากสงคราม จึงไม่น่าที่จะเป็นพลังงานไฟฟ้าราคาถูกอย่างที่โฆษณาชวนเชื่อกัน" เพียรพรกล่าว

ประเด็นสุดท้ายก็คือ ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยไม่มีประชาธิปไตยนั้น ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมสำหรับบริษัทจากไทย ที่จะใช้โอกาสนี้แสวงหาประโยชน์ในช่วงที่ขาดความโปร่งใสและประชาธิปไตย ด้วยการลงนามในข้อตกลงหรือลงนามในสัญญาในโครงการเพื่อสร้างโรงไฟฟ้ากับบริษัทในพม่า ที่ซึ่งความขัดแย้งยังคงดำเนินไปในพื้นที่ รวมทั้งโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบข้ามพรมแดนไทย-พม่าอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net