Skip to main content
sharethis

เปิดเวทีเสวนาประเด็น พ.ร.บ.กสทช. ถกช่องโหว่ ร่าง พ.ร.บ. 2558 ผู้เชี่ยวชาญชี้ ควรแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งในส่วนขององค์กร การจัดสรรคลื่นความถี่และการคุ้มครองผู้บริโภค

11 มิ.ย.2558  ส่วนงานเลขานุการ กสนทช. และส่วนงาน กสทช. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จัดเวทีเสวนา NBTC Public Forum 2/2558 เรื่อง “พระราชบัญญัติ กสทช. : สิ่งที่อยากเห็นและควรเป็น ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ พร้อมกับวิทยากรรับเชิญ ดังนี้

ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง  รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะผู้ยกร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับคณะกรรมมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สปช. บรรยายในหัวข้อ “แนวคิดและสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ (2ฉบับ) โดย ปิยะบุตร เพื่อชี้ให้เห็นปัญหาของ กสทช. ที่มีอยู่ในปัจจุบัน แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่าง พ.ร.บ. กสทช. 2553 และร่าง พ.ร.บ. กสทช. 2558 ที่ร่างโดยรัฐบาลชุดปัจจุบัน ฉบับเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา ในวันพุธที่ 6 พฤษภาคม 2558

ปิยะบุตร กล่าวถึงโครงสร้างปัจจุบันของ กสทช. ในภาพรวมที่เป็นปัญหานั้นมีอยู่ห้าประการ ได้แก่ การขาดผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ที่เกี่ยวข้อง, การขาดธรรมาภิบาลและการทำหน้าที่นอกกรอบอำนาจ, ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและกำกับการทำงาน ไม่นำความคิดเห็นผู้บริโภคไปพิจารณา, ไม่ดำเนินการบนพื้นฐานของการศึกษาและงานวิจัย และไม่คุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดปัญหาคอขวดเรื่องการร้องเรียน แก้ปัญหาได้ช้า ไม่ทันการ

ปิยะบุตรยังกล่าวถึงข้อสรุปของคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค กิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์กิจการโทรคมนาคมและเศรษฐกิจดิจิทัล ว่ายุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการปฏิรูปจะมีคลื่นความถึ่ซึ่งเป็นทรัพยากร สาธารณะเป็นแกนกลาง และวางภารกิจการปรับปรุงแก้ไขไว้สี่ส่วน ได้แก่ พ.ร.บ. กสทช, การกำกับดูแลวิชาชีพสื่อ, การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และการคุ้มครองผู้บริโภค และยังแสดงข้อสังเกตจากคณะอนุกรรมาธิการฯ เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในประเด็นต่างๆ ดังนี้

คุณสมบัติของผู้เชี่ยวชาญและจำนวนที่ต้องการ ที่ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว พยายามลดความเคร่งครัดในเรื่องของจำนวนที่ต้องการ เป็นรายตำแหน่ง เป็นจำนวนเบ็ดเสร็จทั้งสิ้นเจ็ดคน รวมถึงการกำหนดคุณสมบัติส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นมา ไม่ได้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องการขาดผู้เชี่ยวชาญที่ขาดความรู้ความสามารถที่เพียบพร้อม เช่นการได้ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมแต่เข้าใจเรื่องธุรกิจ

กระบวนการสรรหา กสทช. ไม่ควรดำเนินการโดยตัวแทนจากองค์กรอิสระที่มีภารกิจในการตรวจสอบ เช่น ป.ป.ช. คตง. หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน อีกทั้งการโอนหน้าที่ธุรการของการสรรหามาไว้กับกับสำนักงาน กสทช. ซึ่งแต่เดิมเป็นของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภานั้น ไม่เหมาะสม เพราะหวั่นว่าจะมีข้อยุ่งยากในฐานะที่สำนักงาน กสทช. เองเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงต่อผลลัพธ์การสรรหา

ในหัวข้อความเป็นอิสระของ กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลภายใต้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นั้น ปิยะบุตร ได้กล่าวว่า ไม่ควรให้คณะกรรมการฯ ไม่ควรมีอำนาจในการปรับเปลี่ยนแผนและนโยบายของ กสทช. เพราะขัดกับคำจำกัดความขององค์กรอิสระ ถ้าจะทำเช่นนั้น ก็ขอให้ใช้มาตรการทางกฎหมายในการเอาผิดซึ่งสามารถทำได้

การประมูลแก้ไขคลื่นความถี่ที่ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวระบุว่าไม่ให้คำนึงถึงราคาแต่เพียงอย่างเดียวนั้น ถือเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด สามารถแทนที่ด้วยการกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขเสียตั้งแต่ก่อนการประมูล

การจัดตั้งกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นมา และได้รับเงินจากกองทุนของ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ไม่มีการเน้นย้ำเรื่องภารกิจการให้บริการอย่างทั่วถึงเหมือนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. 2553 ที่สำคัญก็คือ ควรให้กองทุนดิจิทัลฯ ดำเนินการตามวิธีงบประมาณจากรายได้แผ่นดินตามวิธีปรกติ

กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. (กตป.) ควรเป็นหน่วยงานประเมินจากภายนอก ร่วมกับกลุ่มวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะที่ผ่านมาการประเมินจากภายใน กสทช.ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทั้งนี้ การประเมินโดยผู้แทนจาก ป.ป.ช. สตง. ไม่ควรทำการประเมิน เพราะเป็นหน้าที่ซ้ำซ้อนจากภารกิจหลักของตนที่เป็นผู้ตรวจสอบอยู่แล้ว

การคุ้มครองผู้บริโภค คณะอนุกรรมาธิการฯ ชี้ว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวไม่ได้ปรับปรุงเรื่องปัญหาความล่าช้าของการแก้ไขปัญหาจากข้อร้องเรียน เสนอให้มีหน่วยงานที่มีหน้าที่เฉพาะเรื่องร้องเรียนผู้บริโภคได้ด้วยตัวเอง ไม่รวมเอาไว้กับ กสทช. อาจจะกลับไปใช้สถาบันคุ้มครองผู้บริโภค หรือมอบหมายหน้าที่ให้กับ กสทช. คนใดคนหนึ่งก็ได้

ท้ายสุด ยังมีประเด็นเบ็ดเตล็ดอีกสองประเด็น ได้แก่ ประเด็นการปรับเปลี่ยนถ้อยคำต่างๆ ที่ทำให้เป็นภาระที่ไม่จำเป็นในการปรับแก้ และบทบัญญัติที่เหมือนจะเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลบางกลุ่ม

จากนั้น จึงเป็นการเสวนาโดยวิทยากรรับเชิญทั้ง 6 ท่าน โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่การพิจารณาเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.กสทช. 2558 ในประเด็นของการคัดสรรบุคลากร, การจัดการลักษณะโครงสร้างและการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. และแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภค

กมธ.ยกร่างรธน. แนะตรวจสอบไม่เว้นเลขาฯ กสทช. เสนอวิธีจับฉลากคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญ

สุภัทรา นาคะผิว กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งคำถามถึงกระบวนการสรรหา กสทช. ว่า จะสามารถคัดสรรบุคคลที่มีคุณภาพจริงๆ และสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ที่ถูกคัดสรรเข้ามาหรือไม่ พร้อมเสนอว่าหลักการกำกับผู้เชี่ยวชาญใน พ.ร.บ. 2553 ดีกว่าเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ปัจจุบัน ทั้งยังเสนอวิธีการสรรหาผู้เชี่ยวชาญในขั้นสุดท้ายด้วยวิธีการจับฉลาก ภายหลังกระบวนการคัดสรรผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณสมบัติเท่าๆ กันแล้ว เพื่อป้องกันการซื้อตำแหน่งและตัดปัญหาการเกิดพฤติกรรมต่างตอบแทนในอนาคต

ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน สุภัทรา กล่าวว่า กระบวนการประเมินควรจะประเมินผู้บริหาร และเลขาธิการของ กสทช.ด้วยเพิ่มเติมจากการประเมินสำนักงาน

สุภัทรา เสนอว่า ในการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานที่รับเรื่องร้องเรียนที่ปัจจุบันอยู่ในสำนักงาน กสทช.ควรแยกออกจากกัน เพื่อให้หน้าที่การคุ้มครองผู้บริโภคและการรับเรื่องร้องเรียนเป็นไปอย่างอิสระ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นหลักประกันให้ผู้ร้องเรียนมั่นใจว่าเมื่อร้องเรียนแล้วจะได้รับการดำเนินการต่อ ได้รับการคุ้มครอง และยังทิ้งท้ายว่า การแก้ไขเนื้อหาตามร่าง พ.ร.บ. 2558 นอกจากจะไม่ตอบโจทย์ปัญหาที่มีอยู่เดิมแล้ว ยังเป็นการเอื้อประโยชน์กับคนบางกลุ่ม และทำให้ปัญหาขยายตัวมากกว่าเดิม

สปช. มองโลกหมุนเร็วกว่าแผนงาน เปรยเจ้าพนักงานยึดติดภาพระบบราชการ

พนา ทองมีอาคม กรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สปช. ให้ความเห็นในภาพกว้างว่า กสทช. มีอุปสรรคในการจัดทำแผนกำกับตรวจสอบ อันมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว โครงข่ายและปริมาณข้อมูลในระบบสารสนเทศที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลา อันสั้น ทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน อย่างไรก็ตาม สภาพตลาดที่มีการแข่งขันสูง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ กสทช. จะต้องมีความเป็นกลางทางเทคโนโลยี ไม่ชี้ขาดให้เทคโนโลยีชนิดใดชนิดหนึ่งมีความได้เปรียบในตลาด

พนา ยังกล่าวถึงปัญหาการบริหารองค์กรว่า วิธีการสรรหากรรมการมาบริหารไม่เปิดกว้าง ลักลั่น ไม่สามารถหาผู้ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ความคิดเห็นในการบริหารไม่อยู่ในหลักวิชาการและความเป็นเหตุเป็นผล ก่อให้เกิดการตัดสินใจตามกระแสแทนที่จะเป็นไปตามความรู้ความสามารถ การจัดโครงสร้างองค์กรของ กสทช. เอง ก็ไม่เอื้อต่อการบังคับใช้กฎหมาย การละเมิดกฎหมายมีอยู่ทั่วไป การกระจายบุคลากรตามเครือข่ายในพื้นที่ต่างๆ ไม่ได้สอดรับกับภาระหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งๆ ที่มีบุคลากรเยอะ มีงบประมาณเยอะกว่าบางกระทรวง อีกทั้งเจ้าหน้าที่จำนวนมากยังเคยชินกับการทำงานในระบบราชการ อำนาจหน้าที่เลยไปกระจุกอยู่ที่เลขาธิการ ท้ายที่สุดทำให้เกิดภาวะคอขวดในการบริหารและการตัดสินใจ

พนา มีความเห็นเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคว่า กสทช.ยังทำได้น้อย ด้วยฐานคิดที่ยึดติดกับระบบราชการ ดำเนินการช้า ปัญหาที่ร้องเรียนจึงหมักหมม รับเรื่องไว้แล้วไม่นำไปดำเนินการต่อ ทั้งนี้ยังได้ทิ้งท้ายว่า หัวใจสำคัญในการแก้ไขโครงสร้างคือการจัดสรรอำนาจ หน้าที่และความรับผิดชอบอย่างลงตัว

อ.เศรษฐศาสตร์ชี้แก้ปัญหาจากภาพรวม เห็นต่างจับฉลากเลือก กสทช.

นวลน้อย ตรีรัตน์ รองศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการคุ้มครองผู้บริโภคในปัจจุบันเป็นเพียงการปะทะระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการซึ่งมีการแก้เป็นรายๆ การแก้ไขปัญหาควรแก้ในภาพรวมใหญ่ๆ เธอเชื่อว่า การแข่งขันอย่างเป็นธรรมในท้ายที่สุดจะยังประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภค คำถามที่ว่า ราคาการประมูลส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคหรือไม่นั้น จะต้องคำนึงถึงการกำกับดูแลด้านต้นทุนควบคู่ไปด้วย เพื่อนำไปออกแบบกติกาการกำกับดูแลต่อไป

นวลน้อยยังกล่าวว่า กสทช. ในปัจจุบันมีปัญหาในการทำให้ผลที่กำหนดไว้ในทางกฎหมายเกิดขึ้นจริง เช่นปัญหามาตรฐานการให้บริการต่างๆ ภายใต้ใบอนุญาตของ กสทช. ที่ไม่สามารถกำกับให้เป็นไปตามมาตรฐานที่วางเอาไว้ แม้กระทั่งการทำงานของ กสทช. เองก็ไม่เปิดเผยข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด และร่าง พ.ร.บ.ปัจจุบันไม่ได้มุ่งจะแก้ไขปัญหานี้แต่อย่างใด

นวลน้อย เห็นต่างจากสุภัทราในเรื่องของการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิว่า ในความเป็นจริงแล้วการตั้งเกณฑ์คุณสมบัติขึ้นมา ทรัพยากรบุคคลที่ได้มาจะไม่น้อยและคล้ายคลึงกันถึงขนาดที่จะเลือกจับฉลากได้ แล้วทุกคนสามารถทำงานในระดับคุณภาพที่เท่าๆ กัน ซึ่งอาจจะเกิดการนำคนที่ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ และกรรมการตรวจสอบไม่ควรอยู่ในกระบวนการคัดเลือกใดๆ ทั้งสิ้นเพราะหน่วยงานดังกล่าวมีหน้าที่ต้องตรวจตราอยู่แล้ว การตรวจตราผู้ที่ตนเลือกมาเองจะมีคำถามเรื่องความโปร่งใส ศาลเองก็ไม่ควรเข้ามามีส่วนในการจัดหาบุคลากร เพราะมีภารกิจของตนเองมากเกินพอแล้ว แต่ในแง่ของการบริหารจัดการ กสทช. แต่ละท่านสามารถจัดตั้งผู้ช่วยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะมาช่วยงานอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะทำหรือไม่ทำเท่านั้น

นวลน้อย มองว่ารายได้จากการประมูลคลื่นความถี่นั้นควรนำเข้าไปเป็นรายได้ของแผ่นดิน เพราะมีมูลค่าสูง ส่วนกองทุนดิจิทัลฯ นั้น ยังรอดูโครงสร้างการบริหารต่อไป

ในส่วนงานคณะกรรมการประเมินผลนั้น นวลน้อยเห็นว่าควรตั้งคณะกรรมการประเมิน เพราะการประเมินต้องใช้กำลังคนมาก และเห็นด้วยกับสุภัทราที่ว่าเลขาธิการก็ควรได้รับการประเมินเช่นกัน แต่เห็นเพิ่มเติมว่าคณะประเมินผลไม่ควรส่งรายงานให้ กสทช.เพื่อจะส่งให้หน่วยเหนือต่อไป เพราะว่าอาจเกิดการปิดบังข้อมูลความผิดพลาดของตนเอง ส่วนในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ควรออกกฎระเบียบออกมากำกับโครงสร้างการดำเนินการ แทนที่จะแก้ปัญหาเป็นรายๆ ไป และการคุ้มครองผู้บริโภคควรมีกระบวนการดำเนินงานที่คล่องตัว

เอื้อจิตหวั่นร่าง พ.ร.บ. 2558 ทำเสียของทั้งการเงิน, การงาน, การคุ้มครองผู้บริโภค

เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เห็นว่าการแก้กฎหมายต้องตอบสนองเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อให้ได้ ซึ่งในข้อนี้ผู้ที่เข้าไปทำงานใน กสทช. มีผู้ที่เข้าใจน้อยมาก และที่ผ่านมาองค์กรไม่มีการตั้งพันธกิจ มีเพียงแต่การเอากฎหมายมาตีเป็นข้อๆ ไป ทั้งยังเสนอว่า รัฐต้องไม่ถือครองสื่อเอาไว้ ควรแบ่งประเภทสื่อออกเป็นสื่อที่แสวงผลกำไร และสื่อที่ไม่แสวงผลกำไร แต่การที่ภาครัฐ โดยเฉพาะกองทัพ ไม่ยอมวางมือจากสื่อ ทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นมีปัญหา

เอื้อจิต เสนอว่า กสทช.ควรเป็นอิสระจากกระทรวงดิจิทัลฯ เงินส่วนที่ได้ในการประมูลคลื่นนั้นควรเอาไปใช้ในการพัฒนา หากจะตั้งกระทรวงใหม่ก็ควรที่จะตั้งงบประมาณจากส่วนกลางเอาเอง

เอื้อจิต เห็นด้วยกับเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ เห็นด้วยกับจำนวนเจ็ดคน และเห็นด้วยกับการระบุความเชี่ยวชาญ แต่ว่ากังวลเกี่ยวกับการจำกัดความคำว่า ‘ความเชี่ยวชาญ’ ในกฎหมาย ว่าจะไม่สามารถครอบคลุมและไม่เอื้อให้บรรลุหลักการที่ตั้งเอาไว้ และไม่เห็นด้วยกับการสรรหาโดยคณะกรรมการจากภาครัฐ ควรจะเกิดจากภาคส่วนวิชาชีพ ผู้ประกอบการและภาคความเชี่ยวชาญ และตัวแทนของภาคประชาชนไม่ว่าจะมาจากผู้บริโภคและกลุ่มที่ทำงานในประเด็นต่างๆ

ในด้านของการทำงานของ กสทช. เอื้อจิต ชี้ว่า ควรออกระเบียบภายในที่เกี่ยวกับการบริหารองค์กรให้ทำงานเชิงนโยบายที่กำหนด ทิศทางระดับประเทศ ส่วนในสำนักงาน เสนอว่า ควรออกระเบียบที่ยกคุณค่าของการใช้ความรู้และผลการศึกษาและวิจัยเป็นสำคัญ และทิ้งคำถามว่า ทำอย่างไรให้ กสทช. มีความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจขององค์กร

ในประเด็นของการคุ้มครองผู้บริโภค เอื้อจิตเห็นว่า ควรยึดหลักผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ควรมีบุคลากรที่มีความมุ่งมั่น เอาใจใส่ในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ปัจจุบัน กระบวนการรับเรื่องร้องเรียน หน่วยงานมีหน้าที่เพียงเป็นตัวกลางระหว่างผู้ร้องเรียนและผู้ประกอบการ ส่วนการชดเชย การแก้ปัญหาเป็นไประหว่างคู่กรณีเท่านั้น ซึ่งลักษณะดังกล่าวทำให้ขาดมาตรฐานในการแก้ไขปัญหา และควรตั้งอนุกรรมการดูแลเรื่องนี้โดยคัดบุคคลที่มีความสามารถ ไม่ใช่การใช้ระบบอุปถัมภ์

เอื้อจิต ไม่เห็นด้วยที่จะให้ กตป. เป็นกรรมาธิการในวุฒิสภา แต่ต้องการให้ กตป. ที่ถูกคัดเลือกมาเป็นอย่างดี สามารถส่งรายงานการประเมินถึงวุฒิสภาได้เลยโดยไม่ต้องผ่าน กสทช. และสามารถแจ้งบอกสาธารณะได้ ทั้งยังทิ้งท้ายว่า ทั้งกลไกของ กตป. และกสทช. ต้องได้รับการปฏิรูปให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ น่าเชื่อถือ มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เจ้าพนักงานของกรมประชาสัมพันธ์และกองทัพ ไม่ควรอยู่ในระบบการสรรหาเพื่อลดความเกี่ยวพันในเชิงเครือข่ายและผลประโยชน์

TDRI แย้งใช้ม.44 เปลี่ยนมือผู้ถือครองคลื่น ส่งผลเกิดปั่นราคา

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) แสดงความกังวลว่า ร่าง พ.ร.บ. ที่รัฐบาลปัจจุบันได้ร่างขึ้นมา จะทำให้ประเด็นการเงิน, การจัดสรรคลื่น, การปฏิรูป กสทช. และการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

สมเกียรติย้ำในประเด็นการเงินว่า เม็ดเงินที่มาจากรายได้ของ กสทช. มาจากผู้บริโภค ร่างกฎหมายเศรษฐกิจและดิจิทัลที่จะนำเม็ดเงินนี้มาใช้ในกองทุนดิจิทัลฯ ที่โดยหลักประกอบไปด้วยรายได้จากการจัดสรรคลื่นความถี่ 25 เปอร์เซ็นต์, รายได้จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจาก กสทช. และกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ทั้งกองที่เอามาได้ครั้งเดียว ซึ่งรวมๆ แล้วในปีนี้มีมูลค่าสูงถึง 17,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมูลค่าไปมากกว่า 20,000 ล้านบาทในปีหน้า แต่ทั้งหมดนี้เป็นเงินนอกงบประมาณ แต่กลับนำไปให้ส่วนราชการ [กระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัลฯ] แสดงให้เห็นว่าขาดวินัยด้านการคลังและมีวี่แววของความไม่โปร่งใส ควรทำร่างงบประมาณและเสนองบประมาณผ่านรัฐสภา เพื่อให้สำนักงบประมาณตรวจสอบถึงความจำเป็นในการใช้งบประมาณและตัดสินว่าจะจัดสรรงบประมาณให้มากน้อยเพียงใดตามความสำคัญ

ในเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ ที่จะประมูลคลื่นความถี่โดยไม่ยึดตัวราคา หรืออาจจะไม่จัดประมูล ผนวกกับการเรียกร้องให้ใช้มาตรา 44 กำหนดให้มีการเปลี่ยนมือผู้ถือครองคลื่นได้ จะส่งผลให้มีผู้ที่ได้คลื่นความถี่มาในราคาถูก และนำไปขายต่อในราคาที่สูงกว่า

สมเกียรติยังเสนอในประเด็นการปฏิรูปธรรมาภิบาลของ กสทช. ในประเด็นการใช้จ่ายงบประมาณอย่างไม่โปร่งใส ควรแก้ด้วยการลดงบประมาณที่มีมากเกินไป และการใช้จ่ายใดๆ จะต้องเข้าระบบสภาหรือการตรวจสอบเสียก่อน ส่วนในด้านการตรวจสอบการทำงานของผู้ปฏิบัติงานใน กสทช. และตัวสำนักงานเอง สมเกียรติเสนอว่า รายงานการตรวจสอบความโปร่งใสซึ่งจัดทำโดย สตง. ควรเป็นเอกสารสาธารณะ เพราะพฤติกรรมนี้จะสะท้อนให้สังคมเห็นด้วยว่า เมื่อ กสทช.ได้รับแรงกดดันก็จะนำไปสู่การปรับปรุงตัว ส่วน สตง. ก็จะเป็นที่ประจักษ์ว่ามีผลงาน

ส่วนในด้านการทำงาน กสทช.ที่ตามกฎหมายระบุว่ามีหน้าที่เพียงแค่ส่งรายงานการติดตามประเมินผลของ กตป. ให้รัฐสภา กลับไม่เปิดเผยเอกสารบ้าง ทำให้กลไกการตรวจสอบขาดประสิทธิภาพ องค์กรตรวจสอบและประเมินควรมีความเป็นอิสระจาก กสทช.

ในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค สมเกียรติเห็นว่า หัวใจของการคุ้มครองผู้บริโภคมีอยู่สองส่วน ได้แก่ ตัวองค์กรที่จะมาจัดการเรื่องร้องเรียน อีกเรื่องคือการกำกับดูแล ซึ่งในประเทศไทย ไม่ค่อยใส่ใจกับการกำกับดูแล ซึ่งเขาเห็นว่า เป็นปัญหาของระบบราชการไทยทั้งระบบ ที่ไม่อยากใช้อำนาจในการกำกับดูแลเพราะกลัวจะเกิดข้อขัดแย้งกับผู้ประกอบการ แนะว่าสภาต้องขยันขันแข็งในการพิจารณารายงานประจำปีจากหน่วยงานกำกับดูแลที่ส่งมานั้น ได้คุ้มครองผู้บริโภคถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และถ้าไม่ ผู้บริโภคจะต้องร้องเรียนว่าองค์กรไม่ได้ทำตามหน้าที่ เสนอให้มีกลไกการลงโทษองค์กรที่ไม่ดูแลผู้บริโภคด้วยการฟ้องร้อง เพื่อให้กฎหมายมีอำนาจบังคับในทางปฏิบัติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net