คุยกับทูตอังกฤษ : 800 ปีแมคนา คาร์ตา รากนิติรัฐอังกฤษ-วิเคราะห์สังคมไทย

มาร์ค เคนท์ (Mark Kent) เอกอัครราชทูตอังกฤษให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแมคนา คาร์ตา และการเมืองไทย ( 1 พ.ค.2558)

วันที่ 15 มิถุนายน 2558 เป็นวันครบรอบ 800 ปี กฎบัตรแมคนา คาร์ตา (Magna Carta)

800 ปีที่แล้วตามหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ไทยน่าจะเป็นช่วงเวลาที่ย้อนไปไกลกว่ากรุงสุโขทัย แต่ที่อังกฤษเริ่มมีการลุกฮือของเหล่าขุนนางเพื่อต่อรองกับกษัตริย์

แมคนา คาร์ตา เป็นเอกสารข้อตกลงทางการเมืองฉบับแรกๆ ของอังกฤษ มันถูกนับให้เป็นจุดตั้งต้นของความเปลี่ยนแปลงใหญ่อันหนึ่งในสังคม เป็นการสร้างโครงร่างคร่าวๆ ของระบบนิติรัฐ เป็นข้อตกลงที่ ‘บีบ’ ให้กษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย อันที่จริงถ้าพูดให้ตรงกว่า มันคือการที่บารอนทั้งหลายอยู่ภายใต้ระบบกฎหมายที่สร้างความอุ่นใจมั่นใจให้ชีวิตได้ ไม่ใช่ทุกอย่างขึ้นตามอำเภอใจกษัตริย์ ทั้งการเรียกทรัพย์สินต่างๆ หรือการลงโทษ

แม้มันจะไม่ใช่ ‘สิทธิ’ สำหรับทุกคน มีไว้แต่บารอนเท่านั้น (ไม่รวมทาสของบารอนหรือประชาชนสามัญ) แต่มันก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ

ที่ผ่านมาแมคนา คาร์ตา อาจไม่ได้รับการพูดถึงมากนักในสังคมอังกฤษ แต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปีนี้ รัฐบาลอังกฤษโปรโมตการเฉลิมฉลองครบรอบ 800 ปีของแมคนา คาร์ตา อย่างจริงจัง เอกสารฉบับจริงที่ยังหลงเหลือถูกนำออกมาจัดแสดงในศูนย์ศึกษาใกล้ปราสาทลินคอล์นและบริติชไลบารี่

เอกสารเก่าแก่นี้ถูกเขียนขึ้นในภาษาลาติน มีความยาว 63 ประโยค มีการปรับแก้กันอยู่หลายครั้ง ผ่านมาหลายร้อยปี ทุกวันนี้ยังหลงเหลือ 3-4 ประโยคอยู่ในกฎหมายของอังกฤษ

ก่อนจะเดินทางสู่ประวัติศาสตร์ของแมคนา คาร์ตา ‘ประชาไท’ พูดคุยกับ มาร์ค เคนท์ (Mark Kent) เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ถึงความสำคัญของกฎบัตรหรือความตกลงนี้ ความเกี่ยวพันกับโลกสมัยใหม่ จนกระทั่งเชื่อมโยงกับประเทศไทยซึ่งมีระบอบการปกครองแบบเดียวกัน ลักษณะเฉพาะของสังคมไทย ไปจนถึงร่างรัฐธรรมนูญของไทย ซึ่งในขณะพูดคุยนั้น(1 พ.ค.) เริ่มมีการเปิดเผยร่างแรกแล้วแม้จะกระแสวิพากษ์วิจารณ์ยังไม่มีมากนักก็ตาม

“มันเป็นเอกสารที่แสดงให้เห็นจริยธรรมของสังคมช่วงหนึ่งและมีหลายเรื่องที่ยังอยู่เป็นพื้นฐานของระบบกฎหมาย ระบบยุติธรรมของอังกฤษ เป็นพื้นฐานของหลักนิติธรรม ทำให้ไม่มีใครในประเทศอังกฤษที่อยู่เหนือระบบกฎหมาย”

“เรื่องอื่นที่สำคัญมากคือ สิทธิบุคคล ทำให้ทุกคนมีสิทธิถ้าถูกฟ้อง ถ้าไปศาลก็มีสิทธิมีเสียงในระบบกฎหมาย และสุดท้ายกฎบัตรแมคนา คาร์ตา เป็นรากฐานระบบประชาธิปไตยของประเทศอังกฤษ”

“คนที่ประเทศอังกฤษที่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ส่วนใหญ่มาก แต่ว่าคนที่อาจจะไม่เห็นด้วย ก็แสดงความคิดเห็นได้ โดยทั่วไปคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่ประเทศอังกฤษและประเทศที่มีระบบการปกครองอย่างเป็นประชาธิปไตย ทำให้ประเทศพัฒนาต่อไปได้โดยที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นอย่างสันติได้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยสันติได้ เราอาจจะไม่เห็นด้วย แต่ว่ามีความอดทนอดกลั้นเพื่อทำให้ทุกฝ่ายทุกส่วนพูดคุยกันได้โดยสันติ เราอาจจะไม่เห็นด้วยกัน แต่ว่าเราเคารพกันและกัน ถ้าเรามีระบบประชาธิปไตยส่วนรัฐบาลมาจากประชาชนส่วนใหญ่ เป็นตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่ แต่ว่าประชาชนที่อาจจะอยู่ส่วนน้อยทุกคนก็เคารพความคิดเห็นด้วยเป็นหลักการของระบบประชาธิปไตย เป็นหลักการของนิติธรรมนิติรัฐ เพราะฉะนั้นเราพูดคุยกัน เรามีการอภิปรายในรัฐสภาแต่ว่าถ้าเรามีสังคมที่ประสบความสำเร็จต้องทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ”

ติดตามเรื่องราวของแมคนา คาร์ตา ได้เร็วๆ นี้

หมายเหตุ : ขอขอบคุณสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย, มาร์ก เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และ BBC World Service

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท