‘เห็นคนเป็นคน’ คุยกับสองนักศึกษา หลังออกค่ายกับเยาวชนในสถานพินิจฯ

‘ค่ายเพาะรัก’ ปรับมุมมองนักศึกษา และเยาวชนในสถานพินิจฯ 2 ผู้เข้าร่วมเผย ‘เห็นคนเป็นคน’ เชื่อไม่มีใครอยากทำผิด แต่เป็นเพราะสิ่งแวดล้อมกำหนดการตัดสินใจของมนุษย์

 

หากเชื่อว่าชีวิตการเรียนในมหาวิทยาลัยจะสมบูรณ์เต็มที่ ก็ต่อเมื่อเราเดินออกจากหนังสือ ตำราวิชาการ และห้องเรียน ออกไปสู่สังคมภายนอก ออกไปเจอสภาพสังคมที่เป็นจริง ออกไปเรียนรู้ชีวิตตัวเอง และชีวิตผู้อื่นไปพร้อมกัน เรื่องราวสั้นๆ ที่กำลังจะเล่าผ่านบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ก็อาจจะเป็นกิจกรรมนอกห้องเรียนอีกประเภทหนึ่ง ที่ช่วยเติมความสมบูรณ์เต็มที่ของชีวิตมหาวิทยาลัย

เอาเข้าจริงแล้วการทำออกค่ายสำหรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ดูจะเป็นเรื่องปกติ ที่มีให้เห็นกันทั่วไป ทั่งค่ายอาสาพัฒนาต่างๆ ค่ายเรียนรู้ปัญหาชาวบ้าน ค่ายเรียนรู้วิถี และวัฒนธรรมชุมชน บ่อยครั้งเรารู้จักเพื่อนใหม่ต่างมหาวิทยาลัย แต่มีน้อยครั้ง หรืออาจจะไม่มีไหนเลย ที่เราจะได้รู้จักเพื่อนใหม่ที่อยู่ในสถานพินิจฯ...

ค่ายเพาะรัก เป็นค่ายกิจกรรมระยะสั้น 3 วัน 2 คืน ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 2-4 เม.ย. ที่ผ่านมา เป็นค่ายกิจกรรมที่นักศึกษามหาวิทยาลัย ได้มาทำกิจกรรมร่วมกับเยาวชนในสถานพินิจฯ  เพื่อร่วมเรียนรู้ แลกเปลี่ยนมุมมองทัศนคติระหว่างกัน ประชาไทมีโอกาสพูดคุยกับ 2 นักศึกษาที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว คนแรกคือ นัสรูลเลาะห์ อาแว นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ และอีกคนคือ ลัทธวรรณ มาสง นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

ทั้งสองคนกล่าวตรงกันว่า ช่วงเวลาสั้นๆ แต่มันทำให้เราเห็นคนเป็นคน…

00000

ซ้าย-ลัทธวรรณ มาสง ขวา-นัสรูลเลาะห์ อาแว

ประชาไท : ทำไมถึงสนใจเข้าค่ายทำกิจกรรมกับเยาวชนสถานพินิจฯ ไม่รู้สึกกลัว หวาดระแวง ?

นัสรูลเลาะห์ : ค่ายลักษณะนี้เป็นค่ายรูปแบบใหม่ ส่วนตัวเองก็ชอบทำกิจกรรลักษณะนี้อยู่แล้ว และคิดไม่ถึงว่าจะมีการได้เข้าไปอยู่ร่วมกับเยาวชนสถานพินิจฯ ตัวจริง ซึ่งเป็นโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้หลายๆ เรื่องกับเขาได้ตลอดเวลา เราเรียนรู้เขา เขาเองก็เรียนรู้เรา มันเป็นอะไรที่แปลก และท้าทาย

ลัทธวรรณ : ตอนแรกเราก็กลัวนะ เข้าไปตอนแรกก็ เฮ้ย... เขามีรอยสักเต็มไปหมด มันก็กลัวในตอนแรก แต่พอเริ่มมีกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้เราเริ่มได้พูดคุยกัน  ก็รู้ว่าสึกเขาก็โอเคนะ ตอนแรกเรามองเขาแค่ภายนอก แล้วก็ตัดสินเร็วเกินไป

ตัวกิจกรรมเองก็มีส่วนช่วยทำลายกำแพง ?

นัสรูลเลาะห์ : คนที่ทำ และออกแบบกิจกรรม เป็นอาจารย์ที่เป็นจิตวิทยา เป็นนักสังคมสงเคราะห์ กิจกรรมตอนแรกเลย เขาจัดเราเข้ากลุ่มต่างๆ คนที่มาด้วยกันก็ไม่ได้อยู่ด้วยกัน ในแต่ละกลุ่มก็จะมีเยาวชนจากสถานพินิจฯ 2 คน กิจกรรมในค่ายก็มีฐานต่างๆ ที่ออกแบบมาให้เราคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะผ่านไปได้ ตอนแรกก็ต่างคนต่างคิด ไม่ได้รวมความคิดกัน แล้วก็ทำกิจกรรมไม่ผ่าน สุดท้ายเราก็ต้องทำลายกำแพงตรงนั้นแล้วก็รับฟังกันมาขึ้น ช่วยกันคิดแก้ไขกันต่อไป

ลัทธวรรณ : ตอนแรกเราฟังแค่กันเองก่อน ฟังกันเฉพาะเด็กมหาลัย เราไม่ฟังเขา จนเขามีเสียงขึ้นมา เขาเปล่งเสียงออกมาบอกว่า หยุดก่อน ลองทำแบบนี้ดีไหม เขาเริ่มเสนอความคิดของเขาออกมา

นัสรูลเลาะห์ : เราก็ฟังความคิดเขาทุกคน ใจจริงแล้วก็ไม่ได้เปิดกั้นอะไร แต่ว่าในทางฝั่งของเยาวชนจากสถานพินิจเขาค่อนข้างที่จะป้องกันตัวเองสูง วันแรกเขาแทบจะไม่พูดไม่คุยอะไรกับเราเลย คือถามคำก็ตอบคำ แต่พอได้มาทำกิจกรรมที่ออกแบบมาให้ทุกคนต้องปรึกษากัน พูดคุยกันมันก็ทำให้ เราเริ่มเปิดใจมากขึ้น มันทำให้เราเห็นคนเป็นคนมากขึ้น

นอกจากเรื่องกิจกรรม ได้พูดคุยเรื่องอะไรกันบ้าง ?

ลัทธวรรณ : มีคุยกันหลายเรื่อง ในคืนสุดท้ายก็มีการแลกเปลี่ยนกัน ตอนแรกเพื่อนคนหนึ่งถามเราว่า เป้คิดว่าอิสรภาพคืออะไร? เราก็ตอบตามที่เราคิด อิสรภาพของเราคือ การที่ไม่ปิดกั้นความคิดของเรา ไม่ตีกรอบความคิดตัวเอง นั่นคือ อิสรภาพของเราแล้ว เขาก็บอกเราว่า เขาก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน แม้เขาจะใช้ชีวิตอยู่ในกำแพง แต่เขามีอิสรภาพแล้วนะ คือเขาไม่ปิดกั้นความคิดของเรา เรามีอิสรภาพทางความคิด

อย่างเรื่องรอยสักก็ด้วย เขาถามว่า คิดอย่างไรที่พวกเราสักแบบนี้ รังเกลียดไหม เราก็ตอบตอนแรกก็กลัว แต่ตอนนี้ไม่กลัวแล้ว เขาก็เล่าให้ฟังว่ามันเป็นความชอบ เขาอยากบันทึกเรื่องราวไว้บนตัวของเขา

คิดว่าการที่เยาวชนในสถานพินิจที่ได้ออกมาทำกิจกรรมกับเยาวชนที่อยู่ข้างนอก ช่วยสร้างอะไรให้กับเขาบ้าง ?

นัสรูลเลาะห์ : หลังจากจบค่ายไป เราก็พูดคุยกันต่อ ทางไลน์ ทางเฟซบุ๊ก แล้วบางคนที่ได้ออกมาก่อน เขาก็มาเยี่ยมเรา มันเป็นความสัมพันธ์แบบเพื่อน ความสัมพันธ์ที่ไม่แบบแยกว่า เราเป็นใคร เป็นนักศึกษา หรือเป็นเด็กในสถานพินิจฯ เขาคิดว่าเราก็เป็นเพื่อคนหนึ่ง เรากับเขาสามารถพูดคุยปรึกษากันได้ทุกเรื่อง คือผมก็แปลกใจเหมือนกันว่ามันเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร คิดดูก็อาจจะเป็นเพราะตัวกิจกรรมที่ออกแบบมาให้เราสนิทกัน มันมีหลายค่ายที่มีการจัดให้นักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยมาอยู่ร่วมกันก็จริง แต่พอหลังจบค่ายต่างคนก็ต่างแยกย้ายกันไป ซึ่งเพื่อนที่อยู่ในสถานพินิจเขาไม่ได้คิดแบบนี้ เป็นเพื่อนกันแล้วก็เป็นไปตลอด

เพื่อนบางคนก็บอกว่าอยากให้ค่ายแบบนี้อีก ไม่ก็บอกว่าอยากให้จัดหลายวันกว่านี้ บางคนที่ได้คุยกันกับเราเขาบอกว่า ตัวเขาเองไม่เคยเปิดใจคุยกับใครมาถึงขนาดนี้ เราเป็นคนแรกที่เขาเปิดใจคุย

ลัทธวรรณ : ในส่วนของตัวเราเองที่อาจจะเคยมีทัศนคติในแง่ลบ หรือตีตราอยู่บ้าง มันก็ไม่มีแล้ว เรารู้ว่าสิ่งที่เขาต้องการจริงๆคืออะไร เขาต้องการความพร้อมของสังคมที่จะตอบรับกับเขาเมื่อเขาออกไป ความพร้อมที่ว่าก็คือ ความคิดที่จะไม่ตีตราว่าเขาคือผู้กระทำความผิด ซึ่งแม้เขาจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว หรืออะไรก็แล้วแต่ เมื่อเขากลับบ้านคนในชุมชนก็ยังตีตราเขาอยู่ว่า เคยทำอย่างนั้น อย่างนี้มา ซึ่งการยังตีตราพวกเขาในลักษณะนี้มันไม่ช่วยอะไร และทำให้เขาอยู่ในสังคมไม่ได้

แล้วเรามองความผิดพลาดของเขาอย่างไร ?

นัสรูลเลาะห์ : ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดในลักษณะไหนก็ตามแต่ คุณอาจจะเคยผิดมาแบบหนึ่ง ผมเองก็เคยผิดมาอีกแบบหนึ่ง แม้จะเป็นความผิดเล็กน้อย หรือยิ่งใหญ่ แต่ขอให้มันเป็นความผิดพลาดที่ให้บทเรียนกับเราได้ หรือเราได้เรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดแล้วปรับแก้อะไรให้ไม่กลับไปผิดอีกเท่านั้นก็พอ ให้มันเป็นความผิดพลาดที่ทำให้เราได้ความคิดใหม่ๆ ดีกว่า

ลัทธวรรณ : เราก็บอกให้เขารู้ว่า สังคมข้างนอกของพวกเรามันก็มีเรื่องให้เครียดให้แพ้พวกเขาเหมือนกัน ความผิดพลาดส่วนใหญ่ เรามองว่ามันเริ่มต้นจากสถาบันครอบครัว สังคม สิ่งที่อยู่ภายนอกตัวเขาทั้งนั้น อย่างบางคนรู้จักพ่อ แม่แค่ในใบสูจิบัตรเท่านั้น บางสิ่งบางอย่างมันขาดหาย เขาไม่เคยได้รับ เขาต้องหาเงินเอง อยากมีเหมือนที่เพื่อนมี มันก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาตัดสินทำความผิด

นั่นแปลว่า เรามองว่าการทำผิดไม่ได้เกิดจากตัวเขาเอง ?

นัสรูลเลาะห์ : ใช่ ผมคิดว่ามนุษย์เราไม่เลือกที่จะทำผิด โดยการตัดสินใจของตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันมีหลายส่วนหลายปัจจัยที่รายล้อม สิ่งแวดล้อมรอบข้างมีส่วนหล่อเหลือมให้เขาตัดสินใจทำอะไรบ้างอย่าง คนบางคนเกิดมาในครอบครัวที่ถูกกระทำมาตลอด พ่อเลี้ยงทำร้าย แม่ไม่ได้คำให้แนะนำอะไรเลย มันก็เป็นการปูทางไปสู่ความผิดพลาดได้ และไม่เพียงเฉพาะคนที่อยู่ในสถานพินิจแล้วเท่านั้น คนที่อยู่ข้างนอกอย่างเราๆ ก็มีโอกาสที่จะตัดสินใจทำอะไรที่ผิดพลาดได้ แต่ปัญหาคือ เมื่อเราสำนึกผิดแล้ว ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดแล้ว เราจะมีที่ทางในสังคมหรือไม่ นี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องคิด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท