Skip to main content
sharethis

ร้านหนังสือเชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ร่วมกับเครือข่ายร้านหนังสืออิสระทั่วประเทศ และสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย  จัดงานสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระ ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 20-28 มิถุนายน 2558 นี้ เน้นสร้างชุมชนการอ่านผ่านสำนึกท้องถิ่น ฐานทรัพยากร และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ผ่านภาพ หนังสือ นิทาน ละครหุ่นมือและหนังสั้น

องอาจ เดชา ผู้จัดการร้านหนังสือเชียงดาว กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานในครั้งนี้ว่า นอกจากเป็นการกระตุ้นให้คนรู้จักร้านหนังสืออิสระแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการอ่านผ่านการสร้างชุมชนคนอ่านหนังสือภายในร้านหนังสืออิสระที่มีอยู่หลายพื้นที่หลายจังหวัดทั่วประเทศ  โดยปีนี้ ทางร้านหนังสือเชียงดาวจะมีการจัดกิจกรรมหลากหลาย อาทิเช่น นิทรรศการ “เรารักดอยหลวงเชียงดาว” โดยกลุ่มรักษ์ล้านนา ซึ่งจะนำเสนอคุณค่าของระบบนิเวศน์บนดอยหลวงเชียงดาวว่า เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการรักษาเอาไว้บนความงาม ความศรัทธาของคนท้องถิ่นที่มีต่อดอยหลวงเชียงดาว นอกจากนั้น ยังมีการจัดนิทรรศการภาพเขียน ภาพถ่าย “มองเมืองดาว” โดยศิลปินชาวเชียงดาว ได้ร่วมกันคัดสรรผลงานหลากหลายมุมมอง ทั้งภาพศิลปวัฒนธรรม ภาพธรรมชาติสิ่งแวดล้อมของเชียงดาว วิถีชีวิตของผู้คนชนเผ่าของเชียงดาว นำมาแสดงให้คนทั่วไปได้ชมกันอีกด้วย

“โดยในวันเปิดงาน วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายนนี้ ร้านหนังสือเชียงดาว ได้จัดวงสนทนา ‘โลกแห่งการอ่าน หนังสือสร้างจินตนาการในชีวิต’ กับโยชิมิ โฮรุจิ (Yoshimi Horiuchi) หญิงซึ่งพิการทางสายตาชาวญี่ปุ่น เจ้าของรางวัล ผู้สร้างแรงบันดาลใจ คนค้นคน ปี 2556 แม้ว่าดวงตาเธอจะมองไม่เห็นตั้งแต่เด็ก แต่เธอกลับเต็มเปี่ยมไฟฝัน แล้วยังเติบโตมาได้จากการอ่าน จนทำให้เธอมีความฝันอยากส่งเสริมการอ่านให้กับเด็กๆ ผู้คนตามชนบทของไทย จนได้ก่อตั้ง คาราวานหนังสือ และสร้างศูนย์การเรียนรู้หลายแห่ง รวมไปถึงการสร้างห้องสมุดรังไหม ขึ้นที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่อีกด้วย” ผู้จัดการร้านหนังสือเชียงดาว กล่าว


โยชิมิ โฮรุจิ

โยชิมิ โฮรุจิ กล่าวว่า เป็นเรื่องยินดีมากที่จะมีการจัดงานส่งเสริมการอ่านในลักษณะนี้ เพราะชีวิตของเธอ แม้มองไม่เห็นมาตั้งแต่ยังเล็ก แต่ก็เติบโตมาด้วยการอ่าน และหนังสือทำให้เธอเรียนรู้โลก เดินทางไกลไปหลายประเทศและจนมาถึงที่นี่

“เพราะว่าสังคมญี่ปุ่นนั้นจะเน้นให้ทุกคนในครอบครัวรักการอ่าน และทำให้รู้สึกว่าการอ่านหนังสือเป็นเรื่องสนุก แต่สังคมไทยถูกทำให้การอ่านเป็นเรื่องยาก หนักและเครียด ทำให้หนังสือถูกมองเป็นเพียงแค่อุปกรณ์การเรียน ไม่ใช่สิ่งบันเทิงใจ ดังนั้น จึงอยากจะบอกกับทุกๆ คนว่า จริงๆ แล้ว การอ่านหนังสือเป็นเรื่องสนุก และทำให้รู้จักโลกมากขึ้น และสามารถเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนแปลงสังคมได้” โยชิมิ กล่าว   

นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมเสวนากับนักเขียน “มหรรณพ โฉมเฉลา” นักเขียนวรรณกรรมเจ้าของรางวัลช่อการะเกด, รางวัลระพีพร ปี 2555 และรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ปี 2555 (รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทนวนิยาย เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 9) จากเรื่อง “ในอ้อมกอดกาลี” จะมาพูดถึง “รสชาติวรรณกรรม” ว่าการเขียนหนังสือวรรณกรรมนั้นให้สนุกและสะท้อนสังคมได้เป็นอย่างไร  พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนค้นหาแรงบันดาลใจ “จากงานเขียนนวนิยาย ไปสู่หนังละครโทรทัศน์ได้อย่างไร” กับ “สิริสวรส” เจ้าของบทประพันธ์นวนิยายเรื่อง “สภ.รอรัก” ในนิตยสารบางกอก และล่าสุดถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ “สภ.รอรัก” ทางช่อง 7 สี ในขณะนี้ โดยกิจกรรมนี้จะจัดขึ้นในวันศุกร์ ที่ 26 มิถุนายนนี้ ตั้งแต่เวลา 17.00 น.เป็นต้นไป


มหรรณพ โฉมเฉลา นักเขียนงานวรรณกรรม

อีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การฉายภาพยนตร์สั้น ฝีมือผู้กำกับของ 3 เด็กหนุ่มลาหู่จากเมืองนะ เชียงดาว เจ้าของรางวัลดีเด่นช้างเผือกพิเศษ จาก16th Thai Short Film and Video Festival  เรื่อง “เข็มขัดกับหวี” และ “ทางเลือกของจะดอ” “จะโบแปลว่าผู้มีวาสนา”

3 ผู้กำกับหนุ่มชนชาวลาหู่ (Lahu) จากหมู่บ้านเล็กๆ ตามริมชายแดนไทย-เมียนม่าร์ ในเขตตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ลงมือผลิตภาพยนตร์สั้นบอกเล่าเรื่องราววิถีชนเผ่าบนดอยเชียงดาว ไมตรี จำเริญสุขสกุล กับภาพยนตร์สั้นเรื่อง ‘จะโบแปลว่าผู้มีวาสนา’ ธนิต จำเริญสุขสกุล กับภาพยนตร์สั้นเรื่อง ‘ทางเลือกของจะดอ’ และ สุทิตย์ ซาจ๊ะ กับภาพยนตร์สั้นเรื่อง ‘เข็มขัดกับหวี’ ซึ่งเป็นเรื่องที่สุทิตย์ได้รับรางวัลดีเด่นช้างเผือกพิเศษ จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นและวิดีโอครั้งที่ 16 ของมูลนิธิหนังไทย เมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา และจะนำมาฉายให้กับผู้ชมชาวเชียงดาวในค่ำคืนวันจันทร์ ที่ 22 มิถุนายนนี้

พรสุข เกิดสว่าง จากมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ผู้สนับสนุนการทำหนังสั้นชาติพันธุ์ต่อเนื่องกันมาหลายปี กล่าวว่า กระแสตอบรับจากกลุ่มคนดูหนังที่ไม่ใช่กลุ่มคนทำงานสังคมหรือรู้เรื่องชาติพันธุ์ มีต่อหนังสั้นลาหู่ทั้งสามเรื่องนี้ ค่อนข้างดี หรืออาจจะเรียกว่าดีมากเมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องอื่นๆ เพราะว่าหนังทั้งสามเรื่อง มีความจริงใจ ไม่เสแสร้ง เป็นศิลปะสื่อที่ออกมาจากใจ ถึงแม้ด้านเทคนิคอาจมีความไม่เรียบร้อยอยู่บ้าง แต่ก็ส่งสารได้แรงและถึงใจผู้ชม

“ในงานนี้ เราอยากนำเสนอให้ได้ชมหนังสั้นอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง ‘รอยเท้าของเรา’ (HtaKwa) เป็นผลงานจากความร่วมมือระหว่างชาวปกาเกอะญอจากลุ่มน้ำบางกลอย เมย-สาละวิน แม่แจ่ม และแม่ขาน ซึ่งเป็นหนังสั้นลำดับที่ 2 ของ "ต้าควา"ผู้กำกับ “วิถีชีวิต" จากเทศกาลบินข้ามลวดหนามครั้งที่ 5 ซึ่งได้รับรางวัลชมเชย รัตน์ เปสตันยี และรางวัลพิราบขาว จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นปี พ.ศ.2557 ที่ผ่านมาด้วย”  

หลังจากนั้น จะมีวงสนทนาถึงเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์สั้นชาติพันธุ์กับพรสุข เกิดสว่าง และ 3 ผู้กำกับภาพยนตร์สั้นชาวลาหู่ตั้งแต่ 18.00 น.เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมที่ร้านหนังสือเชียงดาว อาทิ การสอนทำสมุดทำมือ การทำหุ่นมือด้วยถุงเท้า จากกลุ่มละครมะขามป้อม เชียงดาว (มูลนิธิสื่อชาวบ้าน มะขามป้อม) และการทำโมบาย คาราวานหนังสือ (Always reading Caravan Book) ให้กับเด็กนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้  รวมไปถึงกิจกรรมล้อมวงเล่านิทาน พร้อมเทคนิคการเล่านิทานแบบต่างๆ จากกลุ่มละครมะขามป้อม เชียงดาว เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ในด้านการอ่านและการเปิดโลกจินตนาการได้มากยิ่งๆ ขึ้น

สุรารักษ์ ใจวุฒิ ผู้ประสานงานมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เพราะที่ผ่านมา ทางมูลนิธิได้ทำงานรณรงค์สร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในพื้นที่อำเภอเชียงดาวมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ร่วมมือกับหลายองค์กรในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น กศน.เชียงดาว โรงเรียน หรือร้านหนังสือเชียงดาว มาโดยตลอด

“เพราะทุกคนเล็งเห็นความสำคัญว่า การอ่าน เป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนชีวิต และเปลี่ยนแปลงชุมชนในท้องถิ่นได้”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net