เวทีรอมฎอนแห่งการใคร่ครวญ (1) ทบทวนพื้นที่สื่อสารสันติภาพ

16 มิ.ย.2558 ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ จัดเสวนาหัวข้อ “สันติรอมฎอนแห่งการใคร่ครวญ” ณ ห้องประชุมอิหม่ามอัลฆอซาลี วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) มีนักจัดรายการวิทยุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมประมาณ 40 คน

ช่วงแรกเป็นการเสวนาหัวข้อ “พื้นที่สื่อสารในช่วงเดือนรอมฎอน: ทิศทางที่ควรเป็น” โดยมี ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, โซรยา จามจุรี หัวหน้าฝ่ายสงเสริมและเผยแพร่ สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง ม.อ.ปัตตานี และ พ.อ.วัฒนา กรมพันธ์ รองผู้อำนวยการศูนย์สันติสุข ค่ายสิรินธร อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดยรอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ : ความสุขที่แท้จริงคือได้ใคร่ครวญ

ความสุขที่แท้จริงของเราคือการที่เราได้ใคร่ครวญ อริสโตเติลก็เคยกล่าวเช่นนี้ เมื่อเรามาใคร่ครวญถึงเหตุรุนแรงในพื้นที่กว่า 11 ปี เราจะเห็นว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 6,000 คน บาดเจ็บกว่าหมื่นคน และทิศทางของเหตุการณ์ในช่วง 5-6 เดือนแรกของปีนี้มีลักษณะขึ้นๆ ลงๆ จุดที่น่าสังเกตก็คือเหตุการณ์จะค่อยๆ สูงขึ้น แต่ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาเหตุการณ์จะค่อนข้างนิ่งไม่รุนแรงมากนัก

ปัจจัยที่ทำให้ปีที่แล้วความรุนแรงค่อนข้างนิ่งก็คือความหวังในการที่จะได้มีการพูดคุยสันติภาพต่อ เพราะถ้าคุยกันได้ ทั้งสองฝ่ายจะมีการปรับตัวและเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความรุนแรงก็จะลดลง

ความรุนแรงในพื้นที่ของเราไม่ได้เกิดแบบมั่วๆ หรือไม่ใช่อาชญากรรมทั่วไป แต่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอุดมการณ์และความเชื่อ ดังนั้นต้องมาร่วมกันคิดใคร่ครวญแลกเปลี่ยนด้วยกัน ปีที่แล้วแม้ไม่มีการพูดคุยสันติภาพเกิดขึ้นแต่บรรยากาศการพูดคุยในพื้นที่นั้นมี ทำให้ผู้คนยังมีความหวังกับการพูดคุย

แม้ปีนี้จะมีการประกาศนโยบาย 230 แต่การขยับจริงๆ ค่อนข้างช้ามาก และการสื่อสารก็ไม่เกิดขึ้น มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย ยิ่งในช่วงของเดือนรอมฎอนเพราะจากสถิติมักจะมีเหตุการณ์สูงกว่าเดือนอื่นๆ

ถ้าเปิดช่องทางสื่อสารอย่างเท่าเทียมจะลดเงื่อนไขความรุนแรงได้

งานวิจัยของนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์เกี่ยวกับการสำรวจความนิยมในการรับสื่อของประชาชน ผลปรากฏว่าอันดับ 1 ได้แก่ โทรทัศน์ อันดับ 2 ได้แก่ วิทยุ อันดับ 3 ได้แก่ เพื่อนและญาติ อันดับ 4 ได้แก่ หอกระจายข่าว และอันดับ 5 ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพม์ ฯลฯ ผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวิทยุ ดังนั้นถ้าเราเปิดช่องทางการสื่อสารร่วมกันอย่างเท่าเทียม จะสามารถลดเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรงได้ ทั้งยังสามารถสร้างบรรยากาศในพื้นที่ให้สามารถเกิดบรรยากาศของการพูดเพื่อสันติภาพได้

เดือนรอมฎอนเป็นโอกาสที่ดีในการคิดใคร่ครวญ เพื่อช่วยกันลดเงื่อนไขการเกิดเหตุการณ์ และย้ำว่าการสื่อสารเป็นหัวใจสำคัญ จึงอยากให้ช่วยกันสร้างพื้นที่แห่งการสื่อสารหรือสร้างพื้นที่สาธารณะขึ้นมา”

โซรยา จามจุรี : เดือนรอมฎอนคนจะเลือกบริโภคแต่สิ่งดีๆ

ในช่วงเดือนรอมฎอนทุกคนมักจะใจจดใจจ่อฟังวิทยุเพื่อรอฟังเสียงอาซาน (ประกาศเวลาละศีลอด) จะได้ทานอาหารพร้อมๆ กัน แต่ไม่ใช่ด้วยเหตุผลเพียงแค่นั้น เพราะหลายคนยังจดจ่อรอฟังรายการที่เกี่ยวข้องกับศาสนาในช่วงเวลาทั่วไปด้วย จากการวัดเรตติ้งของรายการต่างๆ ที่ผ่านมาอนุมานได้ว่าในช่วงเดือนรอมฎอนผู้ฟังจะมากกว่าเดือนอื่น โดยเฉพาะรายการด้านศาสนา เพราะในช่วงเดือนรอมฎอนผู้คนจะเลือกบริโภคสิ่งที่ดีๆ

ปัจจุบันการสื่อสารในช่องทางต่างๆ เปิดมากขึ้น อย่างโทรทัศน์ช่องเคเบิล สื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น แต่ปรากฏว่าวิทยุกลับมีช่องทางที่น้อยลงหลังจากการรัฐประหารเป็นต้นมา เพราะมีคำสั่งให้ปิดวิทยุชุมชน แม้บางส่วนจะสามารถเปิดได้อีกครั้งหรือบางที่ไปเปิดสถานีใหม่ได้ แต่ถือว่าน้อยมากหากเทียบกับในอดีต

ส่วนหนึ่งของข้อจำกัดที่ไม่สามารถเปิดสถานีได้อีกครั้งคืออยู่ที่กำลังทรัพย์และอื่นๆ ด้วย เชื่อว่าสถานีที่ยังไม่สามารถเปิดได้อีกครั้ง ในขณะนี้คงจะใจจดใจจ่ออยากกลับมาทำหน้าที่ของตนเองอีกครั้ง

ต้องสื่อสาร 2 มิติ คือ ระหว่างเรากับพระเจ้า และมนุษย์กับมนุษย์

การสื่อสารในช่วงรอมฎอน เสนอว่าอย่าสื่อสารทางวิทยุอย่างเดียว ให้ใช้หลายๆ ช่องทาง เช่น โซเชียลมีเดีย หรือสื่อที่มีนักข่าวพลเมืองที่เปิดโอกาสให้เราได้สื่อสารได้ เป็นต้น

ประเด็นต่อมาคือ เนื้อหาในการสื่อสารในช่วงเดือนรอมฎอนสามารถแบ่งออกเป็น 2 มิติ คือ ระหว่างเรากับพระเจ้า กล่าวคือจะทำอย่างไรให้การปฏิบัติศาสนกิจของเราเป็นไปอย่างสมบูรณ์และได้รับการตอบรับจากพระเจ้า และระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน เช่น การแบ่งปัน เอื้ออาทร เมตตาต่อกัน อดทนต่อความแตกต่าง อดทนต่อเหตุการณ์ทิอาจจะสูงขึ้น เป็นต้น

พ.อ.วัฒนา กรมพันธ์ : มีนโยบายคลุมทั้งก่อน ระหว่างและหลังรอมฎอน

ศูนย์สันติสุข ค่ายสิรินธร เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในการต่อสู้ทางความคิดโดยใช้แนวทางสันติวิธี ซึ่งตรงกับแนวทางของท่านแม่ทัพและรัฐบาล ในประเด็นเดือนรอมฎอนนโยบายของเราครอบคลุมทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเดือนรอมฎอน

ในช่วงก่อนเดือนรอมฎอนเราได้จัดกิจกรรมรวมพลังผู้นำศาสนาเพื่อปลุกกระแสให้กับพี่น้องประชาชนที่จะต้องปฏิบัติศาสนกิจตลอดทั้งเดือนรอมฎอน และยังได้จัดทำสารจากผู้นำศาสนากระจายไปทั่วพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ด้วย

เรายังจะได้ดำเนินการและแต่งตั้งให้มีโฆษกชาวบ้าน โดยมีหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับชาวบ้าน ฝึกการรู้จักการเข้าถึงชาวบ้าน และทุกๆ กิจกรรมในพื้นที่โฆษกของเราจะเข้าไปร่วมทำความเข้าใจทุกครั้ง ในช่วงเดือนรอมฎอนเราจะส่งโฆษกของเราไปร่วมกิจกรรมด้วยเช่นกัน

วิทยุชุมชนเปิดได้เลยในช่วงรอมฎอน

เมื่อพูดถึงประเด็นการเปิดสถานีวิทยุชุมชนอีกครั้งนั้น เราจำเป็นจะต้องไปดูหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้วย เช่น เรื่องเสาอากาศ เครื่องส่งสัญญาณ เป็นต้น แต่ในช่วงเดือนรอมฎอนจะมีการอนุโลม เพราะรอมฎอนจะเกี่ยวกับศาสนาไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

สำหรับสถานีวิทยุใดที่ยังไม่สามารถเปิดได้ในขณะนี้ แต่มีเจ้าหน้าที่จัดรายการ มีคนฟัง ให้ส่งหนังสือประสานและขออนุญาตไปยังหน่วยเฉพาะกิจ (ฉก.) ในพื้นที่ ผมเชื่อว่าไม่มีใครปฏิเสธ แต่หลังจากช่วงเดือนรอมฎอนยังไม่สามารถเปิดต่อได้

ขอเพียงส่งหนังสือขออนุญาตให้เป็นไปตามระเบียบของราชการ เพื่อให้มีหลักฐานในการดำเนินการเท่านั้น เพราะการเปิดวิทยุในช่วงเดือนรอมฎอนทางเราสนับสนุนเต็มที่ หากต้องการทราบรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับหนังสือการขออนุญาต สามารถเข้าไปติดต่อยัง ฉก. ในพื้นที่ของท่านได้

จะพยายามไม่รบกวนประชาชนมาก

พ.อ.วัฒนา กล่าวประเด็นทิ้งท้ายว่า ขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายในเรื่องการเล่นประทัด เพื่อช่วยกันไม่ขาย ไม่ซื้อ ไม่เล่น เพื่อให้ทุกคนได้ปฏิบัติศาสนกิจอย่างเต็มที่

ประเด็นต่อมา คือ ทาง กอ.รมน.ภาค 4 สน.(กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า) จะลดระดับการปฏิบัติการให้น้อยที่สุด แต่จะเน้นการป้องกันมากขึ้น ในช่วงการเดินทางไปประกอบศาสนกิจจะลดการตรวจลง

สำหรับญาติพี่น้องที่มีหมายและต้องการกลับบ้านในช่วงเดือนรอมฎอน ทางเราจะไม่มีการจับกุม และประเด็นสุดท้าย ทางเราจะพยายามไม่จัดกิจกรรม ไม่จัดการสัมมนาในช่วงเดือนรอมฎอน จะมีก็แต่กิจกรรมเปิดปอซอ (ละศิลอด) แต่จะพยายามไม่รบกวนประชาชนมากนัก

ติดตามกิจกรรมเดือนรอมฎอนประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1436
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท