Skip to main content
sharethis


หล้า เมียด ทุน และนิตยสารของกลุ่ม

 

ความหลากหลายทางเพศที่เกิดขึ้นในโลกยุคปัจจุบันได้รับการยอม รับมากขึ้นในหลายประเทศ  สถานภาพของกลุ่ม LGBT หรือ กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เริ่มมีความโดดเด่นมากขึ้นในสังคม แม้กระทั่งในพม่าที่เพิ่งเปิดประเทศ  เริ่มมีการเคลื่อนไหวจากกลุ่ม LGBT ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

กลุ่ม Color Rainbow เป็นองค์กรที่คุ้มครองสิทธิของกลุ่ม LGBT ในพม่ามีเครือข่ายมากกว่า 20 เครือข่าย วัตถุประสงค์หลักของการตั้งกลุ่มคือสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเพื่อให้สังคมตระหนักถึงสิทธิของกลุ่ม LGBT การทำงานของกลุ่มจะเป็นการทำงานเชิงนโยบายโดยให้รัฐบาลตระหนักถึงสิทธิผ่านทางกฎหมาย

จุดเริ่มต้นของกลุ่ม Color Rainbow เดิมมีสำนักงานที่เชียงใหม่ แต่หลังจากที่พม่าเริ่มเปิดประเทศ จึงย้ายสำนักงานกลับมาที่เมืองย่างกุ้งในปี 2552

หล้า เมียด ทุน (Hla Myat Tun) ผู้ประสานงานขององค์กร Color Rainbow อธิบายความต้องการของกลุ่มคือผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายอาญาของพม่า มาตรา 377 ว่าด้วยเรื่องการร่วมเพศกับเพศเดียวกัน และร่วมเพศกับสัตว์ ต้องจำคุกถึง 10 ปี ทางกลุ่ม Color Rainbow ต้องการที่จะผลักดันให้เกิดการยกเลิกกฎหมายมาตรานี้

“เราทำกิจกรรมและรณรงค์กับกลุ่มคนรากหญ้าเพื่อให้ตระหนักถึงสิทธิของกลุ่มคนหลากลายทางเพศ โดยให้ความรู้กับกลุ่มคนรากหญ้าเพื่อที่จะเข้าใจถึงความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมและยอมรับความหลากหลายทางเพศที่เกิดขึ้นในสังคม” “ความท้าทายของ LGBT ในพม่า   ซึ่งมีความแตกต่างกับไทยมาก ในด้านการยอมรับต้องถือว่าไทยนั้นค่อนข้างจะยอมรับกลุ่ม LGBT มากกว่าที่พม่า เนื่องจากพม่ายังมีความเชื่อที่ว่าเพศชายเหนือกว่าเพศหญิง กลุ่มLGBT จะถูกตำหนิจากทั้งเพศชายและหญิง ว่าคือข้อผิดพลาดและเป็นกลุ่มชายขอบในสังคมพม่า  พวกเขาจึงต้องการผลักดันและให้กลุ่มคนที่เป็น LGBT ตระหนักถึงสิทธิของตนเอง  เพราะมองว่าถ้าสังคมยังถูกกดขี่ย่อมทำให้ไม่สามารถพัฒนาได้  เพียงแค่ความแตกต่างสังคมก็ยังไม่สามารถยอมรับได้ จึงเป็นการยากที่จะพัฒนาประเทศ”

“สังคมพม่ามีอคติในเรื่องเพศมาก เวลาที่เราออกไปข้างนอกก็จะโดนล้อ และพูดจาหยาบคายใส่  ยิ่งไปกว่านั้นก็ยังโดนครอบครอบครัวตัวเองกดขี่ เวลาไปโรงเรียนก็โดนกีดกันไม่ให้ทำกิจกรรมร่วมกับนักเรียนคนอื่นๆ และยิ่งไปกว่านั้นกลุ่ม LGBT  สามารถเลือกตั้งได้ แต่ไม่สามารถรับตำแหน่งทางการเมืองต่างๆได้ ซึ่งแตกต่างจากไทยที่สามารถรับตำแหน่งทางการเมืองได้ในบางตำแหน่ง”

“เวลาที่ออกไปข้างนอกตอนกลางคืนจะต้องระมัดระวังตำรวจและเจ้าหน้าที่เป็นพิเศษ หากถูกตั้งข้อสงสัยจากเจ้าหน้าที่ว่าเป็นกลุ่ม LGBT และไม่จำเป็นต้องมีหลักฐาน ก็อาจถูกจับกุมได้ เพราะเกรงว่ากลุ่มคนเหล่านี้มาขายบริการทางเพศหรือเป็นอาชญากร  หากถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ค้าบริการหรืออาชญากรจะต้องจำคุก เป็นระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้พวกเขาต้องระมัดระวังตัวเองเป็นพิเศษเวลาที่ออกไปไหนข้างนอกตั้งแต่ช่วงเวลาห้าทุ่มเป็นต้นไป”

เขาเล่าว่า มีความพยายามที่จะสร้างเครือข่ายด้วยการทำงานร่วมกับองค์กรอื่นๆ เพื่อต่อสู้ในเรื่องสิทธิต่างๆ ในประเทศ เช่น ทำงานร่วมกับกลุ่มนักศึกษาเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองและกลุ่มนักกฎหมายเพื่อร่วมผลักดันรัฐธรรมนูญปี 2551 เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาที่ดีขึ้น

การทำงานขององค์กร Color Rainbow  นอกจากจะทำงานเรื่องสิทธิของกลุ่ม LGBT เพียงองค์กรเดียวในพม่าแล้ว ยังทำงานร่วมองค์กร ASEAN SOGIE Caucus  ซึ่งเป็นองค์กรที่เคลื่อนไหวประเด็น LGBT ในระดับอาเซียน  และเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อประเด็นสิทธิของกลุ่ม LGBT ภายในประเทศออกไปสู่ต่างประเทศ

หล้า เมียด ทุน หยิบผลงานของกลุ่ม Color Rainbow ให้ชมโดยกล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “ทุกวันนี้กลุ่มของเราได้จัดทำนิตยสารของกลุ่มขึ้น  และรวบรวมบทความต่างๆจากกลุ่ม LGBT ในประเทศมาลง โดยยังคงปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพของงานที่ออกสู่สาธารณชนมากขึ้นเรื่อยๆ”

 

หมายเหตุ: งานนี้เป็นส่วนหนึ่งในบทสนทนาระหว่างกลุ่ม Color Rainbow กับกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) วันที่ 8 มิถุนายน 2558  ณ เมืองย่างกุ้ง  ประเทศพม่า


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net