สธ.เผยอาการผู้ป่วยโรคเมอร์สอาการดีขึ้น เชียงใหม่พบป่วยต้องสงสัยเพิ่ม

กระทรวงสาธารณสุข เผยอาการผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง ที่รับตัวไว้ดูแลในห้องแยกโรคสถาบันบำราศนราดูร แนวโน้มอาการดีขึ้น ที่เชียงใหม่พบป่วยต้องสงสัยติดไวรัสเมอร์สหลังเดินทางกลับจากเกาหลีรอผลตรวจพรุ่งนี้ ด้าน สพฉ. ออกแนวทางป้องกันตนเองสำหรับบุคลากรทางการแพทย์พร้อมรับเชื่อไวรัส ส่วนสุวรรณภูมิเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังโรคเมอร์ส
 
 
ภาพจากสำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
 
19 มิ.ย. 2558 สำนักสารนิเทศสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าวันนี้ (19 มิ.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ  รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะ แถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินการเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือเมอร์ส ว่าในวันนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังป้องกันให้ประชาชนปลอดภัย สถานการณ์ในประเทศขณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันโรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง 1 ราย ในวันนี้แนวโน้มอาการดีขึ้น ยังพักรักษาตัวในห้องแยกโรค ส่วนการติดตามผู้สัมผัสผู้ป่วยรายนี้ ได้นำผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยทุกคน รับไว้สังเกตอาการในพื้นที่ที่เตรียมไว้รองรับ ขณะนี้อยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร 3 คน เป็นญาติผู้ป่วย ส่วนผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่ำ ติดตามได้ทั้งหมด แนะนำให้แยกตัวเอง ลดการสังคมกับผู้อื่น และติดตามทางโทรศัพท์เป็นเวลา 14 วัน ส่วนข่าวลือที่ จ.เชียงใหม่ เป็นผู้เดินทางจากเกาหลี ผลการตรวจครั้งแรกเป็นลบ รอตรวจยืนยันอีกครั้ง
 
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค และสอบสวนโรค ดังนี้ 1.การเฝ้าระวังที่ช่องทางเข้า-ออกประเทศ ทางอากาศได้ประสาน 37 สายการบิน ประกาศเตือนผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ แจกเอกสารการปฏิบัติตัว เมื่อมีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูกให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันทีโดยเอกสารมี 3 ภาษาคือ อาหรับ อังกฤษและเกาหลี  ติดตั้งเครื่องวัดไข้อัตโนมัติ  กำหนดหลุมจอดเครื่องบินจากพื้นที่เสี่ยงเพื่อง่ายต่อการควบคุมโรค ส่วนช่องทางบก ทางเรือ ก็ดำเนินการคัดกรองด้วยเครื่องวัดไข้ และแจกเอกสารเช่นเดียวกัน 2.การเฝ้าระวังที่โรงพยาบาล ได้กำชับให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ ติดป้ายเตือนประชาชนและเจ้าหน้าที่ จัดจุดแจกหน้ากากอนามัยสำหรับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ จัดจุดตรวจรักษาแบบช่องทางด่วน แบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว ไม่ปะปนกับผู้ป่วยอื่นๆ
 
3.เมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการเข้าเกณฑ์ ต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยขณะนี้ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มี 14 แห่ง ในภูมิภาค และมีของมหาวิทยาลัย 4.การติดตามผู้สัมผัสโรค แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเสี่ยงสูง ต้องรับตัวไว้สังเกตอาการโดยเตรียมพื้นที่รองรับไว้แล้ว ส่วนกลุ่มเสี่ยงต่ำแนะนำให้แยกตัวอยู่บ้าน ลดการสังคมกับผู้อื่น และมีระบบติดตามทางโทรศัพท์ 14 วัน   
 
สำหรับประชาชน อย่าได้ตระหนก ใช้มาตรการ กินร้อน ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศที่มีการระบาด สำหรับประชาชนทั่วไป หากเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดขอให้อย่าคลุกคลีกับผู้ป่วยและหากกลับประเทศไทยภายใน 14 วัน หากมีอาการ ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ให้ไปพบแพทย์ทันที ความร่วมมือประชาชนจะทำให้ประเทศเราควบคุมโรคนี้ได้ หากมีข้อสงสัยข้อมูลเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
 
พบหนุ่มเชียงใหม่ เดินทางกลับจากเกาหลี ป่วยต้องสงสัยติดไวรัสเมอร์ส รอผลตรวจพรุ่งนี้
 
ด้านสำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานว่า ดร.ทพ.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวยอมรับว่า ในจังหวัดเชียงใหม่มีการตรวจสอบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสเมอร์สเป็นรายที่ 4 แล้ว โดย 3 รายก่อนหน้านี้มีผลเป็น negative สามารถกลับบ้านได้ แต่รายล่าสุดเป็นชายอายุกว่า 20 ปี ชาวเชียงใหม่ที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้พื้นที่ระบาดของโรคขณะนี้ มีอาการป่วยจึงมาพบแพทย์เมื่อวานนี้เพื่อรักษาอาการไข้ ปวดศีรษะ จึงต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบควบคุมโรคทันที แม้จะยังไม่ยืนยันว่าติดเชื้อ เพราะต้องรอผลทางห้องแลปปฏิบัติการที่ได้ส่งไปยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คาดว่า ผลน่าจะออกมาว่าใช่ไวรัสเมอร์สหรือไม่ค่ำนี้หรือเช้าพรุ่งนี้ ระหว่างนี้ก็ทำการเก็บข้อมูลผู้ใกล้ชิดและผู้สัมผัสกับผู้ป่วยต้องสงสัยรายนี้แล้วโดยเฉพาะผู้โดยสารบนเที่ยวบินเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการเพิ่มมาตรการคุมเข้มมากขึ้น ทั้งท่าอากาศยาน และโรงพยาบาลทุกแห่งรวมทั้งการทำหนังสือขอความร่วมมือร้านขายยา คลินิกต่าง ๆ ให้ช่วยคัดกรองผู้ป่วยระยะนี้เพื่อความไม่ประมาท
 
สพฉ. ออกแนวทางป้องกันตนเองสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมรับเชื่อไวรัสเมอร์ ย้ำต้องเตรียมมาตรการป้องกัน 
 
หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อ“โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง”  หรือ “โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2012”  หรือ ไวรัสเมอร์ส (MERS) เป็นคนแรกของประเทศไทย และอยู่ระหว่างการเฝ้าระวังผู้ต้องสงสัยอีก 59 ราย นั้น เบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาตราการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไว้ในขั้นสูงสุดแล้ว
 
ส่วนระบบการแพทย์ฉุกเฉินนั้น  นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทยุฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)  กล่าวว่า  ขณะนี้องค์การอนามัยโรคยังไม่ใช้คำเรียกว่า “โรคระบาด”  แต่จากการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วที่ประเทศเกาหลีใต้ ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วง โดย สพฉ. ได้เตรียมความพร้อมสำหรับผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินเช่นกัน  โดยได้ออกประกาศการทำงานเพื่อป้องกันตนเองของบุคลากรให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ คือ ก่อนเข้าทำการช่วยเหลือผู้ป่วยจะต้องพิจารณาถึงอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลของตนเองก่อนเสมอเพื่อความปลอดภัย โดยต้องมีอุปกรณ์ป้องกันที่ครบถ้วน ไม่ไปสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง  นอกจากนี้จะต้องทำการประเมินความปลอดภัย และสังเกตถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตนเองหรือผู้ป่วยด้วย
 
สำหรับแนวทางปฏิบัติงาน มีดังนี้  หากสัมผัสกับผู้ป่วยทุกรายโดยไม่ต้องมีการตรวจเลือดผู้ป่วยว่าติดเชื้อหรือไม่ จะต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้งทั้งก่อนและหลังสัมผัส  พยายามหลีกเลี่ยงการเกิดบาดแผลขณะทำงาน   การปฏิบัติงานจะต้องสวมถุงมือทุกครั้ง เพราะอาจจะมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคของผู้ป่วยได้  และ สวมเสื้อคลุมหรือแผ่นกันเปื้อนทุกครั้ง   สวมผ้าปิดจมูก ทุกครั้ง  นอกจากนี้ที่สำคัญห้ามใช้ปากดูดหรือเป่าในการกระทำงานใด ห้ามทำ mouth to mouth resuscitation  กับผู้ป่วยที่ไม่ทราบประวัติแน่นอน  อีกทั้งควรทำความสะอาดสถานที่และบริเวณที่ปนเปื้อนของผู้ป่วยทันทีด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทันที และเครื่องมือต่างๆ ควรใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งแต่ถ้ามีความจำเป็นต้องนำกลับมาใช้อีกก็ให้นำจะต้องนำไปอบฆ่าเชื้อให้ถูกต้อง  อย่างไรก็ตามได้ประสานให้ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงเตรียมพร้อมรับมือโดยใช้มาตรการสูงสุดแล้ว
 
ทั้งนี้ประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้ไวรัสเมอร์สเป็น  “โรคติดต่ออันตราย” ที่ต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2523  โดยที่ผ่านมามีการประกาศไปแล้ว 6 โรคด้วยกันคือ โรคอหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ ไข้เหลือง ไข้กาฬโรค โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) และโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ดังนั้นหากผู้ป่วยมีอาการ มีไข้หรืออาจไม่มีไข้, ไอ จาม มีเสมหะ , หายใจหอบลำบาก หากรุนแรงจะมีภาวะหายใจล้มเหลว,  ตรวจพบปอดอักเสบ, ถ่ายอุจจาระเหลวและไตวาย โดยหากใครฝ่าฝืนหรือปิดบังข้อมูล มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท 
 
 
สุวรรณภูมิเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังโรคเมอร์ส
 
ด้านสำนักข่าวไทยรายงานว่านายศิโรตม์ ดวงรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า วันนี้ (19 มิ.ย.) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสายการบิน เพื่อหารือถึงการเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสเมอร์ส
 
มีข้อสรุปว่า ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีการติดตั้งเครื่อง Thermoscan เพิ่มอีก 1 จุด บริเวณอาคารเทียบเครื่องบิน F ซึ่งดำเนินการตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีจุดคัดกรองผู้โดยสารด้วยเครื่อง Thermoscan ทั้งหมด 4 จุด ได้แก่ บริเวณเคาน์เตอร์ด่านควบคุมโรคติดต่อ อาคารเทียบเครื่องบิน E ก่อนทางเข้าจุดตรวจผู้โดยสารขาเข้า โซนตะวันออกและตะวันตก และบริเวณอาคารเทียบเครื่องบิน F และเพื่อให้การคัดกรองผู้โดยสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ด่านควบคุมโรคติดต่อฯ จะมีการปรับตั้งค่าเครื่อง Thermoscan ให้สามารถจับอุณหภูมิร่างกายได้ลดลงจากเดิม 37 องศา เป็น 36.5 องศา
 
นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการจัดหาเครื่อง Thermoscan เพิ่มอีก 3 เครื่อง และจะมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนจุดติดตั้งเครื่อง Thermoscan ให้ครอบคลุมในการตรวจคัดกรองผู้โดยสาร โดยมีการจัดหลุมจอดไว้รองรับเที่ยวบินที่เดินทางมาจากประเทศสุ่มเสี่ยง 7 ประเทศ (ประเทศแถบตะวันออกกลาง ได้แก่ ประเทศโอมาน การ์ตาร์ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิหร่าน จอร์แดน และประเทศแถบเอเชีย คือ ประเทศเกาหลีใต้) ไว้ที่หลุมจอดประชิดอาคาร E และ F เป็นการเฉพาะ
 
นายศิโรตม์ กล่าวเพิ่มเติม นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้วได้ให้ความสำคัญกับการดูแลทำความสะอาด โดยจะให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดทุกพื้นที่ที่มีการสัมผัสกับผู้โดยสาร อาทิ ห้องน้ำ เคาน์เตอร์เช็คอิน ตม. จุดให้บริการรถแท็กซี่ เป็นต้น มีการติดตั้งเจลล้างมือกระจายตามจุดต่าง ๆ ในอาคารผู้โดยสารกว่า 200 จุด และจัดเตรียมหน้ากากอนามัยไว้ที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์สำหรับแจกผู้โดยสารและผู้ปฏิบัติงานภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมทั้งขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่สายการบินที่มีเที่ยวบินเดินทางมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดให้ประกาศให้ผู้โดยสารทราบถึงมาตรการของ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและแจกเอกสาร Health Beware Card บนเครื่องบินด้วย หากพบผู้โดยสารที่มีอาการไข้ หรือต้องสงสัยว่าจะป่วยให้แจ้งไปยังด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทันที หมายเลขโทรศัพท์ 0 2134 0136-9

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท