‘บอย’ จากร่วม คปท.จนนาทีสุดท้าย-ไปหอศิลป์ไม่กี่นาทีกลายเป็น‘ทาสแม้ว’

หลังจากกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่นักศึกษาและประชาชน ร่วมรำลึก 1 ปี รัฐประหาร ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งบุคคลนอกเครื่องแบบเข้าสลายกิจกรรม พร้อมควบคุมตัวกว่า 30 คน ไปที่ สน.ปทุมวัน ข้ามคืน (อ่านรายละเอียด) รวมทั้งที่ขอนแก่น นักศึกษากลุ่มดาวดิน ที่ออกมาจัดกิจกรรม “คัดค้านรัฐประหาร” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น ถูกควบคุมตัวไว้ที่ สภอ.เมืองขอนแก่น พร้อมถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช.ที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง และได้รับการประกันตัวออกมาแล้ว ด้วยวงเงินคนละ 7,500 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 52,500 บาท โดยเงินดังกล่าวได้จากการระดมเงินกัน(อ่านรายละเอียด) นอกจากนี้ในช่วงสายของวันเดียวกันการจัดกิจกรรมเสวนา 1 ปี รัฐประหารของศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือ YPD ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งให้ยุติ พร้อมเชิญตัวผู้จัดและผู้ร่วมกิจกรรมไปที่ สน.ชนะสงคราม ก่อนปล่อยตัวในเวลาต่อมาโดยไม่ตั้งข้อหา (อ่านรายละเอียด)

ภาพบอย(คนกลาง)เหตุการณ์หน้าหอศิลป์ฯ วันที่ 22 พ.ค.58 ก่อนถูกจับในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊กก็มีการนำรูปของนักศึกษาและประชาชนผู้ร่วมกิจกรรมเหล่านั้นมาเผยแพร่ พร้อมระบุชื่อรวมทั้งเฟซบุ๊กของแต่ละคน เช่น เพจ ‘กบฏ 56 ต้านระบอบทักษิณ’ นอกจากนี้เพจสนับสนุนรัฐบาลทหารหลายเพจ เช่น ทหารปฏิรูปประเทศ เพจรวมมิตรการเมือง ฯลฯ ยังมีการกล่าวหาเพื่อทำลายความชอบธรรมว่าบุคคลเหล่านั้นรับจ้างมาป่วน เป็นควายแดง รับเงินทักษิณ รวมไปถึงการตัดต่อภาพข้อความที่บุคคลเหล่านั้นถือในกิจกรรมว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการล้มเจ้า เป็นต้น และล่าสุด  สน.ปทุมวันออกหมายเรียกเบื้องต้นอย่างน้อย 9 คนเข้าพบ 8 มิ.ย.นี้(ภายหลังมีการเลื่อนไปเป็นวันที่ 24 มิ.ย.นี้) หลังทำกิจกรรมดังกล่าวโดยตั้งข้อหาฐานร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ภาพที่บอยถูกเพจ‘กบฏ 56 ต้านระบอบทักษิณ’ เสียบประจาน พร้อม urlเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งปัจจุบันเพจดังกล่าวถูกระงับการเผยแพร่หลังถูกผู้ใช้เฟซบุ๊กรุมรีพอร์ต

ทั้งนี้ผู้ถูกควบคุมตัววันนั้นหน้าหอศิลป์ฯ ไม่ได้มีเพียงนักศึกษา แต่ยังมีประชาชนผู้ที่เรียนจบแล้ว รวมทั้งไม่ได้มีกลุ่มความคิดทางการเมืองฝั่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่มีความหลากหลายอยู่มาก ประชาไทจึงชวนมาพูดคุยถึงที่มาที่ไปของการเข้าไปร่วมกิจกรรมเหล่านั้นกับธัชพงศ์ แกดำ หรือ ‘บอย’ซุ้มเหมราช รามฯ กรรมการ YPD หนุ่มนักกิจกรรมวัย 30 ปี ซึ่งเป็น 1 ใน 9 คนที่ถูกหมายเรียกดังกล่าวด้วย เขาเป็นอดีตนักศึกษารัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง รามคำแหงแนวร่วมเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) ที่ร่วมชุมนุมจนกระทั่งเกิดรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เขาประเมินก่อนหน้าว่าจะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากประสบการณ์รัฐประหารปี 49 เขามองว่า “มันพอแล้ว” และถ้ามีอีกก็  “ไปไม่เป็นแน่นอน” ขณะนั้นได้ทะเลาะกับมิตรสหายหลายคนที่เป็นห่วง แต่แล้วก็เกิดขึ้นจนได้

ภาพ บอย บนเวที คปท. วันที 18 พ.ค.57 ที่มาภาพ Lek Leko

ประชาไท จึงชวนมาฟังความคิด ตัวตนของ ‘บอย’ และมุมมองต่อการรัฐประหาร และเหตุการณ์ที่หน้าหอศิลป์ฯ ในวันครบรอบ 1 ปี รัฐประหารที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาเป็นผู้ที่แข็งขันกับการขับไล่ระบอบทักษิณมาโดยตลอดตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯในปี 49 ปี 51 และกลุ่ม คปท. ปี 56-57

000000

นิยามของระบอบทักษิณคืออะไร?

รู้สึกว่ามันเป็นเครือข่ายของคุณทักษิณ ที่สร้างและฝังรากลึกในเมืองไทยมานาน เดิมทีคนไทยเคยถูกระบบอุปถัมภ์ ระบบข้าราชการมากดขี่ประชาชน แต่เมื่อทักษิณมาก็เปลี่ยนจากข้าราชการเป็นคนในเครือของระบอบทักษิณแทน จึงคิดว่ารูปแบบนี้น่ากลัวกว่าตัวทักษิณ และการต่อสู้ของพันธมิตรฯ รอบ 2 เป็นการต่อสู้กับระบอบทักษิณ อีกทั้งยังมีนอมินี่อยู่ มีเครือข่าย และมีหลายเรื่องที่รู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรม เช่น จากกรณีเรื่องฆ่าตัดตอน 2,500 ศพ จากนโยบายสงครามยาเสพติด การสลายการชุมนุมที่ตากใบ กรือเซะ ล้วนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจของระบอบทักษิณ เป็นเรื่องที่ต้องเคลียร์ รวมไปถึงเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เรื่องการซุกหุ้น การขายหุ้น จึงได้ไปร่วมชุมนุมพันธมิตรฯ ครั้งที่ 2

แต่จุดที่พีคที่สุดที่ทำให้ผมต้องกลับมาเรียนมหาวิทยาลัย คือ เหตุการณ์วันที่ 7 ตุลา 51 จากการปะทะกันระหว่างพันธมิตรกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ครั้งนั้นทำให้รู้สึกถึงการสูญเสีย เห็นพี่น้องพันธมิตรถูกกระทำ เกิดคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำของรัฐ ตอนนั้นพยายามเข้าไปช่วยผู้ที่อยู่ตรงจุดปะทะ แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปได้เนื่องจากตำรวจยิงแก๊สน้ำตาสกัดตลอด จึงขับมอเตอร์ไซค์ไปทั่วสนามหลวงเพื่อตะโกนบอกว่า “ตำรวจทำร้ายประชาชน!”

จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้รู้สึกถึงความเจ็บปวดและคิดว่าควรกลับไปเรียนต่อดีกว่า หลังจากเหตุการณ์นั้นก็ไปเรียนและไม่ค่อยเข้าไปยุ่งกับเหตุการณ์ทางการเมือง

อยู่รามฯ เรียนและทำกิจกรรมซุ้มราม-ลาดยาว บวกกับหาหนังสือที่ห้องสมุดรามคำแหง และได้หนังสือมา 3 เล่ม คือ เช เกบารา สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง และ ฮูโก ชาเวซ ได้เอามาอ่านและนำเรื่องการจัดการความขัดแย้งของสรรนิพนธ์เหมาฯ มาใช้ที่ซุ้มราม-ลาดยาว และได้คุยกับน้องๆในซุ้ม จึงได้ซุ้มใหม่ขึ้นมาชื่อว่า “ซุ้มเหมราช-รามคำแหง” ซึ่งมาจากการโหวตชื่อโดยสมาชิกในซุ้มจึงโหวตได้ชื่อนี้ที่เป็นสัตว์ในวรรณคดีเป็นการรวมตัวกันระหว่างหงส์กับสิงห์ เปรียบเหมือนชายหนุ่มหญิงสาวมารวมตัวกัน เน้นกิจกรรมเพื่อสังคมมากขึ้น

ขณะนั้นมองว่าการจะทำกิจกรรมของนักศึกษาถ้าไม่มี ‘จิตสาธารณะ’ นั้นก็ทำไม่ได้จริงๆ จึงเป็นพื้นฐานแรกในการทำกิจกรรม จึงพยายามพาน้องในซุ้มไปทำกิจกรรมเพื่อสังคม ออกค่ายอาสา รวมทั้งมีกิจกรรมร่วมกับกลุ่มกิจกรรม 4 มหาวิทยาลัย คือ คือ ม.บูรพา เป็นกลุ่มลูกชาวบ้าน ม.เกษตรฯ เป็นกลุ่มเสรีนนทรี ของธรรมศาสตร์เป็นกลุ่มสะพานสูง และรามก็เป็นราม เหมราช ซึ่งได้เจอกันในการชุมนุมของกลุ่มชาวนา

เราร่วมกิจกรรมกับชาวนา และกลุ่มแรงงาน โดยเฉพาะวันกรรมกรสากลก็จะไปร่วมโดยการทำหุ่นล้อเลียนการเมืองทุกรัฐบาล ไปร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และกลุ่มสมานฉันท์แรงงานไทย

เหตุที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มชาวนาและกรรมกรเพราะอะไร?

ผมเชื่อในเรื่องของ 3 ประสาน ระหว่างนักศึกษา ชาวนาและแรงงาน ที่ต้องทำงานประสานกัน ผมรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่อย่างพวกเราควรที่จะสนใจกิจกรรมของชาวนา อย่างน้อยพวกเราทุกคนก็เป็นลูกหลานชาวนา ชาวสวน เด็กต่างจังหวัดก็คลุกคลีอยู่กับเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่ พอมาเรียนในเมืองหลวงสุดท้ายก็หนีไม่พ้นการไปทำงานในโรงงานหรือไปรับจ้าง จึงคิดว่าคนรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้ที่จะทำงานเชื่อมประสานระหว่างชาวนาและแรงงาน อย่างน้อยความเป็นปัญญาชนก็ควรเอาสิ่งใหม่ไปช่วยพวกพ่อแม่พี่น้องเกษตรกรและกรรมกรด้วย

ภาพบอย(คนที่2จากขวา)ปฏิบัติการหน้าศาลฎีกา หนุนชาวบ้าน คดีที่ดินลำพูน เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.55 เพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่า "คนจนถูกกระทำเช่นไร?" 

แล้วสังคมในอุดมคติของคุณคืออะไร?

สังคมในอุดมคติของผม คือ สังคมที่เป็นธรรม มีความเป็นธรรมในทุกเรื่อง ทั้งทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ เนื่องจากครอบครัวเป็นเป็นครอบครัวคนจน และเราไม่เคยมีบ้านเป็นของตัวเอง ไม่เคยมีที่ดินเป็นของตัวเอง การที่เราจะซื้อบ้านซื้อที่ดินยังไม่มีความสามารถเลย ซึ่งเหตุเหล่านี้ไม่ใช่เป็นปัญหาเรื่องความขยันความสามารถของปัจเจก แต่มองว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ครอบครัวคนจนหาเช้ากินค่ำไม่สามารถซื้อที่ดินหรือบ้านได้ ต่อให้ซื้อได้ก็ยาก เพราะมันจะติดเงื่อนไขต่างๆ

คนรวยมักบอกว่าคนจนไม่ขยันจึงไม่มีเงิน แต่เพราะคนรวยเขามีต้นทุนอยู่แล้ว จะซื้อบ้าน ซื้อที่กี่หลักก็ได้ แต่คนจนที่ไม่มีต้นทุนทางสังคมเลย ไม่มีบ้านเป็นของตัวเองไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง มันยากกับการที่จะซื้อรถซื้อบ้านสักหลัง

ผมได้มีโอกาสขึ้นเวทีปราศรัยครั้งแรก คือ เวทีชาวนา ที่หน้ากรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประเด็นปัญหาหนี้สินเกษตรกร ผมรับหน้าที่ในการวิ่งซื้อทุกอย่างที่รถเครื่องเสียงขาด ชาวนาทำนา มีทั้งค่าปุ๋ยค่ายา บางปีได้ผลิตผลไม่ดีก็ต้องกู้ยืมเงินเพื่อใช้จ่ายในการทำนาครั้งต่อไป แต่กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ ธนาคาร อย่าง ธกส. ที่ตั้งมาช่วยเหลือชาวนา ให้เงินกู้ยืมกับชาวนาสุดท้ายกลับไม่ได้ช่วยเหลือตามวัตถุประสงค์กลับเอาชาวนามาเป็นเครื่องมืออีกทีต่างหาก จึงเป็นเหตุผลที่ชาวนาลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรม

ขณะนั้นที่ไปร่วมชุมนุมกับชาวนานั้นตอนแรกทำหน้าที่เป็นคนไปช่วยขับรถจักรยานยนต์เพื่อชื่อของให้เวที และเมื่อเวทีพยายามยกระดับการต่อสู้เพื่อให้รัฐเข้ามาเจรจากับชาวนา ตนจึงได้ขึ้นเวทีซึ่งยังพูดไม่เป็น แต่รู้สึกถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์จากคนจนด้วยกัน ความเป็นนักศึกษาของเรามันมีคุณค่า เพราะได้รับการยอมรับเหมือนลูก เหมือนหลานและเป็นกำลังใจให้ผู้ชุมนุมคนเฒ่าคนแก่ ความรู้สึกแบบนี้ก็อยากให้น้องๆ ที่อยู่ในกลุ่มมาร่วมสัมผัสกับบรรยากาศแบบนี้บ้าง จึงได้ปฏิญาณตัวเองว่าจะต้องเคียงข้างพี่น้องชาวนารวมทั้งคนงาน ที่สุดท้ายจะไม่ได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับม็อบการเมืองใหญ่ๆเลย ข่าวก็ไม่ค่อยออกเหมือนม็อบการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม ทั้งๆ ที่ ”แรงงานสร้างโลกโสภา ชาวนาปลูกข้าวเลี้ยงคนทั้งโลก”

ภาพปฏิบัติการตามหาบิลลี่: บอยร่วมเรียกร้องความรับผิดชอบต่อกรณีอุ้มหายบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ

 

จากการคุยกันของกลุ่มกิจกรรมนักศึกษา 4 มหาวิทยาลัยดังกล่าว แล้วตั้งเป็นแนวร่วมคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบได้อย่างไร?

ตอนที่เจอกัน 4 กลุ่มนั้นก็มาคุยกันเพื่อที่จะทำงานร่วมกันเพราะแต่ละมหาวิทยาลัยมีภาวะที่แตกต่างกัน และมีเรื่องของ ม.นอกระบบ เป็นเรื่องที่สามารถพาทั้ง 4 กลุ่มมาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยกันได้มากที่สุด

ทำไมถึงคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ?

จากประสบการณที่ตัวเองประสบ หลังจบ ม.6 แล้วได้โควตาของราชภัฎแต่ก็ไม่สามารถเข้าได้จากการคำนวนค่าเทอมค่าใช้จ่ายครอบครัวแล้วไม่สามารถเรียนได้ จึงได้แค่ปลอบใจตัวเองมาเรียนที่รามฯ ทั้งที่ตัวเองแม้จะอยากเป็น ผู้พิพากษา แต่ลึกๆ อยากเรียนศิลปะ อยากเป็นนักวาดภาพ เพราะ ตนมีความพรสวรรค์ด้านนี้มาก แต่ก็ไม่สามารถเรียนได้

ดังนั้นการที่คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เพราะ ไม่มีหลักประกันว่าค่าเทอมจะไม่แพงขึ้น แค่ในระบบเดิมก็เพิ่มขึ้นทุกเทอมแต่ก็ยังพอมีเพดานค่าเทอมที่ควบคุมได้ ซึ่งการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบไม่มีหลักประกันว่าลูกคนจนจะมีโอกาสได้เรียนระดับมหาวิทยาลัยเลย เราจึงคิดว่า การศึกษาไทยควรทำให้เป็นรัฐสวัสดิการ แต่การนำมหาวิทยาลัยรัฐออกนอกระบบเป็นความต้องการของผู้บริหารมากกว่าความต้องการของสังคม แม้หลายมหาวิทยาลัยจะอ้างเรื่องการพัฒนาและความคล้องตัวก็ตาม แต่มันก็แค่บางมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมเท่านั้น ถึงอย่างไรจะออกนอกระบบ หรือ ไม่ออก ก็ควรต้องถามประชาชนผู้เสียภาษีด้วย

ดังนั้นเมื่อนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบก็เท่ากับว่าเรากำลังเลือกว่าจะให้ชนชั้นกลางเท่านั้นที่จะเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา

แล้วไปร่วมกับเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ได้อย่างไร?

คปท. ต้องเท้าความว่าเขาค่อนข้างมีตัวตนและมีความเป็นอิสระและตอนนั้น คปท.ชัดเจนที่ไม่ได้ไล่ระบอบทักษิณอย่างเดียว แต่มีข้อเสนอว่าต้อง “ปฏิรูปประเทศ”ก่อนเวทีไหนๆ ซึ่ง คปท. นั้นชัดมากที่โค่นล้มระบอบทักษิณและเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย

จากการที่เห็นนักศึกษา นักวิชาการ ภาคประชาชนและเอ็นจีโอในการขึ้นเวที คปท. จึงมองว่า คปท. มีความเป็นตัวของตัวเอง และผู้ชุมนุมที่ คปท. ก็มีความหลากหลาย ทั้งชนชั้นและ ไปทุกเวที รวมทั้งผู้ชุมนุมบางคนก็ไม่เห็นด้วยกับ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็มาชุมนุมกับ คปท. หรือไม่เห็นด้วยกับประชาธิปัตย์ก็มาชุมนุมกับ คปท. จึงมีความหลากหลาย บางคนเป็นนักปฏิวัติจริงๆที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม อยากเห็นประชาชนเข้าไปกำหนดเองได้

ข้อเรียกร้องของ คปท. ตั้งแต่ต้นจนยุติการชุมนุมจากการรัฐประหาร มีอะไรที่เป็นจุดร่วมที่ทำให้การชุมนุมยังอยู่ได้?

น่าจะเป็นเรื่องของข้อเสนอในการปฏิรูปประเทศ ขณะนั้น คปท. เสนอโมเดลการปฏิรูปหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดิน เรื่องการศึกษา เรื่องพลังงาน โดยเฉพาะเรื่องพลังงานนั้นเป็นเรื่องที่เวทีคปท.กล้าพูด ในขณะที่บางเวที ไม่กล้าพูดได้เต็มปากเต็มคำ

คปท.กล้าพูดว่าไม่ต้องการรัฐประหาร แต่ต้องการปฏิวัติโดยประชาชน กล้าพูดว่าทหารไม่ต้องออกมา เดี๋ยวประชาชนทำเอง

แต่ช่วงเวลานั้นวาระและการเคลื่อนไหวของ คปท. ก็ถูกกลบโดย กปปส. หมด จนถูกกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของ กปปส.ไป เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วได้ประเมินสถานการณ์ขณะนั้นหรือไม่?

ถ้าจะมองแบบนั้นก็ได้ อย่างพวกเรามวลชน เรารู้ว่าเราไม่สามารถส่งเสียงดังได้เท่ากับเวทีใหญ่ กปปส. แต่สิ่งสำคัญเวที คปท. ก็พยายามรักษาความเป็นตัวตนของตัวเองไว้ ช่วงการชุมนุมที่ผ่านมาก็มีหลายอย่างที่แนวทางของ คปท.กับ กปปส. ไปไม่ตรงกัน เหมือนมีภาพข่าวว่าจะขัดแย้งกันด้วยซ้ำไป(ผมพูดตามภาพข่าวที่ปรากฏ) จึงเป็นจุดเด่นที่มวลชนอย่างพวกผมพร้อมที่จะลุยไปกับพ่อแม่พี่น้อง คปท.

เราไม่เห็นด้วยทุกอย่างกับ กปปส. ทางออกของ คปท. คือ?

ผมไม่สามารถตอบแทน คปท.ได้ แต่ส่วนตัวผมตอนนั้นไม่เห็นด้วย กับ กปปส.โดยเฉพาะช่วงหลังๆ ที่สำคัญ ต้องยอมรับว่า แนวทาง คปท.ไม่เคยปิดหน่วยเลือกตั้ง พูดบนเวทีว่าใครอยากเลือกตั้งก็ไป แต่ คปท.จะไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

คปท.อธิบายในเชิงว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ตอบโจทย์ มองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ ของรัฐบาลที่ผิดพลาดในเรื่องพรบ.นิรโทษกรรมจึงต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

อีกอย่าง สาเหตุแรกที่เข้าร่วมคือ คัดค้าน พรบ.นิรโทษกรรม ที่ทำให้ตัดสินใจขึ้นเวทีได้อย่างเต็มที่

มองว่าตอนนั้นวิกฤติการเมืองไทยถึงที่สุด รัฐสภาล้มเหลว รัฐบาลบริหารไม่ได้เพราะพรบ.นิรโทษกรรมทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งการปะทะกันก่อนยุบสภาฯ  ดังนั้นจึงช้าไปแล้ว จึงต้องเกิดการปฏิรูปประเทศ 

ตอนนั้นมีความเชื่อว่าปฏิรูปโดยทุกฝ่ายมาร่วมมือกัน อาจจะมีรัฐบาลแห่งชาติก็ได้ อาจจะเพ้อฝันไปก็ได้แต่มีความรู้สึกว่าทุกผ่ายต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะมวลชนไม่ว่าจะมวลชนแดงหรือมวลชนเหลือง เพราะมองว่ามวลชนมีความบริสุทธิ์ เป็นคนที่สามารถ “นอนอยู่บ้านเฉยๆก็ได้” แต่เขาพร้อมที่จะออกมาบนถนน รู้สึกว่ามวลชนทั้งสองฝ่ายถึงที่สุดต้องร่วมกัน 

มองเหมือนกันว่าปัญหาของพรบ.นิรโทษกรรมเกิดจากการไม่มีประชาธิปไตยในพรรคการเมือง เมื่อพรรคการเมืองไม่มีประชาธิปไตย สุดท้ายตัวแทนที่เลือกจึงไม่ได้ทำหน้าที่อย่างอิสระ ไม่สามารถตอบสนองเราได้จริงๆ ไม่ใช่แค่เพื่อไทยแต่เป็นทุกพรรค เพราะงั้นถ้าไม่แก้ไข เลือกตั้งไปก็เข้าสู่วงจรเดิม นี่คือสิ่งที่คปท.กังวลกันจริงๆ  ว่านักการเมืองเป็นคนกำหนดแล้วเอามาให้เรา (ประชาชน) เลือก นักการเมืองไม่เคยให้ประชาชนเข้าไปกำหนดนโยบาย อ้างว่าเป็นตัวแทนของภาคประชาชน

โมเดลของผมคือ นักการเมืองต้องเอาความต้องการ ข้อเรียกร้องของประชาชน ออกมาผลิตเป็นนโยบาย โยนกลับมาให้ประชาชนเป็นผู้เลือกอีกที โดยกรอบการเลือกจะอยู่บนความต้องการของประชาชน แต่ปัจจุบันนักการเมืองเป็นผู้กำหนดนโยบาย เวลากำหนดเสร็จไม่เคยถามเรา เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งก็ “เดินมาเคาะประตูบ้านแล้วถามเราว่าจะเลือกอันไหน” 

ผมต้องการการปฏิรูปประเทศ ประชาชนซึ่งเป็นผู้ผลิตเป็นผู้กำหนดกรอบ นักการเมืองเอากรอบนี้ และไปผลิตเป็นนโยบาย และเลือกตั้งเพื่อแข่งขันกันว่ากรอบของใครจะแก้ปัญหา ตอบสนองกรอบนี้ได้ดีที่สุด แต่ ณ วันนี้ที่เป็นอยู่มันไม่ใช่  ผมจึงมองว่าสุดท้ายพรรคการเมืองก็รับใช้นายทุน ข้าราชการ ส่วนภาคประชาชนก็มีตัวเลือกไม่กี่ตัว

การเลือกตั้ง 2 กุมภาไม่ตอบโจทย์?

ตอนนั้นผมชื่นชมคปท. แม้ว่าคปท.จะปฏิเสธการเลือกตั้งแต่เขาก็ยังเคารพความเป็นประชาธิปไตยด้วยการไม่ไปขัดขวางหน่วยเลือกตั้งใดๆ ต้องชื่นชมเหล่า คปท. นักเคลื่อนไหว เอ็นจีโอ ภาคประชาชนทั้งหลายที่เวที ที่คุยกันแบบนี้จริงๆ “ใครอยากไปก็ไป แต่เราจะไม่ไป”  ซึ่งผมคิดว่า คปท.คงมีการสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์รุนแรง ที่สนามกีฬา ไทย-ญิปุ่นดินแดงสมควร

ในวันเลือกตั้งเราก็ “ออกมาปิคนิคกันของเราตามท้องถนน ร้องเพลงจัดกิจกรรมให้พ่อแม่พี่น้องเรา”

อยู่กับ คปท. ถึงวันที่ 22 พ.ค. 57 ใช่มั้ย?

ก่อนหน้าวันที่ 22 ผมนี่ทะเลาะกับเพื่อนหลายคนมาก ว่ายังไงก็ไม่เกิดรัฐประหาร เหตุที่ตอนนั้นเชื่อว่าไม่เกิดเพราะคิดว่า “มันพอแล้ว” ปี 49 ก็พอแล้ว ประกาศกฎอัยการศึกก็พอแล้ว ถ้ามีรัฐประหาร “ไปไม่เป็นแน่นอน” ทำให้ทะเลาะกับมิตรสหายหลายคนมาก

ตอนที่อยู่ที่เวที คปท. ผมใช้ hatespeech เพราะพ่อแม่พี่น้อง คปท. ถูกยิงทุกคืน โดยเฉพาะพี่วสันต์ คำวงศ์ การ์ด คปท. ถูกยิงที่หัวบนรถเครื่องเสียงนอนตายคาตักผม เป็นครั้งในชีวิตของผมที่เห็นความตายต่อหน้าต่อตา ผมรู้สึกเจ็บปวด สูญเสีย ร้องไห้ทั้งวัน ด้วยความรู้สึกว่าทำไมต้องทำกันขนาดนี้ ซึ่งเราเองก็ไม่รู้ว่ากลุ่มคนไม่ทราบฝ่ายนี้เป็นใคร ใครเป็นคนทำ ซึ่งความรุนแรงการสูญเสียทำให้ผมยอมรับว่าควบคุมตัวเองไม่อยู่ ผม Hatespeech หลายเรื่องมาก และพ่อแม่พี่น้องก็เจ็บปวดเหนื่อยล้า

จนวันที่ 22 พ.ค. จำได้ว่าวันนั้นขับรถมอเตอร์ไซค์ไปหาน้องที่ ม.เกษตร คุยกันว่าเราต้องทำอะไรซักอย่าง คุยกันว่าต้องเขียนป้ายต่อต้านรัฐประหาร แต่ต้องกลับมาก่อนเพราะ คนที่เวทีโทรมา "ให้บอยรีบมา ด่วน ตอนนี้ทหารยึดพื้นที่เวทีคปท. หมดแล้ว" ผมรีบขี่มอเตอร์ไซค์กลับมาทันที

พอไปถึง "ใจมันสลายนะ เพราะเราอยู่กับพ่อแม่พี่น้อง คปท. มา 7 เดือน ร่วมเป็นร่วมตายกันมา แต่ไม่ได้ร่ำลาซักคำ" พอทหารมาเหมือนผึ้งแตกรัง ไปกันคนละทิศละทาง  บางคนก็ยืนด่าทหารว่าจะถือปืนมาทำไม พอวันต่อมาต้องเข้าไปเคลียร์พื้นที่ มันหดหู่ มันหมดไปเลย

มวลชน คปท. ก็มีหลากหลาย ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการรัฐประหาร คปท. ก็ไม่เคยประกาศบนเวทีว่าต้องการรัฐประหาร  พอมีรัฐประหารเหมือนได้หยุดพักหายใจ แต่จะไม่หยุดในการปฏิรูปประเทศไทย ไม่หยุดตรวจสอบรัฐบาลไม่ว่าจะรัฐบาลไหน ตอนนั้นมวลมหาประชาชน กปปส. รวมถึง คปท. เองมีอำนาจในการตรวจสอบรัฐบาล ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนๆ ทั้งประชาธิปัตย์เองด้วย แต่พอเจอรัฐประหาร ทุกคนเหมือนได้หยุด ถ้าไม่มีรัฐประหาร ในด้านหนึ่งก็ไม่รู้ว่าจะต้องตายอีกกี่ศพ แต่ถ้าถามว่าทำไมไม่หยุดชุมนุม ก็ไม่สามารถทำได้ง่ายแบบนั้น เพราะทุกคนร่วมเป็นร่วมตายมา 7 เดือนแล้ว หมดเงิน ตกงาน สูญเสีย ถ้าให้พูดบนเวทีว่าเลิก กลับบ้าน ก็ทำไม่ได้

ทำไมวันที่ 22 ที่ผ่านมา 1 ปีแล้ว ทำไมถึงได้จัดเสวนา ถึงไปร่วมที่หน้าหอศิลป์?

หลังจากรัฐประหาร หลักการของ YPD คือไม่เอารัฐประหารอยู่แล้ว  ส่วนตัวผมวันนั้นถ้าไม่กลับมาที่เวที คปท. ก่อน ก็ต้องไปกับ YPD เพื่อจะถือป้ายต่อต้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

พอมีรัฐประหาร YPD ก็ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารอยู่แล้ว  แต่ส่วนตัวคิดว่า การมีรัฐประหารทำให้มวลมหาประชาชนได้หยุดพักหายใจ ไม่ตายเพิ่ม แต่ส่วนตัวไม่ไว้ใจ คสช. จึงต้องทำหน้าที่ตรวจสอบว่าปฏิรูปจริงอย่างที่พูด กับทุกคนที่เคยออกมาชุมนุมรึเปล่า

จนผ่านมา 1 ปี ผมรู้สึกว่า “การปฏิรูปไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน” และ เรื่องของสิทธิชุมชน การศึกษา เสรีภาพมันมีปัญหาจริงๆ โดยเฉพาะสิทธิชุมชน อย่างเหตุการณ์ที่ คสช.ใช้คำสั่งที่ 64/2557, 66/2557 ไล่ที่ชาวบ้านที่บุกรุกป่าสงวน ล่าสุดนี้คือ การตัดโค่นล้มต้นยางพาราของชาวบ้าน โดยไม่มีการแยกแยะว่าตรงไหนเป็นนายทุน ตรงไหนเป็นพื้นที่ชุมชนที่เขาอยู่มานานแล้ว คสช. กลับไปไล่ที่ชาวบ้าน แต่ทำอะไรนายทุนไม่ได้ ยกตัวอย่าง ชาวบ้านมีแค่จอบกับมีดในป่าสงวน อยู่มานาน แต่ทางการของรัฐไปประกาศว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวน ไล่ที่ที่เขาอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ทำให้เขาไม่สามารถออกไปทำมาหากินอะไรได้ และเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ จับขังทันทีไม่รอลงอาญา  แต่ที่โบนันซ่าได้แค่ตรวจสอบหลักฐานข้อมูล ไม่สามารถเอาผิดชี้ผิดได้ กับชาวบ้านไม่ต้องเอาหลักฐานมายื่น จับได้ทันที ซึ่ง1ปีที่ผ่านมาคสช.มีการละเมิดสิทธิชุมชนมากที่สุด อย่างชาวบ้านที่นามูล ที่ผมรู้สึกว่าถ้าชาวบ้านไม่ออกมาเรียกร้อง สิ่งที่นายทุนกระทำกับชาวบ้าน จะมีใครไปไปสนใจไหม

พูดถึงเรื่องการศึกษา เอาการศึกษาออกนอกระบบพร้อมกันทีเดียว 4-5 มหาวิทยาลัย ในสภาวะปรกติทำไม่ได้ แต่ในยุคนี้ทำได้  ผมถึงบอกว่ามันเป็นความอึดอัดที่สะสมมาตลอด “อย่างชาวบ้านออกมาเรียกร้องสิทธิ เดินแค่ไม่กี่ก้าวเจ้าหน้าที่รัฐก็จับละ”  ผมเลยรู้สึกว่า แล้วรัฐจะออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายออกมาช่วยกันปฏิรูปประเทศได้อย่างไร  แล้วที่สำคัญที่สุด  1ปีที่ผ่านมา คสช.มีเวทีรับฟังความคิดเห็นมากกว่า 50 เวที แต่เสียงที่ไปร่วมนำเสนอให้กับเวทีเหล่านั้นเป็นเพียงข้อมูลทางวิชาการเล่มโตเท่านั้นเอง บางเวทีก็แค่ส่วนประกอบ ไม่ได้ถูกนำมาบรรจุหรือใช้ในรัฐธรรมนูญจริงๆ ที่สำคัญ เวทีรับฟังความเห็นที่เป็นพื้นที่ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐยังมีน้อยมาก  จนรู้สึกว่า “แล้วเขาเอาประชาชนกลุ่มนี้ไปไว้ไหน” น้อยจนรู้สึกว่าถ้าเขาไม่ออกมาเคลื่อนไหว ไม่ออกมาเดินชุมนุมบนท้องถนน เขาก็ไม่รับฟัง

ภาพบอย ถูกเชิญตัวไป สน.ชนะสงคราม พร้อมคณะ หลังพยายามจัดเสวนา 22-22 สิทธิชุมชน เสรีภาพ การศึกษา 

แล้วสิ่งที่ไปเจอหน้าหอศิลป์ และสน.ปทุมวันคืออะไรบ้าง?

เท้าความถึงเหตุการณ์เสวนา 22-22 สิทธิชุมชน เสรีภาพ การศึกษา ที่อนุสรณ์สถาน14ตุลา ที่จะจัดงานแล้วก็ไม่ได้จัดโดยถูกอ้างเรื่องมาตรา44  พอเราถูกปล่อยตัวที่อนุสรณ์สถาน14ตุลา ก็เลยคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า คนที่ทำให้เราผิด คือคำสั่งคสช.ต่างหาก เพราะเราขออนุญาตใช้ห้องประชุมแล้ว แล้วก็จัดในห้องประชุม แต่อยู่ดีๆเจ้าหน้าที่ก็มาล็อคห้องประชุมไม่ให้พวกเราเข้า ไล่เจ้าหน้าที่ที่อนุสรณ์สถานกลับหมดเลย ก็เลยต้องมาจัดบนท้องถนน ซึ่งจริงๆความมั่นคงควรมาฟัง เพราะพูดทั้งข้อดีและข้อเสีย ไม่ใช่มาปิดการจัดเสวนาโดยไม่รู้ว่าจะพูดเรื่องอะไร  เราเองก็มีความรับผิดชอบของเรา ถ้าเวทีที่เราจัดไปวิพากษ์วิจารณ์จนคสช.รับไม่ได้แล้วจะจับเรา ก็รับได้  แต่นี่ยังไม่ทันจัดเลยก็ปิดเราไปแล้ว สุดท้ายก็ออกมาจัดข้างนอก ซึ่งเขาบอกว่าขัดมาตรา44 ซึ่งย้อนกลับไปว่าเหตุผลที่ต้องออกมาจัดข้างนอกเพราะเจ้าหน้าที่มาปิดล็อคห้องประชุม พอถูกปล่อยตัวที่สน.ชนะสงคราม ก็ไปแวะกินข้าวกินน้ำ สรุปเหตุการณ์ว่าทำไมถึงไม่ได้จัด ทั้งๆที่เราพูดทั้งข้อดีข้อเสีย ถ้าใจกว้างพอก็ควรที่จะมารับฟัง แต่ปรากฎว่าเขาจับเรา ก็เลยกะว่า มีข่าวว่าน้องไปทำกิจกรรมกัน มีการทำศิลปะ performance art ที่หน้าหอศิลป์  ผมก็เลยจะไปแวะลงตรงนั้น เพราะเป็นทางผ่านนั่งเรือกลับไปรามคำแหง

พอลงจากรถเราก็ไปยืนตรงริมรั้วสีเหลืองที่กั้นไว้ ตอนนั้นไม่เห็นใครเลยเห็นแต่นักข่าวอยู่ในรั้วเยอะมาก ไม่ถึง 1 นาทีก็มีตำรวจมาหาเราเต็มไปหมด แล้วก็นักข่าวด้วย  เราก็ปฏิเสธว่าเราไม่ใช่คนจัด แค่เพิ่งลงจากรถมายืนสูบบุหรี่ เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่าถ้าไม่ใช่คนจัดก็อย่ามายืนตรงนี้ เราตอนนั้นซึ่งมีน้องคนหนึ่งเป็นทนายอยู่ด้วย พอตำรวจมาบอกถ้าไม่เกี่ยวข้องก็ไปที่อื่น เราก็รู้สึกว่า ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้อง เราไม่มีสิทธิยืนตรงนั้นเหรอ เพราะตรงนั้นเป็นทางผ่าน ตรงบริเวณทางลงบันได ทุกคนต้องเดินลงบันไดตรงนั้นอยู่แล้ว วินมอเตอร์ไซค์ รถเข็นของขายก็อยู่ตรงนั้น  เราแค่ยืนเกาะรั้วรอดูว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วตำรวจก็เดินมา ตอนแรกบอกขอเจรจาหน่อย เราก็บอกไปว่าเราไม่รู้เรื่อง เราไม่ใช่คนจัด  ก็ไล่เรา น้องผู้หญิงที่เป็นทนายที่อยู่ด้วยก็เลยไม่พอใจ ซักพักตำรวจพาน้อง

เดินไป นักข่าวก็มุงล้อมตามไป ไม่รู้ว่าพาไปคุยอะไร เราก็เลยต้องอยู่รอให้น้องเราออกมา ในขณะที่อยู่รอก็เริ่มมีกิจกรรมขึ้นตอน 6 โมง แค่ออกมายืนมองนาฬิกาของตัวเอง  ก็เลยทำกิจกรรมร่วมไปด้วย ไม่ได้เสียหายอะไร อยู่ดีๆเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เปิดกรงล้อมออกมา กระชากลากน้องเข้าไปข้างใน จึงเริ่มเกิดเหตุชุลมุน

คำถามคือถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจคุยกับเราดีๆเหมือนที่อนุสรณ์สถาน14ตุลา ความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้น แต่ที่หอศิลป์เขาไม่ได้เจรจาพูดคุยกับคนที่จัดงาน อยู่ดีๆก็มาลากไปเลย  ผมรู้สึกว่าเป็นต้นเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้น อย่างงานที่อนุสรณ์เขามาคุยกับเราดีๆ เชิญตัวเราไปดีๆ ก็มีบางคนแหละที่ขัดขืนไม่ยอม แต่ก็ไม่ได้มีการใช้กำลังรุนแรง

สำหรับของผม ตอนแรกคิดว่าต้องการช่วยน้อง แม้ว่าในตอนนั้นจะมีคนหลากหลาย รู้สึกว่า ณ วันนั้นจะมามองเรื่องสีเสื้อ มองเรื่องความคิดเห็นไม่ได้ละ แต่ตอนนั้นรู้สึกว่าทุกคนคิดเหมือนกัน คือต้องการจะมามองว่า 1 ปีที่เกิดขึ้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทั้งดีและไม่ดี แค่นั้นเอง  แต่ประเด็นที่เราเห็นคือ แค่น้องๆมาแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐลากเข้าไป ด้วยความที่เราเป็นรุ่นพี่ และน้องหลาย

คนก็รู้จัก จะให้อยู่เฉยเดินหนีก็ทำไม่ได้ เราเห็นความไม่เป็นธรรม ความรุนแรง สุดท้ายก็เลยต้องอยู่เพื่อดูแลน้องที่เรารู้จัก ที่เราคิดว่าเขาไม่ผิดแต่ถูกใช้ความรุนแรง เลยต้องร่วมหัวจมท้ายไปด้วยกัน ในสถานการณ์ตอนนั้นไม่มีแกนนำ ไม่มีการเซ็ตขึ้นมา ต่างคนต่างมา บางคนไมรู้จักกันเลย บางคนไม่ได้เจอะกันมานาน น้องบางคนผมไม่ได้คุยกันเลย เพราะความเห็นเรื่องรัฐประหารที่ต่างกัน แต่วันนี้ได้มาเจอกัน ก็รู้สึกว่าเหมือนงานกิจกรรมศิลปะอย่างหนึ่งที่เราได้มาแสดงออกร่วมกัน และโดนรวบไปด้วยกัน

พอถูกจับเข้าไปในหอศิลป์ สิ่งที่ผมเห็นก็คือ น้องคนหนึ่งไม่แน่ใจว่าน้องทรงธรรม ถูกถอดเสื้อ ลากเหมือนหมูเหมือนหมา น้องบางคนถูกข่มขู่ ถูกลากกับพื้นตั้งแต่หน้าหอศิลป์ พอถึงในหอศิลป์เอามือกดหัว โยนกระแทกกับรถตู้ ผมรู้สึกว่านี่มันคือเด็ก ไม่แน่ใจว่าผู้ใหญ่จะทำกับเด็กได้ขนาดนี้ ขนาดผมเป็นผู้ใหญ่ก็ยังไม่มีสิทธิถูกทำแบบนี้  น้องทรงธรรมเหมือนถูกหิ้วแล้วก็โยนลงกับพื้น ทำหน้าทำตากับพวกเราเหมือนเป็นตัวประหลาดเป็นนักโทษฆ่าหั่นศพ เราไม่ได้ไปตีรันฟันแทง แต่กลับกลายว่าเขาปฏิบัติกับเราเหมือนเป็นโจร

พอถูกกักตัวอยู่ในสน.ปทุมวัน แล้วถูกปล่อยตัวได้อย่างไร?

พออยู่ในสน.เราถูกจับแบ่งแยกห้อง ผมอยู่ในห้องที่มี11คน เห็นได้ชัดว่าเจ้าหน้าที่รัฐก็เล่นจิตวิทยากับพวกเรา 3 ห้อง มีห้องใหญ่ 21คน ห้องเล็ก5-6คน  เขาก็จะตั้งข้อหากับพวกเรา แต่พวกเราตกลงกันแล้วว่าถ้าจะตั้งข้อหากับพวกเรา ก็ต้องตั้งทั้งหมด ถ้าจะปล่อยตัวก็ต้องปล่อยทั้งหมด สุดท้ายทุกคนได้รับการปล่อยตัว ผมยอมรับจิตใจความเด็ดเดี่ยวของคนหนุ่ม-สาว เหล่านี้ ทุกคนยอมรับมติของเสียงส่วนใหญ่ในแต่ละห้อง แต่ก็ยังเคารพเสียงส่วนน้อย นี่คือสิ่งที่ผมรู้สึกถึงความกล้า ความงดงามของคนรุ่นใหม่มาก ถึงแม้สุดท้ายพวกเราจะถูกหักหลังจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยการตั้งข้อหาลับหลัง ทั้ง 9 คน

ภูมิหลังตัวตนของ ‘บอย’

โตมาแบบเด็กห้องแถว – เยาวชนดีเด่นประจำจ.ระยอง ด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยดีเด่น

เขาเล่าว่าเขาเกิดที่เชียงใหม่ แต่เนื่องจากครอบครัวไม่มีบ้านและที่ดินเป็นของตัวเอง จึงต้องเคลื่อนย้ายไปตามที่ทำงานของครอบครัว ตั้งแต่กรุงเทพ ถึง ระยอง เขานิยามตัวเองว่า “โตมาแบบเด็กห้องแถว”

บอยเล่าว่า เขาเคยเป็นประธานนักเรียนโรงเรียนประจำตำบลตอนเรียนมัธยมที่ระยอง ชื่อว่าโรงเรียนเพรักษมาตาวิทยา และเป็นเยาวชนดีเด่นประจำจังหวัดระยองด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยดีเด่น จากการแข่งขันตอบปัญหาความรู้เกี่ยวกับการเมืองการปกครองและกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2540 ได้แชมป์ภาคตะวันออก 3 ปีซ้อน

มีครั้งหนึ่งอาจารย์ถามเด็กในห้องเรียนว่า “ใครเป็นผู้นำด้านประชาธิปไตยในประเทศพม่า” ซึ่งขณะนั้นไม่มีใครตอบได้ในห้อง แต่ด้วยความที่เขาเคยอยู่กรุงเทพฯ และติดตามข่าวสารเป็นประจำจึงตอบได้ว่า ”ออง ซาน ซูจี” และตั้งแต่นั้นอาจารย์ก็ได้เห็นแววและพาไปแข่งขันตอบปัญหาโดยเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญ 2540 พักเที่ยงก็มาติวกับอาจารย์ ตอนนั้นแข่งได้เป็นที่ 3 หรือไม่ก็ที่ 2 ของประเทศไทย จนได้เป็น “เยาวชนดีเด่นประจำจังหวัดระยอง ด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยดีเด่น” ดังกล่าว

บอย เล่าถึงความฝันขณะนั้นวัยเด็กของเขาว่า อยากเป็น “ผู้พิพากษา” แต่ไม่ได้เอ็นฯ และขณะที่อยากเรียนนิติศาสตร์รามฯ บวกกับขณะนั้นได้โควต้าราชภัฏหลายที่ แต่ก็ไม่สามารถไปเรียนได้เพราะไม่มีเงินเรียนในขณะนั้น เนื่องจากเมื่อคำนวณค่าเทอม ค่าใช้จ่ายครอบครัวขณะนั้นคิดว่าไม่เพียงพอ จึงตัดสินใจเรียนที่รามฯ แทน โดยตอนเรียนที่กรุงเทพ ปี 1 มาอยู่กับรุ่นพี่ที่ซุ้มราม-ลาดยาว ซึ่งเปิดร้านขายต้นไม้อยู่ตรงป้ายรถเมล์ ซอยวัดเทพลีลา 9 จึงได้อาศัยนอนกับเขาหลังป้ายรถเมล์นั้น ผมช่วยขายต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ทุกเช้าและเย็น เพื่อเป็นค่าตอบแทนรุ่นพี่ในการให้ที่พักอาศัย

บอย เล่าด้วยว่า ตอนแรกๆ ไปนั่งเรียนทุกวัน แต่เมื่อเงิน 2,000 บาท แรกที่ได้มาจากบ้านหมดก็ไม่ได้เรียนแล้ว ก็เริ่มไปทำงานเป็นเซลขายบัตรเครดิต ได้เงินเดือนแรกเกือบ 20,000 บาท บวกกับได้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาด้วย จึงพาพ่อแม่มาอยู่กรุงเทพด้วยกัน และขายของชำ ขายกรอบพระ ใส่กรอบพระเครื่อง ขณะนั้นยังไม่ได้ทำกิจกรรมเลย จะเน้นทำงานเป็นหลักทำงานที่โรงละคร รับจ้างไปทั่ว

เริ่มที่ซุ้มราม-ลาดยาว

บอยเล่า ด้วยว่าตอนนั้นอยู่ซุ้มชื่อว่า ‘ซุ้มราม-ลาดยาว’ ก็มีกิจกรรมรับน้องทั่วไป ไม่ค่อยมีกิจกรรมออกค่าย จนกระทั่งปี 49 ที่มีม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงไปหาเพื่อนที่รามฯ อยู่เวทีพันธมิตรฯ ซึ่งขณะนั้นยังไม่เข้าใจว่าทำไมคนถึงมาไล่ทักษิณ เพราะตอนที่ตนอยู่มัธยมนั้นมีอาจารย์ถามว่าถ้าเลือกระหว่างพรรคไทยรักไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ จะเลือกพรรคไหน? ตอนนั้นตอบว่า เลือกทักษิณ ด้วยความที่เขาใหม่ แตกต่างจากชวน หลีกภัย ที่ค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับโลกสมัยใหม่ที่ต้องการความรวดเร็ว

เขา เล่าด้วยว่า ขณะนั้นเขาก็เกิดคำถามว่าทำไมต้องมาไล่ทักษิณ จึงตั้งคำถามกับเพื่อนที่ไปร่วมม็อบพันธมิตรฯ โดยเพื่อนเรียกร้องให้ตนไปดูไปหาเหตุผลที่ม็อบเอง จึงไป โดยที่ตอนนั้นไม่ได้มีความคิดทางการเมืองเลย เพราะก่อนหน้านั้นจะทำงานเป็นหลักมากกว่าสนใจทางการเมือง โดยวันนั้นได้ร่วมเดินจากสนามหลวงและไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการจุดเทียนและร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา จึงทำให้รู้สึกตื้นตัน เพราะก่อนหน้านี้ตนก็ศึกษาเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 จึงทำให้อินกับบรรยากาศแบบนั้น

สำหรับเหตุผลที่ต้องไล่ทักษิณนั้นได้ฟังข้อมูลจากเพื่อน บวกกับการปราศรัยบนเวทีเรื่อยๆ จึงทำให้เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องของการผูกขาดทางการเมือง ธุรกิจและการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งขณะนั้นตนทำงานอยู่โรงละคร พอเลิกงานก็เข้าไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ทุกวัน จนได้เป็นการ์ดอาสาในเวลาต่อมา

พอถึงที่สุดคุณทักษิณก็ไม่ได้สร้างประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ทั้งๆที่ตัวเองขึ้นมาจากระบบประชาธิปไตย กลับใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือในการผูกขาดทางการเมือง เอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง

เวทีพันธมิตรฯ 49 และ 51

บอย เล่าต่อว่า แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้อินมากกับการทำกิจกรรมทางการเมืองและสังคม คิดแต่เพียงว่าต้องมาไล่ทักษิณ เพราะเห็นว่าทักษิณทำเกินไป เช่น การอ้างความเป็นประชาธิปไตยเพื่อผูกขาดทางการเมือง ซึ่งกลับกลายเป็นการทรยศผู้ที่เลือกเขาเข้ามา รวมทั้งการแก้ปัญหาด้วยนโยบายประชานิยม ส่วนตัวเห็นว่า ประชานิยมเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและยั่งยืนต้องแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้อย่างถาวร

ขณะนั้นมองว่าภัยของประชานิยม คือ การวางยา ไม่ใช่การแก้ไขปัญหา เป็นการมองประชาชนเสมือนคนไข้แล้วเอายาให้คนไข้กิน แต่ไม่ได้ทำให้หายขาด หรือ ประชาชนรักษาตัวเองได้ ทำให้สุดท้ายประชาชนก็วิ่งมาโรงพยาบาลเพื่อขอความช่วยเหลือทุกวัน ดังนั้นควรทำระบบให้ประชาชนสามารถดูแลรักษาเยียวยาตัวเองได้ ถ้าเจ็บหนักจริงๆ ค่อยมาโรงพยาบาล ขณะนั้นตนคิดในมุมแบบนี้

จนกระทั่งการชุมนุมของพันธมิตรฯ ยุติลงก่อน รัฐประหาร 19 ก.ย.49 ซึ่งขณะนั้นรู้สึกกลัวๆ กับการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 บวกกับการตั้งคำถามว่ามันคืออะไร ทำเพื่ออะไร เพราะตอนนั้นยังเด็ก ยังรู้สึกว่าความคิดทางการเมืองของตนโตช้าไปด้วยซ้ำ

เมื่อกลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมครั้งที่ 2 ในปี 51 ก็ไปเป็นการ์ดอาสาเหมือนกัน ร่วมชุมนุมทุกวัน ได้ฟังได้เห็นรู้จักหลายคน จึงได้เห็นความหลากหลายในการชุมนุม ตอนนั้นลาออกจากงานเพื่อมาร่วมชุมนุม และมีความหวังกับมวลชน เพราะขณะนั้นรู้สึกว่าระบอบทักษิณยังอยู่แม้ตัวเขาไม่อยู่แล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท