Skip to main content
sharethis

บทความในเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศ FPIF ระบุถึงความคิดเห็นของชาวเกาหลีเหนือในเรื่องการรวมชาติสองเกาหลี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้เชื่อตามระบอบเผด็จการเกาหลีเหนือไปเสียหมด ราว 1 ใน 3 ยังบอกด้วยว่าพวกเขาต้องการระบอบการปกครองแบบเกาหลีใต้หากจะมีการรวมประเทศ

ภาพประกอบบทความ "Monument-to-National-Reunification-2014" by Bjørn Christian Tørrissen - Own work by uploader, http://bjornfree.com/kim/. Licensed under CC BY-SA 3.0 via Wikimedia Commons

 

19 มิ.ย. 2558 - จอห์น เฟฟเฟอร์ ผู้อำนวยการร่วมของเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศ Foreign Policy In Focus เขียนบทความเกี่ยวกับการรวมประเทศเกาหลีในความคิดของชาวเกาหลีเหนือ จากการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างชาวเกาหลีเหนือจำนวนหนึ่งที่ทำงานในจีน

เฟฟเฟอร์ระบุว่าถึงแม้แนวคิดการรวมประเทศเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จะเป็นความเพ้อฝันอย่างหนึ่งและไม่มีใครเสนอความคิดว่าควรจะทำอย่างไรถึงจะรวมประเทศได้ แต่ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากที่แสดงความคิดเห็นผ่านการสำรวจโพลล์ก็แสดงความสนใจเรื่องการรวมประเทศ เช่น ในอาซานโพลล์เดือน ม.ค. 2558 ระบุว่าประชาชนที่สนใจเรื่องนี้มีมากกว่าร้อยละ 80 ถึงแม้ว่าคนรุ่นหนุ่มสาวจะสนใจและให้การสนับสนุนในเรื่องการรวมประเทศน้อยกว่า

ส่วนชาวเกาหลีเหนือนั้น ด้วยระบอบการปกครองของประเทศพวกเขาทำให้สำรวจความคิดเห็นได้ยาก และการสอบถามจากชาวเกาหลีเหนือที่หลบหนีออกนอกประเทศก็เคยทำไปแล้ว แต่หนังสือพิมพ์โชซอนอิลโบ ของเกาหลีใต้ก็พยายามรวบรวมความคิดเห็นมาได้ผ่านการสอบถามชาวเกาหลีเหนือ 100 คน ที่ไม่ได้หนีออกนอกประเทศแต่เดินทางไปทำงานในจีนแล้วมีแผนจะยังคงกลับประเทศ

โซซอนอิลโบร่วมกับศูนย์เพื่อการศึกษาการประสานวัฒนธรรมสำรวจความคิดเห็นชาวเกาหลีเหนือจำนวนนี้ในเรื่องของการรวมประเทศ ซึ่งมีเพียง 2 คนเท่านั้นที่เรียนจบระดับวิทยาลัยทำให้เชื่อได้ว่าเป็นความคิดเห็นของกลุ่มคนที่ไม่ใช่พวกระดับชนชั้นนำในเกาหลีเหนือ ผลการสำรวจปรากฏว่า 95 คนแสดงความสนใจเรื่องการรวมประเทศซึ่งส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องจำเป็นด้วยสาเหตุทางเศรษฐกิจ และยังมองว่าพวกเขาจะได้รับผลประโยชน์โดยส่วนตัวถ้าหากว่ามีการรวมประเทศเกาหลีอีกครั้ง

บทความของเฟฟเฟอร์ระบุว่าในเรื่องกระบวนการรวมประเทศนั้น กลุ่มตัวอย่างชาวเกาหลีเหนือเพียง 8 ใน 100 คนเท่านั้นที่มองว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือจะเป็นผู้ควบคุมกระบวนการรวมชาติทั้งหมด มี 7 คนที่มองว่าการรวมชาติจะเกิดขึ้นเมื่อระบอบของเกาหลีเหนือล่มสลาย ในอีกแง่หนึ่งก็มีจำนวน 22 คนมองว่าเกาหลีใต้จะเป็นฝ่ายหลอมรวมเกาหลีเหนือ ขณะที่โดยส่วนใหญ่คาดว่าการรวมประเทศจะเกิดขึ้นผ่านการเจรจาหารือระหว่างสองประเทศในแบบที่เสมอภาคกันหลังจากที่เกาหลีเหนือมีการปฏิรูปและเปิดประเทศแล้ว

เมื่อถามว่าถ้าหากเกาหลีรวมชาติแล้วควรปกครองด้วยระบอบใด มีเพียง 14 คนเท่านั้นที่บอกว่าจะปกครองโดยระบอบสังคมนิยมแบบเกาหลีเหนือ มี 26 คนบอกว่าจะมีการประนีประนอมกันระหว่างสองระบอบ ขณะที่ 34 คน บอกว่าต้องการให้เป็นระบอบแบบเกาหลีใต้ ส่วนอีก 24 คนไม่สนใจว่าจะเป็นระบอบแบบใด

เฟฟเฟอร์ระบุว่าคำตอบเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าชาวเกาหลีเหนือในกลุ่มตัวอย่างไม่ได้เชื่อตามโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลตัวเองเสียหมด พวกเขาแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันซึ่งหมายความว่าพวกเขามีความคิดเป็นของตัวเอง มีความเห็นที่ตรงกันบ้างในบางกรณีแสดงให้เห็นว่ามีการหารือกันในคำถามเหล่านี้ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่มั่นใจว่าระบอบแบบเกาหลีเหนือจะคงอยู่ได้ยาวนาน และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือมีจำนวนมากที่มีหลักการคิดแบบเน้นเชิงปฏิบัติได้จริงโดยไม่ได้สนใจว่าจะอยู่ภายใต้ระบอบแบบไหน

"รัฐบาลสองฝ่ายไม่ได้พูดกันถึงเรื่องการรวมชาติ พวกเขาแทบจะไม่ได้พูดกันถึงเรื่องอะไรเลย แต่ดูเหมือนว่าชาวเกาหลีเหนือจะคำนึงถึงเรื่องนี้มาก" เฟฟเฟอร์ระบุในบทความ

อย่างไรก็ตามรัฐบาลก่อนหน้านี้ในประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศเคยมีแนวคิดรวมประเทศเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เช่น ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่างฝ่ายต่างก็ต้องการรวมประเทศในรูปแบบอุดมการณ์ของตนเอง ในยุคต่อมาที่ทั้งสองประเทศต่างก็มีผู้นำที่แข็งกร้าวอย่างคิม อิลซุง ผู้นำเกาหลีเหนือในยุคนั้น และปัก จุงฮี ผู้นำเกาหลีใต้ที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งถือว่าเป็นยุคที่สองประเทศมีจุดที่คล้ายคลึงกันหลายจุดต่างก็พยายามหาทางรวมชาติอีกครั้งแต่ก็ไม่เกิดผลมากนัก

บทความใน FPIF ชี้ว่าสาเหตุที่ในเวลานั้นสองประเทศไม่สามารถรวมกันได้ไม่ใช่เพราะเรื่องอุดมการณ์ แต่เป็นเพราะจำนวนประชากรที่เกาหลีใต้มีมากกว่าทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะจัดตั้งโครงสร้างการเมืองแบบใดที่จะเป็นตัวแทนสำหรับทั้ง 2 ฝ่ายได้

มีช่วงที่มีโอกาสอาจจะเกิดการรวมชาติอีกช่วงหนึ่งคือในยุคสมัยที่รัฐคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกล่มสลาย มีคนเล็งเห็นว่าเกาหลีเหนือก็อาจจะล่มสลายไปด้วยแล้วเกาหลีใต้จะเข้าไปจัดการกับภาวะสูญญากาศทางการเมืองที่เกิดขึ้น แต่ระบอบแบบเกาหลีเหนือก็ยังดื้อดึงคงอยู่ต่อไป จนทำให้หลังจากนั้นไม่มีใครคาดเดาว่าจะเกิดการรวมชาติเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตามเฟฟเฟอร์ระบุว่า สิ่งที่สำคัญกว่าเรื่องความเป็นไปได้ของการรวมชาติคือการที่ผลการสำรวจได้เน้นให้เห็นความสำคัญของการรวมชาติในแง่ที่จะทำให้เกาหลีเหนือมีโอกาสติดต่อกับโลกภายนอกได้มากขึ้น แต่ก่อนที่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในประเทศ มันได้เกิดขึ้นในใจของประชาชนชาวเกาหลีเหนือก่อนแล้ว

 

เรียบเรียงจาก: Korean Reunification: The View from the North, FPIF, 16-06-2015

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net