รอมฎอนแห่งการใคร่ครวญ (2) ข้อเสนอเพื่อวิทยุเดือนรอมฎอน : จะสื่อสารอะไร สื่อสารอย่างไร

หลากข้อเสนอเพื่อการจัดรายการวิทยุในเดือนรอมฎอน: จะสื่อสารอะไร สื่อสารอย่างไร แนะสื่อต้องนำรอมฎอมไปสู่การปฏิรูปหัวใจ สื่อสารที่เข้าถึงแก่นแท้ของรอมฏอน ต้องกำหนดประเด็นและยุทธศาสตร์ร่วมกัน ต้องทบทวน ใคร่ครวญ เป็นพื้นที่สร้างความเข้าใจภายใต้ความหลากหลาย ใช้โอกาสสร้างช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย

วิทยุรอมฎอน : สื่อสารอะไร สื่อสารอย่างไร

วันที่ 16 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ จัดเสวนา หัวข้อ “สันติรอมฎอนแห่งการใคร่ครวญ” ณ ห้องประชุมอิหม่ามอัลฆอซาลี วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) มีนักจัดรายการวิทยุชุมชนและวิทยุหลักในพื้นที่เข้าร่วมประมาณ 40 คน ทั้งที่ออกอากาศได้ตามปกติและยังไม่สามารถออกอากาศได้ อันเนื่องมาจากคำสั่งคสช.(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) และอยู่กำดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของ กสทช.(คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ)

ในการเสวนาช่วงที่ 2 หัวข้อ “วิทยุกระจายเสียงในเดือนรอมฎอน : สื่อสารอะไร สื่อสารอย่างไร” มีนายจักรกฤช วรสูตร ผู้อำนวยการสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย จ.นราธิวาส กรมประชาสัมพันธ์  นายอนุกูล สนิทพันธ์  อดีตผู้อำนวยการสถานีวิทยุภาษามาลายู ศอ.บต. อาจารย์อุสมาน ราษฎร์นิยม อาจารย์ประจำคณะวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี  อาจารย์รัชนี  บินยูโซ๊ะ จากสถานีวิทยุอัตตัรเรดิโอ จ.นราธิวาส และนายมูฮำหมัด ดือราแม  บรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ดำเนินรายการโดย อาจารย์สมัชชา นิลปัทม์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี

อุสมาน ราษฎร์นิยม : สื่อต้องนำรอมฎอมไปสู่การปฏิรูปหัวใจ

“งานนี้ดีมากเพราะเป็นการจุดประกายให้คนที่มีสื่อและวิชาชีพสื่อจะได้ใช้ช่องทางการสื่อสารให้เกิดประโยคอย่างสูงสุด ขอยกประโยคที่กล่าวเป็นประจำว่า “ดอกไม้เบ่งบานสวยงามในฤดูใบไม้ผลิฉันท์ใด การตักวา(ความยำเกรง)ก็จะเบ่งบานสวยงามในเดือนรอมฎอนฉันท์นั้น รอมฎอนเวียนมาถึงเวลาสร้างสมความดี ขอพระเจ้าทรงประทานสุขภาพดี ทุกชีวาราตรีเพื่อเพื่อนพ้องน้องพี่จะได้ทำอีบาดัต(ประกอบศาสนกิจ)กันครบครัน

“รอมฎอนมาพบพวกเราอีกครั้งในปีนี้ จากคำพูดคุ้นหูที่เรามักจะได้ยินเป็นประจำที่ว่า “รอมฎอนปีนี้จะต้องดีกว่าปีที่แล้ว” ถือเป็นคำพูดที่สมเหตุสมผล เพราะรอมฎอมมาเพื่อให้เราได้ปฏิรูปตัวเอง อยู่ที่ว่าพวกเราจะพร้อมแค่ไหนในการปฏิรูป ดังที่ท่านศาสนทูตเคยกล่าวเอาไว้ว่า “โอ้ผู้ประสงค์ดี จงรีบเร่งทำความดีเถิด และผู้ประสงค์ร้ายจงยุติการทำความผิดเถิด” เป็นคำพูดที่ตอกย้ำหัวใจของพวกเรา

“เดือนรอมฎอน ผมจึงมองว่าเราควรมาทำความเข้าใจกับเนื้อหาและสาระ เพราะอยู่ในช่วงเวลาที่ดีที่สุดแล้ว คือเทศกาลแห่งการทำความดีที่ไม่ใช่แค่ในมิติของมนุษย์กับพระเจ้าเท่านั้น และการทำความดีในเดือนรอมฎอนจะได้ผลบุญทวีคูณ หากทำความชั่วก็จะได้รับบาปทวีคูณเช่นเดียวกัน”

คำว่าปฏิรูปที่นี้ก็คือการปฏิรูปหัวใจ ดั่งประโยคที่ว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” เพราะหากหัวใจของเราปรารถนาดีหรือประสงค์ดี พฤติกรรมของเราย่อมเป็นไปในทางที่ดีอย่างแน่นอน

ต้องกำหนดประเด็นนำเสนอร่วมกัน

สำหรับพี่น้องที่มีสื่อทั้งหลาย ผมมองว่าเนื้อหาสาระในการที่จะนำเสนอในช่วงเดือนรอมฎอน หากเรามาตกลงกันก่อนว่า ปีนี้เราจะนำเสนอในประเด็นใดให้ชัดเจนและเป็นเอกภาพ จะเกิดคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อสังคมของเรา เช่น ผมขอรณรงค์ในเรื่องของการเลิกสูบบุหรี่โดยเฉพาะในบริเวณมัสยิด ประเด็นต่อมาคือการทุจริตคอรัปชั่นเพราะเป็นปัญหาใหญ่มาก เป็นต้น

ดังนั้นเนื้อหาที่ผู้จัดวิทยุโดยเฉพาะก่อนเวลาเปิดบวชถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะทุกคนในบ้านจะอยู่ด้วยกันและหลายๆ บ้านก็เปิดวิทยุฟังในช่วงเวลาดังกล่าว”

จักรกฤช วรสูตร : ต้องกำหนดยุทธศาสตร์การสื่อสารในรอมฎอนร่วมกัน

“การจัดรายการวิทยุภาษามลายูในพื้นที่มีความยากลำบากมากในช่วงแรก เพราะรัฐเคยมองว่าภาษาเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง มองว่าภาษามลายูไม่ใช่ภาษาของประเทศไทย แต่ข้อดีอย่างหนึ่งของประเทศไทยก็คือ เมื่อเราพยายามอธิบายแล้วสุดท้ายเขาเข้าใจเหตุผลที่เราได้อธิบาย เพียงแต่เราต้องใช้ความพยายาม อย่างกรณีที่ยังมีหลายสถานีที่ยังไม่สามารถเปิดต่อได้ในตอนนี้ ก็ขอให้กำลังใจในการดิ้นร้นต่อสู้แสวงหาหนทางเพื่อให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ในอนาคต
รายการวิทยุในเดือนรอมฏอนมีความสำคัญมาก เพราะสามารถตอบสนองการใช้ชีวิตในช่วงเดือนรอมฏอนของพี่น้องมุสลิมได้ การสื่อสารมีความสำคัญเราจึงจำเป็นต้องที่จะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ในทางการสื่อสาร อย่างการใช้สื่อเพื่อประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องต่างศาสนิกเข้าใจการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม และใช้โอกาสในลักษณะดังกล่าวนี้ให้คุ้มที่สุด การสื่อสารจะต้องมองเป้าหมายสูงสุดด้วยกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ”

อนุกูล  สนิทพันธ์ : ทบทวน ใคร่ครวญ การสื่อสารที่เข้าถึงแก่นแท้“รอมฏอน”

“เจ้าของสถานีวิทยุจะต้องหาผู้จัดรายการที่เหมาะสมกับเนื้อหาในช่วงต่างๆ เพราะแต่ละคนมีความถนัดแตกต่างกัน หากจัดคนได้ลงตัว ก็จะทำให้ประชาชนหันมาฟังวิทยุ ประเด็นต่อมาคือ เนื้อหา จะต้องมีการวางแผนว่าจะนำเสนออะไรโดยเฉพาะในประเด็นศาสนา เพราะหากนำคนที่ไม่รู้จริงมาจัดรายการจะทำให้เกิดปัญหาได้ ซึ่งในพื้นที่ก็มีอูลามาอฺ(ผู้รู้)เยอะที่สามารถช่วยได้ ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้จัดรายการอ่านหลักการศาสนาโดยตีความเองจะทำให้ประชาชนสับสนได้ เรื่องนี้จำเป็นต้องทำการบ้านให้มาก

เราต้องคิด ทบทวนให้รอบคอบ และจำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้ให้ผู้ดำเนินรายการ ที่สำคัญเนื้อหาจะต้องถูกต้องตามหลักการศาสนา เราต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้ฟังเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาที่เลือกนำเสนอว่าอะไรคือแก่นแท้ของรอมฎอน การใช้ภาษาที่เข้าถึงผู้ฟังได้ และห้วงเวลาที่เข้าถึงผู้ฟังได้ดีที่สุด ให้แบ่งจังหวะการนำเสนอและวางแผนการสร้างเนื้อหาและนำเสนอร่วมกันเพื่อให้มีประสิทธิภาพที่สุด ส่วนข้อควรระวัง ได้แก่ เรื่องความมั่นคง และการพาดพิงบุคคลที่สาม เป็นสิ่งที่ผู้จัดรายการควรระมัดระวัง”

รัชนี  บินยูโซ๊ะ : วิทยุคือพื้นที่สื่อสารสร้างความเข้าใจภายใต้ความหลากหลาย

“สถานีวิทยุเราได้วางแผนและเตรียมการมานานแล้วที่จะเตรียมจัดรายการในเดือนรอมฎอน เพราะเชื่อมั่นว่ารอมฎอนปีนี้จะสามารถออกอากาศได้ และจัดรายการต่างๆ เป็นพิเศษสำหรับเดือนรอมฎอนโดยเฉพาะ โดยเราทำการบ้านมาเป็นเดือนเพื่อที่จะได้สื่อสารกับผู้ฟังตลอดช่วงเดือนรอมฎอนว่า รอมฎอมคืออะไร? ดีอย่างไร? เพื่อจะได้เป็นจุดเริ่มต้นให้หลายๆ คนได้นึกคิดใคร่ครวญเพื่อที่จะได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง

สถานีวิทยุอัตตัรเรดิโอมีเป้าประสงค์ชัดเจนที่อยากนำเสนอเรื่องราวทางศาสนาเพื่อพี่น้องมุสลิม เป็นสถานีวิทยุของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หน้าที่ของวิทยุคือการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจภายใต้ความหลากหลาย โดยเรามีผู้จัดรายการที่เป็นพี่น้องไทยพุทธด้วย ที่สำคัญเราจะเปิดโอกาสให้ผู้ฟังสามารถสอบถามข้อมูลต่างๆ ได้ เช่น ทำไมต้องถือศีลอด? ทำไมต้องไปละหมาดในตอนกลางคืน? ทำไมต้องตื่นมากินข้าวก่อนหัวรุ่ง เป็นต้น เพื่อให้สังคมได้เข้าใจถึงรายละเอียดของเดือนรอมฎอนที่ไม่ใช่แค่เพียงเทศกาลงดกินงดดื่มเท่านั้น ทว่ามีรายละเอียดและสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมายในช่วงเดือนดังกล่าวนี้”

มูฮำหมัด  ดือราแม : ใช้โอกาสสร้างการสื่อสารที่หลากหลายในเดือนรอมฎอน

“การเลือกใช้ภาษามลายูในการสื่อสารว่า ส่วนตัวแบ่งภาษามาลายูในที่ใช้ในพื้นที่ออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.ภาษามาลายูเพื่อการสื่อสาร หมายถึงจะใช้ภาษาอย่างไรก็ได้ที่ทำให้คนเข้าใจมากที่สุดและเร็วที่สุด 2.ภาษามาลายูเพื่อการศึกษา ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักภาษาที่ถูกต้อง และ 3.ภาษามาลายูเพื่อการสับสน คือ ไม่รู้ว่าเป็นภาษามลายูกลางหรือภาษามลายูท้องถิ่น ซึ่งเป็นปัญหาของการสื่อสารภาษามลายูมากที่สุดในขณะนี้

เราในฐานะสื่อในพื้นที่ที่ใช้ภาษามลายูในการสื่อสารจะทำอย่างไรที่ในการสื่อสารของเรานั้น มีทั้งสารภาษามาลายูเพื่อการสื่อสารและเพื่อการศึกษาไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งถือเป็นข้อท้าทาย

ในช่วงเดือนรอมฎอน รายการวิทยุที่สำคัญที่สุดคือรายการความรู้เรื่องศาสนา เพราะเป้นรายการที่มีคนฟังมากที่สุด พี่น้องมุสลิมใช้เป็นห้วงเวลาของการใคร่ครวญตัวเองในฐานะบ่าวของอัลเลาะห์ ส่วนประเด็นอื่นๆที่สื่อควรให้ความสนใจด้วย เช่น เรื่องวิถีชีวิต เรื่องเศรษฐกิจ เพราะหากศาสนาเป็นความหวังในการขัดเกลาตัวเองในเดือนนี้แล้ว เรื่องเศรษฐกิจก็จะเป็นการสร้างบรรยากาศของความหวังในการดำเนินชีวิตด้วย เพราะเมื่อถึงเดือนรอมฎอนหลายชุมชนก็มีความคึกคักทางด้านเศรษฐกิจขึ้นมาด้วย

ในห้วงที่หลายสถานียังไม่สามารถเปิดได้ ก็เป็นโอกาสที่สามารถขยายช่องทางการสื่อสารในรูปแบบอื่นๆได้ด้วย เช่น เว็บไซด์ เป็นการสร้างงานผ่านรูปแบบการสื่อสารที่หลากหลาย แล้วขยายสู่สังคมภายนอกเพื่อสร้างความเข้าใจแก่สังคม เพื่อเป็นการเชื่อมต่อระหว่างคนสื่อสารในพื้นที่ด้วย”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท