ธรรมศาสตร์ ปฏิเสธ ‘เคท ครั้งไพบูลย์’ เป็นอาจารย์ อีกครั้งหลังยื่นอุทธรณ์

ธรรมศาสตร์ ยันคำเดิม ปฏิเสธไม่รับ ‘เคท ครั้งไพบูลย์’ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หลังยื่นอุทธรณ์ แจงเหตุผลเดิม “ใช้ถ้อยคำผ่านสื่อสาธารณะในลักษณะที่ไม่เหมาะสม”

ก่อนหน้านี้ เคท ครั้งพิบูลย์ ยื่นหนังสือถึงอธิการ มธ. เพื่อสอบถามความคืบหน้าการบรรจุเข้าเป็นอาจารย์
หลังผ่านมากว่า 242 วัน ยังไม่มีความคืบหน้า คาดสาเหตุอาจเกิดจากเธอเป็นสาวประเภทสอง
(แฟ้มภาพ: ประชาไท 6 มี.ค.2558)

23 มิ.ย. 2558 เคท ครั้งพิบูลย์ ผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แจ้งข่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวานนี้ โดยระบุถึงกรณีการยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อมติของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย(ก.บ.ม.) ซึ่งมีมติ ไม่เห็นชอบจ้างตนเองเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย โดยแจ้งเหตุผลว่า “มีพฤติกรรมการแสดงออกด้วยการใช้ถ้อยคำผ่านสื่อสาธารณะในลักษณะที่ไม่เหมาะสม และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย”

ล่าสุด เคท ได้เผยถึงผลโหวตในการพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ว่า ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปฏิเสธไม่รับเธอเป็นอาจารย์อีกครั้ง หลังจากที่เธอยื่นคำร้องไปเมื่อวันที่ 10 เม.ษ. 2558 โดยมีมติเพิ่มความเห็นเรื่องความล่าช้าในการพิจารณาการบรรจุจ้าง และลงมติเช่นเดิมว่าจะไม่จ้างงานเธอเพราะเรื่องจริยธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เคท ได้ให้เหตุผลในการยื่นอุทธรณ์มติ ก.บ.ม. ว่า ตนในฐานะผู้ได้รับการพิจารณาคุณสมบัติและข้อมูลเกี่ยวกับความประพฤติดังกล่าว ไม่ทราบว่าตนได้กระทำการอะไร อันเป็นเหตุสำคัญถึงขนาดที่ทาง ก.บ.ม. เห็นว่า ตนเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมกับการบรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย และเป็นการกระทำที่ขัดกับระเบียบข้อบังคับแบบแผนของมหาวิทยาลัยที่กำหนดไว้ ในระเบียบกฎหมายฉบับใด หรือ การใช้คำกล่าวหาที่ว่า “ในลักษณะที่ไม่เหมาะสม” นั้น ทาง ก.บ.ม. เองไม่ได้ขยายความให้ชัดเจนว่าไม่เหมาะสมตรงไหน อย่างไร หรือมีความร้ายแรงของความไม่เหมาะสมนั้นเพียงใด

ในเรื่องของระยะเวลาในการพิจารณาบรรจุจ้างนั้น เคทระบุว่า ระยะเวลาในกระบวนการพิจารณาและแจ้งผลประมาณ 10 เดือน เป็นเวลาที่ล่าช้าเกินไป และผลที่ได้รับแจ้งคือการเว้นจากการถูกจ้างงาน อันเป็นเหตุให้ตนขาดรายได้จากการประกอบอาชีพก่อให้เกิดความเสียหายและสูญเสียโอกาส

ทั้งนี้ เคทได้ตั้งข้อสังเกตต่อการไม่พิจารณาบรรจุจ้างครั้งนี้ว่า สาวประเภทสองในสังคมมักถูกเลือกปฏิบัติ โดยการไม่ได้รับการพิจารณาให้เข้าทำงาน ซึ่งเธอเป็นกังวลว่าทาง มธ. จะพิจารณาในส่วนนี้ด้วยหรือไม่ หากทาง มธ. ใช้เรื่องเพศเป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณาเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นอาจารย์ก็ ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน

“แน่นอนเราไม่สามารถรู้ได้ว่าใครชอบหรือไม่ชอบเรา แต่เรื่องการพิจารณามันก็ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ ต้องให้ความเป็นธรรมกับดิฉัน โดยส่วนตัวคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะใช้เกณฑ์เรื่องเพศมาเป็นเกณฑ์และมา ตัดสิน ซึ่งในหลายๆ ประเทศคนที่เป็นสาวประเภทสองก็ไม่ได้รับการจ้างงานเพราะใช้เรื่องอัตลักษณ์ ทางเพศเป็นฐานในการตัดสิน ดิฉันขอให้ประชาคมธรรมศาสตร์ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของดิฉัน แต่เป็นเรื่องบรรทัดฐานทางสังคมที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต” เคท กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท