Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมานี้ ปัญหาเรื่องชาวโรฮิงญาลี้ภัยกลายเป็นเรื่องที่ยืดเยื้อของประชาชาติอาเซียน แม้กระทั่งในสังคมไทย เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ก็เกิดกระแสการสร้างเรื่องที่ปลุกเร้าชาตินิยมไทยต่อต้านโรฮิงญา เช่นมีการสร้างเรื่องดูถูกชาวโรฮิงญาว่าเป็นพวกมนุษย์ไร้ค่า เอาแต่ผลิตลูก บ้างก็ต้องการให้ขับไล่ใสส่งให้ไปตายในทะเล ให้เอาไปยิงทิ้ง บางก็โจมตีเลยไปถึงศาสนาอิสลาม และเวลาพูดถึงชาวโรฮิงญาจะใช้สรรพนามว่ามัน ใครที่เสนอให้พิจารณาปัญหาโรฮิงญาด้วยลักษณะมนุษยธรรม ก็จะถูกโจมตีว่าเป็นพวกโลกสวย และมักบอกให้รับไปไว้ที่บ้านสักคน ภายใต้กระแสเช่นนี้ ผู้เขียนจึงเห็นว่า ถ้าจะลองหันมาพิจารณารากฐานทางประวัติศาสตร์ของโรฮิงญาว่าเป็นเช่นไร อาจจะนำมาสู่ความเข้าใจในเรื่องของโรฮิงญาได้มากขึ้น

โรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐอาระกัน ทางตะวันตกของประเทศพม่า และพูดภาษาโรฮิงญา ย้อนหลังกลับไปในประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยกลาง แคว้นอาระกันยังเป็นอาณาจักรโบราณแห่งหนึ่งเรียกว่า อาณาจักรยะไข่ หรือเมืองยะไข่ มีกษัตริย์ปกครองโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมะเยาอู ในสมัยของกษัตริย์มังสอหม่อง ซึ่งถูกขับจากราชสมบัติเมื่อ พ.ศ.1949 พระองค์ต้องหนีไปลี้ภัยในเบงกอลถึง 24 ปี จึงได้รับความช่วยเหลือจากสุลต่านเบงกอลให้กลับมาครองราชย์สมบัติเมื่อ พ.ศ.1973 แม้ว่าพระองค์จะยังเป็นกษัตริย์พุทธ แต่ก็เฉลิมพระนามเป็นแบบอิสลามว่า สุไลมานซาห์ และได้นำเอาชาวเบงกาลีที่ช่วยเหลือพระองค์มาตั้งชุมชนในดินแดนอาระกัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดชุมชนอิสลามในอาระกัน

หลังจากนั้น กษัตริย์ยะไข่ต่อมาอีกหลายพระองค์ก็ยังทรงพระนามแบบมุสลิม และรับเอาชาวเบงกาลีเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอาณาจักรมากขึ้น นอกจากนี้ ต่อมา อาณาจักรยะไข่เข้ายึดเมืองท่าจิตตากอง เมื่อ พ.ศ.2002 ซึ่งมีประชากรเป็นชาวเบงกาลีจำนวนมาก ก็ยิ่งทำให้ชาวเบงกาลีมาอยู่ในดินแดนยะไข่มากขึ้น เมืองจิตตากองยังคงอยู่ในอาณาจักรอาระกันจนถึง พ.ศ.2209 สุลต่านเบงกอลจึงยึดกลับไปได้

ต่อมา เมื่อพระเจ้าปะดุง กษัตริย์พม่ายึดแคว้นยะไข่เมื่อ พ.ศ.2328 ก็ยังคงมีชุมชนอิสลามขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในอาระกัน ต่อมา ราชสำนักพม่าปราบปรามชาวอาระกันอย่างหนัก จนทำให้ชาวอาระกันจำนวนมากหนีไปลี้ภัยในเขตเบงกอลของอังกฤษ และกลายเป็นเหตุหนึ่งที่นำมาสู่สงครามระหว่างอังกฤษกับพม่า

เมื่ออังกฤษชนะสงครามพม่าใน ค.ศ.1826 จึงยึดดินแดนอาระกันและผนวกเข้ากับแคว้นเบงกอล อังกฤษพิจารณาว่าดินแดนอาระกันนั้นยังมีประชากรเบาบาง จึงส่งเสริมให้ชาวเบงกาลีอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอาระกันมากขึ้น ทำให้อัตราส่วนประชากรที่เป็นมุสลิมในอาระกันเพิ่มขึ้นทุกที และต่อมาเมื่ออังกฤษยึดพม่าตอนกลางเมื่อ พ.ศ.2395 และยึดพม่าทั้งประเทศเมื่อ พ.ศ.2428 ก็ยังผนวกพม่าทั้งหมดเข้ากับบริติชอินเดีย ทำให้ชาวอินเดียจำนวนมากอพยพเข้าสู่พม่า

จนกระทั่งถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นเข้ายึดครองพม่า อังกฤษได้จัดตั้งชาวมุสลิมอาระกันให้ติดอาวุธเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น จึงนำมาซึ่งความขัดแย้งกับชาวยะไข่ที่เป็นพุทธ นำมาซึ่งการสู้รบกัน เริ่มมีการเรียกชาวมุสลิมอาระกันว่า โรฮิงญา เพื่อแยกออกจากชาวยะไข่พุทธ ชาวโรฮิงญาก็เริ่มมีความรู้สึกชาตินิยม หลังสงครามโลกยุติลง ชาวโรฮิงญาก็ตั้งสันนิบาตมุสลิมประจำอาระกัน เพื่อเรียกร้องให้อาระกันตอนเหนือที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นอิสลามรวมเข้ากับปากีสถานตะวันออก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในที่สุด อาระกันทั้งหมดก็ถูกผนวกโดยพม่า

ต่อมา เมื่อนายพลเนวิน ก่อรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2505 ก็ใช้มาตรการปราบปรามอย่างหนักในอาระกัน ทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากอพยพไปบังคลาเทศ แต่กระแสเปลี่ยนกลับเมื่อเกิดสงครามเพื่อเอกราชของบังกลาเทศ พ.ศ.2514 ความรุนแรงในการสู้รบ ทำให้ชาวเบงกาลีกกว่าสิบล้านคนอพยพหนีจากประเทศ ส่วนมากลี้ภัยในอินเดีย แต่จำนวนนับแสนคน หนีมาลี้ภัยที่อาระกัน พวกชาวพุทธในอาระกันได้ก่อการประท้วงอย่างหนัก และเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการปัญหาผู้ลี้ภัยมุสลิม โดยอ้างว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะทำให้โครงสร้างประชากรในอาระกันเปลี่ยนแปลง จนชาวมุสลิมจะกลายเป็นประชากรส่วนข้างมาก การเคลื่อนไหวนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระแสชาตินิยมพุทธพม่า เพื่อต่อต้านชาวมุสลิม

พ.ศ.2525 รัฐบาลเนวินออกกฎหมายสัญชาติ โดยไม่ยอมให้สิทธิพลเมืองแก่ชาวโรฮิงญา ถือว่าชาวโรฮิงญาราว 1.5 ล้านคนเป็นคนต่างด้าว ทางการรัฐบาลทหารพม่าอธิบายว่า ชาวโรฮิงญาดั้งเดิมมีอยู่น้อยและเป็นผลิตผลจากจักรวรรดินิยมอังกฤษ ที่นำเอาชาวเบงกาลีเข้ามาในพม่า แต่ชาวโรฮิงญาจำนวนมากคือชาวบังกลาเทศที่อพยพเข้ามาตั้งแต่ พ.ศ.2514 แล้วบังกลาเทศกับประชาคมโลกไม่รับผิดชอบ รัฐบาลพม่าไม่อาจรับผิดชอบได้ กลุ่มฝ่ายขวาในอาระกันอธิบายด้วยซ้ำว่า บังกลาเทศมีปัญหาประชากรล้นประเทศ จึงต้องการที่ขยายประชากรมายังดินแดนอื่น ชาวโรฮิงญาเป็นด้านหน้าของชาวเบงกาลี ถ้าหากให้สิทธิแก่ชาวโรฮิงญา จะกลายเป็นเงื่อนไขให้ชาวเบงกาลีจำนวนมากหลั่งไหลสู่อาระกัน จนทำให้ชาวอิสลามจะกลายเป็นประชากรส่วนข้างมาก ชาวพุทธจะถูกยึดดินแดน แต่กลุ่มชาตินิยมฝ่ายโรฮิงญาก็ยืนยันว่า โรฮิงญาเป็นชาวพื้นเมืองอยู่ที่อาระกันมานานนับพันปี และอ้างด้วยซ้ำว่า อาระกันเคยเป็นแดนมุสลิมมาก่อนที่จะเป็นดินแดนพุทธ

แต่จากปัญหาความยากจนอย่างหนัก และถูกกีดกันต่อต้านจากชาวพม่าที่เป็นชาตินิยมพุทธหัวรุนแรง และไม่ได้รับรองทั้งเรื่องสิทธิทางการศึกษา อาชีพการงาน สิทธิในความเป็นคน ทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากตัดสินใจหนีจากพม่า ชาวโรฮิงญาจำนวนมากหนีไปยังบังคลาเทศ แต่ก็ต้องไปอยู่ในค่ายกักกันผู้ลี้ภัยและไม่มีอนาคต ในระยะหลังชาวโรฮิงญาจึงพยายามลงเรือ โดยหวังว่าจะไปแสวงชีวิตที่ดีกว่าในอินโดนีเซียหรือมาเลเซียที่เป็นประเทศอิสลาม แต่ปัญหาคือเรือจำนวนมากที่นำมาเป็นเรือขนาดเล็ก และต้องบรรทุกคนจำนวนมาก จึงมีเรือจำนวนมากต้องมาขึ้นฝั่งเสียก่อนที่ประเทศไทย จนกลายเป็นปัญหาในขณะนี้

ท่าทีต่อเรื่องชาวโรฮิงญา คือ ไม่ควรจะใช้แนวคิดการเดียดฉันท์คนต่างด้าวไปพิจารณา หรือมองว่า ปัญหาโรฮิงญาเป็นเพียงเรื่องคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แล้วต้องไล่ให้พ้นประเทศไทยโดยเร็ว แต่ควรพิจารณาคนเหล่านี้ในฐานะที่เป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน ในเมื่อเขาได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อน ถ้าหากสังคมไทยพอที่จะช่วยเหลือได้ก็ควรจะต้องให้ความช่วยเหลือตามสมควร ในเมื่อประเทศไทยก็ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานอีกมาก และไม่ได้เดือดร้อนแร้นแค้นขนาดจะช่วยเหลือใครไม่ได้

การช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ไดยากนั้น เป็นหลักธรรมเรื่องเมตตากรุณา ซึ่งเป็นหลักการของชาวพุทธอันแท้จริง

 


เผยแพร่ครั้งแรกใน: โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 518 วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2558

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net