คุยกับ ‘บาส LLTD’ ก่อนขึ้นโรงขึ้นศาล หลังรำลึก 1 ปีรัฐประหาร หน้าหอศิลป์ฯ

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.58 ผกก.สน.ปทุมวัน เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนได้ขอศาลอนุมัติหมายจับศาลกรุงเทพทั้งหมด 8 ราย ที่ร่วมกิจกรรมรำลึก 1 ปี รัฐประหาร ในวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา บริเวณหน้าหอศิลป์ กทม. (อ่านรายละเอียด) ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ รัฐพล ศุภโสภณ หรือ ‘บาส’ นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วัย 22 ปี สมาชิกกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) ผู้เกิดและโตมาในแฟลตดินแดง  กรุงเทพฯ เขายืนยันว่าจะเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันพรุ่งนี้(24 มิ.ย.58) ตามที่ได้เคยทำหนังสือขอเลื่อนพบไปแล้ว

ในโอกาสนี้ ประชาไท จึงได้มีโอกาสพูดคุยกับ บาส LLTD ถึงตัวตนของเขา การทำกิจกรรมก่อนหน้านี้ กลุ่ม LLTD ประชาธิปไตย ทัศนะต่อ พรบ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ที่เขามองว่าหักหลังประชาชน ให้อภัยไม่ได้ อีกทั้งยังเป็นการทำลายความชอบธรรมของอำนาจการปกครองของการใช้การปกครองแบบรัฐสภา จนกระทั่งมุมมองเขาเขาต่อวิกฤติการเมืองก่อนและหลังรัฐประหาร จนกระทั่งเหตุการณ์หน้าหอศิลป์ฯ และ สน.ปทุมวันวนในที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา รวมทั้งทัศนะต่อการถูกดำเนินคดีและภาพสังคมไทยที่เขาฝันถึง ที่พื้นฐานสุดต้องมีเสรีภาพในการพูด คิด อ่าน เขียน อย่างแท้จริง

บาส LLTD ภาพเขาในกิจกรรมพลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา หน้าศาลทหาร ภาพโดย Banrasdr Photo

000000

“คนที่ว่านักศึกษาไม่ยอมออกมาทำกิจกรรม ผมเห็นความย้อนแย้งหลายอย่างมาก หนึ่งเมื่อนักศึกษาฝ่ายตรงข้ามของตัวเองทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดงออกมา ก็จะมีการโจมตีว่าออกมาทำไม แต่พอถึงคราวฝ่ายตัวเอง ตั้งคำถามว่าทำไมนักศึกษาไม่ออกมา พอออกมา(ฝ่ายตัวเอง)ก็ดีใจกัน ผมคิดว่าสุดท้ายเด็กต่างหากที่กลายเป็นเครื่องมือการโทษการโบ้ยความผิด ที่ผู้ใหญ่ทำลงไป สังคมที่ผู้ใหญ่สร้างมาให้มันเป็นสังคมที่เด็กต้องรับผิดชอบในวันหน้า และผมคิดว่าผู้ใหญ่กำลังโยนมันให้แบบไม่ได้ยินดียินร้ายว่าเด็กจะได้อะไรไป” บาส กล่าว

ประชาไท : ก่อนหน้าที่จะมาอยู่กลุ่ม LLTD ทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง?

บาส : ตั้งแต่เด็กเลยตั้งแต่ ป.3 ป.4 พอมีข่าวการเมืองก็เห็นพ่อกับแม่คุยกันเรื่องการเมือง แล้วที่นี้ พอรัฐประหารปี 49 ผมก็รู้สึกสะเทือนใจตรงที่ว่า ผมแค่เข้าใจว่าผมเกิดมาในประเทศนี้ก็คือช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 35  ก็เข้าใจว่าโอเค หลังรัฐธรรมนูญปี 40 หลังเหตุการณ์อะไรอย่างนี้ รัฐธรรมนูญที่เขาว่านั้นมันก็น่าจะเป็นประชาธิปไตย อำนาจมันก็น่าจะเป็นของประชาชนสิ ถ้าอย่างนั้นไม่ว่าทักษิณ(ชินวัตร)จะดีเลวอย่างไร ประชาชนเลือกมาแล้ว 19ล้านเสียงในตอนนั้น อำนาจอะไรมันล้มคน 19 ล้านเสียงตอนนั้น อำนาจอะไรมันมาล้มง่ายๆเลย ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีอะไรต่อต้าน คือการต่อต้านมันน้อยมาก คือผมก็ไม่เข้าใจก็เลยรู้สึก ก็เริ่มติดตามมาตั้งแต่ตอนนั้น 

แล้วก็ตอนนั้นผมก็ค่อยๆกลายเป็นเสื้อแดง ก็คือว่าพ่อกับแม่เขาก็ไปต้านรัฐประหารเหมือนกัน ไม่ใช่เพราะตามพ่อตามแม่แต่เราทั้งครอบครัวก็เห็นร่วมกันเองว่าอำนาจควรเป็นของประชาชน แล้วก็น่าจะไปรู้จักกับพวกพี่สมยศ พฤกษาเกษมสุข ก็รู้จักกับพวกกลุ่ม24 มิถุนาอะไรพวกนี้ โดยเฉพาะหลังปี 53 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงใน พ.ค.ปี 53 ผมก็อยู่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง และได้เห็นเหตุการณ์ปะทะว่าเป็นยังไงบ้าง ก็เห็นคนเจ็บ ผมก็ยิ่งสะเทือนว่าคนตายกลางเมืองร้อยคน แล้วคนก็ออกไปถูกทำความสะอาดถนนเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ล้างคราบเลือด คือมันเกิดอะไรขึ้น คนมันถึงเฉยอะไรขนาดนี้ ก็เลยรู้สึกแย่ 

หลังจากนั้นปี 53 ก็คือผมเปลี่ยนทางเดินชีวิต แต่ก่อนเรียนดนตรีอยู่ หลังๆ ก็หัดน้อยลง และก็เริ่มเลิกไปทางดนตรี หัดเข้ามาสู้เรียนเพื่อจะเข้าธรรมศาสตร์ เพื่อจะเข้าไปทำกิจกรรมการเมือง คือตอนหลังเหตุการณ์ปี 53 อยู่ ม. 6 แล้ว  หลังจากนั้นผมก็เริ่มได้รู้จักกับ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ตอนนั้นก็พวกพี่ปอง(ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อดีตกรรมการ สนนท.) อะไรพวกนี้ได้มีโอกาสได้เห็นเขาทำกิจกรรมอะไรพวกนี้ อยากเข้าไปทำอะไรอย่างนี้ ก็เลยเข้าธรรมศาสตร์ไป ตอนแรกก็ยังไม่รู้จักกลุ่มกิจกรรม แต่ได้รู้จักกับเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล มาก่อน เนติวิทย์ได้มาชวนทำจุลสารปรีดี และเพื่อนกลุ่มที่ทำจุลสารปรีดีด้วยกัน ก็ชวนผมเข้า LLTD 

ทำไมถึงเลือกมาอยู่กับ LLTD?

ก็จากการที่ได้รู้จักกับเพื่อนที่ทำจุลสารปรีดี อยู่ดีๆ เขาก็ลากผมเข้าไปในกลุ่มอยู่ดีๆ ก็ได้ไปกินข้าวด้วยกันตอนที่เราต้าน จำได้ว่าตอนนั้นประมาณ 5โมงเย็นมันออกประกาศเรื่องห้ามใช้สถานที่ของนิติราษฎร์ ก็คือนิติราษฎร์ห้ามใช้สถานที่ของมหาลัย ก็งานแปะบอร์ดที่อาคารเรียนรวมพวกนั้นนะครับ เป็นการเข้าร่วมกับกลุ่มครั้งแรกก็คือเข้าไปทำกิจกรรมด้วยเลย ก็คือร่วมกับกลุ่มยาวเลยก็คือเหมือนเจอเพื่อนกลุ่มที่ใช่ กลุ่มที่คิดว่าตัวเองจะทำงานด้วย ก็กลายเป็นกลุ่มหลักที่เราอยู่ เป็นเพื่อนก๊วนหลักที่เราอยู่ด้วยเสมอ ก็เลยอยู่กลุ่ม LLTD เป็นสมาชิกนานพอสมควรตั้งแต่มกราคม 54

กิจกรรมของกลุ่มLLTDเน้นด้านการเมืองเป็นหลักใช่ไหม?

เน้นเรื่องการเมืองเป็นหลัก การเมืองก็จะเป็นเรื่องเชิงโครงสร้าง เรื่อง กฎหมายอาญามาตรา 112 เรื่องกองทัพเรื่องอะไรพวกนี้  และส่วนใหญ่จะเป็นเหตุการณ์เฉพาะ แล้วก็อะไรที่รู้สึกว่ามันขัดกับหลักการประชาธิปไตย เราก็จะเคลื่อน ก็จะทำเชิงสัญลักษณ์เป็นหลัก ก็อย่างเช่น Free Somyot ป้ายผ้างานบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เป็นต้น

ในมุมมองของบาสคำว่าประชาธิปไตยมีหลักการพื้นฐานอะไรบ้าง?

ประชาธิปไตยมันก็มีหลายมุมเวลาถูกตีความ แต่ว่า อย่างน้อยพื้นๆ ประชาชนต้องมีอำนาจในการเลือกผู้แทนของเขาและก็อย่างน้อยมันต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลที่ได้มีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง และผมคิดว่ามันก็มีหลายๆ อย่างที่มันต้องมีเสรีภาพจริงๆ ในการเลือก อย่างเช่น มาตรา 112 ที่เราเคลื่อนก็เพราะว่ามันเป็นอะไรที่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก ประชาชนต้องมีเสรีภาพในการทำสิ่งเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นมันก็ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐต่างๆ อำนาจของสถาบันทางการเมืองไม่ได้ ดังนั้นเสรีภาพตรงนี้มันจำเป็นจะต้องมี เราก็เลยคิดว่าเราต้องทำในหลายๆเรื่อง แต่หลักๆแล้ว LLTD มีความหลายหลายมาก เช่น คนที่เป็น Royalist จริงๆก็มีอยู่ แต่ว่าเขาก็คุยกับคนที่คิดจะยกเลิก 112 หรือจะแก้ไข 112 ก็คุยได้ อย่างน้อยทุกคนเห็นไปในทางเดี๋ยวกันหมดว่าจะต้องมีเสรีภาพในการแสดงออกในการพูดวิพากษ์วิจารณ์ เสรีภาพการแสดงออก เป็นสิ่งที่กลุ่ม LLTDให้ความสำคัญ 

ท้ายที่สุดแล้ว เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์เป็นหัวใจสำคัญของการนำไปสู่เสรีภาพอื่นๆ มันเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การดำรงอยู่ของอำนาจต่างๆถูกตรวจสอบจากสายตาประชาชนได้เสมอ และก็เป็นเสรีภาพที่สำคัญมากๆต่อการจะเป็นประชาธิปไตยด้วย

มองท่าทีโต้กลับที่รุนแรงจากการใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยอย่างไร?

เป็นเรื่องปกติของสังคมที่ยังอยู่ในกระบวนการของการนำไปสู่กระบวนการเป็นประชาธิปไตย คือมันเป็นเรื่องปกติที่ว่าในสังคมที่ไม่คุ้นชินกับการวิพากษ์วิจารณ์ สังคมที่คุ้นชินกับการถูกทำให้กลัว ชินกับปกครองภายใต้ความกลัว ด้วยอำนาจอะไรอย่างนี้ คือการทำให้สมยอมกับอำนาจบางอย่างที่มันวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ คือเอาตั้งแต่การเป็นพ่อแม่ในวัยเด็กก็ห้ามเถียงพ่อแม่ ห้ามเถียงห้ามโต้กลับ ทั้งที่ลูกเองก็ควรมีสิทธิจะพูดจะบอกสิ่งที่เขาคิดและรุ้สึกและควรได้รับการพิจารณาเท่าๆกับพ่อคนแม่คน เราถูกกระทำด้วยอำนาจในทุกขั้น พออยู่ในโรงเรียน ครูจำนวนมากก็ปฏิบัติกับหัวของเด็กนักเรียนโดยละเมิดกฎกระทรวง และตั้งอำนาจของข้าราชการอยู่เหนือกฎกระทรวง โดยอ้างว่าตนทำเพื่อนักเรียน ทั้งๆที่ละเมิดร่างกายเด็กอย่างชัดเจน แต่คนไทยเราคุ้นชินจนคิดว่าสิ่งที่ครูทำเราเป็นเด็กก็ต้องทนรับทุกอย่างแม้กระทั่งละเมิดสิทธิเหนือร่างกายของตน พอโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่หน่อย อยู่ในมหาลัยก็เจอรุ่นพี่ เจออะไรอย่างนี้ คือเราก็เห็นว่าหลักการรับน้องมันก็จะเป็นอะไรอย่างนี้ คือแม้กระทั้งรุ่นพี่ไม่ดีมากๆยังมีคนเห็นด้วย ยังมีคนที่แบบเห็นด้วยที่จะไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์อะไรอย่างนี้ คือหลายๆอย่างๆในสังคมที่ มันก็เป็นปกติ แต่พวกผมอาจจะกลายเป็นคนไม่ปกติของสังคมนี้ เพราะพวกผมเข้าใจว่า สังคมนี้มันควรจะเปลี่ยนไปยังไงมากกว่า คือผมก็เลยคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติที่จะเจอแรงกระเพื่อมกลับหรือแรงโต้กลับ แต่ผมก็คิดว่ามันเป็นหน้าที่หรือเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องพยายามทำความเข้าใจกับมัน

“ไม่ใช่ว่าสังคมนี้มันยังไม่พร้อม ยังไม่อะไรอย่างนี้ เราก็จะไม่พร้อมตลอดไป เราก็จะเป็นสังคมที่หยุดนิ่ง ที่ถอยหลัง  เราอยากจะเป็นสังคมที่เป็นอยู่แค่นั้นใช่ไหม ถ้าคุณบอกว่าคุณไม่พร้อมที่จะเป็นแบบนี้ คุณก็จะไม่พร้อมตลอดไปใช่ไหม ตลอดชั่วชีวิตนี้คุณก็จะไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนไปเลยใช่ไหม” บาส กล่าว

เรารอคอยแต่ปาฏิหาริย์ เรารอคอยแต่ฮีโร่ เดี๋ยวสักวันก็คงมีคนมาเปลี่ยนให้  อันนี้รวมไปถึงคนที่คิดจะต่อสู่เพื่อสิ่งนี้ด้วยนะ คือมันก็สำคัญ คนที่คิดเห็นด้วยเขาก็ไม่ได้รออะไร เขาแค่รอคนที่จะมาช่วยเขา คือมันก็เป็นกันทั้งระบบ คือสุดท้ายผมคิดว่ามันเป็นปัญหาทั้งระบบของคนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรี และปัญหาของระบบของคนที่ยังเคยชินกับการใช้อำนาจแม้กระทั้งคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คนเสื้อแดงอะไรยังนี้ก็ยังคงเข้าใจว่า นี่มันวิจารณ์ไม่ได้ อย่างนู้นอย่างนี้มันไม่ควรวิจารณ์พวกเดียวกัน ผมคิดว่ามันจะต้องทำได้ ไม่เช่นนั้นมันก็จะอ้างตัวไม่ได้หรอกว่ามันเป็นประชาธิปไตย เพราะเสรีภาพในการพูดมันไม่มี

ภาพจากคลิป ปากคำเยาวชนหน้าหอศิลป์ฯ เผยแพร่โดยกลุ่ม LLTD 

มองการนิรโทษกรรมเหมาเข่งปลายปี 56 ว่าอย่างไร?

คือผมคิดว่ามันเป็นการใช้อำนาจอย่างมิชอบจริงๆ ก็คือ คุณใช้อำนาจในทางที่มันอาจจะไม่ผิดเชิงระบบอะไรขนาดนั้น ต้องบอกว่ามันไม่ผิดต่อกฎหมายการประชุมสภาอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าคุณมาผิดตรงที่ว่าคุณสัญญากับประชาชนไว้แล้วว่าคุณจะช่วยคนตัวเล็กตัวน้อยออกมา แต่สิ่งที่คุณทำ มันมีข้อกล่าวที่ว่าเพื่อไทยเป็นบริษัทชินวัตรจำกัด คือมันตอกย้ำข้อกล่าวหานี้ มันได้ทำลายความชอบธรรมของอำนาจการปกครองของการใช้การปกครองแบบรัฐสภา คือทำให้ความชอบธรรมในระบบรัฐสภาของการเลือกตั้งมันอ่อนลงไป คือเพื่อไทยมีส่วนอย่างมากในการทำลายเรื่องนี้ลงไป

ผมคิดว่ามันปฏิเสธไม่ได้นะถ้าคนเสื้อแดงไม่เข้าใจประเด็นนี้ ก็พูดไม่ได้หรอกว่าตัวเองกำลังสู้กับประชาธิปไตย  เพราะว่านี้มันคือการใช้อำนาจไปในทางที่มันผิด แล้วมันทำลายประชาธิปไตยด้วย ถ้าคุณอ้างตัวว่าเป็นประชาธิปไตยคุณเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ก็ต้องยึดให้มั่นว่าสิ่งไหนมันถูกมันผิดสำหรับระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ไอ้แบบนี้อะไรอย่างนี้ คือไม่ใช่มาหักหลังประชาชนแบบนี้ แล้วที่ผ่านมาผมให้อภัยไม่ได้ คือมันหักหลังกับคนตายปี 53 มาก การหักหลังกับญาติของผู้บาดเจ็บผู้เสียชีวิตผมคิดว่ามันรับไม่ได้ ผมไม่สามารถให้อภัยกับเรื่องนี้ได้ ผมคิดว่ามันต้องเอาออก มันต้องออก ประเด็นคือ ผมก็ไม่เห็นด้วย การที่จะล้มเขาด้วยอำนาจปืน อำนาจนอกระบบอะไรก็แล้วแต่ การให้ศาลหรือองค์กรอิสระมาทำอะไรแบบนั้น ผมก็ไม่เห็นด้วยมากๆ คือทั้งสองฝ่ายมันมีสิ่งที่พูดถูกและพูดผิดด้วยกันทั้งคู่ แต่ว่าผมคิดว่ามันไม่ยอมฟังกันทั้งสองฝ่ายในกรณีนี้ผมคิดว่าประเทศมันก็เลยเดินได้ลำบากในกรณีนี้ ผมคิดว่ามันเป็นช่องวางที่ทหารมันอ้าง

แล้วตอนนั้นทางออกคืออะไร คิดว่าเลือกตั้ง 2 กุมภา มันเป็นทางออกไหม?

ผมคิดว่ามันเป็นทางออกนะ เพราะอย่างน้อยทำอะไรแย่ๆ มาคุณก็ให้อำนาจนี้ตัดสินว่าประชาชนยังให้อภัยเรื่องนี้ได้หรือไม่ แต่ในขณะที่ก็เข้าใจว่าทาง กปปส. เองก็คงไม่เชื่อมั่นในหลักการเลือกตั้งในตอนนั้นจริงๆหรอก เพราะเขาเชื่อว่ากี่ครั้งกี่ครั้งมันก็ขึ้นอยู่กับทักษิณกับเพื่อไทย ประการที่สองคือผมคิดว่าทั้งหมด คือตอนนั้นผมค่อนข้างเห็นด้วยว่าทางไปลำบาก แต่ผมกลับเชื่อว่าจริงๆแล้วถ้าองค์กรอิสระ หรือพรรคการเมืองไม่ทำแบบนั้น ผมคิดว่าประเทศมันไปได้ ประเด็นก็คือว่าทหาร ซึ่งพอผมพูดแบบนี้ ทหารก็จะมาพุดว่านี้ไงแบบนี้ ทหารเราก็ช่วยใช่ไหม แต่ผมมองว่าทหารไม่ต้องมายุ่งไม่ต้องมาเสือกเลย มันไม่ใช่เรื่องของคุณ อันนี้คือความเห็นของผมเลย การใช้ปืนแล้วบอกว่าปราบไปทั้งสองฝั่งมันไม่ใช่คำตอบของประเทศ แล้ว 1 ปี 1 เดือนหลังรัฐประหารที่ผ่านมานี้มันก็เห็นแล้วว่ามันไม่ใช่

ภาพ บาส ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2557

หลังรัฐประหารมีกิจกรรมอะไรบ้าง?

ก่อนดูหนัง Hunger Game ก็จะมีจัดเสวนาก็โดนปิด เรื่อง การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ เราทำภายใต้ theme ห้องเรียนประชาธิปไตย บทที่ 2 แล้วถูกควบคุมตัวไปที่ สน.คลองหลวง ตอนนั้นมีเงื่อนไขว่าถ้าจะจัดงานเสวนาต้องเป็นอำนาจของทางทหารว่าจะมีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะให้หรือไม่ให้ 

ตอนนั้นมันเป็นหมุดหมายว่า มหาลัยยอมมหาลัยกำลังเอาเสรีภาพทางวิชาการยกให้กับคนนอกที่มีปืนและมีอำนาจล้นมือ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่ควรเป็น

ส่วนกิจกรรมดูหนัง Hunger Game นั้นโดนจับ ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้ทำอะไรเลย พอนักข่าวกระจายออกจากตัวผมปุ๊บก็ตำรวจก็มาควบคุมตัวเลย ผมก็อึ้ง 

ภาพกิจกรรม ห้องเรียนประชาธิปไตยบทที่ 2 การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ เมื่อวันที่ 18 ก.ย.57 (ดูรายละเอียด)

ทำไมถึงไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร?

มีตั้งแต่ที่มาจนวิธีการใช้อำนาจทุกอย่าง คือแค่มาตรา 44 กับ 48 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 นี่ก็สุดๆ แล้ว คือมาตราหนึ่งเขียนว่าทำอะไรก็ได้ อีกมาตราหนึ่งเขียนว่าทำอะไรก็ไม่ผิด คือผมคิดว่านี้มันกฎหมายหรอ คือผมคิดว่ามันไม่ใช่แล้ว คือเรายังรับรองให้สิ่งนี้เป็นกฎหมายอยู่หรอ ผมก็ตั้งคำถาม ไม่ใช่แค่คำถามถึงตัว คสช. แต่เป็นคำถามถึงคนที่รักประชาธิปไตย ของคนที่แม้กระทั้งเป่านกหวีด สมัย กปปส. ก็ต้องตั้งคำถามว่านี้มันกฎหมายหรอ นี้คุณจะยอมรับว่ามันเป็นกฎหมายใช่ไหม คือถ้าแบบนี้เราก็จะเคยชินที่ว่าถ้ามีคนเอาปืนออกมามันจะเป็นกฎหมายทุกครั้งในสิ่งที่เขาพูด เรายอมรับแบบนี้หรอ ผมว่ามันไม่ใช่ หรือว่าเราจะเขียนกฎหมายช้าๆ ในระบอบประชาธิปไตยแต่ว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ คือในเชิงระบอบหรืออะไรก็แล้วแต่ คือโอเคมันอาจจะมีการใช้อำนาจในเชิงไม่ชอบธรรมในสภาพอย่างนี้ คืออย่างน้อยมันผ่านการยับยั้ง ผ่านการคุยสุดท้าย พรบ.นิรโทษกรรม ก็ตกไป มันก็ถูกยังยั้งได้ มันก็ยังมีระบบตรวจสอบถ่วงดุล แต่ถ้าไม่มีใครทำอะไรก็คือ ปืนคือกฎหมาย ผมก็คิดว่านี้มันใช่บ้านเมืองที่เคยตกลงว่าจะเป็นประชาธิปไตยแล้วหรอ ตกลงว่าจะเป็นประชาธิปไตยแล้วใช้ปืน ผมว่ามันไม่ใช่แล้ว

ทำไมถึงไปหน้าหอศิลป์วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา?

ผมก็ได้คุยกับเพื่อนคร่าวๆ ว่าโอเคเราก็จะมีกิจกรรมนะ ไปยืนกุมเป้ากางเกงกันนะ ดูนาฬิกากัน 15 นาทีแล้วทุกคนก็จะตะโกนคำนึงแล้วเราก็จะแยกย้ายกลับบ้าน ผมกับเพื่อนก็ยังตกลงกันเลยว่าเสร็จกิจกรรมก็จะไปหาอะไรกินกัน ก็คือคิดว่าทำกิจกรรมเสร็จก็จะไปหาที่ดื่มที่กินกันนะ เป็นปกติชีวิตวัยรุ่นมันก็แค่นั้น แล้วก็ไม่คิดว่าจะเกิดเรื่อง 

ผมไปถึงก็หกโมงสิบนาทีแล้วก็เหลือแค่ 5 นาที ผมจำได้ว่าตอนลงมาจากมอเตอร์ไซค์ก็เห็นเพื่อนโดนยื้อกระชากอยู่ ก็ตกใจ จึงรีบวิ่งเข้าไปและพยายามจะเข้าไปช่วย พอหลุดออกมาจากครั้งแรก ครั้งถัดไปไม่ถึง 5 นาทีผมก็โดนจับแล้ว ผมเข้าไปแป๊บเดียวก็โดนแล้ว โดนอุ้ม โดนหิ้วไป โดนต่อยอีก ผมคิดว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ผมคิดว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง ไม่ใช่เลย อะไรอย่างนี้ ผมคิดว่ามันผิดแปลกไปมาก

บาส ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ขณะเตรียมเข้าชมภาพยนตร์เรื่อง เดอะ ฮังเกอร์เกมส์: ม็อคกิ้งเจย์ เมื่อวันที่ 20 พ.ย.57 (่อ่านรายละเอียด)

ทำไมถึงได้ไปจัดกิจกรรมในลักษณะแบบนั้น?

เราคิดว่าเราจะจัดกิจกรรมที่สงบที่สุดและใช้เวลาสั้นที่สุด คือ 15 นาที ก็คือเราคิดว่าจะทำแค่นั้น ทำแค่นี้ไม่ได้คิดจะทำอะไรต่อ หรือชุมนุมต่อ กิจกรรมแค่ 15 นาทีแล้วก็ไม่มีอาวุธ ไม่มีอะไรที่ร้ายแรง ก็ทำปุ๊บเสร็จปั๊บ เราก็คิดแค่นี้  เราก็ไม่ได้คิดว่าจะทำอะไรต่อเนื่องเพราะเราก็รู้ว่ามันทำอะไรลำบากในสภาวะแบบนี้ แล้วเราก็ไม่อยากจะทำอะไรที่มันเสี่ยงติดคุก พอมันเกิดขึ้น มันก็ผิดคลาดไปเยอะ

คสช.เองก็มีประกาศอยู่ว่าห้ามชุมนุมทางการเมือง มองเรื่องนี้อย่างไร?

อย่างที่บอกไปตอนแรกว่า เราไม่ยอมรับว่าประกาศนี้มันเป็นกฎหมาย อำนาจของคนเป็นอันธพาล อำนาจของคนที่ถือปืน เราไม่คิดว่านี้มันเป็นกฎหมายที่คนยอมรับได้ และเราไม่ควรยอมรับมัน เราออกแบบกิจกรรมแบบนั้น คือมันง่ายต่อคนที่จะมารวมและง่ายต่อคนที่จะกลับ เราก็เลยออกแบบกิจกรรมแบบนั้นให้ประนีประนอมสุดๆแล้ว เราก็ไม่คิดว่าจะโดนอะไรแบบนี้ ขนาดนี้ อย่างผมก็โดนชก

จากนั้นก็มีการชุดกระฉากกันขึ้นรถตู้ถึง สน.ปทุมวัน แล้วเกิดอะไรขึ้น?

คือเราไปถึงเราก็ยืนยันว่าเราจะไม่ยอมรับอะไรทั้งสิ้น เพราะการที่เราโดนจับไปนี่เป็นการผิดกฎหมายด้วยซ้ำ กฎหมายที่เราพูดถึงคือกฎหมายปกติ แต่เราไม่ถือว่าคำสั่งหรือประกาศของ คสช. ว่าเป็นกฎหมาย มาอ้างว่าคำสั่งคสช.มาเป็นกฎหมาย 

ผมว่าความสำเร็จมากๆของเผด็จการคือเขาไปสร้างคำสั่งสร้างกระบวนการแล้วคนไปยอมรับว่ามันเป็นกฎหมาย คือคนยอมรับการปกครองของเขา พอเราไปถึงเราก็ไม่ให้การร่วมมืออะไรทั้งสิ้น คือเขาให้ไปเขียนชื่อเขียนประวัติแล้วก็กลับ แต่ราก็ไม่ให้ความร่วมมือเพราะนี้มันเป็นการที่เราจะกลายเป็นผู้ต้องหา กลายเป็นคนผิด คือคุณพาเรามาที่โดยที่เราไม่รู้ว่าคุณจะแจ้งข้อกล่าวหาอะไรเราตอนแรก แล้วคุณก็ต้องปล่อยเรากลับแบบนั้น ไม่ใช่ จับจับมันไปก่อนแล้วเดี๋ยวกูค่อยแจ้งข้อกล่าวหา

เหตุการณ์หน้าหอศิลป์มีการเจรจาก่อนไหม?

ผมไม่คิดว่านั้นมันคือการเจรจา คือการเอาเจ้าหน้าที่จำนวนมากกว่ามาจับเพื่อนเราไปก่อนแล้ว โดยที่เรายังไม่ทันทำอะไรแล้วก็มาจับเราไปอีกเพิ่มไปอีก ผมไม่คิดว่ามันเป็นการเจรจา มันเป็นการกระทำของอันธพาลมากกว่า 

ที่ สน.ปทุมวัน ตอนออกมาเขามีการบอกว่าจะมีการดำเนินคดีหรือไม่?

ตอนออกมาเขาบอกว่าจะไม่มีการดำเนินคดีย้อนหลัง เราก็โอเคจะไม่มีการดำเนินคดีแล้วเขาก็ทำ

ตอนแรกมีข้อเสนอมาว่าจะดำเนินคดีเฉพาะ 9 คน  แล้วจะปล่อยส่วนที่เหลือออก แต่เราก็ยืนยันว่ามาด้วยกันก็ต้องไปด้วยกัน ยืนยันในหลักการว่าเราไม่ผิด พอเราเหนียวแน่นแบบนี้เขาก็ยกเลิกข้อเสนอนี้ คราวนี้พอปล่อยเขาก็ให้เขียนคำว่าไม่เคลื่อนไหวลงในสำเนาบัตรประชาชน ซึ่งมองว่าหลอกลวงแกมบังคับให้เราเซ็น แต่เราประเมินกันว่าโอเค เพื่อนเราก็เหนื่อยล้าแล้ว และคนข้างนอกที่รอเราหน้าสน. ไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่จะทำอะไรกับคนข้างนอกที่มารอเรา เราก็โอเคยอมออกก็ได้ แต่ประเด็นก็คือ เขาต้องให้สัญญาว่าจะไม่แจ้งความย้อนหลัง ถ้ามีนี้มันคือการตระบัดสัตย์ชัดๆ 

และผมว่าอำนาจตอนนั้นมันไม่ได้อยู่กับตำรวจจริงๆ คือตอนนั้นใช้ตำรวจไม่ได้ผล ก็ใช้นักข่าว ใช้นักข่าวไม่ได้ผลก็ใช้อาจารย์ ใช้อาจารย์ไม่ได้ผลก็ใช้ทหาร คือเหมือนเขาพยายามใช้อำนาจใส่เข้าข่มทั้งนั้น คือมันไม่ใช่กระบวนการอะไรทั้งนั้น มันเป็นการใช้อำนาจเข้าข่มไม้อ่อนไม่ได้ ก็เอาไม้แข็ง คือเอาทหารเข้ามาว๊ากข้างใน นี่มันไม่ใช่ แล้วบ้านเมืองเราก็กำลังยอมรับว่าสิ่งนี้เป็นกฎหมายซึ่งผมไม่สามารถเข้าใจได้

9 คนตอนนั้น เราไม่สามรถรู้เลยว่าใครบ้าง เราก็มีการคาดการณ์แต่ก็คาดไม่หมด พวกเราเลยคิดว่ามันเป็นแผนที่จะทำให้เราทิ้งกัน เขาพยายามเล่นทุกวิธี ใช้จิตวิทยา เพื่อให้เราทิ้งๆคนอื่นมันไปเถอะ มันเป็นวิธีที่จะทำให้เราแตกกัน แต่เราก็ยึดมั่นในหลักการเขาก็พยายามใช้ทุกวิธีเพื่อให้เรายอมเขา

หลังจากที่ออกมาจาก สน.ปทุมวัน ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก มีการกล่าวหาเสียบประจารต่างๆ ทั้งรับเงินทักษิณ ล้มเจ้าหรือผลไม้พิษ มองเหตุการณ์เหล่านี้ว่าอย่างไร?

ก็ตลกดี ถ้าเป็นผลไม้พิษ ก็คงเป็นคนเป็นสำหรับทหารที่กำลังรักษาอำนาจของตัวเองเท่านั้นละ คือถ้ามันเป็นพิษ มันก็เป็นพิษกับคนที่พยายามรักษาอำนาจตัวเองกับคนที่ขโมยของคนอื่นแล้วไปเคี้ยวผลไม้นี้เข้า ผมคิดว่าผมเป็นผลไม้พิษของพวกที่คิดขโมยอำนาจประชาชน

พวกผมก็เป็นคนธรรมดา ใช้ชีวิตปกติแต่แค่มีความสนใจทางการเมืองแล้วมีแอ็คชั่นทางการเมืองแค่นั้น ชีวิตเรามันก็แค่นี้ แล้วเรื่องได้เงินทักษิณ คือถ้าผมได้เงินจากทักษิณผมก็คงไม่ต้องกินข้าวคลุกน้ำปลา คือทุกวันนี้ผมยังเอาของเหลือในตู้เย็นมาอุ่นกินอยู่เลย ผมไม่เข้าใจว่าผมได้เงินทักษิณมายังไง ผมถึงได้กินแต่ในตู้เย็น คือถ้าได้เงินจากทักษิณผมว่าทักษิณคงลืมโอนมานานมากเป็น 10 ปีแล้ว คือผมว่ามันไม่ใช่ แล้วผมก็ไม่ได้ชอบทักษิณแล้วด้วย ความคิดผมก็เปลี่ยนตามข้อเท็จจริง

มันมีข้อกล่าวหาเรื่อล้มเจ้าก็เป็นเรื่องที่ตลกดี เพราะว่าข้อกล่าวหานี้แม้กระทั่งตำรวจที่มาเคลียร์พื้นที่หน้าหอศิลป์ฯ วันเกิดเหตุก็อ้างเรื่องบริเวณตรงกันข้ามจุดหอศิลป์ฯ นั้นเป็นวังพระเทพ จะมาก่อกวนอะไร ผมมองว่าการอ้างแบบนี้เป็นวิธีการที่แย่ เป็นถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจยังกล้าพูดแบบนี้ แล้วไปอยู่ที่ไหนมาตอนที่ กปปส. ใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวชุมนุม จึงไม่คิดว่ามันจะเป็นคำพูดที่หลุดออกมาจากตำรวจที่ต้องมาจัดการกับสถานการณ์เช่นนั้น

คำพูดในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นการจัดการกับคนที่เห็นต่างของรัฐบาลนี้ และเป็นอีกครั้งที่คนไม่ได้พูดถึงว่ามีการดึงเรื่องสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง 

ยังกล่าวหาว่ารับเงินแม้ว(ทักษิณ ชินวัตร) มาอีก ทั้งๆที่ชีวิตก็ไม่ได้ดีขึ้น ทำกิจกรรมพวกนี้ก็มีแต่จะเสียตังค์ ผมแค่แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ผมทำมีความต่อเนื่องมาตั้งแต่ผมเป็นเด็กๆแล้ว มีความคิดเป็นของตัวเองนานแล้ว 

“ผมคิดเองเป็น เหมือนกับที่ผมเชื่อว่าทุกคนในระบอบประชาธิปไตยมันเลือกเองได้ มันไม่ต้องมีใครเอาปืนมา มันเลือกทางเดินได้ ผมเชื่อแบบนี้ ผมเชื่อตัวเองแบบไหน ผมก็เชื่อในประชาชนแบบนั้น” บาส กล่าว

ภาพของวันเกิดเหตุ(22 พ.ค.58) มันเป็นภาพที่แตกต่างจากก่อนหน้าที่ว่ากิจกรรมของกลุ่มคนทางการเมืองไม่ว่าจะเสื้อแดง หรือเสื้อเหลือง กปปส. ออกมาเคลื่อนไหว แต่ภาพวันนั้นถูกนำเสนอว่าเป็นเป็นภาพของนักศึกษา ทำให้ดูมีพลังในการโต้กับฝ่ายรัฐประหาร จนเกิดการทำลายความชอบธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อีกด้านก็ผุดวาทะกรรมหรือภาพของพลังนักศึกษาในอดีตขึ้นมา เช่น 14 ตุลา 2516 ในมุมมองของบาสที่ทำกิจกรรมนักศึกษามาหลายปี มองวาทะกรรมเรื่องพลังนักศึกษาว่าอย่างไร?

คิดว่ามีคนพยายามโยงเราไปกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ในแง่หนึ่งเหมือนจะดี แต่จริงๆแล้วผมไม่ได้อยากได้อะไรแบบนั้น พลังนักศึกษาในขณะนั้นมันมีบริบทที่คนลืมเอามาเปรียบเทียบ เช่น ทุกวันนี้ไม่ใช่ว่านักศึกษาเขาจะไม่สนใจการเมือง แต่เขามีวิธีแสดงออกของเขาที่หลากหลาย เช่น เขามีเฟซบุ๊กบางทีเขาก็แค่แชร์ หรือพูดสิ่งที่ตัวเองคิดออกไปผ่านเฟซบุ๊กตัวเอง เขาก็รู้สึกสบายใจขึ้นแล้ว 

คนมีพื้นที่ในการเขียนในการอ่าน เหมือนกับเขาสบายใจแล้ว แต่อย่างเราอาจจะมองว่ามันต้องออกมา มันถึงจะเป็นพลังที่จริงๆ เพราะสุดท้ายพลังทางการเมืองก็ขึ้นอยู่กับการทำอะไรแบบนี้เหมือนกัน

“ผมเองไม่อย่างเป็น 14 ตุลา ไม่อยากเป็น 6 ตุลาผมไม่อยากตาย ไม่อยากเสี่ยงอะไรขนาดนั้น ผมมีความกลัวมีอะไรหลายๆอย่างที่อยากจะรับผิดชอบในอนาคต แต่ผมไม่รู้จะทำอย่างไรในเมื่อไม่มีใครคิดจะออกมา และมันไม่มีใครคิดจะแสดงตัวว่ากูคือผู้รักประชาธิปไตยจริงๆนะ และเหมือนว่าคนจะพูดจะเข้าใจว่านี่เผด็จการ การยึดอำนาจการรัฐประหารเป็นสิ่งที่แย่ที่สุดในระบอบประชาธิปไตย แต่คนมันออกมาได้แค่นี้ โอเคมันมีปัจจัยซับซ้อนหลายอย่าง แต่สุดท้ายก็รวมผลเดียวกันคือคนอาจไม่ได้แคร์กับเรื่องนั้นจริงๆ ถ้าเราแคร์เรื่องนี้จริงๆบ้านเมืองมันก็คงไม่เป็นแบบนี้หรือเปล่า” บาส กล่าว

เกี่ยวกับคดีที่กำลังถูกดำเนินอยู่นั้น ทำไมถึงไม่ไปรายงานตัว ไม่กลัวว่าจะถูกออกหมายจับหรือ?

คิดว่าคดีที่เป็นคดีทางการเมือง และพวกผมไม่ได้ทำอะไรผิดชัดเจนขนาดนี้ จริงอยู่ว่าคดีทางการเมืองก็อาจจะแยกออกไปในคดีการเมืองที่มีความเสียหายจริงอะไรแบบนั้นไป แต่นี่เป็นคดีทางการเมืองที่พวกผมไม่ได้สร้างความเสียหายอะไร ถ้าบังเอิญจะไปสร้างความเสียหายก็เป็นเพียงความเจ็บช้ำน้ำใจของคนที่ทำรัฐประหารเท่านั้น มันไม่มีความเจ็บช้ำน้ำใจของคนอื่น และผมยืนยันว่าผมไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ไม่ไม่รู้ว่าจะต้องเข้ากระบวนการที่มันผิดแบบนี้ทำไม คือกระบวนการที่เขาใช้มาลงโทษมาไล่บี้พวกเรามันเป็นอำนาจทางการเมืองล้วนๆ เป็นอำนาจสั่งการของคนเป็นผู้นำทั้งนั้น ไม่ใช่คดีตามระบบระเบียบอะไรที่มันเป็นอยู่แต่เดิม

ดังนั้น มันชัดมากว่านี่มันคือการกลั่นแกล้ง และพวกผมไม่คิดว่าการไปรายงานตัว หรืออะไรที่ตามที่เขาต้องการเป็นสิ่งที่สำควรจะทำ และถ้าเขาจะออกหมายจับก็ให้เขาออก พวกผมไม่ได้กลัวอะไร แต่ก็ยืนยันว่าจะไปวันที่ 24 มิ.ย.นี้ ซึ่งก็ได้ยืนยันไปแล้วและขอเลื่อนไปแล้ว และเขาก็ให้ด้วย แต่กลับเปลี่ยนใจในวันถัดมา และอ้างว่าวันที่เลื่อนไม่มีเจ้าหน้าที่รับเรื่องพวกนี้อยู่ที่โรงพัก ซึ่งตลกมากที่โรงพักเปิดมาตลอดไม่รู้กี่ปี ดันไม่ว่างทั้งโรงพักพร้อมกันเลย

ในฐานะที่เราออกมาทำกิจกรรมหลายปีแล้ว ภาพฝันของสังคมหรือประเทศที่บาสอยากให้เป็นมีหน้าตาอย่างไร?

เป็นประเทศที่มีเสรีภาพในการพูดอย่างแท้จริง ไม่ใช่เลื่อนลอยอยู่แต่ในรัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนแล้วก็ฉีกครั้งแล้วครั้งเล่า นั่นคือประเทศที่ผมอยากเห็นเป็นขั้นต่ำที่สุด คือจะปกครองโดยรายละเอียดขนาดไหนเป็นเรื่องที่ขอให้มีเสรีภาพการพูดจริงๆ ที่ไม่ใช่การที่บอกว่ามาจัดเวทีให้แล้วทำไมไม่มาพูดในเวทีเหล่านั้น แบบนั้นมันไม่ใช่ แต่เขาอยากจะพูดตรงไหนเขาต้องมีสิทธิที่จะพูด นี่คือความหมายของผมและผมคิดว่าถ้าเขายังไม่มีอิสระในการรณรงค์ในการพูด คิด อ่าน เขียน ผมคิดว่าประเทศนี้ก็หวังอะไรไม่ได้แล้วล่ะครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท