Skip to main content
sharethis

หมุดหมายทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญหน้าหนึ่งของสหรัฐฯ คือการเลิกทาสในสมัยประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ซึ่งมีส่วนเกี่ยวโยงกับสงครามกลางเมืองกับฝ่ายสมาพันธรัฐ แต่ธงที่ถูกมองว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติก็ยังคงอยู่มาอีก 150 ปี จนกระทั่งความรุนแรงต่อคนผิวดำครั้งล่าสุดทำให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อปลดธงนี้แล้ว

โบสถ์เอมมานูเอล แอฟริกัน เมโธดิสท์ เอพิสโคโพล ที่เกิดเหตุกราดยิงคนผิวดำ เป็นแหล่งสำคัญทางประวัติศาสตร์การต่อสู้ด้านสิทธิของคนผิวดำมาก่อน

Credit: ผู้ใช้ชื่อ Cal Sr, เว็บไซต์ Flickr, CC BY 2.0

25 มิ.ย. 2558 หลังจากเกิดเหตุการณ์คนร้ายบุกยิงโบสถ์คนผิวดำในเมืองชาร์ลส์ตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา ทำให้มีผู้จนกระทั่งมีการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยชื่อดีแลนน์ รูฟ ผู้แสดงออกถึงแนวคิดเหยียดสีผิว ทำให้มีข้อถกเถียงเรื่องธงสมาพันธรัฐอเมริกา (Confederate Flag) ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การใช้ทาสคนผิวดำในทางตอนใต้สหรัฐฯ และรูฟก็มีรูปถ่ายตัวเขาร่วมกับธงสมาพันธรัฐอเมริกาจำนวนมาก

โดยเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมามีประชาชนหลายพันคนชุมนุมที่หน้าอาคารรัฐสภาของมลรัฐเซาท์แคโรไลนาเพื่อเรียกร้องให้มีการนำธงสมาพันธรัฐอเมริกันออกอีกทั้งยังมีการเปิดให้ลงชื่อเรียกร้องในเว็บไซต์ MoveOn.org ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีผู้ลงชื่อสนับสนุนการปลดธงมากกว่า 557,000 คน นอกจากนี้ยังมีบางคนถึงขั้นประท้วงด้วยการแสดงการเผาธงสมาพันธรัฐฯ เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต

ธงรบของกองกำลังรัฐเทนเนสซีในสมัยสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ ที่ยังคงถูกใช้ด้วยความหมายต่างๆ จนถึงยุคปัจจุบัน
ที่มาภาพ : William Porcher Miles (1822-1899) (Vector graphics image by Crotalus horridus), Wikipedia, Public Domain

จากกระแสกดดันทำให้ในวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมามีการปลดธงสมาพันธรัฐอเมริกาทั่วประเทศ หลังจากที่ส.ส. รัฐเซาท์แคโรไลนาร่วมกันลงมติเรียกร้องให้มีการนำธงออกจากลานหน้าอาคารรัฐสภาของมลรัฐ ส่วนในรัฐอย่าง เท็กซัส มิสซิสซิปปี เวอรืจิเนีย และเทนเนสซี ที่ทางการรัฐสนับสนุนให้ติดธงสมาพันธรัฐฯ กำลังวางแผนนำธงเหล่านี้ออกเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มธุรกิจเอกชนรายใหญ่อย่าง วอลมาร์ท อีเบย์ กูเกิลช็อปปิ้ง และผู้ผลิตธงหลายรายพากันนำธงสมาพันธรัฐฯ ออก

เหตุที่มีการถกเถียงในเรื่องนี้เพราะมีบางส่วนมองว่าธงสมาพันธรัฐฯ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการเหยียดเชื้อชาติและการใช้แรงงานทาส ในขณะที่บางส่วนกลับมองว่ามันเป็นธงที่เป็นตัวแทนมรดกและเป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์

โดยในการณรงค์ผ่านเว็บ MoveOn.org ระบุว่าธงสมาพันธรัฐฯ ไม่ใช่สัญลักษณ์ที่เป็นความภาคภูมิใจของรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐฯ แต่เป็น "สัญลักษณ์ของกบฎและการเหยียดเชื้อชาติ" จากเหตุการณ์สังหารผู้คนในโบสถ์คนผิวดำโดย "ผู้ก่อการร้ายเหยียดเชื้อชาติ" จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 9 ราย

"มันถึงเวลาแล้วที่จะทิ้งสัญลักษณ์ของการกบฎและการเหยียดเชื้อชาตินี้ไว้เบื้องหลัง แล้วเดินหน้าเพื่อเยียวยาและทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาดีขึ้น" คาเรน ฮันเตอร์ ระบุในการรณรงค์ที่เว็บ MoveOn


สัญลักษณ์ของกบฎและการเหยียดเชื้อชาติ?

ธงสมาพันธรัฐฯ ซึ่งกลายเป็นที่ถกเถียงในที่นี้ คือธงชนิดที่มีตราสัญลักษณ์รูปดาวบนกากบาทตามจำนวนรัฐที่สังกัดอยู่ในฝ่ายสมาพันธรัฐอเมริกา ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นธงรบของกองกำลังนอร์ทเธิร์นเวอร์จิเนียและแปลงเป็นแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพื่อใช้เป็นธงรบของกองกำลังรัฐเทนเนสซีในช่วงสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ ปี 2404-2408 สงครามที่มีสาเหตุจากกลุ่มมลรัฐทางตอนใต้ไม่พอใจการที่ อับราฮัม ลินคอล์น ผู้นำพรรคริพับริกันในยุคนั้นประกาศต่อต้านการขยายอาณาเขตระบบทาส หลังจากลินคอล์นได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ กลุ่มสมาพันธรัฐจึงพยายามแยกตัวเพื่อปกครองตนเอง

เหตุการณ์ที่จุดชนวนสงครามกลางเมืองในสหรัฐฯ คือเหตุการณ์ที่กองทัพของฝ่ายสมาพันธรัฐโจมตีฐานที่มั่นของทหารสหรัฐฯ ที่ฟอร์ตซัมเตอร์ เมืองชาร์ลส์ตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2404 มีการสู้รบในอีกหลายยุทธการณ์หลังจากนั้นจนกระทั่งฝ่ายทางเหนือของสหรัฐฯ ได้รับชัยชนะในปี 2408 ในระหว่างสงครามนั้นเองลินคอล์นได้ออกประกาศเลิกทาส (Emancipation Proclamation) เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2406 ซึ่งต้องการปลดปล่ออยทาสราว 3 ล้านคนในสหรัฐฯ ให้เป็นอิสระ

ถึงแม้ว่าคำประกาศเลิกทาสของลินคอล์นจะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็นจากผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ เช่นเรื่องการจัดการที่ไม่มีการให้สิทธิความเป็นพลเมืองต่ออดีตทาส เรื่องที่เป็นการประกาศด้วยอำนาจสงครามทำให้ไม่มีผลบังคับใช้กับทาสในรัฐฝ่ายเหนือของประเทศ แต่การประกาศเลิกทาสของลินคอล์นก็กลายเป็นสัญลักษณ์สำหรับฝ่ายเหนือให้ต้องมีพันธกิจในการระบุถึงการปลดปล่อยทาสไว้ในนิยามของคำว่า "เสรีภาพ" ด้วย และในปี 2407 ลินคอล์นก็มีบทบาทสำคัญในการทำให้สภาคองเกรสลงมติสนับสนุนบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราที่ 13 ซึ่งระบุให้มีการเลิกทาสโดยถาวรทั่วสหรัฐฯ

ภาพวาดยุคศตวรรษที่ 17 แสดงให้เห็นชีวิตแรงงานทาสในสถานประกอบการยาสูบที่รัฐเวอร์จิเนีย
ที่มาภาพ : ไม่ปรากฎชื่อผู้ผลิตภาพ, Public Domain

 

ประเทศสหรัฐฯ มีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการค้าทาสตั้งแต่ยุคสมัยยังเป็นอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งมีทาสชาวแอฟริกันจำนวนมากถูกไปเข้าในประเทศเพื่อทำงานหนัก เช่นการเพาะปลูกในไร่ฝ้ายซึ่งเป็นพื้ชเศรษฐกิจทางมลรัฐทางตอนใต้ โดยที่ฝ่ายสนับสนุนการใช้ทาสคนผิวดำเชื้อสายแอฟริกันมีวาทกรรมหนึ่งที่มักจะนำมาใช้อ้างความชอบธรรมในการใช้ทาสคือการอ้างว่าคนผิวขาวคือเผ่าพันธู์ที่สูงส่งกว่าส่วนคนผิวดำต้อยต่ำกว่า

ทั้งหมดนี้คือสาเหตุว่าทำไมถือมีการผูกโยงธงสมาพันธรัฐฯ เข้ากับการเหยียดเชื้อชาติ ถึงแม้ว่าจะมีการนำธงนี้มาใช้ในการตีความอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องแรงงานทาสเช่นการแสดงตัวตนของชาวมลรัฐทางตอนใต้ของทหารสหรัฐฯ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีการนำมาใช้อีกน้อยมากหลังจากนั้น แต่จากการสำรวจโพลล์ของบริษัทวิจัย YouGov เมื่อปี 2556 ระบุว่าชาวอเมริกันร้อยละ 38 ไม่เห็นด้วยกับการแสดงธงสมาพันธรัฐ และร้อยละ 44 มองว่าธงนี้เป็นสัญลักษณ์ของการเหยียดเชื้อชาติ ร้อยละ 24 มองว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติอย่างมาก และร้อยละ 20 มองว่าเป็นทั้งการเหยียดเชื้อชาติและเป็นสัญลักษณ์แสดงความภาคภูมิใจในภูมิภาคทางตอนใต้ของสหรัฐฯ

ในอีกมุมมองหนึ่งธงสมาพันธรัฐฯ ก็กลายเป็นเพียงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นอัตลักษณ์ความเป็นคนของรัฐทางตอนใต้โดยอาจจะไม่ได้คิดไปไกลถึงประวัติศาสตร์ หรือบางคนอาจจะแค่ต้องการโบกธงเพื่อแสดงการรำลึกถึงบรรพบุรุษที่เสียชีวิตในสงครามกลางเมือง

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าธงสมาพันธรัฐนี้ไม่เพียงแค่เกี่ยวข้องกับฝ่ายสนับสนุนทาสในสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ เท่านั้น แต่กลุ่มเหยียดสีผิวต่างๆ อย่างกลุ่ม "คู คลักซ์ แคลน" หรือกลุ่ม "สกินเฮด" นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ นักประวัติศาสตร์จึงมองว่าธงนี้การกลายสัญลักษณ์สื่อถึงแนวคิดที่ว่าคนผิวดำไม่เท่าเทียมกับคนผิวขาว


"ก้าวสำคัญในการเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์ของพวกเราเอง"

เจ้าหน้าที่ทางการของมลรัฐต่างๆ ในสหรัฐฯ กำลังแสดงเจตจำนงต้องการปลดธงสมาพันธรัฐฯ ออก เช่น เทอร์รี แทคอูลิฟฟ์ ผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนียประกาศว่าเขาต้องการให้มีการนำธงสมาพันธรัฐฯ ออกจากป้ายทะเบียนรถของรัฐ ซึ่งศาลสูงสุดของทางการกลางอนุญาตให้มีการจำกัดการออกแบบดังกล่าวนี้ได้

ส.ส. ในรัฐมิสซิสซิปปีวางแผนออกกฎใหม่ให้มีการนำสัญลักษณ์สมาพันธรัฐฯ ออกจากธงประจำรัฐของพวกเขาซึ่งมีตราสมาพันธรัฐฯ อยู่มุมบนซ้าย ทางด้าน ส.ส. ในเทนเนสซีกล่าวว่าพวกเขาต้องขอพิจารณาว่าจะมีการนำรูปปั้นครึ่งตัวของนายพลฝ่ายสมาพันธรัฐฯ และผู้นำกลุ่มคู คลักซ์ แคลน ออกหรือไม่

นอกจากธงแล้วสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์อย่างรูปปั้นก็กลายเป็นเป้าหมายของกลุ่มต่อต้านการเหยียดสีผิว เช่น ในเมืองชาร์ลส์ตัน อนุสาวรีย์ของอดีตนักการเมืองที่ชื่อ จอห์น ซี คาลฮูน ผู้สนับสนุนการใช้แรงงานทาสถูกพ่นสีที่ใต้ชื่อของเขาด้วยคำว่า "เหยียดเชื้อชาติ" และในที่อื่นๆ ทั่วสหรัฐฯ ก็เริ่มมีการพ่นสีตามอนุสาวรีย์ต่างๆ ด้วยคำเดียวกันหรือประโยคที่ว่า "ชีวิตของคนผิวดำมีความหมาย" ซึ่งเป็นประโยคที่ใช้ในการรณรงค์ต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อคนผิวดำหลังจากที่มีเหตุการณ์ที่ตำรวจสังหารคนผิวดำเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่

สถานที่เกิดเหตุกราดยิงคือโบสถ์เอมมานูเอล แอฟริกัน เมโธดิสท์ เอพิสโคโพล ก็มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน โบสถ์หลังนี้มีประวัติยาวนานเกือบ 200 ปี มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การรวมกลุ่มของคนผิวดำเพื่อต่อสู้ในยุคสมัยต่างๆ รวมถึงการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองช่วงคริสตทศวรรษที่ 1960s และขบวนการ "ชีวิตของคนผิวดำมีความหมาย" (Black Lives Matter) ในยุคปัจจุบัน

ถึงแม้ว่าจะมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์จำนวนมากและมีหลายคนมองว่าการสั่งบอยคอตต์ธงสมาพันธรัฐถือเป็นชัยชนะ แต่นักรณรงค์ด้านสิทธิก็ยังคงเตือนประชาชนว่าอย่าเพิ่งละความสนใจหรือหยุดการเคลื่อนไหวเพื่อความเสมอภาคเพียงเท่านี้ หรือด่วนชื่นชมคนที่เพิ่งแสดงตัวต่อต้านทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยสนับสนุนธงสมาพันธรัฐฯ

"เมื่อธงถูกปลดลงมาแล้ว พวกเราในฐานะสังคมจะต้องก้าวต่อไปข้างหน้า เป็นก้าวสำคัญในการเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์ของพวกเราเอง อดีตของพวกเรายังไม่ได้ผ่านไป และการค้นหาความกล้าหาญในตัวเพื่อหยุดยั้งความรุนแรงจากรัฐและจากบุคคลที่มีสาเหตุมาจากแนวคิดคนผิวขาวเป็นใหญ่" วินเซนต์ วอร์เรน ผู้อำนวยการบริหารของศุนย์เพื่อสิทธิตามรัฐธรรมนูญกล่าว

วิร์เรนกล่าวอีกว่าการบอยคอตต์ธงสมาพันธรัฐฯ ยังไม่อาจการันตีได้ว่าจะไม่มีบุคคลก่อเหตุร้ายแรงเช่นเดียวกับเหตุกราดยิงโบสถ์คนผิวดำอีก และพวกเขาอาจจะยังต้องเผชิญกับการคัดค้านที่หนักข้อขึ้นจากผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการกดขี่และสร้างภาพให้คนเชื้อชาติอื่นที่ไม่ใช่คนผิวขาวดูไม่ดี แต่เขาก็หวังว่าคนอเมริกันรุ่นใหม่จะซื่อตรงต่อประวัติศาสตร์ความเป็นมาและกล้าพอที่จะต่อกรกับรากเหง้าของโครงสร้างอำนาจที่ทำให้เกิดความรุนแรงและการเหยียดเชื้อชาติ และฉลาดพอที่จะรู้ว่าเราควรไปในทิศทางไหนเพื่อที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้

ทาเนอฮาซี โคทส์ คอลัมนิสต์ของเดอะแอตแลนติกระบุในบทความเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ธงของสมาพันธรัฐฯ ควรจะมีการนำออกไม่ใช่เพราะว่ามันเป็นการล่วงเกินต่อชาวแอฟริกันอเมริกัน แต่เพราะธงนี้ถือเป็นความน่าอับอายของชาวอเมริกันทุกคน และที่น่าอับอายเช่นกันคือมันยังคงโบกสะบัดอยู่และมียังคงมีการถกเถียงกันถึงความหมายของมันในปี 2558 นี้ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเขลา

"หนึ่งทศวรรษกับอีกครึ่งหนึ่งผ่านมาแล้วหลังจากที่ลินคอล์นถูกสังหาร หลังจากที่บรรพชนของพวกเราตายไปเป้น 750,000 คน แล้วชาวอเมริกันก็ยังไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร"  โคทส์ระบุในบทความ

เรียบเรียงจาก

Confederate flag protests spread across US, BBC, 24-05-2015

Why do people still fly the Confederate flag?, BBC, 30-08-2013

National Movement to Lower Flag of Racial Hatred, 150 Years Overdue, CommonDreams, 23-06-2015

Remove the Confederate Flag From All Government Places, MoveOn, เข้าดูล่าสุดเมื่อ 24 มิ.ย. 2558
 


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Charleston_church_shooting
https://en.wikipedia.org/wiki/Emancipation_Proclamation
https://en.wikipedia.org/wiki/American_Civil_War
https://en.wikipedia.org/wiki/Slavery_in_the_United_States
https://en.wikipedia.org/wiki/Flags_of_the_Confederate_States_of_America

Facts about the Slave Trade and Slavery, The Gilder Lehrman Institute of American History
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net