ฮิวแมนไรท์วอทช์จี้ไทยยุติข้อหา นศ. เรียกร้องทั่วโลกร่วมกดดัน รบ.ทหารเคารพสิทธิ

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกแถลงการณ์จี้ไทยยกเลิกข้อกล่าวหาและปล่อยตัว 14 นักศึกษา-ประชาชน อย่างไม่มีเงื่อนไข เรียกร้องรัฐบาลทั่วโลกกดดันให้รัฐบาลทหารหยุดการปราบปรามและเคารพในสิทธิขั้นพื้นฐาน
 
27 มิ.ย. 2558 องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ออกแถลงการณ์ถึงกรณีการเข้าจับกุมนักศึกษาและประชาชนทั้ง 14 คนในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐควรยกเลิกข้อกล่าวหาและปล่อยตัวนักศึกษานักกิจกรรมทั้ง14 คนซึ่งต้านการปกครองของรัฐบาลทหารอย่างสันติ  โดยไม่มีเงื่อนไข  
 
แถลงการณ์ระบุว่า จากวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ตำรวจและทหารได้ใช้อำนาจตามหมายจับของศาลทหารเข้าจับกุมนักศึกษา 14 คนจากกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ข้อหาปลุกระดมและฝ่าฝืนคำสั่งของรัฐบาลทหารที่ห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งขณะนี้นักศึกษาชาย 13 คนอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และนักศึกษาหญิง 1 คนอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง
 
 แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า “รัฐบาลทหารควรหยุดจับกุมและดำเนินคดีนักกิจกรรม ในขณะที่ยืนยันว่าตนเองไม่ใช่เผด็จการ แต่ทหารไทยใช้ศาลทหารเป็นเครื่องมือในการปราบปรามและต่อต้านการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสันติและความเห็นต่างในทางการเมือง” 
 
ในแถลงการณ์ระบุต่อไปว่า เมื่อวันที่ 24 และ 25 มิถุนายน เจ้าหน้าที่รัฐได้เข้าจับกุม รังสิมันต์ โรม, วสันต์ เสดสิทธิ, ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์, พายุ บุญโสภณ, อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์, รัฐพล ศุภโสภณ, ศุภชัย ภูคลองพลอย, อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์, ภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์, สุวิชา พิทังกร, ปกรณ์ อารีกุล, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, พรชัย ยวนยี และ ชลธิชา แจ้งเร็ว  ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้ได้ชุมนุมกันอย่างสันติวิธีและเรียกร้องให้ยกเลิกการปกครองโดยทหารภายใต้ คสช.  ด้าน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก กล่าวหา 14 นักศึกษาว่ามีกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอยู่เบื้องหลัง และอ้างว่าการกระทำของนักศึกษาจะนำไปสู่การก่อความวุ่นวายและความรุนแรง
 
สำหรับความผิดตามข้อหาปลุกระดมตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา มีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี ส่วนการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. มีโทษจำคุกอีก 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท 
 
แถลงการณ์ระบุว่า การจับกุมตามอำเภอใจครั้งล่าสุดนี้เป็นอีกครั้งที่ทำให้เห็นว่ารัฐบาลทหารไม่ได้เต็มใจจะผ่อนการปกครองที่กดขี่ของตัวเองลงเลย กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่สะท้อนให้เห็นในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยมีผลผูกพันตั้งแต่ปี 2539 นั้นได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมอย่างสงบ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่การเข้ายึดอำนาจของรัฐบาลทหารเดือนพฤษภภาคม 2557 นั้น รัฐบาลทหารได้สั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองที่มีมากกว่า 5 คนขึ้นไป และเจ้าหน้าที่รัฐเข้าจับกุมประชาชนอย่างน้อย 80 คน สำหรับการชุมนุมในที่สาธารณะ
 
จากประกาศของ คสช. ฉบับที่ 37 ที่ให้อำนาจการตัดสินคดีอยู่ที่ศาลทหารแทนศาลพลเรือน ในความผิดต่อความมั่นคงของชาติ และการปลุกระดม และความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงปัจเจกบุคคลที่ฝ่าฝืนคำสั่งของ คสช. จะต้องขึ้นศาลทหารเช่นเดียวกัน ประชาชนหลายร้อยคนซึ่งส่วนใหญ่เห็นต่างทางการเมืองและวิพากษ์วิจารณ์ คสช. ถูกนำตัวขึ้นศาลทหาร 
 
การให้อำนาจศาลทหารในประเทศไทยเป็นการล้มเหลวต่อมาตรฐานการตัดสินคดีนานาชาติภายใต้ ICCPR ซึ่งกำหนดห้ามไม่ให้รัฐบาลให้พลเรือนขึ้นศาลทหารเมื่อยังมีศาลพลเรือนอยู่ 
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เคยกล่าวถึงกรณีเช่นนี้ว่า “การตัดสินคดีของพลเรือนในศาลทหารหรือศาลพิเศษอาจจะเกิดปัญหาที่ร้ายแรงพอ ๆ กับที่ความยุติธรรมความเป็นธรรม และความเป็นอิสระของกระบวนการยุติ เป็นเรื่องน่ากังวล” 
 
“และสิ่งนี้เป็นปัญหาที่ยากจะแก้โดยเฉพาะในประเทศไทย เมื่อกระบวนการทุกๆ ส่วนของศาลทหารขึ้นอยู่กับสายการบังคับบัญชาของกระทรวงกลาโหม” แถลงการณ์ระบุ
 
“ข่าวการจับกุมครั้งล่าสุดยิ่งตอกย้ำว่า การหาหนทางไปสู่ประชาธิปไตยในประเทศไทยเป็นเรื่องยากกว่าเดิม  รัฐบาลทั่วโลกควรกดดันให้รัฐบาลทหารหยุดการปราบปรามและเคารพในสิทธิขั้นพื้นฐาน” แบรด อดัมส์ กล่าว
 
 
ที่มาเรียบเรียงจาก
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท