สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: 24 มิถุนา-ประชาธิปไตย 2558

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในที่สุด การปฏิวัติ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ก็ผ่านมาถึง 83 ปีแล้ว แต่โจทย์ใหญ่ในทางการเมืองของประเทศไทยในปีนี้ ก็ยังเหมือนเดิม คือ คำถามหลักที่ว่าเหตุใดเมื่อเวลาผ่านมาถึงขนาดนี้แล้ว ประเทศไทยก็ยังไม่สามารถที่จะบรรลุหลักประชาธิปไตยแบบสากลได้

ยิ่งใน พ.ศ.2558 นี้ ยังเกิดปรากฏการณ์อันประหลาดเช่น ในวันที่ 20 มิถุนายน เวลา 14.45 น. นายสมาน ศรีงาม ในฐานะตัวแทนสภาประชาชนปฏิวัติสันติแห่งชาติ และสมาชิกจำนวน 12 คน กับพระภิกษุสงฆ์ 2 รูป ได้เดินทางมาทำพิธีเชิงสัญลักษณ์ ในการถอดหมุดทองเหลืองที่เป็นอนุสรณ์ของการเปลี่ยนแปลง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และมีการออกแถลงการณ์คัดค้านการปฏิวัติ 2475 ว่าเป็นที่มาของความเห็นที่ผิด และยกย่องเชิดชูประชาธิปไตยที่ได้รับการปูทางโดยพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7

ปรากฎการณ์ต่อมา ก็คือ การที่ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก ในฐานะรองเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวในวันที่ 22 มิถุนายน ถึงการเคลื่อนไหวระลึกประชาธิปไตย 83 ปีในปีนี้ว่า การเคลื่อนไหวนั้นทำไม่ได้ เพราะจะผิดกฎหมาย หากจะดำเนินการ ก็ต้องขออนุญาต คสช.เพื่อให้พิจารณาดูว่ารูปแบบเป็นอย่างไร การแถลงของ เสนาธิการทหารบกเช่นนี้ เป็นการชี้ว่า คณะ คสช.นั้นไม่สบายใจในการเคลื่อนไหวเรื่องกรณี 24 มิถุนายน

การเคลื่อนไหวดังกล่าวยิ่งชี้ให้เห็นความสำคัญของเหตุการณ์ปฏิวัติ 24 มิถุนา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประวัติศาสตร์ครั้งที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด ขณะที่การรัฐประหารครั้งอื่นในประวัติศาสตร์ สังคมไทยแทบจะลืมไปหมดแล้ว ทั้งนี้ เพราะ 24 มิถุนา นำเอาลักษณะการเมืองแบบใหม่และทันสมัยมาสู่สังคมไทย และเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กลุ่มอื่นในสังคมมากที่สุด และเป็นจุดเริ่มต้นของอำนาจแห่งประชาชน ที่อำนาจอื่นใดยังไม่อาจลบล้างได้ในขณะนี้

ย้อนกลับไปก่อน พ.ศ.2475 สังคมไทยยังเป็นสังคมชนชั้น ที่แบ่งคนเป็นผู้ดีไพร่โดยชาติกำเนิด การเมืองเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่อำนาจอยู่ในมือของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ ราษฎรที่เป็นไพร่ไม่มีสิทธิทางการเมือง เจ้านายและขุนนางจึงมีสถานะพิเศษที่สูงกว่าราษฎรทั่วไป ในด้านกฎหมายก็ยังไม่มีกฎหมายสมัยใหม่ตามหลักสัญญาประชาคม แต่ถือกันว่า กฎหมายเป็นคำสั่งด้านเดียวของผู้ปกครองที่ราษฎรจะต้องปฏิบัติตาม

ดังนั้น เมื่อเกิดการปฏิวัติ 24 มิถุนายน สิ่งใหม่ที่ถูกนำเข้ามาคือ การเมืองตามหลักการที่ยึดโยงกับราษฎร สะท้อนออกโดยการเกิดระบอบรัฐสภา ที่ประชาชนจะมีสิทธิทางการเมืองโดยผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งภายใต้กรอบเวลาที่แน่นอน (เช่น 4 ปี) การเกิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นนิติรัฐสมัยใหม่ ที่ถือว่ากฎหมายเป็นข้อตกลงที่มาจากประชาชน และจะกลายเป็นกรอบการบริหารของหน่วยราชการทั้งหลาย ซึ่งหมายถึงว่าการดำเนินการบริหารบ้านเมืองของรัฐ จะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ถ้าไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ หน่วยงานของรัฐจะดำเนินการมิได้ แต่ที่สำคัญมากกว่านั้น คือ การเปลี่ยนแปลงในเชิงสังคม ที่มีการรับรองสิทธิของราษฎรสามัญ และยกเลิกศักดินาฐานันดร ให้มนุษย์ในสังคมไทยทั้งชายและหญิงมีความเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย ฐานันศักดิ์ของชนชั้นเจ้าและขุนนางจึงหายลับไปกับหน้าของประวัติศาสตร์และไม่หวนกลับมาอีก จึงเป็นการถูกต้องที่ราษฎรสามัญจะเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 24 มิถุนายน อันนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางในสังคมไทยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

แน่นอนว่า การพัฒนาประชาธิปไตยไทยในระยะ 83 ปีที่ผ่านมาไม่มีความราบรื่น สิทธิของประชาชนถูกละเมิด อำนาจประชาธิปไตยถูกลิดรอน เพราะเกิดการรัฐประหารล้มล้างประชาธิปไตยเป็นปรากฏการณ์ประจำ โดยเฉพาะตั้งแต่ พ.ศ.2490 เป็นต้นมา มีการรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จถึง 10 ครั้ง การล้มล้างประชาธิปไตยโดยฝ่ายกองทัพจึงเป็นเรื่องปกติ แต่ในที่นี้อยากจะขอทบทวนความทรงจำว่า การรัฐประหารที่ผ่านมาแล้วในอดีต ไม่เคยมีครั้งไหนที่แก้ปัญหาของบ้านเมืองได้ มีแต่สร้างปัญหาใหม่ และนำมาซึ่งความรุนแรงในการกวาดล้างปราบปรามประชาชนอยู่เสมอ จึงไม่ได้มีหลักประกันว่า การรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 จะยอดเยี่ยมไปกว่ารัฐประหารครั้งก่อน ที่จะแก้ปัญหาบ้านเมือง และนำความก้าวหน้าความสุขสมบูรณ์มาสู่ประชาชน

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจริง หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม คือ การลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ดังจะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งหมดที่ไม่อยู่ในกรอบของฝ่ายทหารจะถูกสั่งห้าม แม้กระทั่งเสรีภาพในการจัดการสัมมนาทางวิชาการในมหาวิทยาลัยก็ยังคงถูกละเมิด แต่ที่มากกว่านั้น คือการกวาดล้างจับกุมประชาชนด้วยข้อหาทางการเมือง ดังมีข้อมูลว่า เพียงแต่ตั้งแต่หลังรัฐประหารจนถึงปลายปี พ.ศ.2557 มีประชาชนจำนวนถึง 976 คน ถูกเรียกตัวหรือถูกจับกุมโดยคณะทหาร โดยใช้ทั้งคำสั่ง คสช. กฎอัยการศึก และ มาตรา 112(กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ)เป็นเครื่องมือในการคุกคามสิทธิของประชาชน ในจำนวนนี้ถูกดำเนินคดีมากกว่า 100 คน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นนับตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เป็นต้นมา

แต่ภายใต้ยุคมืดแห่งเผด็จการเช่นนี้ ในที่สุด ก็เปิดบทบาทให้แก่ขบวนการนักศึกษาที่เป็นคนหนุ่มสาว กลายเป็นแนวหน้าในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย โดยเริ่มจากนักศึกษากลุ่มดาวดิน ใช้ข้อความต่อต้านรัฐประหารต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2557 และตามมาด้วยการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาหลายกลุ่มและหลายมหาวิทยาลัย เพื่อคัดค้านเผด็จการและเรียกร้องประชาธิปไตยให้สังคมไทย

กิจกรรมล่าสุดของฝ่ายนักศึกษา ก็คือ การชุมนุมเพื่อแสดงสัญลักษณ์โดยสันติวิธีเพื่อต่อต้านรัฐประหาร ทั้งที่ขอนแก่น และที่หน้าหอศิลป์ กรุงเทพมหานคร ในโอกาสครบรอบปีรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2558 การเคลื่อนไหวครั้งนี้ทำให้นักศึกษาถูกจับกุมทั้งหมด 46 คน แม้ว่าจะถูกปล่อยตัวในวันรุ่งขึ้น แต่ก็มีเงื่อนไขต่อท้ายห้ามนักศึกษาเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านรัฐประหารอีกต่อไป

ต่อมาในวันที่ 4 มิถุนายน ทางการตำรวจได้ออกหมายเรียกนักศึกษาที่ชุมนุมหน้าหอศิลป์ 9 คน และกลุ่มดาวดิน 7 คน ให้ไปรายงานตัวต่อทางการตำรวจ ปรากฏว่ากลุ่มนักศึกษาตัดสินใจใช้ “อารยะขัดขืน” โดยไม่ไปรายงานตัว โดยชี้แจงว่า การแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านเผด็จการโดยสันติวิธีไม่ใช่ความผิด เพราะคำสั่งของคณะทหารที่ยึดอำนาจไม่ใช่กฎหมายที่มีความชอบธรรม ดังนั้น ถ้าจะต้องถูกจับจากกรณีนี้ก็จะยอมให้จับและเข้าคุก แต่จะไม่ขอประกับตัว โดยมีข้อเสนอเดียวคือต้องปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขเท่านั้น หากไม่ถูกจับ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จที่ได้ประกาศให้สังคมรู้ว่ากฎหมายนั้นใช้บังคับไม่ได้จริง

ในขณะที่เขียนนี้ นักศึกษายังไม่ได้ถูกจับกุม แต่กระนั้น ก็คงต้องขอสรุปว่า 24 มิถุนา 2475 นั้น ต้องสดุดีคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครองให้ประเทศก้าวสู่ยุคใหม่แห่งประชาธิปไตย แต่ 24 มิถุนา 2558 คงต้องขอสดุดีจิตใจของนักศึกษาทั้งหลายที่เป็นแนวหน้าของการต่อสู้เพื่อจะนำไปสู่สังคมอันภราดรภาพในอนาคต

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 520 วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2558

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท