Skip to main content
sharethis
แฉถูกบีบให้เขียนใบลาออก เริ่มจากพนักงานที่อายุงานน้อย และต่อจะบีบให้พนักงานทั้งหมดต้องลาออกโดยไม่จ่ายค่าเยียวยา ด้านข้อกฎหมายระบุบังคับเขียนหนังสือลาออกโดยลูกจ้างไม่สมัครใจบอกเลิกสัญญาจ้าง ฟ้องเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้
 
29 มิ.ย. 2558 จากกระแสข่าวว่าผู้บริหารของบริษัท ไทยทีวี จำกัด ได้ออกมาบังคับให้พนักงานไทยทีวีทั้งหมดทยอยเขียนใบลาออก โดยเริ่มจากพนักงานที่อายุงานน้อย และต่อไปจะบีบให้พนักงานทั้งหมดต้องลาออกโดยไม่จ่ายค่าเยียวยา ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของไทยทีวีและทีวีพูลถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นบริษัทที่ไม่มีจริยธรรม และไร้มนุษยธรรมนั้น  แหล่งข่าวจากบริษัทไทยทีวีจำกัด ระบุว่าจากการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารคนดังกล่าวต่อสื่อไม่มีความจริงเลยแม้แต่น้อย เพราะการที่อ้างว่าให้สมัครใจลาออกนั้น พนักงานทั้งหมดมองว่าผู้บริหารสร้างภาพ ให้ตนเองดูดี ซึ่งขัดจากหลักฐานในข้อความไลน์กลุ่มสำนักข่าวไทยทีวีที่ออกมาก่อนหน้านี้ ที่ผู้บริหารให้พนักงานลาออกเอง รวมทั้งสั่งฝ่ายบุคคลให้กดดันพนักงานเขียนใบลาออกอีกด้วย ส่วนกรณีที่ผู้บริหารระบุว่า บริษัททีวีพูลต้องลงทุนเพิ่มจะเติบโตและมีกำไรให้ได้ 100-300 ล้านต่อปี และวางเป้าไว้ ทีวีพูลจำเป็นต้องต่อยอด เพราะเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์นั้น พนักงานมองว่าทำไมไม่เอาทรัพย์สิน เงินทองที่มีอยู่มากมายมาเยี่ยวยาพนักงานที่ตกระกำลำบาก ตกงาน กลายเป็นคนอยู่ในภาวะยากลำบาก 
 
 
บังคับเขียนหนังสือลาออกโดยลูกจ้างไม่สมัครใจบอกเลิกสัญญาจ้าง ฟ้องเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้
 
 
มาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
 
อนึ่งตามข้อกฎหมายแรงงานของไทยระบุไว้ว่านายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน แม้จะมีอำนาจบังคับบัญชาสั่งให้ลูกจ้างทำการงานตามที่ว่าจ้างก็ตาม แต่ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะเรียกบังคับให้ลูกจ้างอื่นหนังสือลาออกอันเป็นการบอกเลิกสัญญาจ้าง โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างแต่อย่างใด ดังนั้น หากนายจ้างกระทำการบีบบังคับให้ลูกจ้างเขียนหนังสือลาออกโดยลูกจ้างไม่สมัครใจบอกเลิกสัญญาจ้าง อันเป็นเรื่องที่นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างไม่ถูกต้องตามสิทธิและหน้าที่ที่กำหนดไว้แห่งสัญญาจ้าง ลูกจ้างชอบที่จะฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานเพื่อบังคับให้นายจ้างปฎิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและเรียกค่าเสียหายได้ ตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งหากลูกจ้างถูกนายจ้างเลิกจ้างและเห็นว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ลูกจ้างย่อมมีสิทธิฟ้องนายจ้างเป็นคดีเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมและค่าเสียหาย ทั้งเรียกค่าชดเชยตามกฎหมายเนื่องจากถูกเลิกจ้างได้ด้วยถ้านายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยนั้น
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net