จาก คจก.ยุคเผด็จการ รสช. สู่ยุคทวงคืนผืนป่าภาค 2 ภายใต้คำสั่ง คสช.

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หลายพื้นที่ได้ผลกระทบในกรณีที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร โดยคณะ คสช. มีเป้าหมายจัดการทวงคืนผืนป่าอย่างเข้มข้น จากนโยบายดังกล่าว แน่นอนว่าก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนไปทั่วภูมิภาค แม้ว่าในหลายพื้นที่ที่เป็นเป้าหมายนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์ทำกินในพื้นที่มาก่อน และแม้ในหลายพื้นที่ได้มีนโยบายร่วมกับรัฐบาลมาหลายชุดสมัย ทั้งการทำข้อตกลงร่วม พิสูจน์สิทธิ์ การออกพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน และในระหว่างการแก้ไขปัญหาสามารถให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำกินได้ ฉะนั้น หากข้อตกลงไม่ดำเนินการในภาคปฏิบัติประชาชนหลายพื้นที่จะได้รับผลกระทบยิ่งขึ้นหลายเท่าตัว

ในภาคอีสาน กรณีตัวอย่างชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน นับแต่ช่วงระหว่างปี พ.ศ.2529 รัฐบาลดำเนินโครงการ “อีสานเขียว” ภายใต้นโยบายดังกล่าวรัฐบาลขับไล่ชาวบ้านเพียงเพื่อพยายามสยบความเคลื่อนไหวของผู้มีความคิดต่างทางการเมือง คือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) รัฐบาลอ้างว่ามีความจำเป็นต้องอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ เพื่อความมั่นคงของชาติ แต่หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ชาวบ้านหลายครอบครัวได้คืนกลับมายังที่ดินทำกินเดิม

กระทั่งในปี 2534 ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม” (คจก.) รัฐหาเหตุผลมาอ้างอีกว่ามีเจตนาเพื่อช่วยประชาชนผู้ยากไร้ ดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินให้ใหม่พร้อมออกเอกสารสิทธิ์ให้ ทว่าวัตถุประสงค์แท้จริงคือแนวคิด “ไล่คนออกจากป่า” สาระสำคัญในหลักคิดกลับแฝงไว้ด้วยการเปิดพื้นที่สัมปทานการตัดป่า ทั้งเอื้อประโยชน์ให้เอกชนเช่าปลูกไม้เศรษฐกิจจำพวกยูคาลิปตัส เป็นต้น ทั้งนี้ หากชาวบ้านไม่ยอมจำนน จะถูกบีบบังคับให้อพยพ มีหลายรายถูกทหารใช้กำลังและบังคับให้รื้อถอนบ้านและมีบางรายถูกทหารพังบ้านเพื่อขับไล่ออกจากพื้นที่

เมื่อความรุนแรงถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ จากการที่ผู้เดือดร้อนร่วมลุกขึ้นคัดค้านโครงการ คจก.เพื่อต่อสู้ทวงคืนสิทธิในที่ดินทำกินให้กลับคืนมาดังเดิม จนในที่สุดรัฐบาลต้องยกเลิกโครงการ

เมื่อกลับคืนมายังพื้นที่ทำกินเดิม ชุมชนกลับต้องตกอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ทว่าด้วยความไม่ยอมจำนนต่อปัญหา อุปสรรค และเพื่อความมั่นคงในผืนดิน จึงร่วมกันต่อสู้ กระทั่งผลักดันให้เกิดโครงการจอมป่า ในรูปแบบที่ให้ชาวบ้านสามารถจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าได้อย่างยั่งยืน โดยได้ทำข้อตกลงร่วมกับอุทยานฯ เมื่อปี 2550 ทำให้ชุมชนเข้ามาอยู่อาศัยและทำการเพาะปลูกและเก็บหาทรัพยากรจากป่าได้ นอกจากนี้ ยังร่วมกันจัดการทรัพยากรป่าไม้ให้ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เช่น การทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งการเลือกเก็บพืชบางชนิดในช่วงเวลาเฉพาะของแต่ละปี และคอยดูแลรักษาทรัพยากรป่ามาอย่างต่อเนื่อง

จากประวัติศาสตร์การดำเนินชีวิตของชุมชน ซึ่งถูกปกคลุมให้ตกอยู่ในเส้นจำกัดของเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ส่งผลให้เกิดปัญหาป่าทับซ้อนที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านกว่า 10 ชุมชน อาทิ พื้นที่บ้านซำผักหนาม และชุมชนหนองจาน ต.หนองทุ่ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น บ้านตาดฟ้า-ดงสะคร่าน ต.วังสวาป อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น และชุมชนวังอีเมียง ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย พบว่าคงยังมีลักษณะการดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมโดยอาศัยผืนดินป่า ทั้งการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ในการทำเกษตร เก็บหาทรัพยากร ในผืนป่าที่ชุมชนร่วมกันจัดการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ ผัก เห็ด หน่อไม้ สมุนไพร ด้วยการพึ่งพาในป่าชุมชนที่ร่วมฟื้นฟูอนุรักษ์ และสืบทอดกันมายาวนาน

ทว่าภายหลังรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นอกจากจะกำจัดผู้มีความคิดเห็นต่างทางการเมือง ยังได้ผลิตนโยบายต่างๆ ที่มีสาระสำคัญพุ่งเป้าไปที่คนจน บีบบังคับให้พวกเขาพ้นออกจากที่ดินทำกิน ทั้งยังจำกัดสิทธิในการใช้ทรัพยากร รวมถึงไม่อนุญาตให้ครอบครองเอกสารสิทธิ์ที่ดินเหล่านี้ได้ อันเป็นการปรากฏขึ้นซ้ำรอยเดิมของนโยบายรัฐบาลหลายยุคที่ผ่านมา เช่น คำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 ตามมาด้วยแผนแม่บทป่าไม้ฯ ล่าสุด นโยบายทวงคืนผืนป่า สิ่งที่กล่าวมานี้ ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านไปทั่วภูมิภาค ต้องตกอยู่ในสภาวะที่ไม่มั่นคง ไม่แน่ใจ และกลัวจะถูกขับไล่ออกจากพื้นที่อีกเมื่อใดก็ได้ เพราะรัฐไม่เคารพในสิทธิของชาวบ้าน และไม่ยอมเปิดโอกาสให้ประชาชนมีความมั่นคงในที่ดินทำกิน นอกจากนี้ ชุมชนที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ยังกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จึงเป็นการคุกคามต่อสิทธิในการดำเนินวีถีชีวิตให้เกิดความเป็นอยู่ได้อย่างปกติสุข

เกี้ยง ทะเกิงผล ผู้ใหญ่บ้านซำผักหนาม ม.11 ต.นาหนองทุ่ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น บอกว่า จากประวัติศาสตร์ได้ร่วมต่อสู้ในสิทธิที่ทำกินมาอย่างต่อเนื่อง เพราะการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน ยังคงยืนอยู่ในความไม่มั่นคงบนผืนดินมาโดยตลอด ภาครัฐมักฉวยโอกาส หาจังหวะขับไล่ออกจากพื้นที่อย่างเสมอ อาทิ ช่วงปี 2493 ชาวบ้านจากหลายในจังหวัดภาคอีสาน อพยพโยกย้ายถิ่นเข้ามาจับจองที่ดินเพื่อบุกเบิกที่ทำกิน ต่อมาถูกอพยพตามคำสั่งของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ทำให้ต้องอพยพไปอยู่ตามหมู่บ้านอื่น ต่อมามีการประกาศให้พื้นที่เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติดงลาน นับแต่นั้นในปี 2528 เจ้าหนี้ที่ทหารจากกองร้อยที่ 10 กรมทหารพรานที่ 25 ได้เข้ามาจัดระเบียบชุมชนใหม่ โดยรวมกลุ่มบ้านที่ตั้งอยู่กระจัดกระจายเข้ามาเป็นชุมชนเดียว ตั้งอยู่บริเวณบ้านซำผักหนาม

แก้ว วงไกร ตัวแทนชุมชนบ้านซำผักหนาม เล่าว่า ได้รับความเดือดร้อนมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2533 หลายชุมชนในภาคอีสาน ได้รับผลกระทบจากโครงการ คจก. รัฐให้ออกจากพื้นที่และสัญญาว่าจะจัดสรรที่ทำกินให้ใหม่ ปรากฏว่าถูกหลอก เพราะพื้นที่จัดสรรให้นั้นมีเจ้าของครอบครองอยู่แล้ว หลายครอบครัวต้องตกอยู่สภาพโดนลอยแพ ต่อมาได้ร่วมต่อสู้เรียกร้องกับผู้เดือดร้อนในพื้นที่ภาคอีสาน เพื่อทวงคืนสิทธิที่ทำกินเดิม กระทั่งรัฐต้องยกเลิกโครงการฯ เมื่อปี 2535 แต่เมื่อกลับมายังพื้นที่เดิม ก็ต้องตกอยู่ในสภาพการควบคุมของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทั้งถูกข่มขู่ คุกคาม พยายามไล่ออก เนื่องจากช่วงที่ถูกอพยพออกไปนั้น รัฐได้ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน เมื่อปี 2534

“จากที่เคยอยู่อาศัยและทำการเพาะปลูก รวมทั้งเก็บหาทรัพยากรจากป่าได้ ความหวาดผวา กังวล ภายหลังรัฐประหาร โดยคณะ คสช. และนโยบายทวงคืนผืนป่าได้หวนมาอีกครั้ง เกรงจะซ้ำรอยเดิม คจก.ภาคสอง เช่น ล่าสุดเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะมีการลงพื้นที่เพื่อพิสูจน์สิทธิ ดังนั้น เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.58 จึงร่วมกันไปพบกับหัวหน้าอุทยานฯ และนายอำเภอ ด้วยเหตุผลว่า การจัดการทรัพยากรเป็นของชุมชนมีส่วนร่วม จะทำการทวงคืนผืนป่าโดยไม่ผ่านคณะกรรมการหมู่บ้านและคณะกรรมการจอมป่าไม่ได้เด็ดขาด เพราะชุมชนมีสิทธิจัดการด้วยจิตสำนึกที่มีมาอย่างต่อเนื่องโดยชุมชนเอง และมีกฎข้อระเบียบของการอนุรักษ์ผืนป่าอยู่แล้ว รัฐจะมาจัดการเองโดยพละการ และไล่ออกจากพื้นที่ไม่ได้ หากรัฐคงพยายามดังเช่นนี้อีก ชาวบ้านก็จะร่วมต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมเพื่อทวงคืนสิทธิในที่ทำกินเดิม กลับมาเช่นกัน” แก้วกล่าว

จากสถานภาพปัจจุบัน ภายหลังประกาศคำสั่ง 64/2557 และแผนแม่บทป่าไม้ฯสู่การทวงคืนผืนป่าภาคสอง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.58 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน มีหนังสือแจ้งให้ทราบว่าจะมีการลงพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินทำกิน ด้วยเกรงว่าจะเป็นนโยบายการทวงผืนป่า และรัฐจะนำมติ ครม.30 มิ.ย.41 มาใช้ในการลงพิสูจน์สิทธิ์ ซึ่งเป็นนโยบายที่ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน ดังนั้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่กำลังจะก่อตัวขึ้นมาอีกครั้ง และเป็นการปกป้องรักษาทรัพยากรของชุมชน ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบในที่ดินทำกินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน และตัวแทนอีกหลายชุมชนกว่า 300 คน ได้เดินทางไปยังที่ทำการอุทยานภูผาม่าน เพื่อร่วมพูดคุยกับหัวหน้าอุทยานฯ นายอำเภอชุมแพ พร้อมปลัดอำเภอ และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน

ภายหลังมีบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ปกครอง ประกอบด้วย นายอำเภอชุมแพ ปลัดอำเภอชุมแพ และตัวแทนชุมชน 5 พื้นที่ในเขตอุทยานฯ ประกอบด้วย 1. ชาวบ้านซำผักหนาม ต.นาหนองทุ่ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น 2.ชุมชนหนองจาน ต.นาหนองทุ่ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น 3.บ้านตาดฟ้า-ดงสะคร่าน ต.วังสวาบ อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น 4.ชุมชนวังอีเมียง ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย 5.บ้านโคกยาว ต.น้ำหนาว อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ร่วมลงลายชื่อตามบันทึกข้อตกลง ดังนี้

1. ในพื้นที่ที่การสำรวจสิทธิ์ตามมติ ครม. 30 มิ.ย.41 และพื้นที่ผ่อนปรนตามโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อการจัดการอุทยานแห่งชาติอย่างยั่งยืน และโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม ให้ทำกินได้ตามเดิมไปก่อน

2. ในพื้นที่ภูฮี บ้านโคกยาว ให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อสำรวจแนวเขตผ่อนปรน ตามบันทึกข้อตกลงร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน วันที่ 8 ก.ค.57

3. พื้นที่ที่มีการบุกรุกใหม่ นอกพื้นที่ผ่อนปรนให้ประสานผู้นำชุมชนและคณะกรรมการพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน เข้าตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้

จรูญ เซรัม ตัวแทนชุมชนหนองจาน ต.นาหนองทุ่ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น เล่าว่า เจ้าหน้าที่จะมีการสำรวจตรวจพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินกว่า 10 ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่อุทยานภูผาม่าน ซึ่งจะต้องได้รับผลกระทบซ้ำเหมือนดังที่เคยเป็นอีกอย่างแน่นอน โดยที่ก่อนหน้านั้น ชุมชนเหล่านี้ล้วนได้รับผลกระทบเรื่องที่ดินทำกินมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ชุมชนหนองจาน เคยพบชะตากรรมถูกขับไล่มาแล้ว กล่าวคือ เมื่อปี 2529 รัฐบาลไทยใช้นโยบายความมั่นคงของชาติ แต่ซ่อนเงื่อนไว้ภายใต้โครงการ “อีสานเขียว” แท้จริงต้องการบีบให้คอมมิวนิสต์ออกจากป่า นโยบายดังกล่าวส่งผลกระทบทำให้ชุมชนต้องถูกต้อนออกมาด้วย

ต่อมาหลังรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี 2534 ชุมชนหนองจาน ถูกหลอกอีกเป็นครั้งที่ 2 โดยรัฐมองว่าชาวบ้านเป็นผู้ยากไร้และได้ออกนโยบายโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) โดยให้อพยพออกจากพื้นที่ทำกินเดิม พร้อมรับปากว่าจะจัดสรรที่ทำกินให้ใหม่ มีหลายครอบครัวไม่ได้ที่ดิน ส่วนครอบครัวที่ได้ปรากฏว่าเป็นที่ดินจัดสรรที่มีเจ้าของเดิมครอบครองอยู่ก่อนแล้ว เมื่อชาวบ้านถูกกระทำรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงรวมตัวกันคัดค้านและร่วมกับชาวบ้านในภาคอีสาน พร้อมใจลุกขึ้นต่อต้านโครงการ คจก. กระทั่งในที่สุด รัฐบาลต้องยกเลิกโครงการไปในปี 2535

จรูญเล่าต่อว่า หลังรัฐประหารโดยคณะ คสช. ได้มีนโยบายทวงคืนผืนป่าอย่างเข้มข้น ประกอบกับเจ้าหน้าที่อุทยานส่งหนังสือแจ้งมาว่า จะมีการลงสำรวจพิสูจน์สิทธิ์ จึงร่วมกับชุมชนที่อยู่ในเขตอุทยานภูผาม่าน พร้อมกับผู้ได้รับผลกระทบในเรื่องที่ดินทำกินในภาคอีสาน เดินทางขอเข้าพบหัวหน้าอุทยานฯ เพราะต้องการให้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า จะทำการสำรวจพิสูจน์สิทธิไปเพื่ออะไร เพราะการดำเนินการแก้ปัญหาช่วงที่ผ่านมา ภายหลังล้มเลิกโครงการ คจก. และได้กลับมาทำกินในพื้นที่เดิมอีกครั้ง หรือที่เรียกกันว่า “อีสานคืนถิ่น” ได้มีกระบวนการแก้ไขปัญหานำไปสู่การทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างอุทยานแห่งชาติภูผาม่านกับชุมชนในโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม หรือจอมป่า ซึ่งถือว่าเป็นความร่วมมือที่ดีมาถึงทุกวันนี้ ทำให้ชุมชนมีสิทธิที่จะสามารถจัดการป่าและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าได้อย่างยั่งยืน แม้จะเป็นไปได้เพียงชั่วคราว และมีข้อจำกัดจากฝ่ายอุทยานฯ ก็ตาม

“จากเหตุการณ์ถูกอพยพเรื่อยมา และคิดว่าไม่มีที่สิ้นสุดอีกแน่นอน เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ยังไม่มีความมั่นคงในชีวิตของแต่ละชุมชน จึงรวมตัวกันมาเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่จะทำการพิสูจน์สิทธิฯ นำไปใช้เพื่อประโยชน์อะไร แต่หากดึงดันที่จะตรวจสอบควรให้มีคณะกรรมการหมู่บ้านมีส่วนร่วม เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาถึงชุมชนด้วย อีกทั้งชาวบ้านเกรงว่าจะเป็นนโยบายทวงคืนผืนป่า ความหวาดกลัวการถูกขับไล่อีกทั้ง จะทำให้ชุมชนไม่มีความมั่นคง จะส่งผลให้ชาวบ้านไม่มีสิทธิในการครอบครองที่ดินของตนเอง รวมถึงไม่มีสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรป่าอีกต่อไป ดังนั้นนโยบายทวงคืนผืนป่าดังกล่าว รัฐควรเคารพในสิทธิของชุมชนที่อยู่อาศัยเพื่อให้ชาวบ้านมีชีวิตอยู่อย่างสงบสุขและเห็นคุณค่าความมีศักดิ์ศรีของมนุษย์ด้วย” จรูญกล่าว

หนูเอก แสงจันทร์ ตัวแทนชาวบ้านตาดฟ้า-ดงสะคร่าน ต.วังสวาบ อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น เล่าว่า ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่บ้านตาดฟ้า-ดงสะคร่านนั้น ปัญหาเริ่มก่อตัวหนักขึ้นหลังจากรัฐประกาศพื้นที่ที่ชาวบ้านทำกินมาแต่บรรพบุรุษเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติดงลานเมื่อปี 2508 ต่อมากรมป่าไม้ให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือ ออป.ได้สัมปทานการทำไม้ในเขตป่าสงวนฯ ในปี 2529 ส่งผลให้มีการทำลายป่าเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้มีการตัดไม้นอกเขตสัมปทาน นายหนูเอกพร้อมทั้งชาวบ้านได้รวมตัวกันคัดค้าน และทำเรื่องร้องเรียนต่อภาครัฐ อย่างไรก็ตามการสัมปทานตัดไม้ยังคงดำเนินการตัดไม้กันได้ต่อไปได้อย่างถูกกฎหมาย

หนูเอกเล่าอีกว่า การต่อสู้ยังไม่จบเพียงนั้น ได้มีโครงการพัฒนาป่าดงลาน โดยเจ้าหน้าที่นำต้นไม้ไปปลูกในบริเวณพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน จึงรวมตัวคัดค้านกันอีกครั้ง โดยได้ทำการรื้อถอนกล้าไม้ที่กรมป่าไม้นำมาปลูก พร้อมยื่นฎีการ้องทุกข์ต่อสำนักราชเลขาธิการ ขอพระราชทานให้มีการจัดสรรที่ดินทำกินให้ แต่เรื่องเงียบหายไป

ต่อมามีโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ คจก.ช่วงปี 2533 ชาวบ้านตาดฟ้า-ดงสะคร่าน เป็นอีกหนึ่งในหลายพื้นที่ในภาคอีสานที่ถูกให้อพยพออกจากที่ดินทำกิน โดยรัฐสัญญาว่าจะจัดสรรที่ทำกินให้ใหม่ ปรากฏว่าโดนหลอก เพราะที่จัดสรรให้เป็นที่ดินที่มีเจ้าของแล้ว จึงได้ร่วมกันต่อสู้กับชาวบ้านในภาคอีสานเรียกร้องให้มีการยกเลิก คจก. จนรัฐต้องยกเลิกโครงการไปเมื่อปี 2535 หลังจากกลับคืนมายังที่ดินทำกินเดิม กลายเป็นว่าได้ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งชาติภูผาม่านไปแต่ปี 2534 แล้ว จึงร่วมต่อสู้เพื่อให้ได้ที่กินทำกินกลับคืนมา ทำให้สามารถทำมาหากินอยู่มาได้ถึงปัจจุบันนี้

“วันนี้ยังคงสู้ต่อ เพราะปัญหาการถูกจำกัดสิทธิในที่ดินทำกิน หน่วยงานภาครัฐคอยฉวยจังหวะ แย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติออกไปจากชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบายทวงคืนผืนป่าในยุค คสช.ปัจจุบัน ส่งผลให้หลายชุมชนประสบปัญหาความเดือดร้อน เพราะชุมชนบ้านตาดฟ้า- ดงสะคร่าน ยังอยู่ในเขตอุทยานภูผาม่าน” หนูเอกกล่าว

อาศัยอำนาจ ยุค คสช.สั่งรื้อสะพานแขวน ตัดขาดโลกภายนอกกับชุมชนวังอีเมียง ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย

ชุมชนวังอีเมียง ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย เริ่มมีปัญหาและได้รับผลกระทบต่อการทำหากินและที่อยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่อง นับแต่วันที่ 23 พ.ย.2505 ภายหลังการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ทำให้ชาวบ้านที่มีทำกินอยู่ในบริเวณดังกล่าว ต้องอพยพข้ามลำน้ำพองเข้ามาทำกินในพื้นที่วังอีเมียงมากขึ้น ต่อมามีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติภูเปือย จ.เลย และในปี พ.ศ.2534 มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ครอบคลุมพื้นที่ อ.ภูผาม่าน อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น และ อ.ภูกระดึง จ.เลย พื้นที่วังอีเมียงทั้งหมดจึงตกอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน”

ปุ่น ชำนิ ตัวแทนชุมชนวังอีเมียง เล่าถึงสภาพโดยทั่วไปของชุมชนว่า ชุมชนเข้าทำการบุกเบิกที่ดินทำกินมาอย่างต่อเนื่อง ภายหลังร่วมกันผลักดันจนสามารถล้มโครงการ คจก.ได้สำเร็จเมื่อปี 2535 ชาวบ้านกลับเข้ามาพื้นที่เดิม ปรากฏว่าชุมชนวังอีเมียง ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ทับที่ทำกินเมื่อปี 2534 ด้วยความที่ชุมชนอยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยานฯ และเพื่อสิทธิการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน จึงร่วมกันผลักดันให้เกิดโครงการจอมป่าในปี 2550 ที่ให้ชาวบ้านสามารถอยู่กับป่าและร่วมใช้ประโยชน์ในทรัพยากร และร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

ปุ่น เล่าอีกว่า ประวัติการถือครองและการทำประโยชน์ที่ดินทำกินในพื้นที่วังอีเมียง ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านนาโก นาน้อย จาก ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย โดยเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงชักชวนกันเข้ามาถือครองเพื่อทำกินมากขึ้น และเรียกพื้นที่บริเวณนั้นว่า “วังอีเมียง” ส่วนการจัดการที่ดินและทรัพยากรของชุมชน ครั้งแรกเริ่ม ชาวบ้านเข้ามาปลูกพริก ถั่วแดง ปอ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่หันมาปลูกไม้ผลยืนต้น และส่วนหนึ่งทำการเกษตรแบบผสมผสานโดยไม่เปิดหน้าดินทั้งหมด แต่มีการนำพืชป่าที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ผักหวาน สวนไผ่ มาปลูกในพื้นที่ตัวเองเพื่อเป็นการอนุรักษ์ดิน น้ำ และระบบนิเวศโดยรวมในรูปแบบโฉนดชุมชน

ปุ่นเล่าว่า ภายหลังรัฐประหาร โดยคณะ คสช. วังอีเมียงได้รับความเดือดร้อนอีกครั้ง ในช่วงเดือน ต.ค.57 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึงนำป้ายปิดประกาศ มีคำสั่งให้รื้อสะพานแขวงเข้าชุมชน โดยอ้างว่าสะพานบุกรุกพื้นที่ ถือว่าเป็นการปิดกั้นสิทธิและเสมือนเป็นการตัดแขนตัดขาดการสัญจรสู่โลกภายนอก นอกจากนี้ ยังไม่เป็นไปตามมติการมีส่วนร่วมของโครงการจอมป่า ที่ระบุว่า การกระทำการใดๆ ต้องผ่านความคิดเห็นการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการจอมป่าฯ อีกทั้งถือว่าเป็นการไล่ออกทางอ้อม เพราะเป็นเส้นทางเดียวในการสัญจรเข้าไปใช้ประโยชน์ทรัพยากรในการหาเก็บเห็ด หน่อไม้ และสมุนไพร ที่มีความสมบูรณ์อยู่ในป่าชุมชนวังอีเมียง ดังนั้น จึงทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรม กระทั่งเมื่อ 23 มี.ค.58 มติที่ประชุมได้พิจารณาเห็นควรให้ชะลอการรื้อถอนสะพาน โดยให้เป็นไปตามนโยบาย คสช.ที่ 66/2557

“ก่อนนั้นชาวบ้านใช้เพียงลวดสลิงโยกข้ามไปมาหาสู่กันระหว่างสองฝั่งลำน้ำพอง แต่มักมีปัญหาว่าลวดจะขาดบ่อย และช่วงหน้าน้ำจะไหลเชี่ยวมาก กระทั่งปี 2551 ผู้ได้รับผลกระทบความเดือดร้อนในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ได้ร่วมผลักดันจนเกิดโครงการจอมป่าฯ ขึ้นมา เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยชุมชนร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้น ชุมชนได้ทำหนังสือเพื่อขอก่อสร้างสะพานแขวน แต่ไม่ได้รับคำตอบ ทำให้ชาวบ้านในหลายพื้นที่ ทั้งนักศึกษาและพระ ร่วมบริจาคเงินและออกแรงสร้างสะพานแขวน จนแล้วเสร็จในปี 2554 โดยการก่อสร้างสะพานแขวน นอกจากเพื่อให้มีความสะดวกในการสัญจรแล้ว ยังคิดถึงการรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ คงความงดงามตามธรรมชาติ การออกแบบจึงเป็นไปตามมติการมีส่วนร่วม คือ เป็นแบบสะพานแขวน ทั้งนี้เพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่สภาพเดิม เพราะหากก่อสร้างเป็นถนนทางปูน อาจทำให้รถยนต์วิ่งผ่านเข้าออกได้ง่ายขึ้น การหลั่งไหลจากภายนอกจะเข้ามามากขึ้น อาจก่อให้เกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์ได้ในภายหลัง “ปุ่น กล่าว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายโครงการที่ผ่านมาล้วนประสบความล้มเหลวมานั้น เพราะรัฐมีเพียงมุมมองด้านเดียวในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยยังติดอยู่ในรูปแบบเก่า ล้าหลัง เป็นต้นว่า กำหนดเขตพื้นที่ป่าและผลักดันชุมชนออกจากป่า ผ่านมาถึงช่วง คสช. ในยุคทวงคืนผืนป่า มีคำถามว่า รัฐสามารถตระหนักได้หรือไม่ว่า หลายชุมชนต่างมีการจัดการบริหารทรัพยากรธรรมชาติและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน เพราะด้วยวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับป่ามาตั้งแต่กำเนิด ทั้งความรู้และภูมิปัญญาสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน พวกเขาสามารถดำรงชีวิตและหาเลี้ยงชีพจากทรัพยากรในป่าได้อย่างยั่งยืน อย่างแท้จริงและสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

ชุมชนในเขตป่าอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน เป็นเพียงพื้นที่ที่หยิบขึ้นมาเป็นกรณีตัวอย่าง ของการที่ชาวบ้านรวมตัวต่อสู้ จากความล้มเหลวของโครงการ คจก. กระทั่งผลักดันให้เกิดโครงการจอมป่า (Joint Management of Protected Areas - JoMPA) เป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนพิสูจน์ว่า ชาวบ้านสามารถจัดการป่าและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าได้อย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการนี้นำไปสู่การทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างอุทยานแห่งชาติภูผาม่านใน พ.ศ. 2550 โดยยินยอมให้ชาวบ้านเข้าถึงทรัพยากรป่าได้ชั่วคราว แม้จะยังมีข้อจำกัดจากการที่รัฐไม่ยอมเปิดโอกาสให้มีการออกเอกสารสิทธิ์ก็ตาม

แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ‘จอมป่า’ ไม่เพียงทำให้ข้อพิพาทระหว่างรัฐและชาวบ้านได้รับการแก้ไขเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นการบริหารจัดการที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วม เป็นแนวทางให้คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลและยั่งยืนโดยปราศจากการทวงคืนผืน ไล่คนออกจากพื้นที่ ดังเช่น นโยบายที่ คสช. ปฏิบัติการอยู่ในขณะนี้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท