Skip to main content
sharethis

เปิดผลวิจัยสุขภาพจิตของพนักงานขับรถพยาบาลฉุกเฉิน พบหากสุขภาพจิตดีจะลดปัจจัยเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ ขณะที่เลขาธิการ สพฉ. ย้ำให้ความสำคัญกับพนักงานขับรถพยาบาล เตรียมจัดอบรมอย่างต่อเนื่อง

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า การปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติไม่ให้เสียชีวิต ซึ่งการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่รวดเร็ว และการทำงานที่บางครั้งต้องแข่งกับเวลาในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุกับรถพยาบาลและรถฉุกเฉินหลายครั้ง โดยในปี 2557 จากการเฝ้าระวังการเกิดอุบัติเหตุรถพยาบาล พบว่าเกิดอุบัติเหตุมากถึง 61 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 130 คน ผู้เสียชีวิต 19 คน และในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2558 เกิดอุบัติเหตุกับรถพยาบาลฉุกเฉินถึง 28 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 5 คน และบาดเจ็บ 54 คน

อย่างไรก็ตามสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุกับรถพยาบาลหรือรถฉุกเฉิน อาจเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งความพร้อมของยานพาหนะ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ สภาพแวดล้อม อาทิ สภาพถนน ทางโค้ง หรือสภาพอากาศ ฝนตกถนนลื่น แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือพนักงานขับรถพยาบาลที่เป็นบุคคลสำคัญในการควบคุมการขับเคลื่อนให้ถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมา สพฉ. ได้ให้ความสำคัญกับพนักงานขับรถพยาบาลอย่างมาก โดยมีการจัดอบรมการขับรถพยาบาลปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง

ด้านนางพรทิพย์ วชิรดิลก และนายธีระ ศิริสมุด นักวิจัยจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ได้สำรวจประเมินสุขภาพจิตของพนักงานขับรถพยาบาลในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ด้วยแบบคัดกรองปัญหาสุขภาพจิต 12 ข้อ จำนวน 67 คน อายุระหว่าง 21-58 ปี ที่มีอายุงานระหว่าง 1-33 ปี เนื่องจากเห็นว่าพนักงานขับรถพยาบาลเป็นงานที่ต้องใช้สมาธิสูง อยู่ภายใต้ความกดดันทั้งจากเสียงเรียกร้องจากญาติผู้ป่วยให้เร่งความเร็วเพื่อให้ถึงโรงพยาบาลปลายทาง ความเครียดจากสภาพแวดล้อมบนถนน ตลอดจนความพร้อมด้านร่างกายของพนักงานขับรถ

โดยผลวิจัยพบว่า พนักงานขับรถพยาบาลเกือบ 2 ใน 10 คน มีโอกาสเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิต ร้อยละ 16.2 และเมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพจิตพบว่ามีประวัติเคยประสบอุบัติเหตุรถพยาบาล 3 คน โดยปัญหาของสุขภาพจิตส่วนใหญ่ เกิดจาก 1. นอนไม่หลับเพราะกังวลใจ 2.รู้สึกไม่มีความสุขและเศร้าหมอง 3. รู้สึกไม่สามารถที่จะเอาชนะความยากลำบากต่างๆ ได้ 4. รู้สึกตึงเครียดอยู่ตลอดเวลา คิดว่าเป็นคนไร้ค่า และ 5.ไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำอยู่

นอกจากนี้ยังพบว่าหากพนักงานขับรถพยาบาลมีสุขภาพกายที่แข็งแรงและสุขภาพจิตดี ย่อมลดปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุรถพยาบาลได้ด้วย แต่จากการสำรวจดังกล่าวยังพบว่ามีผู้มีแนวโน้มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตอยู่ ดังนั้นนอกจากการส่งเสริมสรรถนะทางกาย เพิ่มทักษะการขับรถพยาบาลปลอดภัยแล้ว ยังจำเป็นต้องเสริมสร้างสรรถนะหรือความพร้อมทางจิตด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งต่อจากนี้จะมีการทำวิจัยเพิ่มเติมโดยเพิ่มกลุ่มตัวอย่าง เพื่อให้เป็นตัวแทนของพนักงานขับรถพยาบาลในภาพรวมได้ทั้งประเทศ เพื่อสนับสนุนข้อมูลในการพัฒนาแนวทางลดอุบัติเหตุรถพยาบาล และเพิ่มความปลอดภัยสำหรับผู้ปฏิบัติการฉุกเฉิน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net