Skip to main content
sharethis

พิชญ์ ชี้ คสช. อาจได้บทเรียนราคาแพงจากนักศึกษา วาด รวี ระบุ ถ้าคนไทยยังนิ่งเฉยต่อการจับกุม นักศึกษา นักกิจกรรม อย่าคิดว่าจะเดินไปถึงประชาธิปไตย ด้านตัวกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เผยหลังเพื่อนถูกจับกุม คนข้างนอกถูกคุกคามมากขึ้น

6 ก.ค. 2558 ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคมและหลักสูตรการเมืองและการจัดการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาในหัวข้อ ‘คุยความจริง: เมื่อเสรีภาพ กลายเป็นอาชญากรรม’ ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมเสวนาโดย วาด รวี นักเขียนและศิลปิน, ชนกนันท์ รวมทรัพย์ จากกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน และพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ชนกนันท์: เจ้าหน้าที่คุกคามนักศึกษาทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่กับครอบครัว วอนให้ปล่อยเพื่อนๆออกจากคุก

ชนกนันท์ กล่าวว่า ตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อกลางปี พ.ศ. 2557 มีนักศึกษาที่ทำการเคลื่อนไหวเรียกร้อง และเกิดเหตุการณ์หลายๆ อย่างขึ้น อย่างที่เป็นข่าวออกไป เช่น กินแซนด์วิช อ่านหนังสือเรื่อง 1984 แล้วโดนเรียกเข้าไปปรับทัศนคติบ้าง แต่ช่วงเดือนสองเดือนนี้ถือว่าหนัก เพราะโดนจับจริง ตัวอย่างการรำลึกหนึ่งปีรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่กลุ่มนักกิจกรรมวางแผนที่จะยืนดูนาฬิกาเป็นเวลา 15 นาที ไม่ได้จะทำอะไร แต่พอเอาเข้าจริงเริ่มได้ไม่นานก็ถูกจับกุม ท้ายสุดมีนักศึกษาโดนจับทั้งหมด 38 คน

ชนกนันท์ กล่าวต่อว่า ในวันนั้นที่ สน. ปทุมวัน มีข้อเสนอที่สำคัญสุดคือ จะปล่อยทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข แต่จะจับเก้าคนที่มีรายชื่ออยู่แล้ว แต่พวกเราไม่ยอม มาด้วยกันก็ไปด้วยกัน ไปไหนไปกันหมด สุดท้าย มันก็ยื้อจนถึงตีสี่ตีห้า พอตอนเช้า เขาก็สรุปว่าทุกคนเข้าไปถ่ายสำเนาบัตร ปชช. แล้วให้เขียนว่า “ไม่เคลื่อนไหว” ลงในสำเนา ซึ่งเขาให้เงื่อนไขว่าจะปล่อยทุกคนแบบไม่มีเงื่อนไข ปรากฎว่าภายหลัง 9 คนโดนหมายเรียก เหตุการณ์ดำเนินเรื่อยมาตั้งแต่วันที่นักศึกษาไปฟังข้อกล่าวหาที่ สน. ปทุมวัน การเคลื่อนไหวที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย จนกระทั่งถูกจับกุมในวันที่ 26 มิ.ย. ส่วนนักศึกษาที่ยังไม่ถูกจับกุม ได้รับการถูกคุมคามจากเจ้าหน้าที่ พ่อแม่ของนักศึกษาที่ถูกจับกุมไป ก็ยังโดน ตร. ตามไปหาที่บ้านไปถามไถ่ว่าเลี้ยงลูกยังไง ทำไมถึงต่อต้านรัฐบาล

ตัวแทนกลุ่มประชาคมจุฬาฯ ยังได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยเพื่อนๆ นักศึกษาอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยให้เหตุผลว่า เพื่อนๆ ไม่ได้ทำอะไรผิด และต้องการให้ทุกคนที่คิดว่าตนเองถูกลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ ออกมาปกป้อง แค่นักศึกษากลุ่มเดียวออกมาเคลื่อนไหวคงไม่พอ ทุกคนควรก้าวออกมา เพราะถึงเวลาแล้ว

พิชญ์: คสช. (อาจจะ)ได้บทเรียนราคาแพงจากนักศึกษา สำทับอยากได้ยินข่าววิถีชีวิตในคุกมากกว่านี้

พิชญ์ เล่าว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้ไปเยี่ยมลูกศิษย์ที่ติดคุก [กล่าวถึง แซม พรชัย ยวนยี] ซึ่งเพิ่งเรียนจบไปประมาณสองปี ในการเข้าเยี่ยมมีกระบวนการที่ค่อนข้างยุ่งยาก และในที่สุดก็ได้พบทั้ง 13 คน(ผู้ชาย)ตอนบ่าย โดยในวันนั้น ทั้ง 13 คนมีกำลังใจดี แต่มีคำๆหนึ่งที่น่าสนใจจากหนึ่งในนั้นว่า ‘จะมีการแยกแดน เขาต้องปรับตัว’ คำถามคือ ต้องปรับตัวกับอะไรในคุก มีกิจกรรมอะไรในคุกบ้าง ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ พิชญ์ วิงวอนสื่อให้ตีแผ่ด้วย

นอกจากนั้น พิชญ์ ยังได้เจอพ่อแม่ของนักศึกษาบางท่าน ทำให้พบว่ามีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่าง คณะผู้ปกครองประเทศ ผู้ที่ยังนึกว่า จะสามารถใช้เครือข่ายประเพณีเดิมๆ ก็คือสถาบันครอบครัว เพื่อควบคุมนักศึกษาได้ แต่ทุกวันนี้ความสัมพันธ์ในครอบครัวเปลี่ยนไป พ่อแม่อาจจะฟังลูกมากขึ้น นักศึกษาอาจจะเริ่มต้นเส้นทางการต่อต้านระบอบการปกครอง ด้วยการต่อต้านครอบครัวเป็นอันดับแรกมาแล้วก็เป็นได้ การที่มาถามว่าครอบครัวทำไมไม่ดูแล อาจได้รับคำตอบจากครอบครัวกลับมาว่า ทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ในมุมของเด็กจะเปลี่ยนมากน้อยแค่ไหนเราไม่ทราบ แต่ความสัมพันธ์ที่เด็กมีกับครอบครัวมันเปลี่ยนไปแน่ๆ

พิชญ์ กล่าวว่าต่อไปว่า การรัฐประหารครั้งนี้ ผิดแผกไปจากขนบการรัฐประหารทั่วไปในครั้งก่อนๆเยอะ ลักษณะทั่วไป ก็คือ พอรัฐประหารเสร็จ ทหารก็ถอยให้ รัฐบาลพลเรือนเข้ามา ให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีการประนีประนอมกับนักการเมือง แต่ทุกวันนี้ทหารออกมาแถวหน้า ซึ่งมันไม่ง่ายที่จะทำให้คนเข้าใจตรงกันถึงความเป็นจริงที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าว

พิชญ์สงสัยว่าทำไม คสช. ถึงไม่ทำสถาบันพิเศษขึ้นมา เช่นศาลรัฐประหาร มาใช้ในสภาวะแบบนี้ การใช้ศาลทหารมาวุ่นวายกับปัญหาการเมืองนั้นไม่มีความเหมาะสม เพราะศาลเองมีงานอยู่แล้ว ทั้งยังใช้กฎหมายอาญามาอ้างว่า นศ.ไม่ใช่นักโทษการเมือง แต่การตีความมีความจงใจทางการเมือง การนำเอากระบวนการศาลทหาร และตำรวจ ที่ใช้งานอยู่แล้วในเวลาปรกติ เข้ามาเกี่ยวพันกับสถานการณ์พิเศษจึงก่อให้เกิดความลำบาก

นอกจากนั้น มันทำให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องความชอบธรรมทางกฎหมาย มีทั้งเรื่องของตัวบท และการยอมรับ การยอมรับเป็นกระบวนการที่ทั้งสองฝ่ายต้องตกลงกัน ไม่ใช่สิ่งที่เขียนอยู่ในกระดาษ และมันกำลังสั่นสะเทือนขึ้นเรื่อยๆ

พิชญ์ ให้ข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลมีท่าทีที่อ่อนลงในการพูดจา ในขณะเดียวกันความเห็นจากคณะผู้ปกครองประเทศ มีหลายเฉดมากขึ้น สิ่งที่เราเห็นชัดขึ้นคือ คำสัมภาษณ์ของ ผู้บัญชาการทหารบก และคนที่คุมกระทรวงยุติธรรม เข้มข้นเสียกว่าผู้บริหารประเทศ เลยสงสัยว่า เป็นทัศนคติจากหลายแนวทาง หรือเป็นความเห็นไม่ตรงกันในเหล่าผู้นำ

พิชญ์ กล่าวว่าการทำผิดกฎหมายสามารถทำให้ถูกกฎหมาย เช่นการนิรโทษกรรม ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ให้อำนาจฝ่ายความมั่นคงขนาดที่ทำอะไรก็ไม่ผิด แสดงให้เห็นว่ากฎหมายมันเปลี่ยนได้ คิดว่าเรื่องนี้ทางรัฐบาลก็เข้าใจอยู่

พิชญ์คิดว่า มีการจุดวาทกรรมสำคัญขึ้นมา คืออ้างว่าเรื่องนี้ จุดติดหรือไม่ติด เจ้าตัวไม่คิดว่านี่เป็นโจทย์ใหญ่ของสังคม กระแสที่จุดไม่ติดจริงๆก็คือ กระแสที่ทำให้เกลียดนักศึกษา การปลุกให้เกลียดชังนักศึกษา เกลียดชังคนที่แสดงความคิดเห็นโดยไม่ใช้ความรุนแรงต่างหากที่จุดไม่ติด อันนี้เป็นสิ่งซึ่งฝ่ายความมั่นคงเองก็เข้าใจ เรากำลังเผชิญกับสิ่งใหม่ที่ไม่เหมือน 14 และ 6 ตุลาเสียทีเดียว คณะรัฐประหารเองก็สามารถเรียนรู้และวางตัวได้เหมาะสมมากขึ้นจากเหตุการณ์นี้

ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา มีเรื่องที่เขาทำเองไม่ได้ จึงพึ่งคนที่คิดว่าจะทำให้ได้ แต่เรื่องที่คิดว่าจะทำให้ได้กลับเละเทะ สาเหตุมันมีเยอะ และคนผิดไม่ใช่ประยุทธคนเดียว คณะรัฐประหารอาจคิดแล้วว่า คนสองร้อยคนที่เลือกมา หรือแม่น้ำห้าสาย อาจจะไม่เข้าท่า แต่ตาน้ำเล็กๆที่พวกเขาเอามาคุมขัง อาจจะกลายเป็นแม่น้ำสายที่หกที่ใหญ่กว่าคลองที่ตัวเองขุดเองแล้วคิดว่ามันยิ่งใหญ่แล้วก็ได้

คสช. อาจคิดขึ้นได้ว่า วันหนึ่งเขาเคยมีเกียรติยศสูงส่งในฐานะผู้พิทักษ์ แต่พอมาเป็นผู้ปกครองแล้วมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง คสช. ต้องคิดเสียแล้วว่า คสช. จะได้ข้อมูลจากหลายฝั่งมากขึ้น และมันจะเป็นผลดีต่อสังคม และจะทำให้องค์ประกอบหนึ่งที่ไม่ชัดเจนมันชัดเจนมากขึ้น ก็คือ โรดแมพ มี โรด และเงื่อนเวลา แต่ตอนนี้มันไม่ชัดเจน ตอนนี้มีโรด แต่ไม่มีแมพ มันจะออกไปเรื่อยๆ ถ้าเงื่อนเวลาของโรดแมพมันชัดเจนขึ้น และชี้ให้เห็นว่าจะทำอะไรบ้างภายใต้เวลาดังกล่าว ก็คิดว่าคงทำให้ทุกๆ ฝ่ายคุยกันได้มากขึ้น

สุดท้าย พิชญ์ ยกข้อความในหนังสือ มนุษย์ ความหมาย และค่ายกักกันขึ้นมากล่าวว่า มนุษย์ถูกสาปให้มีเสรีภาพ เสรีภาพไม่ใช่อะไรที่ร้องขอแล้วจะได้ มันมาพร้อมอะไรหลายๆ อย่าง เมื่อมีชีวิต ย่อมมีการเลือกตามมา ชีวิตโดยแท้จริงแล้วไร้ค่า แต่มันจะมีค่าขึ้นมา ก็ต่อเมื่อเราตัดสินใจเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งและรับผิดชอบกับสิ่งที่เลือก ดังนั้นสิ่งที่นักศึกษาเลือกอาจจะตรงกับเรา เราก็ไปร่วม แต่ถ้าไม่ตรง เราก็ไม่ไป ทุกคนมีสิทธิ์เลือก อย่างไรก็ตาม การที่นักศึกษาถูกจับ ทำให้คนเริ่มตั้งคำถามว่า เราทนที่จะเห็นเขารับผิดชอบความผิดตามกฎหมายแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ได้หรือไม่

วาด รวี: คนไทยยังเข้าใจเสรีภาพอย่างผิดๆ เปรยถ้าตอนนี้ไทยยังเฉย คงไม่มีวันจะไปถึงประชาธิปไตย

วาด รวี กล่าวว่า ในแวดวงนักเขียนนั้น มีนักเขียนจำนวนหนึ่งได้เรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องก่อนการเกิดรัฐประหาร และพยายามแสดงออกในช่วงแรกของการรัฐประหาร แต่ก็โดนปิดกั้นด้วยข้ออ้างที่คณะรัฐประหารใช้ ก็คือเพื่อรักษาความสงบ

วาด รวี เล่าต่อไปว่า มีการพูดกันเยอะในหมู่คนที่สนับสนุน คสช. ว่าที่ผ่านมามีการใช้เสรีภาพเยอะเกินไป เลยเกิดความวุ่นวาย ในช่วงเวลาอย่างนี้จึงสนับสนุนให้ คสช.จำกัดเสรีภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เสรีภาพไม่ได้ยืนอยู่โดดๆ มันจะต้องมีทั้งสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค มาด้วยกัน กรอบจำกัดของเสรีภาพมันถูกจำกัดด้วยเสรีภาพของคนอื่นๆ ในสังคมอยู่แล้ว ทุกคนมีเสรีภาพเหมือนกัน เมื่อเสรีภาพของแต่ละคนมาชนกัน มันจะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายละเมิดเสรีภาพของอีกฝ่าย ดังนั้น การอยู่ในสังคมประชาธิปไตย เสรีภาพของแต่ละคนจะต้องไม่ไปละเมิดเสรีภาพของคนอื่น

วาด รวี ชี้ว่า การเอาเสรีภาพมาอ้างใช้ในการละเมิดเสรีภาพส่วนรวม มีมาตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 แล้ว เพราะตอนนั้นก็มีการชุมนุมและเรียกร้องให้ทหารออกมาแก้ไขปัญหา กรณีชัดๆที่เห็นว่าล้ำเส้นเสรีภาพ ก็คือกรณีบุก NBT กับยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ไม่ว่าจะเสื้อไหนชุมนุม ภาพที่เกิดขึ้นคือการใช้เสรีภาพก่อความวุ่นวาย เพราะมันเป็นการละเมิดเสรีภาพอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดการเหมารวมว่าเสรีภาพก่อให้เกิดความวุ่นวาย กรณีที่นักศึกษาจัดกิจกรรมนั้น ยังอยู่ในกรอบของเสรีภาพ ที่ไม่ได้ไปละเมิดเสรีภาพของใครเลย ตั้งแต่การดูนาฬิกาที่หอศิลป์ กรุงเทพฯ หรือการชูป้ายผ้าที่ขอนแก่น เป็นเพียงการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองต่อสาธารณะ ที่เป็นเสรีภาพพื้นฐาน ที่ คสช. ปิดกั้นมาตั้งแต่แรก โดยไม่มีการผ่อนปรน เหตุผลนี้พอฟังขึ้นกับคนที่กลางๆในช่วง 2-3 เดือนแรกของการรัฐประหาร แต่วันนี้เหตุผลนี้ไม่ควรใช้อีกต่อไป ทุกวันนี้ ลักษณะของการปิดกั้นดูท่าจะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพอย่างถาวรไปเสียแล้ว และไม่ใช่แค่การปิดกั้นการแสดงออกเฉยๆ แต่เป็นการปิดกั้นไม่ให้สื่อทำข่าวการจับกุมคนที่แสดงออกอีกด้วย อย่างเช่นกรณีที่ Thai PBS ถูกปรับจากการทำข่าว  วันนี้การปิดกั้นเสรีภาพ แทบจะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพที่รุนแรงที่สุดในสังคมไทยในช่วงเวลานับสิบปีทีเดียว

เขาข้องใจในประเด็นความชอบธรรมของกฎหมาย เพราะกฎหมายมันเริ่มต้นจากการกระทำการที่ผิดกฎหมาย ก็คือการรัฐประหาร การออกคำสั่งหลังยึดอำนาจซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว อีกอย่างถ้าเป็นคำสั่งที่ไร้เหตุผล ประชาชนต้องต่อรองกับคำสั่งที่กดขี่เสรีภาพ และ คสช. จะเจ๊งเพราะกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างเดียวไหม ก็คงไม่ใช่จากเรื่องนี้เรื่องเดียว ประเด็นคือ เราต้องทวงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกกลับมาเสียก่อน ไม่ว่าเราจะพูดแล้ว คำพูดเราจะศักดิ์สิทธิ์ขนาดที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรมากมายได้หรือไม่นั้น มันอยู่กับประชาชนคนอื่นว่าเห็นด้วยมากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งที่ควรมีเป็นพื้นฐาน ก็คือเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ใช่ปิดปากกันแบบนี้ ทุกคนต้องตระหนักว่าตอนนี้มันเข้าขั้นวิกฤติเสียแล้ว ถ้าการแสดงออกความคิดเห็นง่ายๆกลับต้องขึ้นศาลทหารถูกมองเป็นเรื่องปรกติ สังคมนี้คงไปไม่ถึงประชาธิปไตยจริงๆ

เขาทิ้งท้ายว่า วิกฤติการเมืองในสังคมไทยเสมือนเป็นเบ้าหลอม ปัจจุบันคนไทยได้เรียนรู้มากขึ้นแล้ว แต่คงยังไม่พอที่จะไม่ให้เกิดการรัฐประหารอีก กรณีของนักศึกษา ถือเป็นกรณีใหญ่ในช่วงนี้ มันมีไม่บ่อยที่คนไทยจะเอาร่างกายเข้าแลกกับสิทธิและเสรีภาพ เพื่อให้สังคมตื่นตระหนักว่าตนเองถูกลิดรอนอยู่ และต้องทวงคืน นี่ถือเป็นสิ่งที่ตนเองไม่เห็นมานานมากแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net