ศาลทหารไม่อนุมัติคำขอฝากขังของ ตร. -นักสิทธิห่วง ปล่อยคดีนี้ รอจับอีกคดีหนึ่ง

ศาลทหารยกคำร้องขอฝากขัง 14 นักกิจกรรม-นักศึกษา ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เนื่องจากไม่มีเหตุในการควบคุมตัวต่อ ด้านนักสิทธิห่วงการยกคำร้องแค่เพื่อแก้เกมการเมือง ลดแรงต้าน ชี้ทั้งหมดยังมีคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. จากเหตุการณ์วันครบ 1 ปีรัฐประหารอยู่

7 ก.ค. 2558 เวลา 11.10 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขัง 14 ผู้ต้องหาในผัดที่สอง ศาลทหารได้พิจารณาคำร้องและมีคำสั่งยกคำร้องเนื่องจากเห็นว่าไม่มีเหตุในการควบคุมตัวต่อ นักศึกษาและนักกิจกรรมทั้งหมดจึงจะได้รับอิสรภาพในวันนี้ คาดว่าจะมีการนำตัวไปปล่อยที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลางในช่วงบ่ายถึงเย็น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ที่มาให้กำลังใจและสื่อมวลชนไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปภายในบริเวณศาลทหาร มีเพียงทนาย ผู้ต้องหา ญาติผู้ต้องหา และผู้สังเกตการณ์จากองค์กรระหว่างประเทศเท่านั้นที่ได้เข้าร่วมในห้องพิจารณาคดี องค์กรระหว่างประเทศที่มาในวันนี้มีหลายองค์กร อาทิ Amnesty International. สถานทูตสหรัฐ, เนเธอแลนด์, เบลเยี่ยม, ออสเตรีย, ฝรั่งเศส, สวีเดน, และสำนักงานสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย

เพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุรายละเอียดเกี่ยวกับคำร้องฝากขังและคำคัดค้านของทนายความว่า พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังทั้ง 14 คน เป็นผัดที่สองระหว่างวันที่ 8-19 ก.ค.โดยให้เหตุผลว่า "คดีนี้สอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ระหว่างสรุปสำนวนส่งอัยการ จึงขออนุญาตฝากขัง ในกรณีที่ผู้ต้องหาจะขอประกันตัว ไม่คัดค้านการประกันตัว และผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ไม่ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานและไม่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน" ด้านทนายความยื่นคำร้องคัดค้าน โดยนายรังสิมันต์ โรม นายพรชัย ยวนยี และนายจตุภัทร บุญภัทรรักษา (ไผ่) แถลงต่อศาลใน 4 ประเด็น คือ

1. พวกเขายังเป็นผู้ต้องหา ได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

2. พวกเขาไม่ได้หลบหนีไปไหน อีกทั้งวันที่ 24 ก็ไปปรากฎตัวที่สถานีตำรวจ หลังจากนั้นพักอยู่ที่สวนเงินมีมา โดยแจ้งให้สาธารณะทราบตลอด

3. พวกเขาไม่ใช่อาชญากร ไม่ได้ก่ออาชญากรรมต่อรัฐหรือต่อสังคม

4. การควบคุมตัวพวกเขาในเรือนจำเป็นอุปสรรคในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้คดี

ศาลพิเคราะห์แล้ว มีคำสั่ง "ไม่อนุญาติให้ฝากขัง เนื่องจากพนักงานสอบสวนเสร็จแล้ว รวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้ว จึงไม่มีเหตุให้ฝากขังต่อ"

ทั้งนี้ แม้จะไม่มีการฝากขังนักศึกษาและนักกิจกรรมทั้ง 14 คน แต่กระบวนการยุติธรรมยังคงดำเนินต่อไป เมื่อครบกำหนดหากอัยการทหารส่งฟ้องต่อศาลทหารก็ต้องมีการพิจารณาคดีตามที่ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง 3/2558 ที่ออกโดยมาตรา 44 และมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากทราบข่าวว่าศาลไม่อนุมัติให้ฝากขังต่อ ประชาชนนับร้อยต่างโห่ร้องแสดงความดีใจ
 
วิบูลย์ บุญภัทรรักษา พ่อของไผ่ ดาวดิน กล่าวกับมวลชนว่า ดีใจที่เด็กๆ ได้ปล่อยตัว ตอนแรกพนักงานสอบสวนยื่นฝากขังต่อ แต่นักศึกษาคัดค้าน เพราะตอนจับ พวกเขาอารยะขัดขืนไม่ได้จะหลบหนี แม้ปล่อยตัวไปเขาก็จะไม่หลบหนีเช่นกัน การกักขังทำให้หมดอิสรภาพในการดำเนินชีวิต บางคนไม่ได้เรียน บางคนไม่ได้สอบทนาย
 
เขากล่าวด้วยว่า เด็กๆ ได้ต่อสู้ตามหลัก 5 ข้อแล้ว การได้ออกมาไม่ได้หมายความว่าจะยุติ คาดว่าเขาคงจะสู้ต่อไป
 

พ่อไผ่ ดาวดิน
 
ด้านสิรวิชญ์ ขอให้เคลียร์พื้นที่ สลายตัวจากหน้าศาลทหารไปปักหลักที่ คุก มธ. หรือกรงจำลองที่ มธ. เพื่อเตรียมเคลื่อนไปรอรับทั้ง 14 คนที่เรือนจำในช่วงเย็น
 
 

ผู้คนกำลังทยอยเก็บของออกจากหน้าศาลทหารหลังทราบผลปล่อย 14 ผู้ต้องหา

นักสิทธิห่วง ปล่อยคดีนี้ รอจับอีกคดีหนึ่ง

สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การยกคำร้องขอฝากขังผัดสองเป็นเพียงการแก้เกมการเมืองเพื่อลดกระแสการต่อต้านที่กำลังก่อตัว ทั้งนี้กังวลว่าหลังการปล่อยตัวที่เรือนจำในวันนี้อาจมีการอายัดตัวนักศึกษานักกิจกรรมในคดีอื่นได้อีก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นทั้ง 14 คนมีคดีติดตัวอยู่ 2 คดี คือ

คดีแรกคือ 22 พ.ค.2558 มีผู้ต้องหาจำนวน 7 คนถูกแจ้งข้อหาเดียว คือ ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ในการชุมนุมหน้าหอศิลป์ และดาวดินอีก 7 คนจากการชูป้ายผ้าที่ขอนแก่น

คดีที่สองคือ 25 มิ.ย.2558 ที่ทั้ง 14 คนมารวมตัวกันทำกิจกรรมหน้า สน.ปทุมวัน (24 มิ.ย.) ก่อนที่วันที่ 25 มิ.ย.จะจัดกิจกรรมเดินสายและปราศรัยกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คดีนี้ถูกแจ้ง 2 ข้อหาคือ ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 ที่ห้ามชุมนุมเกินห้าคน กับ มาตรา 116 ประมวลกฏหมายอาญาในการปลุกระดมประชาชน โทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี

ในคดีที่สองมีการออกหมายจับนำมาสู่การจับกุมและฝากขังที่เกิดขึ้น ขณะที่คดีแรกนั้นยังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน สุณัยแสดงความกังวลว่าอาจใช้คดีแรกเป็นเหตุในการจับกุมนักศึกษาอีกครั้งหลังปล่อยตัว

000

ก่อนหน้านั้น เมื่อเวลาประมาณ 7.30 น. มีการปิดรั้วที่หน้ากระทรวงกลาโหม กำลังทหารตำรวจประมาณ 30 นาย


กฤษฎางค์ นุตจรัส หนึ่งในทีมทนายความของ 14 ผู้ต้องหา

เวลา 7.50 น. ทนายของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่เดินทางมาถึง ให้สัมภาษณ์สื่อว่าวันนี้พิจารณาคดี ถ้าศาลให้ฝากขังต่อ ก็คงได้ฝากขังต่อ ถ้าจะปล่อยตัว ก็คงเพราะไม่รู้จะขังไว้ทำไม ส่วนนักศึกษาน่าจะมาได้หมด ยกเว้นนักศึกษาหญิงที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ที่มีอาการชาไปครึ่งซีก จากเหตุสลายการชุมนุมหน้าหอศิลป์เนื่องจากถูกไฟฟ้าช็อต  

เวลา 8.30 น. สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่เดินทางมาปักหลักที่หน้ากระทรวงกลาโหม บอกว่าจะรอรับเพื่อนกลับบ้าน และคัดค้านการฝากขัง และระบุว่า จะเคลื่ิอนไหวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย ต่อให้เพื่อนต้องโดนขังต่อ ก็จะเคลื่อนไหวและเป็นกำลังใจให้ ชี้เพื่อนถูกกระบวนการกฎหมายที่บิดเบี้ยวเล่นงาน โดนไล่จับเพียงเพราะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ตั้งคำถามเสรีชนกี่คนแลัวกี่คนเล่าที่ต้องขึ้นศาลทหาร ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ทหาร

เวลา 8.50 น. ผู้สังเกตการณ์จากสหประชาชาติเดินทางมาถึงและเข้าไปในศาลทหาร

เวลา 9.30 น. ที่หน้ากระทรวงกลาโหม มีประชาชนทยอยกันมาเป็นกำลังใจให้ 14 ผู้ต้องหาและผู้สื่อข่าวที่มารอทำข่าวกว่าร้อยคน และเริ่มมีการปูเสื่อ กั้นผ้า ตั้งเครื่องเสียงปักหลักที่ด้านหน้ารั้วกั้นทางเข้าศาลทหารแล้ว ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจให้สื่อมวลชนออกจากหน้ารั้วเพื่อความเรียบร้อย

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังขอให้ตัวแทนมาเจรจาเนื่องจากทางเจ้าหน้าที่อยากให้เหลือพื้นที่ให้เข้าออก ไม่ให้เสื่อปิดทางเข้าออก

กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ทำกิจกรรมอ่านกวี เรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนๆ โดยมีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนผลการเจรจากับตำรวจสรุปว่า ให้กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ใช้ถนนหน้ารั้วทำกิจกรรมต่อไปได้

เวลาประมาณ 9.40 น. ชายสูงอายุคนหนึ่งชูป้ายกระดาษหน้าศาลทหาร "เผด็จการที่ดี ดีกว่าประชาธิปไตยที่เลว" ภายหลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจพาตัวออกไป ด้านนักศึกษากล่าวขอร้องกับผู้ชุมนุมขอร้องอย่าด่าทอผู้เห็นต่างทางการเมือง หลังมวลชนโห่ไล่ชายคนดังกล่าว

ประชาชนที่มาให้กำลังใจ 14 น.ศ.ปักหลักนั่งหน้าศาล ร้องเพลงเพื่อมวลชน

เวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 14 คนแล้ว จากเดิมที่มีการคาดการณ์กันว่าตำรวจอาจไม่ขอฝากขังผัดที่ 2 เพื่อลดแรงกดดันทางสังคม หาทางปล่อยตัวนักศึกษานักกิจกรรมที่ไม่ยอมยื่นประกันตัว ด้านทนายความเตรียมยื่นคัดค้านการฝากขังผู้ต้องหา

ทั้งนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 14 คน รวมถึงชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด ที่รักษาตัวจากอาการแขนขาชาอยู่ที่ รพ.ราชทัณฑ์ ก็ถูกนำตัวมายังศาลทหารด้วย

ราว 10.40 น. เกิดเหตุอีกครั้งเมื่อชายสวมแว่นดำ มีรอยสัก ชูป้าย "นักศึกษาไปเรียนหนังสือดีกว่า อย่าทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย" เมื่อมวลชนเห็นก็มีการโห่แสดงความไม่พอใจ จากนั้นชายซึ่งคาดว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบได้นำตัวชายคนดังกล่าวขึ้นมอเตอร์ไซค์ออกจากพื้นที่ชุมนุม อย่างไรก็ตาม ภายหลังสถานการณ์นักศึกษาพยายามทำความเข้าใจกับมวลชนที่มาชุมนุมว่าควรใจเย็นและไม่โห่ไล่ด่าทอผู้เห็นต่าง

10.35 ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวปราศัย ขอให้ผู้ชุมนุมโดยยึดหลักการ 5 ข้อของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เพื่อชุมนุมโดยสงบ พร้อมกล่าวถึงสื่อและคนที่ต้องการดิสเครดิตนักศึกษาด้วยเกรดหรือหน้าตาว่าอย่าทำ เพราะมันไม่เกี่ยวข้องกัน

"ผมไม่ได้อยู่เบื้องหลังนักศึกษา ผมอยู่เบื้องข้างเขา" ประจักษ์กล่าว เรียกเสียงปรบมือจำนวนมาก

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า เราเห็นด้วยกับหลักการ 5 ข้อของเขา การละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักศึกษา ไม่ใช่ปัญหาของนักศึกษาอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาของทุกคน เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน นักศึกษายอมเอาอิสรภาพเข้าแลกเพื่อเสนอหลักการ 5 ข้อ ถ้าจะตอบโต้ อย่าไปขุดคุ้ยเกรดหรือคดีพนัน น.ศ. ให้ไปศึกษาหลักการ 5 ข้อ หาข้อบกพร่องและมาเถียงกัน มาตอบโต้ด้วยเรื่องพวกนี้มันกระจอก พร้อมเรียกร้องขอให้ปล่อยตัว น.ศ. โดยไม่มีเงื่อนไข

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท