Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ประชาไทสัมภาษณ์ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ภายหลังจากเข้าเยี่ยม ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ ลูกเกด 1 ใน 14 นักศึกษาที่ถูกจับกุมจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ในประเด็นการถูกคุกคามของคณาจารย์จากเครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง และมุมมองต่อการดิสเครดิตของนักศึกษาจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่

ประชาไท: กรณีมีอาจารย์ที่ลงชื่อกับเครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง ถูกคุกคามจากทั้งทหารและตำรวจ เพื่อกดดันให้ยุติกิจกรรมต่างๆ อาจารย์ถูกคุกคามด้วยหรือไม่
ประจักษ์: ยังไม่โดนคุกคามจากการลงนามในแถลงการณ์ อาจจะเป็นเพราะว่าโดนมาก่อนหน้าแล้ว หมายถึงโดนจับตามองมาตลอดตั้งแต่หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคมปีที่แล้ว ซึ่งก็ไม่ได้หนีไปไหน ไม่ได้ไปซ่อนตัวที่ไหน และก็ยังยืนยันในสิทธิและเสรีภาพในทางวิชาการในการวิจารณ์เรื่องต่างๆ บนหลักการทางวิชาการว่ารัฐประหารไม่ดีอย่างไร ทำให้ประเทศถดถอยอย่างไร โดยเฉพาะในด้านสิทธิมนุษยชน และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของประชาธิปไตย ซึ่งถ้าบอกว่าจะสร้างประชาธิปไตย แล้วในกระบวนการสร้างนี้ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน แล้วไม่ให้ประชาชนมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้เลย ประชาธิปไตยจะงอกเงยขึ้นมาได้อย่างไร ประชาธิปไตยไม่มีทางงอกเงยขึ้นมาได้ จากการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน

ฉะนั้นก็ยืนยันมาโดยตลอด ส่งผลให้ปลายปีที่แล้ว ตอนช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาที่จะจัดงานห้องเรียนประชาธิปไตย 2 ผมกับอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็โดนพาไปสอบสวนที่โรงพัก หลังจากนั้นถ้าผมไปร่วมงานเสวนาที่ไหน แม้แต่เรื่องที่จริงๆ แล้ว เป็นเรื่องที่ คสช. ก็ทำอยู่ หมายถึงในเรื่องการต่อสู้คอร์รัปชั่น ก็ยังมีตำรวจทหารนอกเครื่องแบบไปฟังตลอด ซึ่งมองว่าการกระทำแบบนี้เป็นการคุกคามแบบหนึ่ง เพราะในทุกงานเสวนาทางวิชาการ ก็จะมีตำรวจทหารไปถ่ายรูป ไปจดบันทึก มานั่งกดดัน แม้แต่งานที่คณะจัด ที่เป็นงานเสวนาธรรมดา ก็กลายเป็นบรรยากาศที่ไม่ดีในรั้วมหาวิทยาลัย ที่ตำรวจ ทหารนอกเครื่องแบบเข้ามาตลอดเวลา

ฉะนั้นในกรณีของผมจึงมองว่าอยู่ในเรดาร์อยู่แล้ว และตัวเองก็เคลื่อนไหวแบบเปิดเผยมาตลอด แต่ถ้าจะบอกว่าผมเป็นผู้อยู่เบื้องหลังนักศึกษา ผมไม่ได้อยู่เบื้องหลังแต่อยู่เบื้องข้าง และสู้ไปพร้อมๆ กันกับนักศึกษา เพราะเห็นด้วยกับหลักการที่นักศึกษาต่อสู้ 5 ข้อหลักการประชาธิปไตยใหม่ ถ้าใครจะเถียงกับกับนักศึกษาก็ขอให้เถียงที่เนื้อหา ไม่ใช่มาดิสเครดิต ด้วยเรื่องที่มันตื้นเขิน เช่น หน้าตาไม่เหมือนนักศึกษา ทำไมเกรดได้น้อยเท่านี้ สิ่งนี้ไม่ใช่สาระสำคัญ

คุณกล้าเถียงไหมว่าหลักการที่เขานำเสนอมันผิดตรงไหน แล้วมันเป็นหลักการที่ไม่ดีตรงไหน เราไม่ต้องการเหรอ สังคมแบบนั้น ที่มีประชาธิปไตย มีหลักการเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน มีสิทธิมนุษยชน มีสิทธิชุมชนที่ได้รับการเคารพ และมีสันติวิธี

ในหลักการ 5 ข้อ ถ้าไม่เห็นด้วยตรงไหนก็ให้เถียงมาด้วยเหตุและผล เพราะนักศึกษาเขาต่อสู้ในสิ่งนี้ เขาก็ชัดเจนในหลักการของเขา คนที่ไม่เห็นด้วยแทนที่จะไปดิสเครดิตเขาในเรื่องอื่น ให้มาเถียงด้วยเหตุและผลว่าหลักการ 5 ข้อ มันไม่ดีอย่างไร

คุณอาจจะต่างสี ต่างอุดมการณ์ แต่ที่คุณเคยออกมาท้องถนนเพื่อต่อสู้ คุณไม่ได้ต่อสู้เพื่อหลักการ 5 ข้อนี้เหมือนกันเหรอ เราก็ต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชน เราก็ต้องการรัฐบาลที่โปร่งใสตรวจสอบได้ เราก็ต้องการสิทธิชุมชนที่ได้รับการเคารพ
 

กลุ่มคนที่ยังลังเลในการต่อสู้ของกลุ่มนักศึกษาอาจกังวลว่า หากเรียกร้องให้ คสช.ออกไปแล้วบ้านเมืองจะเดินไปทางไหนต่อ
การต่อสู้ของนักศึกษาในครั้งนี้ก้าวข้ามการเมืองเสื้อสีไปแล้ว สิ่งที่นักศึกษาต่อสู้ ไม่ได้ต่อสู้เพื่อใคร เพื่อนักการเมืองไหน เพื่อกลุ่มอำนาจไหนเลย แต่ต่อสู้เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่มีหลักการ 5 ข้อ ที่ว่าประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ยุติธรรม การมีส่วนร่วมและสันติวิธีซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐาน ถามว่านักศึกษาไร้เดียงสาถึงขนาดคิดว่าการต่อสู้ของพวกเขาครั้งนี้จะสำเร็จภายในวันสองวันเดือนสองเดือนหรือไม่ มองว่าไม่เพราะคนที่สนับสนุน คสช.แบบไม่ตั้งคำถามยังมีอีกมากเพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบ 14 ตุลา เกิดการโค่นล้ม คสช. เพราะถ้าชนชั้นกลางยังหลับใหลอยู่ ก็ไม่สามารถล้ม คสช.ได้ เมื่อชนชั้นกลางตื่นเท่านั้นถึงจะล้มได้

แต่ตอนนี้นักศึกษาต่อสู้เพื่ออนาคตอาจจะไม่สำเร็จในวันนี้ แต่อย่างน้อยก็ได้จุดประเด็นแล้วว่า สังคมไทยสมควรได้ระบอบการปกครองที่ดีกว่าปัจจุบัน ระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ตอนนี้ที่ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และก็ไม่ได้มีทิศทางที่ชัดเจนเลยในการที่จะสร้างความปรองดอง ที่เป็นอยู่ตอนนี้ถามว่าปรองดองหรือไม่ ในเมื่อการปฏิรูปก็ไม่ชัดเจน รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ก็เห็นชัดเจนแล้วว่าไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ อนาคตเป็นสิ่งที่สังคมต้องสร้างร่วมกัน

ถามว่า คสช.ออกไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ก็เหมือนกับครั้งหนึ่งที่ถนอม ประภาส ออกไป ก็เหมือนที่ครั้งหนึ่งประชาชนปี 35 ขับไล่ รสช. ออกไป เพราะฉะนั้นอนาคตจะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่ว่าประชาชนจะร่วมกันสร้าง แต่ที่เห็นได้แน่ๆ ก็คือ สมัยที่ปะชาชนขับไล่ ถนอม ประภาส ออกไป เพราะประชาชนบอกว่านี้ไม่ใช่ระบอบที่เขาปรารถนา นี่ไม่ใช่ระบอบการเมืองที่เราใฝ่ฝัน

ที่ทุกคนสู้กันก็เพราะว่าเราอยากได้ระบอบการเมืองที่ดีกว่านี้ ลองถามใจตัวเองลึกๆ ว่า สภาพที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นสภาพอุดมคติที่เราใฝ่ฝันหรือ แล้วทำไมถึงดูถูกพลังของตัวเองว่าประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายไม่สามารถสร้างสังคมที่ดีกว่านี้ สร้างระบอบการเมืองที่ดีกว่านี้ ฉะนั้นไม่ต้องถามเลยว่า คสช.ออกไป แล้วจะทำอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนจะเชื่อมั่นในศักยภาพตัวเองหรือไม่ ระบอบที่เราอยู่ในปัจจุบันมันเป็นระบอบพิกลพิการที่ไม่มีใครใช้อยู่ในขณะนี้อีกแล้ว แล้วถามว่าทั่วโลกเขาอยู่กันอย่างไร ก็อยู่กันปกติ เขาก็อยู่ได้ ก็สู้กันไป ขัดแย้งกันไป ภายใต้กติกา และก็ช่วยกันในการฟื้นฟูกติกาประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ โดยทีทุกฝ่ายมีส่วนร่วม โดยไม่ใช่ความรุนแรง ใช้สันติวิธี ซึ่งเป็นสิ่งที่นักศึกษาเขาก็แสดงออกให้เห็นมาโดยตลอด คือถ้าคุณยึดหลักการ 5 ข้อของนักศึกษา แล้วค่อยๆ สร้างระบอบนี้ขึ้นมาด้วยกัน ถ้าประชาชนตื่นตัวแล้วพร้อมที่จะตรวจสอบอำนาจของทุกฝ่ายไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตามสังคมก็จะไปได้
 

การดิสเครดิตทั้ง 14 คนตรงนี้สะท้อนอะไรได้บ้าง
ตอนนี้เป็นเรื่องน่าเศร้า น่าเสียดาย ตรงที่ว่าที่ผ่านมาสังคมไทยชอบเทศนาชอบพร่ำสอนเยาวชนของชาติว่า อย่าสนใจแต่เรื่องตัวเอง อย่าเอาแต่เรียนหนังสือ อย่าเอาแต่อยู่ในรั้วห้องเรียน ให้เปิดออกมาสู่โลกภายนอก ให้มีจิตสำนึกเพื่อสังคมให้ทำงานเพื่อผู้อื่น ซึ่งผู้ใหญ่พร่ำสอนนักศึกษามาโดยตลอด ในทุกๆ เดือนตุลา ผู้ใหญ่เดือนตุลาก็ออกมาบ่นมาถามว่านักศึกษาหายไปไหน ออกมาก่นด่านักศึกษาว่านักศึกษารุ่นปัจจุบันไม่มีสำนึกอีกแล้ว พอนักศึกษาออกมาจริงๆ มาใช้สิทธิใช้เสียงของเขา ผู้ใหญ่เหล่านั้นยังไม่ฟังเลยว่าเขาเสนอเรื่องอะไรบ้าง กลับก็ออกมาดิสเครดิตเขา มาโจมตีเขาด้วยเรื่องต่างๆ นานา มาโจมตีเขาในเรื่องที่ตื้นเขิน อย่างเรื่องเกรด เรื่องหน้าตา ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องเศร้ามาก ซึ่งคนเดือนตุลาสมัยก่อน พวกเขาเหล่านั้นก็เคยโดนโจมตีด้วยเรื่องพวกนี้มาแล้ว

คุณกำลังด่าตัวตนของตัวเองในอดีต คุณกำลังดูถูกตัวตนของตัวเองในอดีต ครั้งหนึ่งคุณก็เคยเป็นคนหนุ่มสาวที่มีความใฝ่ฝัน สู้เพื่อสังคมที่ดีกว่า ถามว่าตอนก่อน 14 ตุลานักศึกษาไร้เดียงสาไหม ไร้เดียงสาและอุดมคติมาก กินอุดมคติมากไม่อย่างนั้นคุณจะกล้าออกไปสู้กับระบอบทหารที่มันปกครองสังคมไทยมาเป็นสิบๆปีหรือ

สมัยก่อน 14 ตุลานั้นยิ่งเป็นระบอบเผด็จการที่เข้มข้นมาก ระบอบ สฤษดิ์ ถนอม ประภาส คนสมัยนั้นยังกล้าออกไปถนนเพื่อต่อสู้ ก็เพราะตอนนั้นคนเหล่านั้นไร้เดียงสา ต้องเรียกว่าไร้เดียงสาระดับหนึ่ง แต่ว่าเป็นความไร้เดียงสาที่ประกอบด้วยอุดมคติ และมีความใฝ่ฝันว่าสามารถสร้างสังคมที่ดีกว่านี้ได้ เพราะฉะนั้นอย่าดูถูกตัวตนของตัวเองในอดีต และในการมองนักศึกษานั้นก็อยากให้สังคมมีสติในการพิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างรอบด้านโดยอยู่กับข้อมูลข้อเท็จจริง การแชร์ข้อมูลผิดๆ การดิสเครดิต มันง่าย แต่การทำความเข้าใจคนอื่น เป็นสิ่งที่ยากกว่า ต้องใช้ความพยายาม ซึ่งนี่คือสิ่งที่สังคมไทยขาด เราเก่งในการทำลายคนอื่น ทำลายคนที่เขาออกมาต่อสู้อะไรแบบนี้ซะมากกว่า
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net