เอ็นจีโอ-องค์กรระหว่างประเทศ เผยเด็กไร้สัญชาติในไทยกว่าล้านคนเข้าไม่ถึงการศึกษา

เอ็นจีโอ-องค์กรระหว่างประเทศ เผยในเวทีทบทวน 10 ปี นโยบายการศึกษาของเด็กไร้สัญชาติในไทย ชี้มีเด็กไร้สัญชาติในไทยกว่าล้านคนเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา เกรงหากไม่แก้ปัญหาจะส่งผลกระทบระยะยาว

7 ก.ค.2558 ที่โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ (MWG), องค์การ Save the  children international, องค์การ World education,  องค์การ world vision และสำนักงานกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ (สพฐ.) ร่วมกันจัดเสวนาหัวข้อ “ทบทวน 10 ปี นโยบายการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยและก้าวต่อไปสู่การศึกษาเพื่อปวงชน” ชี้เด็กไร้สัญชาติกว่าล้านคนในประเทศไทย ยังเข้าไม่ถึงการศึกษา

นายอิชิโระ มิยาซาว่า จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กล่าวว่า จากการสำรวจเด็กไร้สัญชาติในภาพรวมของประเทศไทย พบว่า มีเด็กข้ามชาติอยู่มากถึง 3 ล้านคน โดยมีจำนวนเด็กข้ามชาติที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการศึกษามากสุดในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือเด็กพม่าที่เกิดในประเทศไทย และเด็กที่ย้ายตามครอบครัวมาเพื่อประกอบอาชีพ โดยพบว่ามีเด็กมากกว่า 1 ล้านคนที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา  ซึ่งสถิติดังกล่าวจะนำมาสู่ปัญหาระยะยาว โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ และผลผลิตมวลรวมของประเทศ รวมถึงปัญหาทางสังคมในอีก 20 ปีข้างหน้า 

นายอิชิโระ กล่าวว่า การเปิดเสรีเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีเพิ่มมากขึ้น จะทำให้เกิดปัญหาเรื่องการศึกษาของเด็กตามมามากขึ้นอีกด้วย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมกันปรึกษาหารือเพื่อทาทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการจัดการเรื่องการศึกษาให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษา

ด้านนายพะโยม ชิณวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยนั้น ปัจจุบันได้มีมติคณะรัฐมนตรีและร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานวันเดือนปีเกิดในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา โดยระบุให้บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร์ หรือไม่มีสัญชาติสามารถเข้ามาเรียนได้โดยผ่านโรงเรียนเครือข่าย และผ่านการศึกษาตามอัธยาศัยหรือการศึกษานอกระบบ โดยเฉพาะตามแนวชายแดน ซึ่งต่อไปนี้หลักสูตรในการดำเนินการเรื่องการเรียนการสอนต้องมีการปรับเปลี่ยนโดยเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ทั้งในส่วนของเด็กที่ด้อยโอกาสเด็กที่พิการโดยทำหลักสูตรให้มีความหลากหลาย เพราะที่ผ่านมามีการประเมินความสามารถของเด็กผ่านระบบโอเน็ต-เอเน็ตเป็นตัววัดประสิทธิภาพ  ซึ่งระบบการวัดประสิทธิภาพแบบนี้ถือว่าไม่ถูกทาง  ซึ่งทุกวันนี้การศึกษาของไทยยังไม่ตอบสนองและสอดคล้องกับสถานประกอบการ ขณะที่ผู้ใช้ทรัพยากรบุคคลควรจัดกลุ่มเป้าหมายในการใช้ทรัพยากรบุคคลให้ชัดเจน ผ่านการวางแผนที่ดี ที่เด็กทุกคนต้องได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกเชื้อชาติและสัญชาติ

นายแพทริคเครินส์ ผู้อำนวยการ World education กล่าวว่า จากการลงพื้นที่หาข้อมูลเกี่ยวกับเด็กไร้สัญชาติที่เข้าไม่ถึงระบบการศึกษาในประเทศไทย พบว่า มีกว่า 4 แสนคน ซึ่งอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี และกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นเด็กที่มาจากประเทศพม่า โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กที่เกิดในประเทศไทยและติดตามพ่อแม่มาทำงาน  ซึ่งที่ผ่านมาแม้เด็กเหล่านี้จะเข้าถึงระบบการศึกษาในประเทศไทยตามมติคณะรัฐมนตรี 5 ก.ค. 2548 เรื่องการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์หรือไม่มีสัญชาติไทย ที่ทำการรองรับให้คนไม่มีสัญชาติสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษา แต่ก็เกิดปัญหาเนื่องจากมีเด็กจำนวนมากต้องหยุดเรียนกลางคัน โดยเฉพาะเด็กอายุระหว่าง 11-14 ปี เพื่อไปทำงานและดูแลครอบครัว แม้จะเปิดโอกาสให้เด็กกลับมาเรียนได้ใหม่ แต่ก็เป็นเรื่องยากเพราะเด็กส่วนใหญ่ที่ออกไปแล้วจะไม่ได้กลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาอีกเลย จึงเป็นปัญหาที่ต้องคิดว่าต่อไปนี้เราจะทำอย่างไรให้เด็กเหล่านี้อยู่ในระบบของโรงเรียนจนจบกระบวนการศึกษาจนได้วุฒิบัตรเพื่อนำไปประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้

ผู้อำนวยการองค์กร World education กล่าวต่ออีกว่า แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายรองรับที่ชัดเจนเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กไร้สัญชาติเข้าถึงการศึกษา ซึ่งถือเป็นการเปิดกว้าง แต่ก็ยังคงมีปัญหาในเรื่องของการไม่มีระบบติดตามการดำเนินงาน จนทำให้หลายคนต้องพลาดโอกาสทางการศึกษาไป นอกจากนี้ การให้เด็กได้มีโอกาสได้เรียนภาษาแม่ก็จะเป็นประโยชน์กับเด็กเมื่อต้องกลับไปประเทศต้นทางอีกด้วย

“การที่รัฐบาลไทยจะต้องเข้ามาช่วยดูแลเด็กๆ เหล่านี้นั้น เป็นเพราะกฎหมายที่ประเทศไทยได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนในเรื่องการศึกษาเพื่อคนทั้งมวลหรือ Education for all นอกจากนี้ไทยยังเป็นผู้นำในประเทศอาเซียนที่มีศักยภาพในการที่จะช่วยเหลือประเทศเหล่านี้ทั้งในเรื่องนวัตกรรม และในเรื่องทรัพยากร และที่สำคัญไทยถือได้ว่าเป็นประเทศศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนที่มีตลาดแรงงานขนาดใหญ่ จึงทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ดังนั้นหากเราจัดการศึกษาที่เหมาะสมให้กับเด็กไร้สัญชาติ จะทำให้เด็กๆ เหล่านี้สามารถพึ่งพิงตนเองและไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ หรือต้องตกเป็นเหยื่อของการใช้แรงานเด็ก นอกจากนี้ถึงแม้ว่าเด็กๆ จำนวนมากจะติดตามพ่อแม่ที่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้ความว่าเด็กๆ จะใช้เหตุผลนี้ในการการกีดกันเด็กไม่ให้เข้าถึงระบบการศึกษาที่จะเป็นประโยชน์กับเด็กในอนาคตเด็กได้” นายแพทริคกล่าว

ด้าน น.ส.โรยทราย วงศ์สุบรรณ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบปัญหาเรื่องการศึกษาของเด็กย้ายถิ่นว่า ไม่สามรรถเชื่อมต่อกับประเทศต้นทางได้ ดังนั้น ระบบการศึกษาไทยต้องส่งเสริมให้เด็กไปศึกษายังประเทศต้นทางได้ด้วย โดยมีข้อเสนอให้

1. ต้องมีแนวทางร่วมกันในเรื่องการวัดระดับความรู้ ว่าในแต่ละระดับชั้นที่เด็กเรียนจบ จะมีระบบการวัดความรู้อย่างไร โดยที่เด็กไม่ต้องไปเริ่มเรียนใหม่
2. ให้มีข้อตกลงร่วมกันที่จะรองรับกรอบการศึกษาโดยกระทรวงศึกษาธิการ โดยต้องดำเนินการว่า จะประสานประเทศต้นทางเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กอย่างไร โดยต้องประชุมกันในหลายระดับ ทั้ง ระดับรัฐมนตรี อธิบดี เลขาธิการ เพื่อให้เข้าใจนโยบาย แล้วนำไปสู่การปฏิบัติ  ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการต้องมีข้อมูลพื้นฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนของเด็กข้ามชาติว่าอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนเท่าใด และไทยต้องเตรียมข้อมูลที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย เพื่อให้ประเทศต้นทางสามารถรับไปดำเนินการต่อได้ทันที

ด้านนายฮุ้คเดเลนี่ย์  ตัวแทนจาก UNICEF ประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากการลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้พบว่ามีเด็กไร้สัญชาติใช้แรงงานในประเทศไทยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงว่าแรงงานเด็กมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยมาก และในอนาคตจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานแบบเสรี การศึกษาของเด็กเหล่านี้จึงมีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่งหน่วยงานเอกชน และบริษัทต่างๆ ที่เขาได้ไปเยี่ยมดูงานก็ให้ความช่วยเหลือเด็กทั้งในเรื่องการเงินและการปฏิบัติการ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ตัวแทนจาก UNICEF กล่าวว่า หากสามารถเชื่อมโยงการทำงานรัฐและเอกชนได้ จะเป็นการดีกับเด็กและแรงงานในอนาคต ทั้งนี้เรื่องการศึกษาของเด็กจะพูดถึงกระทรวงศึกษาธิการอย่างเดี่ยวไม่ได้ แต่ทุกหน่วยงานต้องมาช่วยกัน เพื่อนำไปสู่การเท่าเทียมกันในการศึกษา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท