‘วิษณุ’ คำนวณค่าธรรมเนียมศาลหลายพันล้านฟ้องแพ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปมจำนำข้าว

เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า คณะกรรมการทั้ง 2 ชุด คือ คณะกรรมสอบข้อเท็จจริงและกำหนดค่าความเสียหาย และคณะกรรมการว่าด้วยการรับผิดทางแพ่ง ได้รายงานความคืบหน้ามาเป็นระยะ และตนได้นำเรียนนายกรัฐมนตรีทราบว่า ขณะนี้ดำเนินการถึงไหนแล้ว ที่ยังมีปัญหาคือ จำนวนตัวบุคคลที่ต้องรับผิดชอบ โดยการพิจารณาความตัวบุคคลแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ บุคคลที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ากระทรวงอะไร เช่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ อีกชุดดูในส่วนนักการเมือง และข้าราชการของกระทรวงที่มีสังกัด หรือกระทรวงพาณิชย์

ส่วนมูลค่าความเสียหายที่แต่ละคนต้องจ่าย ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการเรียกความเสียหายขาดทุนจำนำข้าว สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมสอบข้อเท็จจริงและกำหนดค่าความเสียหายจากการจำนำข้าว กระทรวงการคลังพิจารณา ทั้งนี้ ต้องแบ่งเฉลี่ย โดยแต่ละคนจะจ่ายค่าเสียหายไม่เท่ากัน ต้องดูกันตามโทษานุโทษ

“มีเรื่องหนึ่งที่อาจต้องคิดหนักหน่อย คือ การฟ้องเรียกค่าเสียหาย ไม่ว่าเอกชนจะเป็นคนฟ้องหรือรัฐเป็นคนฟ้องก็ตาม เมื่อเราเรียกว่าฟ้องทางแพ่ง มูลค่าเสียหายเท่าไรที่เราจะเรียก มันจะต้องไปเสียเงินที่เรียกว่าค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งกระทรวงการคลังต้องนำไปวางก็หลายสตางค์ ถือว่าเยอะอยู่ คุณฟ้องเรียกมาก คุณก็ต้องมีเงินไปวางศาลมาก ซึ่งมูลค่าความเสียหายจริงมันมาก แล้วคุณไปเรียกเอาหมด เอาเข้าใจจะได้หรือเปล่ายังไม่รู้ เพราะยังไม่รู้จะแพ้หรือชนะ จะต้องมีเงินไปวางศาลหลายพันล้านบาท ดังนั้น เงินที่รัฐต้องไปวางเป็นเรื่องที่ต้องคิด ถ้าเสียดาย ประหยัด ก็เรียกมันน้อยๆ ก็ถูกด่าเท่านั้นเอง ส่วนวงเงินเท่าไรก็ยังดูกันอยู่ แต่ว่าเยอะ” วิษณุ กล่าว

ผู้พิพากษาศาลฎีกาชี้รัฐไม่มีปัญหา

ล่าสุดวันนี้ (8 ก.ค.58) ศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ธนบุรี กล่าวถึงค่าธรรมเนียมคดีแพ่งในการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวดังกล่าว ว่า ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เรื่องค่าธรรมเนียมศาลตามตาราง 1 นั้นระบุว่า ฝ่ายโจทก์จะต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมศาลจากจำนวน ทุนทรัพย์(ความเสียหายรวมดอกเบี้ย) ร้อยละ 2 ในกรณีที่ทุนทรัพย์นั้นไม่เกิน  50 ล้านบาท แต่ค่าธรรมเนียมในส่วนนี้จะไม่เกิน 2 แสนบาท   แต่หากมีทุนทรัพย์เกินกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไปคิดค่าธรรมเนียมร้อยละ 0.1

เมื่อถามว่าคดีนี้รัฐเป็นผู้เสียหายจะมีทางงดเว้นในส่วนค่าธรรมเนียมศาลได้หรือไม่ ศรีอัมพร กล่าวว่า ถึงแม้ว่าในคดีนี้จะเป็นคดีที่เป็นความเสียหายต่อรัฐเสมือนหนึ่งว่ารัฐมีสถานะเช่นเดียวกับนิติบุคคล ซึ่งอัยการจะเป็นผู้ฟ้องร้องคดีก็ตาม  แต่กระทรวงการคลังจะต้องเป็นผู้ที่จ่ายค่าธรรมเนียมศาล

“ในการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งนั้น ปัญหาเรื่องค่าธรรมเนียมศาล ผมมองว่าไม่ใช่เหตุผลสาระสำคัญแต่อย่างใด เพราะหากคำนวณตามหลักเกณฑ์ต้องเสียจริงถือว่าไม่มาก และค่าธรรมเนียมที่กระทรวงการคลังจะต้องถูกบังคับให้เสียที่ศาลนั้น ในภายหลังศาลก็จะต้องส่งคืนกระทรวงการคลังอยู่ดี ไม่ได้เก็บไว้เองเพราะเป็นรายได้แผ่นดิน ปัญหาที่ว่า การเสียค่าธรรมเนียมศาลไม่ใช่เหตุผลสำคัญ เพราะเหมือนเป็นการควักเงินจากกระเป๋าซ้ายเข้ากระเป๋าขวา” ศรีอัมพร กล่าว

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ และ สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท