Skip to main content
sharethis

8 ก.ค.2558 รศ.นพ.ดำรัส ตรีสุโกศล หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยสูงอายุในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และผู้ป่วยระบบรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการว่า การเสียชีวิตของผู้ป่วยบัตรทองมากกว่าระบบสวัสดิการข้าราชการเป็นเรื่องจริง โดยในกลุ่มของผู้ปวยโรคหัวใจที่เข้ารับการผ่าตัดและใส่สายสวนหัวใจ เกิดจากสาเหตุสำคัญ คืออาการของผู้ป่วยบัตรทองที่เข้ารับการรักษา ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมาด้วยสภาพที่หนักมาก การขาดการดูแลจากระบบอย่างต่อเนื่องหลังการรักษา ต่างจากผู้ป่วยสวัสดิการข้าราชการที่มีโอกาสเข้าถึงการรักษามากกว่า โดยเฉพาะการมีสิทธินอกเวลาราชการที่สามารถคัดกรองผู้ป่วยเข้ารักษาได้จำนวนหนึ่ง รวมถึงการติดตามหลังการผ่าตัด และตัวเลขนี้จะเห็นได้ชัดเจนในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องเวลา

ทั้งนี้ นอกจากสภาพผู้ป่วยแล้ว ระบบการเบิกจ่ายบัตรทองยังส่งผลต่อการรักษา ซึ่งในการรักษาผู้ป่วยบัตรทองแม้ว่าจะอ้างอิงกรมบัญชีกลาง แต่ก็ไม่ครอบคลุมเท่า ขณะเดียวกันผู้ให้บริการยังต้องดูในเรื่องการเบิกจ่ายจากระบบบัตรทอง ที่ผ่านมาในโรงพยาบาลจึงเกิดศัพท์ใหม่ 3 คำ คือ รายได้พึงหวัง เป็นรายได้ที่ รพ.คาดหวังว่าจะได้ รายได้พึงได้ เป็นรายได้ที่เบิกจ่ายจากดีอาร์จี และรายได้จริง เป็นรายได้ที่ รพ.ได้รับ ซึ่งอาจได้รับน้อยกว่า ตรงนี้อาจเกิดจากการทำเบิกที่ไม่ครบถ้วน

ส่วนกรณีของขดลวดขยายหลอดเลือด (Stent) ซึ่งบัตรทองถูกตั้งข้อสังเกตในเรื่องคุณภาพนั้น รศ.นพ.ดำรัส กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นประธานจัดซื้อขดลวดขยายหลอดเลือดให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในครั้งแรก ยืนยันว่าไม่ว่าจะเป็นขดลวดขยายหลอดเลือดของบริษัทใด จากประเทศจีนหรือประเทศใด คุณภาพในการรักษาผู้ป่วยไม่แตกต่างกันและมีหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ชัดเจน ซึ่งต่อมาในแต่ละปี สปสช.ได้มีการประกวดราคาและจัดซื้อขดลวดขยายหลอดเลือดจากจากบริษัทที่ชนะการประมูล

“การจัดซื้อ Stent ของ สปสช.กับบริษัทที่จำหน่ายเป็นไปในรูปแบบซีเอชอาร์ที่เป็นความร่วมมือเพื่อการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ ซึ่งค่าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต Stent แม้ว่าจะมีราคาเพียงแค่ 1 ยูเอสเท่านั้น แต่ที่บริษัทต้องตั้งราคาขายแพงเพราะเป็นเรื่องความรู้ในการผลิต จึงภูมิใจได้ว่า Stent ในระบบบัตรทองไม่ใช่กระจอก ดีแน่นอน” รศ.นพ.ดำรัส กล่าวและว่า ระบบบัตรทองต้องดูแลประชาชน 48 ล้านคน หากให้เบิกจ่าย Stent เท่าระบบสวัสดิการข้าราชการก็คงไม่ไหว ระบบคงเจ๊ง จึงต้องเป็นความร่วมมือ ไม่ใช่การลดราคา เพราะจะเป็นการทำลายกลไกตลาด

“รพ.ศิริราชให้การรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นสิทธิ์ข้าราชการ ร้อยละ 43รองลงมาเป็นบัตรทอง ร้อยละ 30 จ่ายค่ารักษาเอง ร้อยละ 20 และประกันสังคมเพียงร้อยละ7 โดย รพ.ศิริราชมีการควบคุมอัตราการตายเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.87 โดยในส่วนกลุ่มผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายที่มีข้อจำกัดเวลาในการรักษาพบว่าผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทองตายมากกว่า เพราะอาการผู้ป่วยแย่กว่า มาถึงช้ากว่า และระบบเบิกจ่ายยังไม่รองรับทำให้โรงพยาบาลเกิดกังวลต่อรายได้จริงที่จะได้รับ” รศ.นพ.ดำรัส กล่าว

ด้าน นพ.ชูชัย ศรชำนิ ประธานกลุ่มภารกิจสนับสนุนเครือข่ายระบบบริการ สปสช. กล่าวว่า การที่ สปสช.จัดซื้อ Stent ในภาพรวม และรวมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขในการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ส่งผลให้ผู้ป่วยบัตรทองเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น ช่วยลดความพิการและเสียชีวิตลงได้ แต่ทั้งนี้ยอมรับว่าในการดำเนินระบบย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นได้ ดังนั้น สปสช.จึงได้เตรียมทบทวนปัญหาต่างๆ เพื่อทำการปรับปรุงเพื่อให้เกิดระบบการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net