Skip to main content
sharethis

แถลงข่าวความคืบหน้าทีวีดิจิตอล เผยติดตั้งสถานีหลักครบถ้วน เหลือสถานีเสริม กรมประชาสัมพันธ์ช้ากว่ากำหนด ต่อไปจะมุ่งเน้นการทำความเข้าใจผู้ใช้ และจับมือ CAT-TOT เป็นผู้อำนวยความสะดวก

ผู้เข้าร่วมประชุมลงพื้นที่เยี่ยมชมเครื่องส่งสัญญาณ ณ ชั้นดาดฟ้า อาคารใบหยก2

9 ก.ค.2558 สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นประธานแถลงข่าวเรื่อง ความคืบหน้าการขยายโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ณ อาคารใบหยก 2 ร่วมด้วยตัวแทนจากผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอล (Multiplexer - Mux) ทั้ง 4 เจ้า ได้แก่ พันเอกบัณฑิต แสงอ่อน จากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.) กันตชัย ศรีสุคนธ์ จากองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) สมโชค สุขเกื้อ จากบริษัท อสมท.จำกัด (MCOT) และชุมพร เครือขวัญ จากกรมประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วยตัวแทนจาก กสท. โทรคมนาคม (CAT Telecom) และทีโอที (TOT) ที่เพิ่งได้เข้าร่วมประชุมและแถลงข่าวร่วมกันเป็นคร้ังแรก

สุภิญญาเปิดเผยว่า ความคืบหน้าการขยายโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลนี้เป็นการติดตามผลของการติดตั้งเสาและสถานีส่งสัญญาณ ที่ Mux ทั้งสี่เจ้าได้ดำเนินการมาแล้วเป็นเวลาสองปี โดยเป้าที่ตั้งไว้ในปีที่ 2 นี้คือ จะต้องติดตั้งสถานีหลัก 39 สถานี และสถานีย่อย 6 สถานี รวมที่ติดตั้งแล้วในปีที่ 1 เป็นทั้งหมด 171 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 80 ของครัวเรือนทั้งประเทศ ซึ่งผลที่ได้รับคือ สถานีหลักได้ทำการติดตั้งครบแล้ว และสถานีย่อยจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือน ก.ค. นี้ ยกเว้นสถานีของกรมประชาสัมพันธ์ ที่มีความล่าช้า

พันเอกบัณฑิต สุวัฑฒน เปิดเผยถึงแผนการทำประชาสัมพันธ์เชิงลึกของ ททบ. ที่กำลังรอทำสัญญา MOU กับกสทช. ว่า จะมุ่งเน้นการทำประชาสัมพันธ์เชิงลึกแบบเคาะประตูบ้าน โดยประสานงานกับหน่วยงานระดับตำบลที่มีอยู่กว่า 7000 องค์กรทั่วประเทศ ในขั้นต้นจะใช้การติดตั้งกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล (Set top box) ที่หน่วยงาน อบต. หรือหน่วยพยาบาลระดับตำบลก่อน เพื่อให้ประชาชนเห็นว่าทีวีดิจิตอลเข้าถึงพื้นที่ของตนแล้ว จากนั้นจะมีการติดป้ายประชาสัมพันธ์ที่ให้ประชาชนสามารถติดต่อกับหน่วยงานให้บริการดูแลรักษา ที่จะสามารถเข้าถึง ให้ข้อมูล ช่วยติดตั้ง Set top box ได้ถึงที่ครัวเรือน ไม่ต้องติดต่อมาที่ Call-center กลางอีกต่อไป พันเอกบัณฑิตกล่าวด้วยว่า สองปีที่ผ่านมายุ่งอยู่กับการติดตั้งสถานี ซึ่งเป็นภาคส่ง ต่อไปจะต้องประชาสัมพันธ์ภาครับให้มากขึ้น

สุภิญญากับกันตชัย ตรวจสอบเครื่องระบายความร้อนที่ใช้รักษาอุณหภูมิในห้องส่งสัญญาณ

ด้านกันตชัย ศรีสุคนธ์ เปิดเผยความคืบหน้าจาก Thai PBS ว่าได้มีการขยายโครงข่ายติดตั้งสถานีหลักครบถ้วนเช่นกัน และเหลือสถานีเสริมอีก 3 สถานีที่จะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ นอกจากนี้ Thai PBS ยังมีแผนการที่จะยุติการใช้คลื่นอนาล็อก เพื่อนำความถี่ไปใช้กับสถานีชุมชน โดยอาจจะเริ่มต้นที่เกาะสมุย หรือพื้นที่อำเภอไชยปราการ

กันตชัยกล่าวด้วยว่า แผนการยุติหรือ Switch off สัญญาณอนาล็อกนี้เป็นวาระแห่งชาติ และเป็นการปฏิบัติตามกรอบของ ASEAN ที่ว่าให้เวลาแก่ประเทศสมาชิกในการ Switch off การใช้สัญญาณอนาล็อกภายในปี 2558 - 2563

กันตชัยยังกล่าวถึงความคืบหน้าของทีวีดิจิตอลในด้านเนื้อหา ที่ทางThai PBS ได้พัฒนาระบบช่องเสียงสำหรับผู้พิการทางหู ที่มีการบรรยายภาพด้วยเสียง (Audio Description - AD) และกำลังจะพัฒนาระบบคำบรรยายภาพ (Close Caption - CC) สำหรับผู้พิการทางสายตาอีกด้วย นอกจากนี้ ต่อไปจะพัฒนาระบบการเตือนภัยพิบัติในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นจุดแข็งของทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน ที่สามารถเผยแพร่ข่าวเตือนภัยพิบัติได้ในเฉพาะจุด ซึ่งระบบดาวเทียมไม่สามารถทำได้

ด้านสมโชค สุขเกื้อ จากอสมท. เปิดเผยว่าในปีที่ผ่านมา ทาง อสมท.อาจจะมีความล่าช้าในการติดตั้งสถานีโครงข่ายบ้าง แต่ปัจจุบันได้ติดตั้งครบถ้วนตามที่ กสทช.กำหนด อย่างไรก็ดี นายสมโชคยอมรับว่าความล่าช้าของการติดตั้งอาจทำให้ผู้ใช้ต้องทำการ set up กล่องรับสัญญาณใหม่ เพื่อที่จะได้รับสัญญาณช่องของ อสมท. อาทิ MCOT Family, ไทยรัฐTV, Voice TV, Springnews ได้ ซึ่งทางอสมท.ก็มีกล่องรับสัญญาณของ อสมท.เองจำหน่ายพร้อมให้ข้อมูลและบริการช่วยเหลือในการติดตั้ง

ด้านชุมพร เครือขวัญ จากกรมประชาสัมพันธ์กล่าวว่า การขยายโครงข่ายของกรมประชาสัมพันธ์จะแบ่งออกเป็นสองเฟส เฟสแรกคืองบประมาณจากปี 2557 ซึ่งได้ติดต่อผู้รับว่าจ้างแล้ว พร้อมเซ็นสัญญาวันที่ 14 ก.ค.นี้ และวางแผนว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม ปี 2559 เฟสที่สองคืองบประมาณปี 2558 คาดว่าจะได้ผู้รับว่าจ้างและเซ็นสัญญาภายในเดือนสิงหาคม และจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2559 ซึ่งทั้งสองเฟสจะดำเนินการควบคู่กันไป เพื่อติดตั้งสถานีโครงข่ายทั้ง 39 สถานีให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ส่วนสาเหตุของความล่าช้าเนื่องมาจากการทำงานของระบบราชการ ที่มีกระบวนการตรวจสอบหลายขั้นตอน

สุภิญญา กล่าวว่าหาก Mux ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกรอบที่กำหนดไว้ได้ ก็จะต้องมีค่าปรับ แต่มีเวลายืดหยุ่นให้ 30 วัน และในกรณีกรมประชาสัมพันธ์นั้นคงต้องใช้กระบวนการศาลเนื่องจากมีความล่าช้าเป็นปี

สุภิญญายังเปิดเผยว่า ได้เชิญ CAT telecom และ TOT มาเข้าร่วมการประชุมด้วย และต่อไปจะเวียนไปที่ทั้งสองบริษัท เพื่อเจรจาลงรายละเอียดในการร่วมมือเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อการดำเนินการขยายโครงข่ายจะได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งเสาสัญญาณ หรือการติดตั้งสถานีในพื้นที่ของบริษัททั้งสอง ซึ่ง ธีรพร ทองเจียม ตัวแทนจาก CAT Telecom และสุภาค โภภิรมณ์จาก TOT กล่าวว่ามีความพร้อมและจะร่วมมือกับ กสทช.อย่างเต็มที่

ส่วนในเรื่องการตรวจวัดคุณภาพสัญญาณ สุภิญญากล่าวว่า ได้มีการลงพื้นที่ตรวจวัดคุณภาพสัญญาณโดยคณะกรรมการติดตามคุณภาพสัญญาณ ซึ่งผลตอบรับก็เป็นไปในทางบวก แต่สิ่งที่ยังขาดไปคือภาครับ ผู้ใช้ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการติดตั้งกล่องรับสัญญาณ set top box และการเชื่อมต่อกับสายอากาศเพื่อรับสัญญาณภาคพื้นดิน ที่ต่อไปจะมีมาตรการเสริมสร้างความเข้าใจในภาครับนี้ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net