ศาลทหารไม่ให้ประกันหญิงโพสต์หมิ่น 'ประยุทธ์' เจ้าตัวแจงนำมาจาก LINE


ภาพจากเพจ Cyberpatrol

10 ก.ค.2558  เวลา 10.00 น.ที่ผ่าน มา พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. พร้อมคณะ ได้นำตัว รินดา ปฤชาบุตร อายุ 44 ปี ผู้ต้องหาคดีโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาพล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยาโอนเงินไปสิงคโปร์หมื่นล้าน

ทั้งนี้ รินดาโดนเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบบุกจับกุมที่บ้านพักจังหวัดปทุมธานีเมื่อวันที่ 8 ก.ค.ไปควบคุมตัวที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ 1 คืนก่อนนำส่งกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ในวันต่อมา ตำรวจแจ้งข้อหาว่าว่ารินดากระทำความผิดโพสต์ข้อความดังกล่าวในเฟซบุ๊ก วันที่ 6 ก.ค.เวลา 06.41 น. มีความผิด 3 ข้อหา คือ  มาตรา 14(2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ,มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา กระทำให้ปรากฎแก่ประชาชน ด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่น อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบให้เกิดในราชอาณาจักร โทษจำคุกสูงสุด 7 ปี , มาตรา 384 ประมวลกฎหมายอาญา แกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจ

เพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ในการแถลงข่าวของตำรวจ พล.ต.ท.ศิริพงษ์ ติมุลา ผู้บังคับการ ปอท. กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้ทำการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ ปอท.จึงร่วมกับ ไอซีทีและหน่วยงานความมั่นคงสืบหาตัวผู้กระทำความผิดจนจับกุมได้ และพบว่ารินดามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มคนต่างๆ ที่เป็นที่จับตาของฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่่ทหารได้ใช้ อำนาจตาม มาตรา44 ในรัฐธรรมนูญ 2557(ชั่วคราว) เข้าควบคุมตัว

พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่ารินดาคือผู้โพสต์ข้อความตามที่เป็นข่าว แต่อาจจะทำไปเพราะไม่รู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดเพราะไปกระทบสิทธิของผู้อื่น ถ้าผิดกฎหมายเจ้าหน้าที่จะเข้าไปดำเนินการอย่างเด็ดขาด

รินดา ปฤชาบุตร ผู้ต้องหาที่ถูกนำตัวมาแถลงข่าว กล่าวว่าเธอไม่ได้เขียนข้อความดังกล่าวขึ้นมาเองแต่เป็นการคัดลอกมาจาก Line เช้าวันเกิดเหตุเธอคาดว่าข้อความดังกล่าวแสดงขึ้นมาท่ามกลางเพื่อนจำนวนมากในไลน์เพราะเธอทำธุรกิจ เมื่อเธอเห็นก็ไม่ได้อ่านให้ละเอียดแต่ได้ทำการคัดลอกข้อความมาโพสต์ต่อในเฟซบุ๊ก เธอยอมรับว่าทำไปโดยไม่ได้เจตนาและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นอกจากนี้ยังปฏิเสธว่าเธอไม่ได้มีความรู้จักกับมนูญ ชัยชนะ หรือ อเนก ซานฟราน ซึ่งถูกโยงเอาไว้ในผังเครือข่ายผู้โพสต์ข้อความซึ่งตำรวจนำมาใช้ประกอบการแถลงข่าว

รินดากล่าวว่า เธอไม่ได้มีเจตนาสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายแก่ชาติบ้านเมือง เพียงแต่เห็นว่าในฐานะเป็นประชาชนคนหนึ่งมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือผู้นำรัฐบาลได้ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่เพราะเป็นบุคคลสาธารณะ แต่ข้อความอาจจะมีข้อเท็จจริงที่ไม่เป็นจริงอยู่ จึงอยากเตือนให้ประชาชนระวังการแสดงออกที่หมิ่นเหม่ต่อการผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่เธอก็ยังเชื่อว่าประชาชนยังคงต้องมีสิทธิในการแสดงออกอยู่

รินดาได้ตอบคำถามของสื่อมวลชนว่า เธอไม่รู้จักกับอเนก ซานฟาน และในแผนผัง ก่อนหน้านี้เธอใช้เฟซบุ๊กของอดีตสามีที่เสียชีวิตไปแล้วในการแสดงความเห็นทางการเมืองเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้มีความชำนาญในการใช้ บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวมีการเข้าไปร่วมกลุ่มต่างๆ แต่เป็นข้อมูลเก่าตั้งแต่ 3 ปีที่แล้วในช่วงที่สามียังใช้งานอยู่ แต่เธอไม่ได้มีความชำนาญในการใช้จึงไม่สามารถออกจากกลุ่มเหล่านั้นเองได้ สังเกตได้ว่ากลุ่มต่างๆ ไม่ได้มีความเคลื่อนไหวเลยเพราะเธอไม่ได้เข้าไปใช้ แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการทำอาหารหรือความงามเธอเป็นผู้กดเข้าไปเอง

หลังการแถลงข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวรินดามาส่งที่ศาลทหารเพื่อทำการฝากขังครั้งที่ 1 โดยให้เหตุผลในการขอฝากขังว่าการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จเนื่องจากต้องสอบปากคำพยานอีก 5 ปาก รอผลการตรวจพิสูจน์อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของกลาง, ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์และผลตรวจสอบประวัติอาชญากรของผู้ต้องหา โดยพนักงานสอบสวนไม่ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราว

"พฤติการณ์เมื่อวันที่ 6 ก.ค.เวลา 06.41 น. ผู้ต้องหาได้โพสต์ข้อความในลักษณะที่เป็นเท็จให้ร้าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โยกย้ายทรัพย์สินออกนอกประเทศเพื่อลี้ภัยไปประเทศสิงคโปร์ ซึ่งไม่เป็นความจริง ผ่านทางเฟซบุ๊ก ...ซึ่งมีข้อความที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศและกระทำความผิดเกี่ยกับกฎหมาย โดยเฟซบุ๊กดังกล่าวเปิดสาธารณะ บุคคลทั่วไปสามารถเห็นข้อความที่เจ้าของเฟซบุ๊กทำการโพสต์และสามารถแสดงความคิดเห็น ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกตกใจ และหากหลงเชื่ออาจทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบใประเทศ" ตอนหนึ่งในคำร้องขอฝากขัง

วิญญัติ ชาติมนตรี หนึ่งในทีมทนายความจำเลยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ญาติรินดาได้ยื่นประกันโดยใช้เงินสด 100,000 บาทเป็นหลักทรัพย์ เวลาประมาณ 15.00 น.ศาลทหารมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว โดยระบุว่าพฤติการณ์เป็นคดี

เมื่อเวลา 15.00 น. ศาลมีคำสั่งไม่อนุมัติให้ประกันตัวรินดาโดยให้เหตุผลว่า แม้พนักงานสอบสวน ผู้ร้องไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราว แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าผู้ต้องหาถูกจับกุมในคดีความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากปล่อยชั่วคราวอาจเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่การสอบสวน จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง

วิญญัติกล่าวว่า คดีนี้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาหนักเกินไป หากมีการเผยแพร่ข้อความเท็จที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ เสียหายก็เข้าข่ายหมิ่นประมาท ที่ผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14  (2) หรือกฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาทบุคคลก็ได้ แต่ไม่ใช่ มาตรา 116 ที่เป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ ทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบให้เกิดในราชอาณาจักร ให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

ด้านเพื่อนของรินดา ให้สัมภาษณ์ว่า  หลังทราบว่าศาลไม่ให้ประกันตัวทุกคนตกใจมาก เพราะไม่มีใครคิดว่าจะร้ายแรงถึงเพียงนั้น รินดาเองก็ได้รับแจ้งจากทั้งทหารและตำรวจว่าจะได้รับการประกันตัว เมื่อต้องถูกส่งไปคุมขังที่เรือนจำทำให้เธอกังวลเป็นห่วงลูกมาก ร้องไห้ตลอดเวลา เนื่องจากรินดาเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว อยู่กับบุตรสาวและบุตรชายอายุ 13 และ 7 ปีตามลำพัง คาดว่าคงต้องให้ญาติมาอยู่เป็นเพื่อนลูกๆ

“สภาพจิตใจเขาแย่มากถึงมากที่สุด เพราะหวังว่าจะประกันได้ ร้องไห้เหมือนคนเสียสติ คุมตัวเองไม่ได้แล้ว ตอนนี้กำลังจะส่งเรือนจำ แล้วเขาเป็นไมเกรน เป็นแล้วเป็นหนัก เพราะเป็นคนเครียดอยู่แล้วต้องรับผิดชอบครอบครัวคนเดียว” เพื่อนของรินดากล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กของผู้ต้องหาใช้บัญชีในอีกชื่อหนึ่ง ยังคงปรากฏข้อความที่ก็อปปี้มาโพสต์และเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดี โพสต์ดังกล่าวมีคนไลค์ 57 คนแชร์ 53 เนื้อหาโดยส่วนใหญ่ในบัญชีดังกล่าวเป็นรูปเซลฟี่ตัวผู้ต้องหาและครอบครัว การโพสต์กิจการขายของ การทำผม มีการแชร์ข่าวบ้างประปราย พร้อมวิจารณ์รัฐบาลทหาร

ขณะที่ในการแถลงข่าวของตำรวจมีการโยงผัง เชื่อมโยงผู้ต้องหาคดีนี้กับผู้ต้องหาในคดีโพสต์เผยแพร่ข่าวการปฏิวัติซ้อนที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้โดยโยงว่า เอนก ซานฟาน หรือมนูญ ชัยชนะ เป็นผู้จ้างวาน นอกจากนี้ยังมีการนำภาพในเฟซบุ๊กของรินดามาแสดงด้วย เป็นภาพที่รินดาเคยถ่ายคู่กับบุคคลต่างๆ ที่ทำกิจกรรมทางการเมือง และภาพการร่วมกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยนักศึกษานักกิจกรรม 14 คนจากขบวนประชาธิปไตยใหม่เมื่อครั้งยังถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท