Skip to main content
sharethis
สถิติเลิกจ้างจากฐานข้อมูลประกันสังคม เดือน พ.ค. 2558 พบ 5 อุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการส่งออก "สิ่งทอ-อิเล็กทรอนิกส์-เครื่องใช้ไฟฟ้า-ยานยนต์-เครื่องประดับ" สิ่งทออ่วมถูกเลิกจ้างสูงสุด 818 คน อิเล็กทรอนิกส์ว่างงานสูงสุด 5,319 คน
 
 
11 ก.ค. 2558 ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานวิเคราะห์ข้อมูลการจ้างงาน [1] การเลิกจ้าง [2] และการว่างงาน [3] ของแรงงานในระบบประกันสังคม จำแนกรายอุตสาหกรรม 5 ประเภทกิจการที่มีความสำคัญต่อการส่งออก หรือมีการจ้างงานในสัดส่วนที่สูง มีสถานะดังนี้
 
1. สิ่งทอ การจ้างงานชะลอตัวร้อยละ 3.62 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 22.93 , การเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 156.43
2. เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ การจ้างงานขยายตัวร้อยละ 5.66 , การว่างงานชะลอตัวร้อยละ 7.22 , การเลิกจ้างชะลอตัวร้อยละ 40.38
3. เครื่องใช้ไฟฟ้า การจ้างงานขยายตัวร้อยละ 2.86 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 30.89 , การเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 319.70
4. ยานยนต์ การจ้างงานชะลอตัวร้อยละ 0.90 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 12.15 , การเลิกจ้างชะลอตัวร้อยละ 8.89
5. เครื่องประดับ การจ้างงานขยายตัวร้อยละ 4.94 , การว่างงานชะลอตัวร้อยละ 5.92 , การเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 24.41
 
เมื่อโฟกัสลงไปในแต่ละอุตสาหกรรรมพบรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
 
อุตสาหกรรมสิ่งทอ มีการจ้างงานจำนวน 158,877 คน มีผู้ว่างงานจำนวน 2,048 คนและมีผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 818 คน จากข้อมูล ณ พฤษภาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 พบว่า การจ้างงาน ในอุตสาหกรรมสิ่งทอมีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ (-0.06) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีที่แล้ว (พฤษภาคม 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการชะลอตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ (-3.62) เนื่องจากการส่งออกลดลง จากสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักยังคงชะลอตัว โดยเฉพาะจีนที่เศรษฐกิจมีการชะลอตัวชัดเจนขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากไทยลดตามลงไปด้วย
 
ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ (-7.57) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (พฤษภาคม 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 156.43 ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้างขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 เนื่องจากโรงงาน ปั่นด้ายเคหะสิ่งทอปิดตัวลง 6 โรง เนื่องจากคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศที่เคยสั่งซื้อ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย อินเดีย ตุรกี และซาอุดิอาระเบีย และโดนเวียดนามแย่งตลาดไปหมด และผู้ว่างงานทั้งหมดเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็น ร้อยละ (-10.33) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (พฤษภาคม 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 22.93 ผู้ว่างงานขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9
 
อุตสาหกรรมเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ มีการจ้างงานจำนวน 415,104 คน ผู้ว่างงานจำนวน 5,319 คน ผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 623 คน จากข้อมูล ณ พฤษภาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 พบว่าการจ้างงานในอุตสาหกรรมเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 0.13 และเมื่อเทียบข้อมูลเดือนเดียวกันกับปีที่แล้ว (พฤษภาคม 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 5.66เนื่องจากการผลิต HDD จะนำไปใช้ในกลุ่มCloud Storage ทำให้ราคาต่อหน่วยสูงขึ้นและศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่มากขึ้นแทนตลาดคอมพิวเตอร์ทำให้ปริมาณการผลิตไม่มากเท่ากับที่ผ่านมาการผลิต Other IC และ Semiconductor เพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในอุปกรณ์สื่อสารเพื่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้างเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ (-24.48) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (พฤษภาคม 2557) มีอัตราการชะลอตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ (-40.38) แสดงว่าสถานการณ์ดีขึ้นเนื่องจากกลับมาอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง 30 เดือน (ธันวาคม 2555 –พฤษภาคม2558) และผู้ว่างงานทั้งหมดเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ (-8.95) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (พฤษภาคม2557) มีอัตราการชะลอตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ (-7.22) เป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 30 เดือน (ธันวาคม 2555 – พฤษภาคม 2558)
 
อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า มีการจ้างงานจำนวน 114,746 คน มีผู้ว่างงานจำนวน 1,500 คน มีผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 554 คน จากข้อมูล ณ พฤษภาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 พบว่า การจ้างงาน ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 1.28 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (พฤษภาคม 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 2.86 เนื่องจากการส่งออกไปอาเซียน และสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น แต่การส่งออกไปสหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
 
ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ (-32.44) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (พฤษภาคม 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 319.70 ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้างมีอัตราการขยายตัวสูง ขยายตัวต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากมีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน (เวียดนาม) โดยเฉพาะบริษัท LG และซัมซุงประเทศไทยปิดโรงงาน ย้ายฐาน และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็น ร้อยละ (-20.30) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (พฤษภาคม 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 30.89 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4
 
อุตสาหกรรมยานยนต์ มีการจ้างงานจำนวน 242,186 คน มีผู้ว่างงานจำนวน 2,650 คน ผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 287 คน จากข้อมูล ณ พฤษภาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 พบว่า การจ้างงาน ในอุตสาหกรรมยานยนต์มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ -0.07 แต่เมื่อเทียบข้อมูลเดียวกันกับปีที่แล้ว (พฤษภาคม 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการชะลอตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ -0.90 เป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ชะลอตัวจากการลดลงของตลาดในประเทศ อย่างไรก็ดีการส่งออกยังคงมีการขยายตัว ประกอบกับทิศทางการผลิตรถยนต์จะมุ่งไปที่ Eco-Car ตามแนวโน้ม การประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมให้สะอาด
 
ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 0.70 แต่เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (พฤษภาคม 2557) มีอัตราการชะลอตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ (-8.89) และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็น ร้อยละ (-0.86) และเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (พฤษภาคม 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 12.15
 
อุตสาหกรรมเครื่องประดับ มีการจ้างงานจำนวน 71,135 คน มีผู้ว่างงานจำนวน 1,160 คน มีผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 316 คน จากข้อมูล ณ พฤษภาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 พบว่า การจ้างงาน ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับมีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ -0.08 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (พฤษภาคม 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 4.94 เนื่องจากการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการส่งออกที่แท้จริงของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยที่ยังคงเติบโตได้ดี การส่งออกในหลายตลาดยังขยายตัวได้ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น อาเซียน และจีน แม้ว่าเศรษฐกิจในบางกลุ่มประเทศ เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน จะยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว หากแต่มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างช้า ๆ
 
ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 6.76 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (พฤษภาคม 2557) มีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 24.41 และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็น ร้อยละ (-8.30) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (พฤษภาคม 2557) มีอัตราการชะลอตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ (-5.92)
 
 
 
_______
 
[1] การจ้างงาน = ผู้ประกันตน มาตรา 33 ในระบบประกันสังคม
[2] การเลิกจ้าง = ผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ประเภทเลิกจ้าง (R3) ในระบบประกันสังคม
[3] การว่างงาน = ผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานทั้งหมด (R1-R3) ในระบบประกันสังคมประกอบด้วย 3 ประเภท ได้แก่ ลาออก (R1) สิ้นสุดสัญญาจ้าง (R2) และเลิกจ้าง (R3)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net