มติ ครม.ต่ออายุภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อีก 1 ปี - ตั้งงบ 1.6 แสนล้านสร้างมอเตอร์เวย์ 3 สาย

มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบขยายเวลาลดภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้เก็บ 7% ต่ออีก 1 ปี อนุมัติก่อสร้างทางหลวงพิเศษ 3 เส้นทาง บางใหญ่-กาญจนบุรี พัทยา-มาบตาพุด บางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา วงเงิน 1.6 แสนล้านบาท ตามที่คมนาคมเสนอ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พบกับนายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย และอุปนายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทยพร้อมทั้งคณะกรรมการบริหารสมาคม เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2558 ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

15 ก.ค. 2558 - ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมนั้น มีเรื่องที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติที่สำคัญ ตามที่เผยแพร่ในเว็บไซต์รัฐบาลไทย เรื่องที่สำคัญ ได้แก่

คงภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ต่ออีก 1 ปี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .… (มาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยคณะรัฐมนตรี 1. เห็นชอบมาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 2. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

ทั้งนี้กระทรวงการคลังเสนอว่า 1. ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 92/2557 เรื่อง การลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี โดยให้จัดเก็บในอัตราร้อยละ 6.3 (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558 และกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี โดยให้จัดเก็บในอัตราร้อยละ 9 (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือร้อยละ 10 (รวมภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป

2. เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ในด้านอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศยังอยู่ในภาวะที่ไม่ฟื้นตัว การบริโภค การลงทุน การส่งออก และการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังหดตัว ระดับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม การปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะทำให้รัฐมีรายได้เพื่อนำไปใช้ในการลงทุนขั้นพื้นฐานเพิ่มขึ้น แต่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการบริโภคในประเทศที่อยู่ในภาวะหดตัว โดยระดับราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ จะมีการปรับราคาสูงขึ้น ดังนั้น จึงเห็นควรมีมาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มออกไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

3. มติคณะกรรมการรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2558 นายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้การเสนอร่างกฎหมายตามนโยบายการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมให้ กค. พิจารณาและวิเคราะห์ผลกระทบในภาพรวมจากการปรับอัตราภาษีดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการปรับลดอัตราภาษีที่มีผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ

4. มาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม คาดว่าจะมีผลกระทบ ดังนี้

4.1 ในส่วนของประชาชน การขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะช่วยลดผลกระทบจากค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นการบริโภคของประชาชน ภาคธุรกิจมีการลงทุนเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัว

4.2 ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจ ทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของอัตราภาษี ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจให้แก่ภาคเอกชนและสามารถวางแผนการบริหารธุรกิจได้อย่างถูกต้องต่อไป

4.3 ในส่วนรายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม

1) หากกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 (รวมภาษีท้องถิ่น) ถึงแม้จะทำให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น 211,900 ล้านบาท แต่จะส่งผลต่อระดับราคาสินค้าและค่าบริการเพิ่มสูงขึ้น อันจะส่งผลต่อการบริโภค การผลิต การนำเข้า และการลงทุนภาคเอกชนลดลงทำให้ระบบเศรษฐกิจชะลอตัว

2) การขยายเวลาการปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 10 (รวมภาษีท้องถิ่น) ให้คงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) ต่อไปเป็นระยะเวลา 1 ปี จะไม่มีผลกระทบต่อการประมาณการรายได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ทั้งนี้ เนื่องจากในการจัดทำงบประมาณได้มีการคำนวณประมาณการรายได้ โดยใช้ข้อมูลพื้นฐานการคำนวณของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในอัตราร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) และคาดว่าในระยะยาวจะทำให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

1. กำหนดให้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 92/2557 เรื่อง การลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2557

2. กำหนดให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากรและคงจัดเก็บในอัตรา ดังต่อไปนี้ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558

2.1 ร้อยละหกจุดสาม สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559

2.2 ร้อยละเก้า สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป

 

อนุมัติสร้างมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทางงบ 1.6 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ หรือมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง ได้แก่ (1) บางใหญ่-กาญจนบุรี งบประมาณ 55,620 ล้านบาท (2) พัทยา-มาบตาพุด งบประมาณ 20,200 ล้านบาท (3) บางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา 84,600 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

โดย (1) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ของกรมทางหลวง วงเงินลงทุนรวม 55,620 ล้านบาท โดยแนวเส้นทางและความพร้อมของโครงการเป็นทางแนวใหม่ตามมาตรฐานทางหลวงพิเศษขนาด 4-6 ช่องจราจร ระยะทางรวม 96 กิโลเมตรมีแนวเส้นทางจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนกาญจนาภิ เษกด้านตะวันตก บริเวณทางแยกต่างระดับบางใหญ่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี มุ่งไปทางทิศตะวันตกผ่านพื้นที่อำเภอนครชัยศรี และอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จนสิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 324 อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี โดยช่องบางใหญ่-นครปฐม กรมทางหลวงออกแบบเป็นทางหลวงพิเศษขนาด 6 ช่องจราจร

ส่วนช่วงนครปฐม-กาญจนบุรี ออกแบบเป็นทางหลวงพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร รวมทั้งกรมทางหลวงได้ออกแบบให้มีการควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ มีด่านเก็บค่าผ่านทางระบบปิด (คิดตามระยะทาง) 8 แห่ง ทางแยกต่างระดับ 8 แห่ง สถานีบริการทางหลวง (Service Area) 2 แห่งและที่พักริมทางหลวง (Rest Area) อีก 1 แห่ง

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีความพร้อมในการดำเนินงานโดยได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วในปี 2541 (ช่วงบางใหญ่-บ้านโป่ง) และปี 2546 (ช่วงบ้านโป่ง-กาญจนบุรี) อีกทั้งกรมทางหลวงได้สำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการเรียบร้อยแล้ว สำหรับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี พ.ศ. 2556 ได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2556

(2) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายพัทยา – มาบตาพุด ของกรมทางหลวง วงเงินลงทุนรวม 20,200 ล้านบาท ลักษณะของโครงการเป็นการก่อสร้างทางแนวใหม่ตามมาตรฐานทางหลวงพิเศษควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการแยกจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายชลบุรี – พัทยา ผ่านพื้นที่อำเภอบางละมุงและสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ไปสิ้นสุดที่อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง รวมระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร โดยออกแบบเป็นทางหลวงพิเศษ ขนาด 4 ช่องจราจร มีด่านเก็บค่าผ่านทางแบบคิดตามระยะทาง (ระบบปิด) จำนวน 3 แห่ง ทางแยกต่างระดับ 4 แห่ง สถานีบริการทางหลวง (Service Area) 1 แห่ง ซึ่งกำหนดไว้ ในตำแหน่งที่เหมาะสมตลอดแนวโครงการ

(3) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. วงเงินลงทุนรวม 84,600 ล้านบาท โดยใช้วิธีประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างวงเงินค่าก่อสร้าง 77,970 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลัง ดำเนินการระดมทุนจากแหล่งเงินทุนภายในประเทศที่เหมาะสม เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ ทั้งนี้ ให้สำนักงบประมาณ จัดสรรงบประมาณเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินของโครงการให้แก่กรมทางหลวง ตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป

โดยโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี –นครราชสีมา เป็นทางแนวใหม่ตามมาตรฐานทางหลวงพิเศษขนาด 4 – 6 ช่องจราจร ระยะทางรวม 196 กิโลเมตร มีแนวเส้นทางเริ่มต้นต่อเชื่อมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 (ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก) ที่ทางแยกต่างระดับ บริเวณบางปะอิน ผ่านอำเภอวังน้อย อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอหนองแค อำเภอเมือง อำเภอแก่งคอย และอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี อำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ และอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยกรมทางหลวงได้ออกแบบให้มีการควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ มีด่านเก็บค่าผ่านทางระบบปิด (คิดตามระยะทาง) 9 แห่ง มีศูนย์บริการทางหลวง 1 แห่ง สถานีบริการทางหลวง (Service Area) 2 แห่ง และที่พักริมทางหลวง (Rest Area) 5 แห่ง ในตำแหน่งที่เหมาะสมตลอดแนวสายทาง ทั้งนี้ กรมทางหลวงได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการแล้วเสร็จเมื่อปี 2547 โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้พิจารณาเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2549 รวมทั้งกรมทางหลวงได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จในปี 2551 สำหรับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา ประกาศในราชกิจจานุกเบกษาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2556 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2556

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท