Skip to main content
sharethis
'เอ็นจีโอ' โต้ 'หม่อมอุ๋ย' ระบุการจะทำเหมืองแร่โปแตชขณะที่ประชาชนขาดการมีส่วนร่วม ไม่มีสิทธิ เสรีภาพ เป็นประเด็นใหญ่สำคัญมากกว่าเทคโนโลยี
 
18 ก.ค. 2558 หลังจากเมื่อคืนวันศุกร์ที่ 17 ก.ค. 2558 ที่ผ่านมมา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ได้กล่าวผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ต่อจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีช่วงหนึ่ง รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ได้กล่าวถึง การพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน ว่าประเทศไทยมีทรัพยากรที่น่าสนใจคือ โปแตช เป็นกระทะใหญ่โปแตชใต้ดินในอีสาน โปแตช อยู่กับหิน 2 อย่างเค็มทั้งคู่ ซึ่งโปแตชหินเรามีเทคโนโลยีที่สะอาดอยู่ที่เยอรมัน สามารถทำหินโปแตชที่สะอาดเหมือนเดิม และรับประทานได้
 
"โปแตชข้างใต้ดินมีเท่าไหร่รู้ไหม มีอยู่ 400,000 ล้านตัน นึกภาพแล้วยังใหญ่ ไม่รู้จะใหญ่ยังไง ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แต่เขาบอกว่า ขณะนี้เทียบแล้วอาจใหญ่ที่สุดในโลกก็ได้ ผมยังไม่ยืนยันนะครับ ตรงนี้จะเป็นฐานอุตสาหกรรมใหม่อีกเยอะเลย โปแตชขึ้นใหม่จะผลิตปุ๋ยได้ ผลิตยางบางชนิด ที่ใช้โปแตชเซียม และจะผลิตอะไรที่ใช้โปแตชเซียมได้อีกเยอะ อันนี้คือฐานอุตสาหกรรมใหม่ พวกนี้แหละ เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ที่เราจะสร้างที่เรียกว่านิคมอุตสาหกรรมเฉพาะทาง" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
 
สอดคล้องกับเมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ดำเนินการส่งเสริมพัฒนาโครงการเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน โดยได้อนุญาตประทานบัตร อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ ดำเนินการคำขอประทานบัตรและคำขออาชญาบัตรพิเศษ ไปแล้วรวม 3,521,796 ไร่ อาทิ การอนุญาตประทานบัตร 1 ราย คือ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) พื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ พื้นที่ 9,700 ไร่ จะสามารถผลิตปุ๋ยโปแตช ได้ในปี 2562
 
อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอประทานบัตร 2 ราย ได้แก่ 1.) บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ตำบลโนนเมืองพัฒนา ตำบลหนองบัวตะเกียด และตำบลหนองไทร ด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา 1 แปลง เนื้อที่ 9,005 ไร่ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติแร่แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตของกระทรวงอุตสาหกรรม และ2.) บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตำบลโนนสูง ตำบลหนองไผ่ ตำบลหนองขอนกว้าง อำเภอเมือง ตำบลนาม่วง และตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี 4 แปลง 26,446 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี (ต้องดำเนินการจัดประชาคมหมู่บ้านให้เสร็จเรียบร้อยก่อน)
 
ได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษแล้ว จำนวน 5 ราย ได้แก่ 1.) บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 12 แปลง เนื้อที่ 120,000 ไร่ 2.) บริษัท โรงปัง ไมนิง จำกัด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา 2 แปลง เนื้อที่ 20,000 ไร่ 3.) บริษัท ศักดิ์ศรีไทย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา 2 แปลง เนื้อที่ 20,000 ไร่ 4.) บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ปิโตรเลียมกรุ๊ป จำกัด อำเภอเมือง และอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา 13 แปลง เนื้อที่ 130,000 ไร่ 5.) บริษัท สหชาติเศรษฐกิจ จำกัด อำเภอเมือง และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา 2 แปลง เนื้อที่ 20,000 ไร่ ปัจจุบันผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษส่วนใหญ่อยู่ระหว่างเตรียมการเจาะสำรวจแร่ มีเพียงบริษัท โรงปัง ไมนิง จำกัด ที่ได้ดำเนินการเจาะสำรวจไปแล้วจานวน 3 หลุมเจาะ และกำลังยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตชอีก จำนวน 34 ราย (ดูรายละเอียด http://www.dpim.go.th/ProjectRemark/article?catid=254&articleid=6019)
 
ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนพัฒนาชนบท (กป.อพช.อีสาน) ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ในวันนี้ (18 กรกฎาคม) ว่า จากข้อมูลที่กำลังมีการยื่นขอสัมปทานจำนวนกว่า 3.5 ล้านไร่ ถ้ามีการทำเหมืองโปแตชหรือเหมืองเกลือ จะทำให้เกิดเป็นอุโมงค์ใต้ดินและเกลือขาวไปทั้งภาค ดังนั้นรัฐบาลชุดนี้ควรทำการศึกษา ประเมินทางเลือกการพัฒนาภาคอีสาน ซึ่งเคยมีข้อเสนอของนักวิชาการและกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานียื่นไปแล้ว โดยเฉพาะการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะต้องทำให้มีความชัดเจนในการประเมินทั้งภาค และประชาชนหรือคนอีสานจะได้ผลประโยชน์อะไรรัฐจะต้องชี้แจง
 
"บทบาทของรัฐบาลชุดนี้ควรจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วไม่ใช่สนับสนุนการทำเหมือง และหน่วยงานรัฐหรือกระทรวงอุตสาหกรรมก็ไม่ควรทำตัวเป็นนายหน้าขายสมบัติของประชาชนให้ต่างชาติ เพราะจากที่เห็นข้อมูลพบว่าเกินครึ่งเป็นบริษัทของจีนหรือนอมินีที่กำลังยื่นขออนุญาต" นายสุวิทย์กล่าว
 
นายสุวิทย์ ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมมักอ้างตลอดว่าบริษัทที่ยื่นขออนุญาตเขาได้ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งตนก็อยากตั้งข้อสังเกตว่ากฎหมายที่ว่านั้นได้ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนมากน้อยแค่ไหน
 
นอกจากนี้นายสุวิทย์ ยังตอบโต้กรณีการกล่าวผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ว่า การที่รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ อ้างการทำเหมืองแร่โปแตชจากเยอรมัน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สะอาดนั้น ส่วนตนมองว่า ปัญหาอยู่ที่หน่วยงานรัฐ และข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรมไม่เคยมีความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดเลย เห็นได้จากกรณีเหมืองทองคำ จ.เลย และพิจิตร เป็นต้น
 
"การจะทำเหมืองแร่โปแตชขณะที่ประชาชนขาดการมีส่วนร่วม ไม่มีสิทธิ เสรีภาพ เป็นประเด็นใหญ่สำคัญมากกว่าเทคโนโลยี" นายสุวิทย์กล่าวทิ้งท้าย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net