Skip to main content
sharethis

วันพรุ่งนี้ (21 ก.ค.2558) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จะเข้ายื่นหนังสือของสรรเสริญที่เขียนตอบโต้ผลการสอบสวนของตำรวจกรณีการซ้อมทรมานเขาที่มีผลสรุปว่า “รอยฟกช้ำน่าจะเกิดจากการกระทบหรือล้มไปกระทบกับสิ่งของไม่มีคม”

ทั้งนี้ สรรเสริญเป็นหนึ่งในจำเลย14 รายในคดีปาระเบิดลานจอดรถศาลอาญาเมื่อคืนวันที่ 7 มี.ค.2558 ในจำนวนนี้จำเลยเป็นหญิง 4 คน ชาย 10 คน ทั้งหมดถูกคุมขังในเรือนจำ ยกเว้น 2 รายที่ได้รับการประกันตัว ศาลทหารรับฟ้องแล้วเมื่อราวเดือนมิถุนายน แต่ยังไม่มีการนัดวันสืบพยานแต่อย่างใด (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบด้านล่าง)

สรรเสริญ เป็นชายอายุ 62 ปี อาชีพขับแท็กซี่ และมีแนวคิดค่อนไปทางซ้าย เขาถูกโยงเข้ากับคดีนี้เนื่องจากการไปบรรยายเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองให้กับกลุ่มผู้สนใจทางการเมืองกลุ่มหนึ่งที่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 15 - 16 กุมภาพันธ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจแถลงว่า เป็นการพบปะเพื่อวางแผนก่อเหตุ

ภายหลังการจับกุมสรรเสริญ ( 9 มีนาคม 2558) เขาเป็นคนแรกที่แจ้งกับทนายความเรื่องการถูกซ้อมทรมานระหว่างในระหว่างถูกควบคุมตัวโดยใช้กฎอัยการศึก 7 วัน (อ่านที่นี่) เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องขึ้นมาเมื่อทนายความของศูนย์ทนายฯ ออกแถลงการณ์ระบุว่า ในคดีนี้มีลูกความอย่างน้อย 4 รายที่แจ้งว่าถูกซ้อมทรมาน (อ่านที่นี่)  สรรเสริญเรียกร้องให้ตำรวจทำการสอบสวนเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ

หากพิจารณาเอกสารหลักฐานที่ปรากฏ จะพบการตรวจร่างกายจาก 2 หน่วยงาน ดังนี้

15 มีนาคม 2558 ภายหลังทหารนำตัวเขามาส่งให้ตำรวจ มีการจัดทำบันทึกการตรวจร่างกายผู้ต้องหาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจมาตรวจร่างกาย ผลการตรวจร่างกาย มีดังนี้

“มีรอยฟกช้ำบริเวณ แขนขวาท่อนบน, หน้าท้อง

พบรอยแผลไฟไหม้เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.6 ซม.หลายจุดบริเวณต้นขาขวา”

20 มีนาคม 2558 ใบความเห็นแพทย์จากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ระบุว่า ได้ทำการตรวจร่างกาย นช.สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558 แล้วปรากฏว่า

“พบรอยเขียวช้ำหลายรอบ บริเวณหน้าขาและท้อง

พบจุดคล้ายรอยไฟไหม้หลายจุดที่ต้นขาขวา”

13 พฤษภาคม 2558  พล.ต.ท.ศรีวราห์ สังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ทำหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่สรรเสริญได้ทำหนังสือร้องขอ โดยได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยการสอบปากคำ สรรเสริญ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แพทย์ประจำโรงพยาบาลตำรวจ แพทย์และพยาบาลประจำเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ผู้ตรวจร่างกายในวันรับตัวและระหว่างถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ โดยไม่ได้สอบปากคำเจ้าหน้าที่ทหารที่ควบคุมตัวสรรเสริญ 7 วันก่อนนำตัวส่งตำรวจ

ข้อสรุปของตำรวจระบุว่า

“ยืนยันว่า ผลการตรวจร่างกายของท่านพบรอยฟกช้ำบริเวณลำตัวด้านหน้า สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากการกระทบหรือล้มไปกระทบกับสิ่งของไม่มีคม แต่ไม่อาจยืนยันได้ว่าบาดแผลดังกล่าวเกิดจากสาเหตุใด อีกทั้งในขณะที่ตรวจร่างกายแพทย์ได้ทำการสอบถามท่านแล้ว ซึ่งท่านยืนยันว่าไม่ได้ถูกผู้ใดทำร้ายร่างกาย ซึ่งปรากฏตามบันทึการตรวจร่างกาย ภาพถ่ายการตรวจร่างกาย และใบความเห็นของแพทย์ผู้ตรวจร่างกายของท่าน พนักงานสืบสวนสอบสวนจึงได้สรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและมีความเห็นว่า ในชั้นนี้ยังฟังไม่ได้ว่า ท่านได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือผู้หนึ่งผู้ใดทำร้ายร่างกายตามที่ได้ทำหนังสือร้องเรียนมาแต่อย่างใด”

5 มิถุนายน 2558  สรรเสริญเขียนจดหมายเปิดผนึกจากในเรือนจำเพื่อโต้แย้งผลการตรวจสอบข้างต้น มีใจความสำคัญว่า ขอให้ผู้ พล.ต.ท.ศรีวราห์ บัญชาการตำรวจนครบาล ทำการตรวจสอบอีกครั้งด้วยความเป็นธรรม พร้อมทั้งอธิบายว่าการแจ้งว่าไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่พนักงานทำร้ายร่างกายนั้นหมายถึงเจ้าพนักงานตำรวจ และเจ้าพนักงานราชทัณฑ์เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงทหารชุดจับกุมและสอบสวน  

"จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาข้อโต้แย้งของข้าฯ และโปรดเมตตาข้าฯ สักครั้งหนึ่ง จักเป็นพระคุณยิ่งแก่ข้าฯ และครอบครัวอย่างหาที่สุดมิได้ เพราะที่ผ่านมา ข้าฯ ได้รับความบอบช้ำทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัส อีกทั้งข้าฯ ก็อายุมากแล้ว ควรมิควรแล้วแต่จะเมตตาพิจารณา" จดหมายระบุ

000000

จดหมายของนายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน ถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

 

ทำที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

วันที่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๘

เรื่อง      ข้อโต้แย้ง ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้ต้องหาทำหนังสือร้องเรียน

เรียน     ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจนครบาล

ตามที่ข้าพเจ้า นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน ผู้ร้องเคยทำหนังสือ ลงวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๘ เรื่อง ขอให้รวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน ข้าฯ และต่อมา กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้มีหนังสือ แจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีผู้ต้องหาทำหนังสือร้องเรียน ที่ ตช. ๐๐๑๕.๑๘๓ / ๑๑๐ ลงวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ลงนามโดย พล.ต.ท. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ถึงข้าฯ แล้วนั้น

จากหนังสือที่ ตช. ๐๐๑๕.๑๘๓ / ๑๑๐ ฉบับดังกล่าวได้กล่าวในหน้า ๑ วรรค ๒ บรรทัดที่ ๔ ถึงหน้า ๒ ทั้งหมด ความว่า “ยืนยันว่า ผลการตรวจสอบร่างกายท่าน (ท่านหมายถึงข้าพเจ้า - ผู้ร้อง) พบรอยฟกช้ำบริเวณลำตัวด้านหน้า สันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากการกระทบ หรือล้มไปกระทบกับสิ่งของไม่มีคม แต่ไม่อาจยืนยันได้ว่า บาดแผลดังกล่าวเกิดจากสาเหตุใด อักทั้งในขณะที่ตรวจสอบ แพทย์ได้ทำการสอบถามท่านแล้ว ซึ่งท่านยืนยันว่าไม่ได้ถูกผู้ใดทำร้ายร่างกาย ซึ่งปรากฎตามบันทึกการตรวจร่างกาย ภาพถ่ายการตรวจร่างกาย และใบความเห็นของแพทย์ผู้ตรวจร่างกายของท่าน พนักงานสืบสวนสอบสวนจึงได้สรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและมีความเห็นว่า ในชั้นนี้ยังฟังไม่ได้ว่า ท่านได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหาร หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือผู้หนึ่งผู้ใด ทำร้ายร่างกาย ตามที่ได้ทำหนังสือร้องเรียนมาแล้วแต่ประการใด”

จากข้อความและสรุปผลการตรวจสอบข้างต้นนั้น ข้าฯขอโต้แย้งข้อความข้างต้นว่า เป็นข้อความที่บิดเบือนข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้นซึ่งตามที่ข้าฯ เคยทำหนังสือร้องเรียน ฉบับลงวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ข้อเท็จจริง คือ ข้าฯ ถูกจับกุมตัว เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลากลางคืน และทหารได้สอบสวนซักถามข้าฯ ในวันที่ ๑๐ - ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เจ้าหน้าที่ซึ่งข้าฯ หมายถึงทหารชุดจับกุมและสอบสวนข้าฯ ได้บังคับ ขู่ และทำร้ายร่างกาย เพื่อให้ข้าฯ รับสารภาพ ข้าฯ ได้ให้การปฏิเสธ เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวได้ชกต่อยที่บริเวณหน้าท้องและทรวงอก บริเวณลิ้นปี่และชายโครง และเหยียบบริเวณลำตัว ต่อยและตบบริเวณศีรษะและทรวงอกหลายสิบครั้ง ทำให้ข้าฯได้รับบาดเจ็บบริเวณช่องอกและชายโครง และถูกบังคับให้ถอดกางเกงและถูกช็อตด้วยไฟฟ้า บริเวณโคนขาขวาด้านนอกประมาณกว่า ๓๐ ครั้ง แต่เนื่องจากวันที่แพทย์ประจำเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้ทำการตรวจร่างกายข้าฯ เวลาได้ล่วงเลยมาจนวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ห่างจากวันที่ข้าฯ ถูกทำร้ายร่างกายดังกล่าวถึง ๘ วัน ทำให้ร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกายข้างต้นได้ทุเลาลงบ้างแล้ว เหลือให้เห็นเป็นบางส่วน ที่ชัดเจนคือบริเวณที่ถูกช็อตด้วยไฟฟ้า บริเวณโคนขาขวาด้านนอก ที่ยังปรากฎร่องรอยอยู่ชัดเจน ซึ่งมิได้เป็นไปตามข้อสันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากการกระทบ หรือล้มไปกระทบกับสิ่งของไม่มีคม และเนื่องจากแพทย์ผู้ตรวจร่างกายข้าฯ ไม่เห็นเหตุการณ์ที่ข้าฯ ถูกทำร้าย กอปรกับระยะเวลาเกิดเหตุ ห่างจากวันตรวจร่างกายถึง ๘ วัน และข้อความที่ว่า “อีกทั้งในขณะที่ตรวจร่างกาย แพทย์ได้ทำการซักถามท่านแล้ว ซึ่งท่านยืนยันว่าไม่ได้ถูกผู้ใดทำร้ายร่างกายซึ่งปรากฎตามบันทึกการตรวจร่างกาย”นั้น ข้าฯหมายถึงไม่มีเจ้าพนักงานตำรวจ หรือเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ ทำร้ายร่างกายข้าฯ แต่อย่างใด  แต่ไม่ได้รวมถึงทหารชุดจับกุมและสอบสวน ที่ทำร้ายร่างกายข้าฯ ในวันที่ ๑๐ - ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ก่อนที่จะนำตัวข้าฯ ส่งสถานีตำรวจนครบาล ในวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามหนังสือที่ข้าฯ บันทึก ฉบับลงวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่อ้างถึงในบันทึกที่ ตช. ๐๐๑๕.๑๘๓ / ๑๑๐ ข้างต้น และตามบันทึกการตรวจร่างกายผู้ต้องหา สถานที่บันทึก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ที่จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งผลการตรวจก็ระบุไว้ชัดเจนว่า มีรอยฟกช้ำบริเวณแขนขวาท่อนบน,หน้าท้อง  พบรอยแผลไฟไหม้ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๐.๖ ซม. หลายจุดบริเวณต้นขาขวา ซึ่งร่องรอยดังกล่าว ข้าฯ ขอยืนยันอีกครั้งว่า เกิดขึ้นขณะถูกควบคุมตัวและสอบสวนโดยทหาร ในวันที่ ๑๐ - ๑๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ก่อนที่จะถูกส่งตัวข้าฯ มอบให้เจ้าพนักงานตำรวจ ณ กองบัญชาการตำรวจนครบาล และผลใบความเห็นแพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ในวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยนายแพทย์มานพ ศรีสุพรรณถาวร ได้ทำการตรวจร่างกายข้าฯ ปรากฎว่า

  • พบรอยเขียวช้ำหลายรอยบริเวณอกและท้อง
  • พบจุดคล้ายรอยไหม้หลายจุดที่ต้นขาขวา

ซึ่งจากผลการตรวจร่างกายของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยพ.ต.อ.ไพบูลย์ มะระพฤกษ์วรรณ แพทย์โรงพยาบาลตำรวจและแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ผลออกมาสอดคล้องกันดี ในผลการตรวจร่างกายข้าฯ แต่พนักงานสืบสวนได้สรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีความเห็นว่า ในชั้นนี้ยังฟังไม่ได้ว่า ข้าฯ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหาร หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือผู้หนึ่งผู้ใด ทำร้ายร่างกายตามที่ข้าฯ ได้ทำหนังสือร้องเรียนมาแต่ประการใด

จากเรื่องแจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีผู้ต้องหาทำหนังสือร้องเรียน ที่ ตช. ๐๐๑๕.๑๘๓ / ๑๑๐ ลงวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ออกโดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล ลงนามโดย พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ถึงข้าฯ ดังกล่าวข้างต้น ข้าฯจึงขอทำหนังสือฉบับนี้ เพื่อโต้แย้งผลการสืบสวนในครั้งนี้ว่า เป็นการสรุปผลการสืบสวนที่ไม่เป็นธรรมแก่ข้าฯ ผู้ร้อง เป็นการอนุมานข้อเท็จจริงที่เลื่อนลอย ไร้เหตุผลที่ข้าฯมิอาจจะรับได้ ดังนั้น หนังสือฉบับนี้ ข้าฯขอให้ท่านผู้บัญชาการตำรวจนครบาล คือท่าน พล.ต.ม.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ได้ตรวจสอบเอกสารด้วยความเป็นธรรม ตามเอกสารคำร้องตามที่อ้างถึง ลงวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๘ ของข้าฯ และบันทึกผลการตรวจร่างกายผู้ต้องหา ตามสถานที่บันทึก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๘ และใบความเห็นแพทย์ทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ลงวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ อีกครั้งหนึ่งด้วยตัวท่านเอง เพื่อดำรงความยุติธรรมในการสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงแก่ข้าฯ ผู้ร้องอีกครั้งหนึ่ง อย่าด่วนสรุปใดๆ ตามที่เจ้าพนักงานสรุปนำเสนอลงนาม โดยมิได้ตรวจสอบก่อนลงนาม

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาข้อโต้แย้งของข้าฯ และโปรดเมตตาข้าฯ สักครั้งหนึ่ง จักเป็นพระคุณยิ่งแก่ข้าฯ และครอบครัวอย่างหาที่สุดมิได้ เพราะที่ผ่านมา ข้าฯ ได้รับความบอบช้ำทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัส อีกทั้งข้าฯ ก็อายุมากแล้ว ควรมิควรแล้วแต่จะเมตตาพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

นายสรรเสริญ อุ่นเรือน ผู้เรียง/เขียน

 

00000

รายละเอียดผู้ต้องหาในคดีปาระเบิดลานจอดรถศาลอาญา แบ่งเป็นกลุ่มๆ ได้ดังนี้

ผู้ถูกจับได้ในที่เกิดเหตุ 2 ราย (+ 2 ภรรยา) 

มหาหิน ขุนทอง กับ ยุทธนา เย็นภิญโญ ทั้งคู่อายุ 34 ปี กำลังหาอาชีพ อาศัยในห้องเช่าชานเมืองกรุงเทพฯ เขาถูกจับกุมได้ในที่เกิดเหตุ ยุทธนาเป็นผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ส่วนมหาหินเป็นผู้ซ้อนท้าย โดยในช่วงเกิดเหตุยุทธนาถูกยิงหลายนัดได้รับบาดเจ็บต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล ก่อนจะถูกนำตัวไปยังเรือนจำเช่นเดียวกับมหาหิน

เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวมหาหินมาแถลงข่าวคนเดียวเพราะยุทธนาได้รับบาดเจ็บ ตำรวจและทหารระบุว่า ทั้งคู่มีอาวุธปืน .357 กระสุนยิงไปแล้ว 6 นัด กลุ่มนี้มีแผนจะสร้างสถานการณ์อีก 100 จุดทั่วประเทศในวันที่ 15 มี.ค.

ข้อขัดแย้งสำคัญประเด็นหนึ่งคือ เจ้าหน้าที่ระบุว่าทั้งคู่มีปืนและยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ แต่จำเลยทั้งคู่ยืนยันผ่านทนายความว่า พวกเขาไม่มีอาวุธปืน มีก็เพียงระเบิดลูกดังกล่าวที่ได้มาจากวีระศักดิ์ โตวังจร หรือ ‘ใหญ่ พัทยา’ ที่ยังจับตัวไม่ได้ ในการจับกุมไม่มีการยิงต่อสู้ มีแต่วิ่งหนี และในที่เกิดเหตุนั้นพบว่าเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบได้ดักซุ่มอยู่แล้ว ราวกับเตรียมพร้อมเพื่อการนี้

พ.อ.วินธัยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็น ‘การข่าว’ ของหน่วยงานความมั่นคง ทำให้ทหารไปปักหลักอยู่ที่นั่นเพื่อรอจับกุมได้ทันท่วงที และเกิดการปะทะกันเล็กน้อย

ยิ่งไปกว่านั้น ไม่เพียงมหาหินและยุทธนาที่ถูกจับกุมตัว แต่เจ้าหน้าทียังจับกุมภรรยาของทั้งสองไปควบคุมตัวในเรือนจำด้วย เนื่องจากทั้งคู่ก็อยู่ในไลน์กลุ่มเดียวกับสามี โดยภรรยาของยุทธนา(ธัชพรรณ) นั้นตั้งครรภ์หลายเดือนจึงได้ประกันตัวในที่สุด ขณะที่ภรรยาของมหาหิน (ณัฐฏพัชร์ อ่อนมิ่ง) ยังอยู่ในเรือนจำ 

https://farm1.staticflickr.com/470/18178431553_041dc7ef30_o.jpgการประชุมที่ขอนแก่น 6 คน

การประชุมที่ขอนแก่นเกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 การประชุมเกิดขึ้นจากการหารือและชักชวนกันในกลุ่มไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายการขายตรง สร้างอาชีพให้ผู้ที่สนใจและสามารถนำเงินไปเคลื่อนไหวทางการเมือง จำเลยหลายคนระบุว่าพวกเขาดำเนินนโยบายแบบกลุ่มติดอาวุธทางความคิด

ผู้ต้องหาในเซ็ทนี้เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด แบ่งเป็น

เจษฎาพงษ์ วัฒนพรชัยสิริ

นายณเรศ อินทรโสภา 

นรภัทร เหลือผล หรือ บาส

วิชัย อยู่สุข หรือ ตั้ม

ชาญวิทย์ จริยานุกูล

สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน

นอกเหนือจากเจษฎาพงษ์ที่เป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับการขายตรงสบู่สมุนไพร และยาสมุนไพร ในครึ่งวันแรก ก็ยังมีชาญวิทย์และสรรเสริญ วิทยากรสูงวัยที่มาบรรยายเรื่องการเมือง ประวัติศาสตร์การเมือง ส่วนที่เหลือก็เป็นผู้เข้าร่วมอบรม บรรดาผู้ร่วมอบรมนี้ถูกจับกุมจากเหตุที่อยู่ในไลน์กลุ่มเดียวกับผู้ก่อเหตุทั้งสองคือมหาหินและยุทธนา ซึ่งไลน์ที่ว่าก็มีหลากหลายกลุ่ม มีคนตั้งแต่หลายสิบคนไปจนถึงไม่กี่คน

อย่างไรก็ตาม คนเหล่านี้ตั้งต้นจากการรู้จักกันในโซเชียลมีเดีย มีไม่กี่คนที่รู้จักตัวกันจริงๆ จังๆ พวกเขายืนยันว่าตั้งกลุ่มคุยและวิเคราะห์การเมืองในแบบผู้ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองใกล้เคียงกัน และรวมถึงแลกเปลี่ยนช่องทางการทำมาหากิน หรือการจัดกิจกรรมทางการเมืองเล็กๆ น้อยๆ เช่นการอบรมให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ หรือจัดกลุ่มพูดคุยการเมือง

ที่น่าแปลกคือ ชาญวิทย์และสรรเสริญ ไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟน ไม่ได้อยู่ในกลุ่มไลน์กับใคร แต่ก็ถูกจับกุมมาด้วยโดยตำรวจกล่าวหาว่าเขาทั้งสองเป็น ‘ตัวการวางแผน’ ในการปฏิบัติการครั้งนี้ที่ขอนแก่น หรือวันที่เขาไปร่วมบรรยายเรื่องการเมืองนั่นเอง

กล่าวสำหรับสรรเสริญนั้น เป็นอดีตสหาย มีอาชีพขับแท็กซี่ และมีประวัติการต่อสู้ทางการเมืองมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 เขาต่อสู้ในแนวทางของรัฐสภา เคยพยายามตั้งพรรคกสังคมประชาธิปไตยในช่วงปี 2553 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่ชาญวิทย์ก็เป็นนักเคลื่อนไหวรุ่นใกล้เคียงกัน ทั้งคู่มีลักษณะเป็นปัญญาชนค่อนข้างสูงและมีแฟนคลับให้ความสนใจติดตามศึกษาแนวคิด นรภัทรก็เป็นคนหนึ่งในนั้นจึงได้ชวนชาญวิทย์มาบรรยายที่ขอนแก่น และชาญวิทย์ก็ได้ชวนสรรเสริญให้มาช่วยบรรยายด้วย

ทั้งสรรเสริญ ชาญวิทย์ นรภัทร และวิชัย ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่าถูกซ้อมระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ทหาร โดยเฉพาะสรรเสริญมีร่องรอยการช็อตไฟปรากฏที่ขาและรอยช้ำตามลำตัว (อ่านที่นี่)

การโอนเงิน 6 ราย  (+ 1 ราย) 

นั่นคือ สุภาพร มิตรอารักษ์ หรือ เดียร์, ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือ แหวน, วาสนา บุษดี, สุรพล เอี่ยมสุวรรณ, วสุ เอี่ยมลออ, สมชัย อภินันท์ถาวร, ( +มนูญ ชัยชนะ หรือเอนก ซานฟาน ยังจับกุมตัวไม่ได้)

การโอนเงินที่ตำรวจกล่าวหาว่า ต้นทางคือ เอนก ซานฟราน จนมาถึงผู้ปฏิบัติการ ดูเหมือนจะเลี้ยวลดไปตวัดเอาหลายคนเข้าเกี่ยวข้อง

พ.อ.วิจารณ์ จดแตง  จาก กอ.รมน.แถลงข่าวเรื่องเส้นทางการเงินในวันที่นำตัวเดียร์ส่งให้ตำรวจที่ บช.น. ว่า กลุ่มนี้เตรียมก่อเหตุ 2 ครั้ง ครั้งแรกในเดือน ก.พ.2558 โดยเอนก ซานฟาน ติดต่อทางไลน์กับเดียร์เพื่อจ้างวานสร้างสถานการณ์ 5 จุดในกทม. พบการโอนเงิน 50,000 บาท ผ่านนายวสุ ส่งต่อให้นางวาสนา บุษดี และมีการติดต่อแหวน จากนั้นแหวนติดต่อนายสุรพลให้รับงาน แต่ไม่ทราบด้วยเหตุใดนายสุรพลยกเลิกภารกิจ จึงดำเนินการอีกเป็นครั้งที่ 2 ในเดือน มี.ค. เดียร์เปลี่ยนไปติดต่อผ่านวิชัยหรือตั้ม และนรภัทรหรือบาส ก่อนติดต่อว่าจ้างใหญ่ พัทยา เพื่อไปว่าจ้างมหาหินและนายยุทธนาปาระเบิดที่จอดรถศาลอาญาอีกที 

ขณะที่วิญญัติ ทนายความของแหวนระบุว่า แหวนรู้จักคนกลุ่มนี้ในไลน์ เกือบทั้งหมดไม่เคยเจอตัวกัน ตำรวจอ้างว่าวาสนาโอนเงินให้แหวน แต่แหวนยืนยันว่าไม่รู้จักวาสนา แหวนได้รับการโอนเงินจริง แต่เป็นเงินที่ขอยืมจากสุรพลจำนวน 5,000 บาทเพื่อมาชำระหนี้สินที่ทำร้านซักอบรีด และตัวแหวนเองยืนยันว่าไม่เคยมีแนวคิดสนับสนุนความรุนแรงแต่อย่างใด (อ่านที่นี่)

สำหรับวาสนารู้เพียงคร่าวๆ ว่า วาสนาซึ่งมีอาชีพรับจ้างขายเสื้อผ้าที่ จ.มุกดาหารนั้น รับโอนเงินให้คนอื่นจริงจำนวน 40,000 บาท โดยได้ค่าจ้างจากเดียร์ 200 บาท เหตุที่รู้จักกันเนื่องจากเดียร์เช่าบ้านแม่ของวาสนา

ขณะที่วสุระบุว่าเขาติดต่อสื่อสารทางไลน์กับกลุ่มเป็นร้อยกลุ่มเนื่องจากตัวเองจะนำคลิปรายการที่เขาผลิตไปเผยแพร่ในกลุ่มไลน์ แต่ไม่เคยโพสต์หรือพูดคุยข้อความที่มีลักษณะสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรง สำหรับความสัมพันธ์กับเอนก ซานฟราน นั้นเคยสื่อสารโต้ตอบกันในเรื่องทั่วไปในทางสาธารณะ ไม่เคยคุยหลังไมค์

ส่วนเดียร์ที่วสุและหลายคนรู้จักผ่านโซเชียลมีเดียนั้น ดูเหมือนจะเป็น ‘เดียร์’ ที่ยังสาวและอยู่ต่างประเทศ ต่างจากเดียร์ที่เจ้าหน้าที่จับกุมมา

ส่วนสมชัยวัย 53 ปี  โดนจับที่บ้านพัก เขาระบุว่ามีอาชีพเสริมในการรับจ้างโอนเงินแทนคนในต่างประเทศอยู่แล้ว และดีลนี้มาจากลูกชายของเขาที่ทำงานอยู่ที่ร้านก๋วยเตี๋ยวของเอนก ซานฟาน ตัวเขามีอาชีพค้าขายเสื้อผ้ากีฬาและไม่ได้สนใจการเมือง 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net