Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

หัวหน้า คสช.ยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่า ที่เราส่งชาวอุยกูร์กว่า 100 คนกลับจีนนั้น ไม่ใช่เพราะถูกจีนกดดัน แต่ทำตามกฎหมายไทย กล่าวคือส่งผู้ลักลอบเข้าเมืองกลับประเทศต้นทาง ในขณะที่จีนประกาศว่าอย่างน้อย 13 คน ในกลุ่มชาวอุยกูร์เหล่านี้ กระทำผิดกฎหมายความมั่นคงของจีน

คสช.รู้มาก่อนหรือไม่ว่า การกระทำเช่นนี้จะถูกประท้วงและประณามไปทั่วโลก ผมคิดว่ารู้ แต่คงไม่คิดว่าจะรุนแรงขนาดนี้ อันที่จริงแม้ประเทศไทยไม่มีกฎหมายผู้ลี้ภัย แต่รัฐบาลไทยหลายสมัยมาแล้วรู้ว่าการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศทำให้ถูกประณามหรือประท้วงจากนานาชาติ เหตุดังนั้น หากจะทำก็มักพยายามทำอย่างลับๆ (แต่ข่าวก็มักรั่วไหลไปถึงสื่อต่างชาติจนได้ แต่สื่อไทยแบ๊ะๆ ตามเคย) หรือในกรณีที่ไม่มีพรมแดนติดกันไม่อาจผลักดันได้ ก็มักกักตัวไว้ให้เดินทางไปประเทศที่สาม

ดังนั้น จึงไม่น่าสงสัยแต่อย่างใดว่า คสช.ถูกจีนกดดัน ซึ่งหัวหน้า คสช.จะกล่าวว่าถูกจีนกดดันแก่ผู้สื่อข่าวไทยก็ไม่ได้ จึงเฉไฉไปน้ำขุ่นๆ อย่างนั้น

ความจำเป็นจะต้องส่งชาวอุยกูร์กลับจีนจึงไม่จำเป็น หากเป็นการส่งตัวตามกฎหมายผู้ร้ายข้ามแดน เป็นภาระของฝ่ายจีนต้องพิสูจน์ให้ศาลไทยเชื่อว่าบุคคลผู้นั้นกระทำความผิด (ตามที่กฎหมายไทยบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด) จริง บุคคลคนหนึ่งอาจต้องใช้เวลาดำเนินคดีกันหลายปี

การที่ไทยซึ่งเป็นประเทศเล็กถูกมหาอำนาจกดดันให้ทำหรือไม่ทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นเรื่องที่ใครๆก็คาดได้หากมหาอำนาจไม่เคยกดดันไทยเลยสิ เป็นเรื่องประหลาดและไม่น่าเชื่อ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่ารัฐบาลที่ผ่านๆ มาต้องทำให้พอดูได้ว่าการกระทำตามแรงกดดันเป็นความสมัครใจของไทยเอง เพื่อมิให้นานาชาติเห็นว่าไทยไม่เหลืออำนาจอธิปไตยในฐานะรัฐเอกราชอีกแล้ว และที่สำคัญกว่านั้น คือทำให้คนไทยเองไม่รู้สึกขัดเคืองกับแรงกดดันนั้น

รัฐบาลของ คสช.ทำไม่เป็น

คสช.มีฝีมือจะทำหรือไม่ ยกไว้ก่อน แต่ คสช.ตกอยู่ในเงื่อนไขที่ทำให้แม้มีฝีมือก็ทำได้ยาก หรือทำไม่ได้เลย เพราะ คสช.ไม่ประสบความสำเร็จที่จะดึงประชาชนส่วนใหญ่เข้ามาสนับสนุน พลังการต่อรองของประเทศเล็กๆ กับมหาอำนาจนั้นอยู่ที่ประชาชน ถ้าไม่สามารถขับเคลื่อนประชาชนให้เข้ามาหนุนนโยบาย ก็ยากที่จะบ่ายเบี่ยงต่อรองกับมหาอำนาจได้

แม้แต่ประเด็นปัญหาว่าจะทำอย่างไรกับอุยกูร์จำนวนหลายร้อยซึ่งถูกกักตัวอยู่ที่สงขลาก็ไม่เคยเปิดให้ประชาชนเข้ามาพิจารณาร่วมกันแม้แต่การที่ประเทศตุรกีเปิดรับอุยกูร์เหล่านี้ให้อพยพไปได้ก็ไม่เคยเปิดเผยมาก่อนเพิ่งมารู้กันเมื่อได้ส่งตัว

อุยกูร์กลับไปให้จีนแล้ว ทั้งหมดเหล่านี้หากเปิดให้เป็นประเด็นสาธารณะมาแต่ต้น ก็จะเป็นข่าวในนานาประเทศ ไทยก็จะถูกกดดันจากประเทศอื่นไปพร้อมกันว่าไม่ควรส่งคนเหล่านี้กลับจีน จีนไม่อาจกดดันได้ตามใจ อย่างน้อย คสช.ก็อ้างได้ว่าเป็นปัญหาละเอียดอ่อน ไม่สามารถฝืนมติของสังคมไทยและสังคมโลก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ อย่าปล่อยให้แรงกดดันมาจากทิศทางเดียว แต่เปิดให้มาจากหลายทิศทาง แรงกดดันจากแต่ละทิศทางก็จะเบาไปเอง

ส่วนที่จีนจะขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน ก็มาพิสูจน์กันในศาล

ในโลกที่มีมหาอำนาจหลายขั้ว บางเรื่องประเทศเล็กๆ อย่างไทยก็เล่นยาก แต่บางเรื่องก็เล่นง่ายขึ้น เช่น การถ่วงดุลอำนาจของมหาอำนาจ อย่าปล่อยให้ใครโดดเด่นมาข่มเราได้ฝ่ายเดียว

อาเซียนเองก็ใช้นโยบายอย่างนี้ คือเปิดให้ทั้งสหรัฐ, อียู และออสเตรเลีย เข้ามาถ่วงดุลกับการบีบลงมาของจีน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เป็นปรปักษ์กับจีน เพราะอาจใช้อำนาจจีนมาถ่วงดุลมหาอำนาจฝ่ายอื่นได้ พม่าเคยถูกบีบให้ต้องเอียงไปหาจีนมากเกินไป แต่เมื่อโอกาสเปิด พม่าก็รีบนำผลประโยชน์ของมหาอำนาจฝ่ายอื่นไปถ่วงดุลกับจีนบ้าง การหันมาปรองดองกันของสมเด็จฯ ฮุน เซน กับนายสม รังสี ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความสงบในการเมืองกัมพูชาเท่านั้น แต่ก็เท่ากับเปิดประตูให้แก่มหาอำนาจฝ่ายอื่นเข้ามาถ่วงดุลจีนในกัมพูชาเช่นกัน

ผู้นำไทยในอดีตนั้นไม่สุ่มเสี่ยงเล่นไพ่หน้าเดียวจนถึงเผด็จการสฤษดิ์ธนะรัชต์ท่านปรีดีพนมยงค์ ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากฝ่ายสัมพันธมิตร แต่เมื่อสิ้นสงคราม ท่านก็เปิดพื้นที่ประเทศให้แก่การกู้เอกราชของเพื่อนบ้าน เท่าที่จะไม่ให้ดูเป็นอริกับเจ้าอาณานิคมเก่าจนเกินไป เพราะท่านคาดสถานการณ์ได้ถูกแล้วว่า อย่างไรเสียไทยก็ต้องอยู่กับเพื่อนบ้านหน้าใหม่ (หรือหน้าเก่าก่อนที่จักรวรรดินิยมยึดไป) ปัญหาคือจะอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านหน้าใหม่เหล่านี้อย่างไรให้เป็นสุขและเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายด้วย

จอมพลป.พิบูลสงครามคือผู้ลงนามในสนธิสัญญาร่วมมือทางทหารและเศรษฐกิจกับสหรัฐใน 2492 ซึ่งหมายความว่าหน้าฉาก ไทยกลายเป็นฝ่ายเดียวกับสหรัฐในสงครามเย็น แต่ท่านก็วางสายของท่าน (คุณสังข์ พัธโนทัย) ไว้ในประเทศจีนคอมมิวนิสต์ คุณสังข์เข้านอกออกในกับผู้นำจีนถึงระดับสูงได้ หมายความว่าช่องทางการเจรจาของไทยกับผู้นำจีนในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เปิดกว้างอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าสงครามเย็นจะลงเอยอย่างไร ประเทศเล็กๆ อย่างไทยก็ยังพอมีช่องให้ขยับขยายปรับเปลี่ยนไปได้ ตามแต่ผลประโยชน์ของไทยในช่วงนั้นจะกำหนดให้เดินไปอย่างไร

อย่าลืมว่าสงครามเย็นนั้นเราไม่ได้เป็นผู้เปิดฉากและเราจึงไม่ใช่ผู้ปิดฉากเมื่อมันสิ้นสุดลงแล้วเราไม่ควรตกอยู่ในตาอับที่ขยับไปไหนไม่ได้ ต้องทิ้งชะตากรรมบ้านเมืองไว้กับสหรัฐจนหมดตัว
 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนรายวัน 20 กรกฎาคม 2558
ที่มา: มติชนออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net