มองเลิกจ้าง 1,400 คนงานซัมซุงโคราชกับสถานการณ์การผลิตและส่งออกไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากที่เห็นสื่อมวลชนหลายสำนักพาดหัวทำนองว่า “พิษส่งออกทรุด! บริษัทซัมซุงอิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ จ.นครราชสีมา ประกาศปิดกิจการ ปลดพนักงานออกกว่า 1,400 คน” แน่นอนคนในสังคมจำนวนไม่น้อยก็คาดการณ์ไปยัง “วิกฤติเศรษฐกิจขนานใหญ่จะมาอีกรอบ”

พร้อมกับ “forward mail เจ้าปัญหาที่จับแพะปี 51 มาชนแกะปี 57-58 ที่กระจายเป็นลูกโซ่ไฟลามทุ่งในไลน์ขณะนี้” รวมถึงมีการกระแหนะกระแหนพวกแรงงานทั้งหลายที่เรียกร้องค่าแรงขึ้นว่า “ระวังจะตกงานในเร็ววันนี้”

ในฐานะนักข้อมูลแรงงาน อยากชี้ชวนมองอีกด้าน ผ่านข้อมูลที่มาจากสถาบันชั้นนำทางเศรษฐกิจในประเทศไทย เผื่อจะได้เข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจไทยมากกว่านี้ว่า “อย่าจับแพะชนแกะ” และควรดูเป็น Sector การผลิตแต่ละ sector แทนว่า อันไหน “รุ่ง” อันไหน “ร่วง”

แน่นอนหลายธุรกิจ “ร่วง” ก็ต้องยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมาว่า “ก็เพราะไม่มีฝีมือหรือความสามารถในการทำธุรกิจ” การหาข้ออ้างต่างๆนานาเพื่อให้ธุรกิจ “รอด” โดยเฉพาะอ้างเรื่อง “เศรษฐกิจไม่ดี” “ส่งออกไม่ได้” “ต้นทุนค่าแรงสูง” จึงคือการแก้ตัวแบบน้ำขุ่น ๆไปวัน ๆ

 (1) ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อ 30 มิถุนายน 2558

- ภาคการท่องเที่ยวยังคงมีบทบาทช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยขยายตัวดีจากการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของชาวจีน มาเลเซีย และรัสเซีย

- การลงทุนในโครงการด้านคมนาคม ขนส่ง และชลประทานของภาครัฐ ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างช้าๆ

- การส่งออกสินค้ายังคงซบเซาตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจอาเซียนและจีน ส่วนสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

- คำสั่งซื้อรถยนต์จากต่างประเทศลดลงมาก แต่เป็นเพราะผู้บริโภครอการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่

- การส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวสูงจากความต้องการมันสำปะหลังของจีน เพื่อนำไปใช้ทดแทนข้าวโพดในการผลิตเอทานอลที่รัฐบาลจีนมีนโยบายให้ใช้ข้าวโพดสาหรับการบริโภคเท่านั้น

- ครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่าย เพราะรายได้เกษตรกรถูกบั่นทอนจากราคาและผลผลิตสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ประกอบกับผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ภัยแล้ง การบริโภคภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ

(2) ข้อมูลจากสำนักส่งเสริมการลงทุน BOI เมื่อ 10 กรกฎาคม 2558

- จากที่รัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 10 พื้นที่ ได้แก่ ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร สงขลา เชียงราย หนองคาย นครพนม กาญจนบุรี และนราธิวาส พบว่า ขณะนี้ในพื้นที่ตาก และสระแก้ว มีนักลงทุนไทยแสดงความสนใจเข้าลงทุนแล้วประมาณ 5-6 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเบา ที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น เช่น สิ่งทอ ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

- นักลงทุนต่างชาติไม่ว่าจะเป็น จีน ไทเป ไต้หวัน เกาหลี และญี่ปุ่น ให้ความสนใจจะมาลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค โลจิสติกส์ ศูนย์กระจายสินค้า และอุตสาหกรรม ที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้น โดยคณะนักลงทุนได้ลงสำรวจพื้นที่ดังกล่าวแล้ว

- บอร์ด BOI ไฟเขียว 17 โครงการ มูลค่า 4.39 หมื่นล้าน ระยองมากสุด 5 โครงการ ส่วนใหญ่กิจการชิ้นส่วนยานยนต์ และผลิตไฟฟ้าพลังงานทางเลือก

- สำหรับโครงการทั้ง 17 โครงการ ประกอบด้วย

1. บริษัท เอ็นเอส บลูสโคป (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบอะลูมิเนียม สังกะสีและเหล็กแผ่นเคลือบสี เงินลงทุน 3,279.2 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดระยอง

2. บริษัท เอสอีไอ ไทย อิเล็คทริค คอนดัคเตอร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตเหล็กลวดอะลูมิเนียมสำหรับผลิตสายไฟฟ้าและ สายส่งสัญญาณของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ เงินลงทุน 1,324 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดระยอง

3. บริษัท อาโอยาม่าไทย จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตสลักภัณฑ์ เช่น สลักเกลียว แป้นเกลียว สำหรับใช้เป็นชิ้นส่วนยานพาหนะ มูลค่าเงินลงทุน 2,193 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดระยอง

4. บริษัท ไทย เบเวอร์เรจ แคน จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตตัวกระป๋องอะลูมิเนียม เงินลงทุน 1,410 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดสระบุรี

ส่วนโครงการที่ 5-7 บริษัท ไดเซล เซฟตี้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ ได้แก่ อุปกรณ์กำเนิดก๊าซสำหรับถุงลมนิรภัย จำนวน 3 โครงการ เงินลงทุนรวม 2944.2 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดปราจีนบุรีทั้ง 3 โครงการ

8. บริษัท โอตานิ เรเดียล จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตยางยานพาหนะ เงินลงทุน 6,555.8 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดนครปฐม

9. บริษัท มิลลิเมด จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตยาแผนปัจจุบัน เงินลงทุน 1,436.4 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดเชียงราย

10. บริษัท เอสอาร์เอฟ อินดัสตรี้ส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตฟิล์มพลาสติก และฟิล์มพลาสติกเคลือบโลหะ เงินลงทุน 2,429 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดระยอง

11. นายสมศักดิ์ ดารารัตนโรจน์ ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตเยื่อกระดาษสำหรับผลิตกระดาษหนังสือพิมพ์ เงินลงทุน 5,500 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดมหาสารคาม

12. บริษัท สยามเซลลูโลส จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตเยื่อกระดาษสำหรับผลิตกล่องกระดาษลูกฟูก เงินลงทุน 1,408.2 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดกาญจนบุรี

13. บริษัท น้ำตาลสิงห์บุรี จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล และไอน้ำ เงินลงทุน 910 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดสิงห์บุรี

14. บริษัท อู่ทองกรีนพาวเวอร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล เงินลงทุน 1,665.8 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดสุพรรณบุรี

15. บมจ.พลังงาน บริสุทธิ์ (EA) ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เงินลงทุน 8,500 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดพิษณุโลก

16. MR. ROGER RENSCH REYNOLDS ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการสวนสนุก เงินลงทุน 1,440 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดภูเก็ต

17. บริษัท เหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด อินดัสเตรียลเอสเตท 4 จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการเขตอุตสาหกรรม เงินลงทุน 2,922.1 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดระยอง

(3) ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อมิถุนายน 2558

- อุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลง อาทิ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ รถยนต์ โทรทัศน์ เบียร์และเครื่องประดับ

- อุตสาหกรรม Hard disk drive ลดลง เนื่องจากความถดถอยของความต้องการคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ

- ในขณะที่เทคโนโลยี Solid State Drives (SSD) กำลังเป็นที่นิยมใช้ในอุปกรณ์ที่มีน้ำหนักเบา และต้องการความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลสูง โดยความต้องการ SSD สำหรับคอมพิวเตอร์มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น

- กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าเกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต คอมเพรสเซอร์ กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว และเครื่องรับโทรทัศน์ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลงจึงส่งผลให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย รวมถึงได้รับผลกระทบจากตลาดส่งออกหลักที่ยังไม่ฟื้นตัว (ยุโรป และญี่ปุ่น)

- สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน ยกเว้นเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต มีอัตราการผลิตเพิ่มขึ้น

- อิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์

- อุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตลดลง เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัว จากปัญหาหนี้สิ้นภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อที่เข้มงวดมากทำให้การซื้อรถยนต์ยังไม่ฟื้นตัว

- อุตสาหกรรมยานยนต์ ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 45 และส่งออกร้อยละ 55 อย่างไรก็ดีการส่งออกรถยนต์นั่งมีการขยายตัวในประเทศแถบเอเชีย และโอเชียเนีย

- มีโรงงานเปิดกิจการในเดือนพฤษภาคมจำนวน 373 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2558 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 349 ราย โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตขวดพลาสติก บรรจุภัณฑ์พลาสติก จำนวนคนงาน 800 คน รองลงมา คือ อุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์ เคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวนคนงาน 465 คน อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล มีจำนวนคนงาน 390 คน

- อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2558 คือ ขุดตักดินลูกรังสำหรับใช้ในการก่อสร้าง และผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จ ทั้งสองอุตสาหกรรมจำนวน 29 โรงงานเท่ากัน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนจากไม้ จำนวน 27 โรงงาน

- มีโรงงานปิดกิจการจำนวน 126 ราย โดยเป็นอุตสาหกรรม ซ่อมรถยนต์ เคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวน 21 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนจากไม้ จำนวน 9 โรงงาน

- อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2558 คือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ จำนวนคนงาน 551 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์จากสิ่งทอ เนื่องจากคำสั่งซื้อของตลาดภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซียลดลง และการถูกตัดสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรป

- อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ปริมาณการจำหน่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังพบว่าขณะนี้ในอินโดนีเซียกำลังมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศสูงมาก จนปริมาณที่ผลิตได้ในประเทศไม่เพียงพอ ต้องหันมานำเข้าจากไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตามตลาดส่งออกปูนซีเมนต์ที่สำคัญสุดของไทยยังคงเป็นเมียนมาร์ โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของการส่งออกปูนซีเมนต์ทั้งหมดของไทย

เหล่านี้คือสถานการณ์การผลิตและส่งออกในขณะนี้ของประเทศไทย ที่อยากชี้ชวนมองให้รอบด้าน มากกว่าเหมารวมทั้งภาคการผลิตทั้งหมดอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และปล่อยให้ “แรงงาน” เป็น “แพะรับบาป” เรื่อง “การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” เสมอมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท