สัมภาษณ์พิเศษ : “กระบวนการสันติภาพ"ของ'หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ'

สัมภาษณ์พิเศษ เปิดใจ 'หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ' อดีตแกนนำขบวนการพูโล กับ 18 ปีใน 4 เรือนจำ กระทั่งได้รับการพักโทษและถูกปล่อยในวันฮารีรายอ ฟังความเห็นและมุมมองต่อกระบวนการสันติภาพจากอดีตถึงปัจจุบัน คณะพูดคุยสันติสุขไทย และสภาชูรอแห่งปาตานีจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร<--break- />

นายมะแอ สะอะ หรือ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ อดีตแกนนำองค์การปลดปล่อยสหปาตานีหรือขบวนการพูโล ที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตข้อหากบฏ แต่ได้รับการลดโทษเรื่อยมาจนกระทั่งได้รับการพักโทษและถูกปล่อยตัว เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันรายออีดิ้ลฟิตรี

ตลอดระยะเวลา 18 ปีเศษที่ถูกจองจำ เขายังคงติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้บ้านเกิดมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความพยายามในการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพทั้งจากฝ่ายรัฐบาลไทย รวมถึงฝ่ายขบวนการต่อสู้เพื่อปาตานี จนดูเหมือนว่าเขาเองก็อาจจะมีบทบาทอยู่บ้างในการผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายมาคุยกัน

บทบาทของเขาต่อกระบวนการสันติภาพนั้นก็คืออะไร แนวคิดเรื่องกระบวนการสันติภาพของเขาเป็นอย่างไร ผู้สื่อข่าวตามไปคุยกับเขาถึงบ้านเกิดเขาเพิ่งได้กลับมาอาศัยได้เพียง 4 วัน ณ บ้านท่าน้ำ หมู่ที่ 2 ต.ท่าน้ำ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี

18 ปีที่อยู่ในเรือนจำ

หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ เล่าว่า เขาถูกทางการจับตัวไปเมื่อปี 2540 ปีต่อมา ศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตในปีต่อมา ตลอดระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมา เขาถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ 4 แห่ง คือที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ (หรือที่รู้จักกันว่าคุกคลองเปรม) จากนั้นถูกย้ายไปอยู่เรือนจำบางขวางอยู่หลายปีด้วยกัน กระทั่งถูกย้ายมาอยู่ที่เรือนจำกลางสงขลา สุดท้ายย้ายมาเรือนจำกลางยะลา ก่อนจะได้รับการพักโทษและปล่อยตัวออกมา

“ช่วงที่ผมอยู่ในเรือนจำมีประวัติดี ไม่เคยทำร้ายใคร ทำให้เจ้าหน้าที่เรือนจำให้ความเคารพผม ผมจะคอยช่วยเหลือผู้ต้องขังคนอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะนักโทษใหม่ที่ยังปรับตัวไม่ได้ คอยช่วยเหลือคนอื่นยามเจ็บไข้ได้ป่วยโดยไม่เลือกศาสนาหรือเชื้อชาติ โดยช่วยรักษาด้วยการอ่านดุอาอ์ปัดเป่าในแบบหมอพื้นบ้านมุสลิม

ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในเรือนจำ ผมการปฏิบัติอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ ไม่เคยถูกทำร้ายหรือถูกซ้อมทรมาน”

ผมร้องไห้เมื่อทนายสมชายหายตัวไป

“ในช่วงที่ต่อสู้คดี ทางคุณสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมมาว่าความให้ผม พร้อมกับทนายกอเด กอแต และทนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ

หะยีสะมะแอบอกว่าเขาเคารพนับถือคุณสมชายมาก เพราะเป็นคนที่มีความจริงใจและเป็นคนที่เสียสละต่อผู้อื่นอย่างมาก ในความเห็นของเขาจะหาคนที่เหมือนทนายสมชายได้ยากมาก

ครั้งสุดท้ายที่เขาได้เจอกับทนายสมชายที่เรือนจำบางขวาง คุณสมชายพูดกับเขาว่า ถ้ายังมีชีวิตอยู่เขาจะช่วยเหลือเขาตลอดไป จะไม่ทอดทิ้ง หลังจากนั้นไม่นานก็ได้ข่าวว่าคุณสมชายถูกอุ้มหายตัวไป

“ผมรู้สึกเสียใจมาก ปกติเวลาผมทราบว่ามีใครที่รู้จักเสียชีวิตผมจะไม่ร้องไห้ แต่การหายตัวไปของคุณสมชายทำให้ผมร้องไห้ออกมา”

เคยเป็นข้อต่อการพูดคุยสันติภาพปาตานี

“ในช่วงเกิดเหตุไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมได้เขียนจดหมายถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยเสนอว่าต้องแก้ปัญหาด้วยการพูดคุยกัน

ตอนนั้นผมเสนอผ่าน พล.อ. ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยนั้น ซึ่งผ่านไปเพียงเดือนเดียวก็ได้ได้รับข่าวว่า จดหมายที่ผมส่งไป ได้ถึงมือท่านนายกรัฐมนตรีแล้ว และได้รับการตอบสนองจากนายกรัฐมนตรีด้วย

เหตุที่ผมกล้าเสนอไปอย่างนั้นก็เพราะว่าก่อนหน้านั้น ผมเคยเป็นผู้ประสานงานให้มีการพูดคุยกันมาแล้วระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับตนกูบีรอ กอตอนีลอ อดีตเลขาธิการพูโล ในช่วงปี 2534 – 2536 ในสมัย พล.ท.กิตติ รัตนฉายา เป็นแม่ทัพภาคที่ 4

ตัวแทนรัฐบาลไทยขณะนั้นมี พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ และ พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว รวมอยู่ด้วย ซึ่งการพูดคุยครั้งแรกมีขึ้นที่ประเทศอียิปต์ ครั้งที่ 2 ที่ประเทศซีเรีย

เพราะความขัดแย้งทั่วโลกยุติด้วยเจรจา

“เหตุที่มีการประสานให้มีการพูดคุยกันดังกล่าวนั้นก็เพราะฝ่ายขบวนการพูโลมองว่า การพูดคุยเป็นแนวทางหนึ่งของการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ทั่วโลกยอมรับ เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกสุดท้ายต้องยุติลงด้วยการพูดคุยบนโต๊ะเจรจาสันติภาพ”  อดีตนักโทษที่ถูกจองจำมา 18 ปี กล่าว

หลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับจดหมายจากหะยีสะมะแอแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ก็พยายามจะให้มีการพูดคุยทันที โดยส่งคนไปมาเลเซียเพื่อติดต่อกับ ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน อดีตประธานกลุ่มเบอร์ซาตู ซึ่งเป็นองค์กรร่วมของขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานี แต่ในขณะนั้นกลุ่มของ ดร.วันการเดร์ปฏิเสธ

เหตุที่ปฏิเสธ เพราะยังไม่ความพร้อมที่จะพูดคุยด้วยและยังไม่ไว้วางใจฝ่ายรัฐบาลไทยว่าจะมีความจริงใจมากน้อยแค่ไหน ทำให้การพูดคุยสันติภาพไม่เกิดขึ้น ประกอบกับในช่วงนั้นทางกลุ่มขบวนการเกรงว่าเมื่อออกมาพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลไทยแล้ว ก็อาจจะถูกจับตัวเหมือนตนก็ได้ เพราะขนาดตัวเขาเองเคยเป็นถึงผู้ประสานงานให้มีการพูดคุยกันก็ยังถูกจับอยู่ดี

ต่อมาในสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นต้นมาก็มีความพยายามที่จะให้มีการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มขบวนการต่างๆ ด้วยอีกหลายครั้ง โดยได้รับการสนับสนุนจาก ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศมาเลเซีย แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

จนกระทั้งสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี จึงมีการพูดคุยกันอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรก แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอยู่ดี

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาขอความคิดเห็นจากผมเกี่ยวกับการแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยถามผมว่าใครที่เหมาะสมจะเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพของฝ่ายไทย?

“ตอนนั้นผมตอบไปว่า จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคนที่นายกรัฐมนตรีไว้วางใจมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจหรือฝ่ายพลเรือนหรือใครก็แล้วแต่ ต้องเป็นคนที่ท่านนากรัฐมนตรีไว้ใจมากที่สุด เพราะหากกระบวนการพูดคุยสันติภาพมีปัญหา เขาก็สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว”

สันติภาพที่แท้จริงควรเป็นอย่างไร?

“ส่วนตัวคิดว่ากระบวนการสันติภาพต้องให้ความสำคัญกับคนในด้วย คนในหมายถึงคนในพื้นที่ปาตานี ต้องถามว่าคนในต้องการอะไรและอย่างไร กระบวนการสันติภาพจะจบลงที่คณะเจรจาอย่างเดียวไม่ได้

ถึงแม้ว่าปัจจุบัน มีการตั้งสภาชูรอแห่งปาตานีขึ้นมาแล้วก็ตาม สภาชูรอแห่งปาตานีก็ต้องมาฟังคนในด้วย”

หะยีสะมะแอบอกว่า สภาชูรอแห่งปาตานีที่ว่านี้เป็นคนละองค์กรกับมาร่าปาตานี (Majlis Amanah Rakyat Patani) ที่เคยได้ยินกันก่อนหน้านี้ ชื่อมาร่าปาตานีนั้นหลายฝ่ายไม่ยอมรับ และเป็นชื่อที่ซ้ำกับหลายหน่วยงานในประเทศมาเลเซีย จึงทำให้รู้สึกว่าเป็นองค์กรของมาเลเซีย

เขาเห็นว่าการเกิดขึ้นของสภาชูรอแห่งปาตานีถือเป็นสัญญาณที่ดีของกระบวนการสันติภาพปาตานี เหมือนดอกไม้ที่กำลังแย้มบาน ซึ่งได้มีการพูดคุยกันระหว่างสภาชูรอแห่งปาตานีกับคณะพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลไทยมาแล้วเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา

ถ้าการพูดคุยจะเดินต่อต้องทำอะไร?

“ถ้าจะให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพปาตานีเดินหน้าต่อไปได้นั้น ทางสภาชูรอแห่งปาตานีต้องรวมกลุ่มขบวนการต่างๆ 3-4 กลุ่มให้มาอยู่บนโต๊ะเจรจาให้ได้ ต้องเรียกทุกกลุ่มให้มาอยู่รวมกัน ต้องให้มีความเป็นหนึ่ง เพราะแต่ละกลุ่มก็มีความต้องการของตัวเอง จึงต้องมาคุยกันเองก่อน”

แต่แม้ไม่สามารถรวมเป็นหนึ่งได้ ก็ไม่ได้หมายความว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพจะไม่ประสบความสำเร็จ มันอาจประสบความสำเร็จได้ แต่ยังไม่สนิท เหมือนกับการสร้างบ้านเสร็จแล้ว แต่บางคนก็ยังคงตอกสิ่วอยู่ ทั้งที่มีคนเข้าไปอยู่อาศัยได้แล้ว

“ดังนั้น คนอยู่ก็ต้องทนหนวกหูบ้าง”

ข้อเสนอในกระบวนการพูดคุย

“ผมขอยกข้อเสนอที่มีการพูดคุยกันเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา เท่าที่ผมทราบมาก็คือ คณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยมีข้อเสนอ 1 ข้อ ส่วนฝ่ายขบวนการหรือสภาชูรอแห่งปาตานี มีข้อเสนอ 3 ข้อด้วยกัน”

ข้อเสนอของคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยคือ ให้ฝ่ายขบวนการหยุดในความรุนแรงในเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา ซึ่งก็พอเห็นผลอยู่บ้าง แม้ไม่ได้เป็นข้อตกลงอะไร แต่สถานการณ์ในช่วงเดือนรอมฎอนปีนี้ถือว่าสงบมากที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนรอมฎอนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แสดงว่าการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้มีผลดีกว่าการพูดคุยสันติภาพในช่วงปี 2556

ส่วนของเสนอของฝ่ายขบวนการ 3 ข้อ คือ 1) รัฐต้องรับรองความปลอดภัยให้กับคณะพูดคุยสันติภาพของฝ่ายขบวนการ ไม่ใช่คุยเสร็จแล้วตามจับทีหลัง 2) การพูดคุยเพื่อสันติภาพต้องเป็นวาระแห่งชาติ หมายถึงต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ และ 3) รัฐบาลต้องรับรองสถานะของสภาชูรอแห่งปาตานี

“การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีอยู่ทางเดียวเท่านั้นคือ ต้องมีการพูดคุยกัน โดยยึดแนวทางพระราชดำริของในหลวง คือ เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา โดยเฉพาะคำว่าพัฒนา เพราะหากพื้นที่ใดในโลกนี้ที่มีการพัฒนา ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีอาชีพที่ดี และมีการศึกษาที่ดี พื้นที่แห่งนั้นก็จะไม่เกิดความขัดแย้งขึ้นมา” หะยีสะมะแอกล่าวทิ้งท้าย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท