จับตาทุนเกษตรยักษ์ สอดไส้ กม.จีเอ็มโอ ผ่าน สปช. บ่ายนี้

มูลนิธิชีววิถีชี้ ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. .... ที่ สปช. เตรียมพิจารณาเป็นการผลักดันของกลุ่มผู้สนับสนุนเรื่องจีเอ็มโอ เอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ วอนเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

22 ก.ค.2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่ายวันนี้ คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เตรียมพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. .... วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ได้กล่าวว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นการร่างขึ้นโดยกลุ่มผู้สนับสนุนเรื่องจีเอ็มโอ โดยที่หลังจากผลักดันผ่าน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ไม่สำเร็จก็ใช้วิธีเสียบแทรกมาทาง สปช. แทน

“ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกยกร่างขึ้นโดยกลุ่มผู้สนับสนุนเรื่องจีเอ็มโอ การผลักดันกฎหมายนี้ให้ผ่านสนช. ไปโดยเร็วจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ แต่จะไม่ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิเกษตรกร และกลุ่มธุรกิจอาหารท้องถิ่นที่จะได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนทางพันธุกรรรม เมื่อไม่สำเร็จก็ใช้วิธีเสียบแทรกมาทาง สปช. โดยอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุดกฎหมายปฏิรูปการเกษตร” วิฑูรย์ กล่าว

โดยเมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณะนิติศาสตร์ ม.หอการค้าไทย ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า ยังมีประเด็นที่ควรปรับปรุง เพราะมีหลายข้อที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสากลในพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพและพิธีสารเสริมนาโงย่า-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและชดใช้ความเสียหาย เช่น กรณีผลกระทบจากกรณีจีเอ็มโอนั้นในพิธีสารครอบคลุมถึงการคุ้มครองผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจ และอนุญาตให้ใช้ดุลพินิจตามสมควรได้แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แต่ในร่างกฎหมายระบุว่าต้องใช้ข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนแล้วเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ควรปรับปรุงร่างกฎหมายในมาตรา 17 โดยควรบัญญัติในลักษณะ ห้ามมิให้มีการผลิตหรือนำเข้าสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมทุกชนิด เว้นแต่จะได้ประกาศยกเว้นไว้ แทนที่จะเปิดกว้างและควบคุมเฉพาะพืชจีเอ็มโอที่ประกาศเป็นคราวๆ และการกำหนดให้มีการชดเชยความเสียหายเฉพาะกรณีที่มีการปลดปล่อยจีเอ็มโอ นอกบัญชีการปลดปล่อยสิ่งแวดล้อมเท่านั้นเป็นรูปแบบกฎหมายที่อาจขัดกับวัตถุประสงค์ของพิธีสารและไม่ได้คุ้มครองผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากพืชจีเอ็มโอซึ่งได้รับการอนุญาตให้มีการปลดปล่อยต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน แถลงว่า จากการรับฟังความคิดเห็นตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ คณะกรรมการอิสระคุ้มครองผู้บริโภคพบว่า การผ่านกฎหมายฉบับนี้ไปโดยเร็วจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ แต่จะเกิดผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน เกษตรกรและกลุ่มธุรกิจด้านเกษตรอินทรีย์ และธุรกิจอาหารอีกหลายกลุ่ม รวมทั้งผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภค “คณะกรรมการฯจะทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และได้ปรับปรุงเนื้อหาให้คุ้มครองสิทธิของเกษตรกร ผู้บริโภค และกลุ่มธุรกิจต่างๆที่จะได้รับผลกระทบ”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท