บทความ FPIF นำเสนอมุมมองวิกฤตชีวิตผู้ลี้ภัยในโลกปรักหักพัง

จอห์น เฟฟเฟอร์ ผู้อำนวยการเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศ (FPIF) แสดงมุมมองเรื่องภาวะวิกฤตผู้ลี้ภัยโลก ผู้ที่มีชีวิตราวกับอยู่ในโลกหลังยุคโลกาวินาศแบบในภาพยนตร์เรื่อง "แมด แม็กซ์" อีกทั้งยังวิจารณ์การแก้ไขปัญหาของประเทศโลกที่หนึ่งซึ่งมักจะผลักภาระไปให้ประเทศที่ยากจนกว่ารับมือกับผู้ลี้ภัย

20 ก.ค. 2558 "ในโลกนี้มีผู้ลี้ภัยที่ลอยเคว้งคว้างตามยถากรรมอยู่ในโลกมากขึ้นในจำนวนที่ถ้าพวกเขารวมตัวกันตั้งประเทศได้ มันจะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 24 ของโลก" จอห์น เฟฟเฟอร์ เปิดบทความในเว็บไซต์ (FPIF) ด้วยประโยคนี้

ในบทความยังมีการระบุถึงคำกล่าวของวิลเลียม กิบสัน นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ที่บอกว่าโลกของเราอยู่ใน "ยุคหลังโลกาวินาศ" (post-apocalypse) เรียบร้อยแล้วเพียงแต่ได้รับผลกระทบกันไม่ถ้วนทั่ว มีเพียงบางคนเท่านั้นที่ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากภายใต้ทรัพยากรที่ขาดแคลนอย่างในเรื่อง "แมด แม็กซ์" นั่นคือกลุ่มผู้ลี้ภัยที่ต้องเผชิญโศกนาฏกรรมครั้งแล้วครั้งเล่า

จากรายงานของสหประชาชาติล่าสุดระบุว่าโลกกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตผู้ลี้ภัย โดยมีประชากรโลกเกือบ 60 ล้านคนถูกจัดอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัยซึ่งถือว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ จอห์น เฟฟเฟอร์ ผู้เขียนบทความระบุว่าบางที "โลกาวินาศ" อาจจะไม่ใช่สิ่งที่อุบัติในทันตา แต่เป็นการที่พวกเราทุกคนจะกลายเป็นผู้ลี้ภัยจาก "รัฐล้มเหลว" (failed state) ซ้ำๆ ซากๆ ภายในโลกที่ไร้หัวใจใบนี้

ในขณะที่จำนวนตัวเลขผู้ลี้ภัยมากขึ้นเรื่อยๆ จำนวนผู้ที่ได้กลับสู่ประเทศตนมีน้อยมาก โดยในปี 2557 ที่ผ่านมามีผู้ที่สามารถกลับสู่ประเทศบ้านเกิดตัวเองได้เพียง 126,800 คนเท่านั้นจากจำนวนผู้ลี้ภัยพลัดถิ่น 14.4 ล้านคน โดยในกลุ่มผู้ลี้ภัยทั้ง 60 ล้านคนมีจำนวนผู้ลี้ภัยภายในประเทศที่ไม่ใช่ด้วยสาเหตุการย้ายถิ่นฐานทางเศรษฐกิจหรือผู้หนีจากภัยธรรมชาติรวมอยู่ด้วย

สาเหตุหลักอันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยคือสงครามและการล่มสลายของรัฐ โดยประเทศที่เกิดวิกฤตดังกล่าวนี้หนักสุดคือซีเรีย นอกจากนี้ยังมีสงครามในยูเครนที่ทำให้เกิดผู้ลี้ภัยภายในประเทศ รวมถึงกรณีชาวโรฮิงญาจากพม่าด้วย

วิกฤตผู้ลี้ภัยไม่เพียงแต่สะท้อนออกมาจากตัวเลขสถิติเพียงอย่างเดียวเท่านั้น FPIF ระบุว่าวิธีการจัดการผู้ลี้ภัยที่ทำให้ประเทศยากจนรับไว้เสียส่วนใหญ่ก็เป็นปัญหา ในขณะที่ประเทศในแถบยุโรปกลับไม่สามารถรับมือกับผู้ลี้ภัยได้ดีพอเช่นในกรณีผู้ลี้ภัยทางเรือไปยังยุโรปซึ่งต้องติดอยู่บนเรือกลางทะเลเมดิเตอเรเนียน มีผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งเรือจมและสูญหาย

ไม่เพียงแค่อียูเท่านั้น การเมืองภายในของสหรัฐฯ เองก็สร้างความยากลำบากในการรับมือกับผู้ลี้ภัย ในขณะที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เผยความต้องการรับผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นแต่นักการเมืองพรรครีพับลิกันก็มักจะกล่าวในเชิงสร้างความหวาดกลัวว่าอาจจะมีผู้ก่อการร้ายแฝงตัวมากับผู้ลี้ภัยด้วย เมื่อกลุ่มผู้ร่ำรวยไม่รับมือกับปัญหาตรงนี้ทำให้กลายเป็นภาระของประเทศยากจน วาทกรรมหวาดกลัวคนนอกจากนักการเมืองบางกลุ่มในยุโรปและสหรัฐฯ ส่งผลให้มีการรับมือแบบคนจนต้องดูแลคนจนด้วยกันเอง

FPIF ระบุว่าประเทศกำลังพัฒนาเป็นประเทศที่ต้องรับมือกับผู้ลี้ภัยมากถึง 9 ใน 10 รายชื่อประเทศที่รับผู้ลี้ภัยเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ เลบานอน, จอร์แดน, นาอูรู, ชาด, จิบูติ, ซูดานใต้, ตุรกี และมอริเตเนีย มีประเทศพัฒนาแล้วอยู่ประเทศเดียวเท่านั้นที่รับผู้ลี้ภัยในอันดับต้นๆ คือ สวีเดน ซึ่งรับผู้ลี้ภัยมากเป็นอันดับที่ 9

ผู้ลี้ภัยเป็นคนที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่มีอำนาจหรือปากเสียงใดๆ พวกเขาไม่ได้รับความสนใจจากคนร่ำรวยและผู้มีอำนาจเพราะเป็นผู้ที่ให้ผลประโยชน์ต่อพวกเขาน้อยมาก แต่ก็มีคนที่ทรงอิทธิพลของโลกคนหนึ่งคือพระสันตะปาปาฟรานซิส ช่วยเรียกร้องให้โลกหันมาสนใจต่อปัญหาผู้ลี้ภัยหลังจากไปเยือนเกาะแลมปาดูซาที่มีผู้อพยพจากแอฟริกาต้องการเดินทางไปยังยุโรปพักพิงอยู่

บทความของ FPIF ยังระบุอีกว่าผู้ลี้ภัยจากสงครามยังอาจจะกลับไปยังประเทศตนเองได้หลังการสู้รบจบลง แต่ผู้ลี้ภัยจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ภาวะภัยแล้งหรือน้ำท่วม พวกเขาอาจจะมีทางเลือกน้อยกว่าเพราะภาวะโลกร้อนเปลี่ยนแปลงโลกไปเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามบทความของ FPIF ระบุว่าสิ่งที่ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญในปัจจุบันยังได้สร้างความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (solidarity) จากการต้องช่วยเหลือกันเองโดยอาศัยความเป็นครอบครัวและความเป็นชุมชนของเชื้อชาติหรือศาสนา แต่ทว่าการรวมตัวกันเช่นนี้ยังไม่มากพอที่จะทำให้พวกเขาปลอดภัยได้ เพราะในระดับโลกยังมีการเมินเฉยต่อชะตากรรมของพวกเขาเช่นที่พระสันตะปาปากล่าวไว้โดยเฉพาะจากคนร่ำรวยที่แม้ว่าจะมีทรัพยากรมากพอจะช่วยพวกเขาได้แต่ก็ไม่ทำ

ทั้งนี้ FPIF ยังระบุอีกว่าวิธีการที่จะลดจำนวนผู้ลี้ภัยที่ดีที่สุดคือการจัดการกับต้นเหตุของปัญหา เช่น สงคราม การใช้อำนาจปราบปรามผู้เห็นต่าง ภาวะโลกร้อน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยทั้งเงิน อำนาจทางการทูต และการกำหนดนโยบาย

เรียบเรียงจาก

Our Refugee World, John Feffer, FPIF, 24-06-2015
http://fpif.org/our-refugee-world/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท