ประเทศไทย: เบื้องลึกศาลทหารใน ‘สยามเมืองยิ้ม’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

โดย ยูวาล จินบาร์ (Yuval Ginbar) ที่ปรึกษากฎหมาย สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

(แปลจาก Thailand: A view inside a military court in the ‘land of smiles’)

 

ผมเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย ดังนั้นผมจึงคุ้นเคยกับการไปศาลอยู่บ้างและเคยไปศาลในประเทศไทยมาก่อน แต่การไปศาลของผมในวันนี้ (7 ก.ค.) บรรยากาศมันเหมือนไม่ได้อยู่ความเป็นจริง...

ผมอยู่ในศาลทหารและได้พูดคุยกับนักศึกษาและนักกิจกรรม 14 คนที่ต้องขึ้นศาลทหารด้วยข้อหาก่อความกระด้างกระเดื่องจากการรวมตัวกันที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ และทำกิจกรรมยืนจ้องมองนาฬิกาอย่างสงบเป็นเวลา 15 นาที เพื่อประท้วงวันครบรอบหนึ่งปีของการยึดอำนาจ

ช่วงเวลาเพียงไม่กี่นาทีที่นักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่มนี้จัดการประท้วงก่อนจะถูกสลายการชุมนุม อาจทำให้พวกเขาต้องติดคุกนานถึง 7 ปี

เจ้าหน้าที่ทหารอนุญาตให้นักการทูตสองคนและตัวผมพูดคุยกับนักศึกษาและนักกิจกรรมทั้ง 14 คน ก่อนที่การพิจารณาคดีเพื่อขยายเวลาควบคุมตัวจะเริ่มขึ้น แม้ผมจะเป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนที่เชี่ยวชาญ แต่เมื่อพวกเขาปรากฏตัวผมกลับรู้สึกนับถือผู้ชายทั้ง 13 คน และ ผู้หญิง 1 คนนี้อย่างมาก พวกเขาดูอายุน้อยมาก ทุกคนใส่เสื้อยึดแขนสั้นสีครีมและกางเกงขาสั้นสีน้ำตาลซึ่งเป็นเครื่องแบบของเรือนจำ และถูกใส่กุญแจมือเพราะพวกเขาช่างเป็นกลุ่มคนที่อันตรายเหลือเกิน!

ถึงแม้ว่าพวกเขาจะอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้แต่พวกเขาไม่ได้หวาดกลัว พวกเขาประท้วงเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมาและประท้วงอีกครั้งเมื่อผู้ร่วมประท้วงก่อนหน้านี้ 5 คนถูกตั้งข้อกล่าวหา การประท้วงอย่างสงบเหล่านี้ไม่ได้รับการขานรับด้วยความปราณีเลย

ผมค่อนข้างเป็นห่วง “เกด”  ผู้หญิงเพียงคนเดียวในกลุ่มนักศึกษา ซึ่งได้รับบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลังช่วงล่าง จากการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ประท้วงเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา เธอต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วนจากสถานีตำรวจที่ถูกจับกุมตัวไปในเวลานั้น แต่ก็ต้องใช้เวลากว่าหนึ่งชั่วโมง กว่าจะมีการเรียกรถพยาบาล

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่ของแอมเนสตี้ฯ ทั้งจากสำนักเลขาธิการใหญ่และสำนักงานในประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยมนักศึกษาชายทั้ง 13 คน ซึ่งผมเป็นหนึ่งในคนที่ได้ไปเยี่ยม “เกด” ปรากฏว่าเธอไม่ได้อยู่ที่เรือนจำหญิง แต่ถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์ที่อยู่ใกล้ๆเพื่อตรวจร่างกาย

ผมจึงได้แค่เห็นเธอนั่งและยิ้มให้ผ่านหน้าต่าง เมื่ออยู่ในห้องพิจารณาคดีรอยยิ้มของเกดยิ่งกว้างขึ้นจนมองเห็นผ่านผ้าปิดปากที่สวมอยู่ได้ เธอบอกกับผมว่า เธอยังคงต้องอยู่ในโรงพยาบาลและอาจจะต้องเข้ารับการผ่าตัด เมื่อถึงเวลาพักเข้าห้องน้ำ เธอแทบจะเดินเองไม่ได้ ต้องมีเจ้าหน้าที่สองคนช่วยพยุง

อย่างไรก็ตามทั้ง “เกด” และนักศึกษาคนอื่นๆต่างปฏิเสธการขอประกันตัว เพราะพวกเขาต้องการเรียกร้องให้ถูกปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข

นักศึกษาบอกกับเราว่า พวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างดี พวกเขาดูสะอาดสะอ้านและผ่อนคลาย และอย่างที่ได้บอกไปพวกเขาไม่มีความเกรงกลัวใดๆ นักศึกษากล่าวว่าการจับกุมพวกเขาเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีการแสดงหมายจับและมีการใช้ความรุนแรง

กลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา ปฏิเสธการจับกุมและการขึ้นศาลทหารมาโดยตลอด พวกเขากล่าวว่ารัฐบาลพยายามจะปิดปากพวกเขา ผมช่วยไม่ได้ที่จะบอกว่ารัฐบาลคงไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไรนักในเรื่องนี้

ผมยกย่องคนรุ่นใหม่ที่กล้าหาญเหล่านี้อย่างมาก ผมทำในสิ่งที่ผมทำได้เพื่อปกป้องสิทธิของพวกเขา ผมได้บอกกับพวกเขาอีกครั้ง หลังจากที่บอกไปแล้วเมื่อตอนไปเยี่ยมที่เรือนจำว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ถือว่าพวกเขาเป็น 'นักโทษทางความคิด' และกำลังมีการรณรงค์ทั่วโลก เพื่อให้พวกเขาได้รับการปล่อยตัวอย่างเร็วที่สุดโดยไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งยืนยันว่าพลเรือนไม่ควรต้องขึ้นศาลทหารเลย

ก่อนการพิจารณคดี ผมได้มีโอกาสพบกับสมาชิกในครอบครัวของนักศึกษา ซึ่งบางคนถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่และสั่งว่าให้ดูแลลูกไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่หนึ่งในทนายใช้ต่อสู้ในศาลด้วย

การพิจารณาคดีใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ศาลอนุญาตให้นักศึกษาสามคนพูด แต่ก็เป็นการพูดสั้นๆ เพราะผู้พิพากษาคนหนึ่งจากสามคนมักพูดแทรกเป็นระยะๆ เช่น เมื่อ “โรม” พูดว่า “เราไม่ได้สร้างภัยคุกคามแก่สังคม เป้าหมายของเราคือรัฐบาลทหารเท่านั้น” เขาจะถูกสั่งให้พูดให้ตรงประเด็นในเรื่องเหตุผลของการให้ปล่อยตัวโดยไม่ต้องมีการประกันตัว

จากนั้นผู้พิพากษาได้ปรึกษากัน เมื่อกลับมา หนึ่งในผู้พิพากษาได้อ่านคำตัดสินว่า “ให้ปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข!” ถ้าภายในห้องพิจารณาคดีไม่มีกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ผมคงจะกระโดดและเข้าไปกอดทุกคนด้วยความดีใจ

นี่ถือเป็นชัยชนะ แต่ข้อกล่าวหายังไม่ถูกปลด นักกิจกรรมได้บอกกับผมว่า รัฐบาลทหารแค่ต้องการทำให้เรื่องนี้เงียบไปจากความสนใจของนานาชาติ เห็นได้ชัดจากสื่อใหญ่ๆหลายแขนงที่รออยู่ด้านนอกและนักการทูตอีกหลายคนภายในห้องพิจารณาคดี

ครอบครัวของนักศึกษาดูจะโล่งใจมากกว่าเหล่านักศึกษาเองด้วยซ้ำ พวกเขาทุกคนขอบคุณเรา ผมหวังว่าการรณรงค์ของเรามีส่วนในการช่วยเหลือนักศึกษา แต่หนทางที่ว่ายังอีกยาวไกล เพราะข้อกล่าวหาต้องถูกยกเลิกและกฎหมายอันกดขี่ เช่น การห้ามรวมตัวทางการเมืองมากกว่า 5 คนหรือมากกว่าขึ้นไปนั้นควรจะต้องยุติลง

วันนั้นถือเป็นวันที่น่ายินดี ผมโบกมือลานักศึกษาและครอบครัว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะหายไปไหน ไม่มีทาง! เรายังคงรณรงค์ต่อไปจนกว่าจะมีการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างครบถ้วน และเพื่อให้รอยยิ้มที่แท้จริงกลับคืนสู่ ‘สยามเมืองยิ้ม’ ในที่สุด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท